Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

MarinerThai 2004 Co., Ltd. FB MarinerThai News

ปฏิบัติการถ่ายลำกลางอ่าวไทย - LIGHTERING OPERATION

ปฏิบัติการถ่ายลำกลางอ่าวไทย - LIGHTERING OPERATION
โดย พรานทะเล


กว่าจะมาเป็นน้ำมันที่ใช้เติมรถ, เรือหรือเครื่องบิน เพื่อให้เราเดินทางได้สะดวก หรือใช้กับเครื่องจักรตามอุตสาหกรรมต่างๆ นั้นมีที่มาที่ยาวไกลและขั้นตอนต่างๆ ที่ซับซ้อนมากมาย ซึ่งน้ำมันเหล่านี้ถ้าย้อนกลับไปต้องผ่านกระบวนการกลั่น ผ่านการขนส่งมาจากแห่งผลิตผ่านการขุดเจาะ และการสำรวจหาแหล่งน้ำมันดิบ

น้ำมันดิบ (Crude Oil) เป็นวัตถุดิบหลักเบื้องต้นที่เรานำมาจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลาง อินโดนิเซีย จีน เพื่อเข้าโรงกลั่นในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีโรงกลั่นอยู่หลายโรง เช่น โรงกลั่นบางจาก โรงกลั่นระยอง โรงกลั่นสตาร์ โรงกลั่นไทยออยล์ และโรงกลั่นเอสโซ่ ซึ่งมีกรรมวิธีในการนำน้ำมันดิบมาสู่โรงกลั่นที่แตกต่างกันไป

น้ำมันดิบที่นำมาจากตะวันออกกลาง เช่น โอมาน, ชาอุดิอาระเบีย ฯลฯ ล้วนต้องใส่เรือขนาดใหญ่มาทั้งสิ้น เพื่อประหยัดค่าขนส่ง เรือที่นำน้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวนี้ เรียกว่า เรือขนาด VLCC (Very Large Crude Oil Carrier) มีขนาดบรรทุกได้ประมาณไม่เกิน 3 แสนตัน หรือขนาด ULCC (Ultra Large Crude Oil Carrier) ซึ่งบรรทุกได้มากกว่า 3 แสนตันต่อเที่ยว ซึ่งโดยทั่วๆไปเราจะใช้ขนาด VLCC เนื่องจากความลึกในอ่าวไทยมีขีดจำกัด

เรือ VLCC ที่ขนน้ำมันมาส่งให้โรงกลั่นในเมืองไทยมีขนาดประมาณ 2 แสน 7 หมื่นตัน หรือประมาณ 300 ล้านลิตรต่อเที่ยว เรือ VLCC นี้จะมีความยาวประมาณ 340 เมตร กว้างประมาณ 50 เมตร และส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำหรือกินน้ำลึกประมาณ 22 เมตร ถ้าเราลองจินตนาการขนาดของเรือ VLCC ก็คงขนาดสนามฟุตบอลสองถึงสามสนามต่อกัน ส่วนที่จมลงใต้น้ำก็ประมาณตึก 5 ชั้น ส่วนที่เป็นโครงสร้างเหนือน้ำจะสูงขึ้นไปในอากาศอีกประมาณ 50 เมตร ซึ่งเท่ากับตึกประมาณ 15 ชั้น การนำเรือใหญ่ขนาด VLCC ก็เท่ากับการอยู่บนตึกขนาด 10 ชั้น ยาวขนาด 2 สนามฟุตบอล มีน้ำหนักประมาณ 3 แสนตัน วิ่งในทะเลซึ่งเรือขนาดนี้จะมีแรงเฉื่อยสูงมาก นั้นหมายถึงเรือความเร็วปกติประมาณ 15 น็อต หรือ 25 กม.ต่อชั่วโมง เมื่อหยุดเครื่องจะมีแรงเฉื่อยให้เรือลอยต่อไปอีกมากกว่า 4 กม. จึงจะหยุดนิ่งได้ ผู้ที่จะนำเรือ VLCC จะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเยี่ยมจึงจะควบคุมเรือให้ได้อย่างต้องการ

เนื่องจากความใหญ่ของเรือ VLCC จึงทำให้ไม่สามารถจะเข้าสูบถ่ายน้ำมันให้กับโรงกลั่นเอสโซ่ ทั้งขนาดของทุ่นรับเรือ, ความลึกของน้ำ บริเวณเกาะสีชังด้านใน ตลอดทั้งความยุ่งยากในการนำเรือในน่านน้ำที่จำกัด จึงต้องมีการปฏิบัติการถ่ายลำจากเรือ VLCC ดังกล่าวให้กับเรือเล็กกว่า คือ ขนาด MST (Medium size Tanker) ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 แสนตัน (120 ล้านลิตร) ซึ่งก็ไม่เล็กทีเดียว แต่ยังสามารถเข้าท่าของได้ (เรือขนาด 1 แสนตันจะมีความยาวประมาณ 250 เมตร กินน้ำลึกประมาณ 17 เมตร) นั้นหมายถึงการสูบถ่ายถึง 3 เที่ยวของเรือ MST จึงทำให้เรือ VLCC หมดลำได้

การปฏิบัติการถ่ายลำนั้นเราเรียกว่าการทำ Lightering หรือ Lightening จะขอเรียกเรือ VLCC ว่าเรือแม่ (Tanker to be lightered) และเรือ MST ว่าเรือลูก (Lightening tanker) ซึ่งจะทำการถ่ายลำกันกลางอ่าวไทยที่มีความลึกของน้ำเพียงพอ คือ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขัน ห่างชายฝั่งประมาณ 90 กิโลเมตร

เรือที่ขนน้ำมันทั้งเรือแม่และเรือลูกจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพด้านความปลอดภัยของเรือจากบริษัทผู้จ้างเรือ(Charterer) ว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ คือ ต้องมีความปลอดภัยในการปฏิบัติการถูกด้าน เช่น มีอุปกรณ์การเดินเรือและวิธีการอย่างดี มีคนที่มีความรู้ความสามารถทำงานในเรือ มีอุปกรณ์และวิธีการป้องกันความปลอดภัยต่างๆ ของเรือ และชีวิตคนในเรือเพียงพอ มีอุปกรณ์และวิธีการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม (น้ำมัน, ขยะ, ของเสีย ฯลฯ) ดีเพียงพอ นี่คือตัวอย่างเล็กน้อยในการคัดเลือกเรือที่จะเข้ามาใช้การขนส่งน้ำมันให้กับบริษัทผู้จ้าง(Chaterer) ที่มองเห็นคุนค่าของความปลอดภัย ทำให้มั่นใจในเบื้องต้นก่อนว่าเรือที่ขนน้ำมันเข้ามามีมาตรฐานพอ

ในการนำเรือใหญ่ขนถ่ายน้ำมันกันกลางทะเลนั้นมีขั้นตอนของคุณภาพหลายด้าน คือจะต้องมีผู้ชำนาญการพิเศษในการนำเรือขนาดใหญ่ทั้งสองลำเข้าเทียบกันกลางทะเล ซึ่งเรียกว่า Lightering Master การจะมาทำหน้าที่นี้จะต้องมีประสบการณ์ในการเป็นกัปตันเรือน้ำมัน และผ่านการฝึกอบรมด้านการนำเรือใหญ่และปฏิบัติการสินค้าจากโรงเรียนหลักสูตรพิเศษที่ประเทศอังกฤษ และผ่านการทดสอบจาก

จากผู้ชำนาญการที่บริษัทฯ ยอมรับจึงจะเข้าทำหน้าที่ Lightering Master ได้

Ligthering Master ผู้นี้จะต้องเตรียมการในการปฏิบัติการเทียบเรือใหญ่ โดยต้องจัดเรือเล็ก (Work boat) สำหรับนำอุปกรณ์ต่างๆ ในการเทียบเรือไปในบริเวณปฏิบัติการ เช่น ลูกยางกันกระแทก (Rubber Fender), ท่อสูบถ่ายน้ำมัน, อุปกรณ์กำจัดคราบน้ำมัน และอุปกรณ์ช่วยอื่นๆ ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลและฝึกอบรมลูกเรือให้ปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อเรือและสิ่งแวดล้อม โดย Lightering Master ผู้นี้

เมื่อเรือแม่และเรือลูกพร้อมปฏิบัติการกลางอ่าวไทยแล้ว เรือเล็กช่วยเหลือจะนำลูกยางกันกระแทก (ขนาดเกือบเท่ารถบรรทุก) มาติดตั้งที่เรือลูก เพื่อเป็นเบาะรองรับการกระแทกของเรือระหว่างเข้าเทียบกัน Lightering Master ต้องตรวจความพร้อมของเรือทั้งสองลำ ซึ่งมีกัปตันเรือเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยการเช็ครายการต่างๆ ให้ถูกต้องตามขั้นตอน จึงจะเริ่มปฏิบัติการในการนำเรือเข้าเทียบต่อไปได้ เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดแล้วการนำเรือเข้าเทียบกันก็จะเกิดความเสียหายอย่างรุ่นแรงได้

เมื่อทุกอย่างพร้อม Lightering Master ซึ่งอยู่บนเรือลูกจะสั่งการให้เรือทั้งสองลำออกเดินทางด้วยความเร็วและทิศทางที่กำหนดอย่างปลอดภัย การนำเรือขนาดเท่าสนามฟุตบอลสองลำเข้าเทียบกันกลางทะเลต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังและประสบการณ์อย่างมากกว่าเรือทั้งสองจะเทียบกันเสร็จก็ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ซึ่ง ถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตของการปฏิบัติ เมื่อเรือเทียบผูกลวด (ขนาดเท่าแขนผู้ชาย) จำนวนนับสิบเส้นให้เรือทั้งสองลำติดกันแล้วจึงลดความเร็วลงและหยุดเรือทอดสมอ เพื่อทำการถ่ายลำต่อไป

ขั้นตอนในการเตรียมการถ่ายลำเริ่มต้นตั้งแต่การต่อท่อน้ำมันขนาดใหญ่ จำนวนสองชุดระหว่างเรือ ซึ่งต้องใช้คนที่มีความชำนาญและผ่านการฝึกอบรมมา เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานนี้ได้ มีการทดสอบการรั่วไหลของท่อทาง เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีน้ำมันรั่วไหลลงในทะเลแม้แต่หยดเดียว

การตรวจวัดถังเตรียมการท่อทางอุปกรณ์, เครื่องจักร ภายในเรือทั้งสองลำอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ Lightering Master เมื่อทุกอย่างพร้อมก็เริ่มการถ่ายลำ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงต่อการถ่ายลำ 1 ครั้ง ซึ่งทุกขั้นตอนต้องทำตามเอกสารการสูบถ่ายที่คำนวณไว้อย่างดี เพื่อควบคุมการทรงตัวของเรือและการป้องกันแรงกดที่จะกระทำต่อตัวเรือถึงขนาดทำให้เรือที่ใหญ่ขนาดสนามฟุตบอลหักกลางได้

เมื่อถ่ายลงเรือลูกจนเต็มลำ และถอดท่อสูบถ่ายน้ำมันออกเรียบร้อย เรือทั้งสองก็เริ่มเตรียมการแยกจากกัน โดยออกเดินทางให้มีความเร็วและทิศทางที่ปลอดภัย ภายใต้การควบคุมของ Lightering Master จนให้เรือแยกจากกันอย่างปลอดภัย เรือแม่จะจอดทอดสมอกลางอ่างไทย คอยให้เรือลูกไปสูบถ่ายน้ำมันดิบขึ้นที่โรง1กลั่นแล้วกลับมาปฏิบัติการถ่ายลำต่อจนเรือแม่หมดลำ

ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนโดยย่อของการปฏิบัติการคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าการถ่ายลำกลางทะเลของบริษัทน้ำมันผู้จ้างเรือ(Chaterer) จะกระทำอย่างรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยของส่วนรวม เพื่อนำน้ำมันเข้าสู่ขบวนการกลั่นของโรงกลั่นต่อไป


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com - MarinerThai.Net

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   8829

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

MarinerThai Webboard IT knowhow for Mariner

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network