Lightering Master - 2 (กัปตันไทย ก็ ทำได้)
Lightering Master - 2 (กัปตันไทย ก็ ทำได้)
เขียนโดย กัปตัน
ประหยัด คูวงษ์
การขนถ่ายน้ำมันระหว่างเรือกลางทะเล (Ship to Ship
Lightering) ในอ่าวไทย
การเลือกบริเวณการทำ Lightering นั้น
ต้องดูความลึกของทะเลที่เรือแม่กินน้ำลึกประมาณ 22 เมตร จะวิ่งได้โดยปลอดภัย ,
อยู่ในเขตน่านน้ำสากล , เรือหาปลามีน้อย
กำหนดเรือวิ่งเข้าเทียบกันได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น
เนื่องจากอันตรายอาจมีเรือหาปลาหรืออวนลอยไม่เปิดไฟ
และการกะระยะเอาเรือเข้าหากันทำได้ยากมาก ส่วนการออกจากเทียบทำได้ทุกเวลา
บริษัทได้เช่าเรือตังเกขนาดใหญ่ที่แม่กลอง ทำเป็น Work
Boat (ขอเรียกว่า “เรือช่วยงาน”) สำหรับบรรทุกอุปกรณ์ถ่ายน้ำมัน เช่น
ท่อยางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว ยาว 12 เมตร จำนวน 6 ท่อน , ลูกยางกันกระแทก
ขนาดใหญ่ 3.3 X 6 เมตร จำนวน 4 ลูก , เชือกสำรองสำหรับต่อหัวลวด ,
อุปกรณ์ป้องกันและขจัดคราบน้ำมัน เช่น บูม , สารเคมี ฯลฯ
เรือช่วยงานขนอุปกรณ์และลากลูกยางกันกระแทก
ออกจากสถานที่เก็บในแม่กลอง
ผู้เขียนจะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเรือแม่ , เรือลูก , เรือช่วยงาน และ บริษัท
เพื่อวางแผนการเทียบว่าจะส่งลวดจากเรือไหนเส้นอะไรก่อนหลัง
มีน้ำมันสินค้าอะไรบ้างจำนวนเท่าใดในแต่ละเที่ยว เรือเล็กจะกลับเข้าท่าเมือใด
จุดนัดหมายที่ให้เรือลูกรับอุปกรณ์จากเรือช่วยงาน และวิ่งไปเทียบเรือแม่
ทุกขั้นตอนต้องทำนอกเขตน่านน้ำไทย ส่วนมากผู้เขียนและ
Cargo Surveyor คนไทยอีก 2 คน ลงเรือลูกที่ ศรีราชา
แต่บางครั้งต้องไปลงเรือที่สิงคโปร์ แล้วแต่ว่าเรือลูกเสร็จงานสุดท้ายอยู่ที่ไหน
เรือช่วยงานเตรียมเข้าส่งลูกยางกันกระแทก ให้เรือลูก
ขนาดของลูกยางกันกระแทก 3.3 x 6 เมตร
การนำเรือลูกซึ่งเป็นเรือว่างเปล่า วิ่งเข้าเทียบเรือแม่บรรทุกน้ำมันมาเต็มลำนั้น
จะวิ่งเข้าเทียบทางกราบขวาของเรือแม่เท่านั้น
โดยให้เรือแม่เดินหน้าในความเร็วคงที่ประมาณ 5 น๊อต หัวเรือทวนลม
แล้วนำเรือลูกเข้าทางด้านท้ายเรือขวา ปรับแต่งให้ขนานกัน ห่างประมาณ 50 เมตร
จากนั้นปรับแต่งความเร็วเรือลูกให้เท่ากับเรือแม่ ค่อยๆขยับเรือลูกเข้าหาเรือแม่
จนแนบชิดกัน แล้วส่งลวดหัว ลวดท้าย ไกหัว ไกท้าย ให้ลวดทั้งหมดตึงแน่น
ระยะทางสำหรับการนำเรือเข้าเทียบกันประมาณ 10 ไมล์ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2-3
ชั่วโมง หลังจากเทียบกันเสร็จแล้วอาจให้เรือแม่ทิ้งสมอ แล้วสูบถ่าย
หรือวิ่งเดินหน้าเบามาก ระหว่างทางสูบถ่ายน้ำมันไปเรื่อยๆก็ได้
ต้องแล้วแต่สภาพอากาศและตำบลที
เรือลูกขณะวิ่งเข้าเทียบทางท้ายเรือขวาของเรือแม่ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วคงที่ (ประมาณ
5 น๊อต)
เรือลูกวิ่งขนานกับเรือแม่ ปรับความเร็วให้เท่ากัน ประมาณ 5
น๊อต
ทีมนำเรือ บนสะพานเดินเรือของเรือลูก
ตอนนำเรือออกจากกัน ให้ดูหัวเรือทั้งสอง ถ้าทวนน้ำและไม่หมุน
ก็สามารถนำเรือออกจากกันได้ในขณะเรือแม่ทิ้งสมอ
แต่ถ้าไม่มั่นใจว่ากระแสน้ำมาทางหัวเรือ ให้เรือใหญ่ถอนสมอแล้ววิ่งทวนลม
พอความเร็วประมาณ 2 น๊อต ก็ให้เรือใหญ่หยุดเครื่อง ปลดลวดที่ผูกกันออก
แล้วนำเรือลูกวิ่งเดินหน้าออกจากเทียบเรือใหญ่
จะเห็นได้ว่าการนำเรือขนาดใหญ่เทียบกัน หรือออกจากเทียบกลางทะเลลึกนั้น
ไม่ต้องอาศัยเรือทักช่วยเลย ส่วนเรือช่วยงานในขณะนำเรือเข้าเทียบหรือออกจากเทียบ
จะวิ่งนำหน้าขอให้เรือหาปลาหลบจากเส้นทางเรือใหญ่
เรือลูกขณะเข้าเทียบเรือแม่
หลังจากเทียบกันเสร็จเรียบร้อย ทำการต่อท่อยางขนาด 10 นิ้ว
ยาว 24 เมตร จำนวน 2 เส้น
หลังจากสูบถ่ายน้ำมันจากเรือแม่เสร็จ
เรือลูกวิ่งออกจากเรือแม่ นำน้ำมันไปส่งที่ศรีราชา
นอกจากการสูบถ่ายจากเรือแม่ให้เรือลูก เพื่อเข้าท่าที่น้ำไม่ลึกพอสำหรับเรือแม่
บางครั้งยังใช้ในกรณีย์ฉุกเฉินเช่นเรือบรรทุกน้ำมันเกยตื้น
ต้องใช้เรือเล็กกว่าไปถ่ายออก
มีอยู่คราวหนึ่งเรือแม่ลำหนึ่งบรรทุกน้ำมันเต็มลำจากตะวันออกกลางจะไปส่งประเทศญี่ปุ่น
ระหว่างทางพบว่ามีน้ำมันรั่วจากถังหนึ่ง ได้จอดซ่อมทำชั่วคราวที่มาเลย์เซีย
แล้ววิ่งต่อ พอทางญี่ปุ่นทราบ ไม่ยอมให้เรือลำนี้เข้าญี่ปุ่น
เพราะระหว่างทางอาจมีน้ำมันรั่วจากรอยเดิม
มีการติดต่อให้บริษัทที่ผู้เขียนทำงานอยู่นำเรือลูกไปถ่ายน้ำมันออกจากถังที่ซ่อมทำชั่วคราวให้หมด
จึงจะยอมให้เรือลำนี้เข้าญี่ปุ่น
บริษัทได้สั่งให้ผู้เขียนนำเรือลูกไปถ่ายน้ำมันจากเรือดังกล่าวในน่านน้ำสากลของอ่าวไทย
เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าป้องกันมลภาวะจากน้ำมันที่อาจรั่วไหลลงสู่ทะเล
ปัจจุบันการทำ Ship to Ship Lightering
กลางอ่าวไทย ได้ยกเลิกและขายอุปกรณ์ต่างๆไปหมด เมื่อ เดือน กรกฎาคม 2545
เนื่องจากเหตุผลบางประการ
อาจเป็นเพราะโรงกลั่นที่ผู้เขียนทำงานอยู่ได้ต่อท่อจากทุ่นรับเรือขนาด
VLCC จากโรงกลั่นใกล้เคียง ถึงแม้จะบรรทุกเข้ามาได้แค่ 2 ใน 3 ของทั้งลำ
เพราะมีสันทรายขวาง แต่อีก 1 ใน 3 ได้สูบถ่ายให้เรือลูกที่บริเวณเกาะ
Karimun นำไปส่งให้โรงกลั่นสิงคโปร์
แล้วเรือแม่วิ่งต่อมาส่งให้ที่ศรีราชา
ในอนาคตอันใกล้ก่อนผู้เขียนจะเกษียณอายุ (พ.ศ.2551) งานนี้คงจะไม่หวนมา
ผู้เขียนจึงอยากเล่าให้เพื่อนร่วมอาชีพชาวเรือด้วยกันว่า
เคยมีงานชนิดนี้ในน่านน้ำสากลของอ่าวไทย
หลายช่วงเวลาแล้วแต่สถานการณ์ของค่าขนส่งซึ่งบางช่วงค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากับเรือ
MST (เรือลูก) ถูก ก็ใช้เรือชนิดนี้ขนจากแหล่งน้ำมันดิบตะวันออกกลาง
แต่บางช่วงเวลามาทางเรือ VLCC (เรือแม่) ถูกกว่ามาก ก็มีการสูบถ่ายลำกลางอ่าวไทย
บางช่วงเวลาได้จัดเรือลูกไว้เพื่องานนี้โดยเฉพาะทำให้การทำงานง่าย
แต่ในระยะหลังทั้งเรือแม่และเรือลูกเป็นเรือจร ทำให้การทำงานยากขึ้น และ ในช่วงปี
พ.ศ. 2541-2545 กัปตันไทยคนหนึ่ง ได้เป็น Lightering
Master โดยงานทั้งหมดเป็นไปอย่างเรียบร้อยไม่เคยมีอุบัติเหตุใดๆ
หรือน้ำมันรั่วไหลลงทะเลเลย เป็นเพราะความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
โดยเฉพาะเพื่อนต่างชาติชาวเรือที่ทำงานบนเรือแม่ , เรือลูก
และเพื่อนชาวไทยบนเรือช่วยงาน
|