การสร้างบุคคลากรด้านการเดินเรือในมหาวิทยาลัย
การสร้างบุคคลากรด้านการเดินเรือในมหาวิทยาลัย
บทความโดย ร.ท.สราวุธ
ลักษณะโต
ผู้เขียนมักมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการด้านพาณิชยนาวีของไทยอยู่บ่อยครั้ง
และประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงแทบจะทุกครั้งก็คือการขาดแคลนบุคลากรด้านพาณิชยนาวี
โดยเฉพาะส่วนที่ต้องปฏิบัติงานบนเรือ(ในที่นี้ผู้เขียนจะขอกล่าวเฉพาะในส่วนของนายประจำเรือ
ฝ่ายเดินเรือ
ส่วนระดับลูกเรือและบุคลากรด้านพาณิชยนาวีบนบกจะขอกล่าวถึงในโอกาสต่อไป)
ที่มีอัตราการขาดแคลนเพิ่มขึ้นเรื่อยทุกปี
ในขณะที่การขนส่งทางทะเลเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
อะไรจะเกิดขึ้น? หากสภาวะการดังกล่าวยังเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการแก้ไข
โรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือ
ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า
สถาบันที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านการเดินเรือในประเทศไทยเดิมมีอยู่เพียง 2
สถาบันคือโรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือ และศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า
แต่หากจะพิจารณาเฉพาะเจาะจงการสร้างบุคคลากรเพื่อการเดินเรือพาณิชย์นั้นก็จะมีเพียงสถาบันเดียว
ซึ่งจำนวนที่ผลิตออกมาก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องของตลาดแรงงาน
ดังนั้นในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทและช่วยผลิตบุคลากรด้านการเดินเรือพาณิชย์
เพื่อชดเชยและบรรเทาความขาดแคลนที่เกิดขึ้น
มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดการเรียนการสอนด้านการเดินเรือพาณิชย์ขึ้น
ในสาขาวิชาวิทยาการเดินเรือเมื่อ พ.ศ.2545
โดยเรียนร่วมกับนิสิตสาขาวิชาอื่นๆในวิทยาลัยการขนส่งและโลจิสติกส์
โดยนิสิตรุ่นแรกมีจำนวน 21 คนและกำลังจะจบการศึกษาในพ.ศ.2550นี้ และเมื่อพ.ศ.2549สถาบันพาณิชยนาวีนานาชาติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้เปิดการเรียนการสอนด้านการเดินเรือพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสถาบัน
ผู้เขียนได้มีโอกาสมาช่วยราชการปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยบูรพาโดยได้รอบมอบหมายให้สอนหนังสือในสาขาวิชาที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด
รวมทั้งได้รับโอกาสที่ดีและท้าทายในการช่วยเหลือท่านคณาจารย์ของวิทยาลัยฯให้ช่วยกำกับดูแลนิสิตสาขาวิทยาการเดินเรือ
ผู้เขียนจึงอยากจะเล่าถึงการดำเนินการในการสร้างบุคลากรด้านการเดินเรือพาณิชย์ในมหาวิทยาลัยที่ได้ประสบพบเจอ
ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกับสถาบันอื่นๆบ้าง (จริงๆแล้วในต่างประเทศเขาก็ได้ผลิตนักเดินเรือโดยมหาวิทยาลัยมานานแล้ว
ไม่ต้องมองที่ไหนไกลเลยครับ
เวียดนามเพื่อนบ้านเรานี่เองก็มีมหาวิทยาลัยด้านพาณิชยนาวีโดยเฉพาะ เช่นที่ VIMARU
: Vietnam Maritime University) ถือเป็นการเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันนะครับ
Vietnam Maritime University
การผลิตบุคลากรด้านการเดินเรือนั้นทุกสถาบันทั่วโลกต้องการผลิตนักเดินเรือที่มีความรู้
ความสามารถ มีความอดทนและมีระเบียบวินัย
เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานบนเรือสินค้าได้อย่างคงทนทะเล
ดังนั้นการสร้างนักเดินเรือให้ตรงกับความต้องการ
จึงเป็นโจทก์ที่ต้องการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้คำตอบ
ผู้เขียนจึงขอเล่าถึงวิธีการในการสร้างนักเดินเรือแบบฉบับมหาวิทยาลัยโดยแบ่งออกเป็น
2 ประด็นใหญ่ๆด้วยกัน
1.การเรียนการสอน
นิสิตเดินเรือทุกคนในวิทยาลัยการขนส่งและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ต้องปฏิบัติตนตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเฉกเช่นนิสิตในสาขาวิชาอื่นโดยไม่มีข้อยกเว้น
การจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีรวมทั้งการมีสิทธิเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น
ก็ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย
ในการเรียนการสอนวิชาบังคับหรือวิชาเลือกทั่วไปนั้น
มหาวิทยาลัยมีคณาจารย์และทรัพยากรอย่างพอเพียงในการเรียนการสอน
แต่ปัญหาคือวิชาชีพทางเรือ ที่ต้องใช้ครูจากภายนอกมหาวิทยาลัยเกือบจะทั้งหมด(Outsourse)ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน
เช่น กองทัพเรือ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัทโทรีเซน จำกัด(มหาชน)
บริษัท RCL จำกัด(มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัดและอื่นๆอีกหลายหน่วยงาน
เนื่องจากการหาอาจารย์ประจำเพื่อสอนในด้านการเดินเรือนั้น ค่อนข้างหาได้ยาก
ซึ่งต้องยอมรับว่ารายได้จากการรับราชการเป็นอาจารย์นั้นแตกต่างจากการไปทำงานบริษัทเดินเรือค่อนข้างมากทีเดียว
โดยประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือต้องการให้นิสิตได้ความรู้และประสบการณ์จริงในหลายๆแง่มุมจากครูผู้สอน
ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็พยายามสร้างและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งองค์บุคคลและองค์วัตถุ
เช่นมีการสร้างห้องฝึกจำลองการเดินเรือ
และเรียนรู้เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆเพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน
2. การสร้างความเป็นชาวเรือ
การเป็นชาวเรือที่ดีนอกจากมีความรู้แล้ว ต้องมีคุณธรรม วินัย ความอดทน
ความรับผิดชอบ และรู้จักปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของชาวเรือที่ดี
สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างและปลูกฝังอย่างต่อเนื่อง
โจทก์ที่ต้องแก้ให้ได้ก็คือเราจะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับนิสิตของเราได้อย่างไรภายใต้สภาวะแวดล้อมของมหาวิทยาลัย
ซึ่งแตกต่างจากสถาบันอื่นที่เรียนร่วมกันเฉพาะสาขาเดียวกัน เป็นสถานที่ปิด
และกินนอนอยู่ประจำร่วมกัน ถ้าเราสร้างโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่าง
ย่อมเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
เพราะเราไม่อยากสร้างสิ่งที่แปลกประหลาดให้เกิดขึ้นกับนิสิตในมหาวิทยาลัย
แต่เราต้องการสร้างความแตกต่างที่กลมเกลียว
นั่นหมายความว่านิสิตเดินเรือต้องสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆนิสิตสาขาวิชาอื่นในมหาวิทยาลัย
และเมื่อจบการศึกษาออกไปต้องเป็นที่ยอมรับในความสามารถของคนในวงการเรือ
ดังนั้นระบบการปลูกฝังความเป็นชาวเรือของมหาวิทยาลัยจึงมีความเป็นลักษณะเฉพาะ
มีการสร้างวัฒนธรรมขององค์กร(Corporate Culture)ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา
นิสิตต้องรู้จักระบบรุ่นพี่รุ่นน้องหรือระบบอาวุโส
มีการปกครองดูแลตามลำดับชั้นภายใต้การดูแลของอาจารย์
นิสิตรุ่นพี่สามารถอบรมสั่งสอนนิสิตรุ่นน้องได้รวมทั้งสามารถลงโทษได้ภายในท่าลงโทษที่ได้ผ่านการพิจารณาและกำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจน
โดยเรามีกฎกติกาที่ชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องอยู่ภายในเขตพื้นที่ของวิทยาลัยเท่านั้น
เมื่อใดที่ขาก้าวออกไปนอกวิทยาลัยนิสิตเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตเหมือนนิสิตคนอื่นทั่วไป
อยู่ในวิทยาลัยเจอนิสิตรุ่นพี่ก็ยืนตรงและสวัสดี แต่นอกวิทยาลัยก็ยกมือไหว้ตามปกติ
มีการเข้าร่วมกิจกรรมกับนิสิตคณะหรือวิทยาลัยอื่น
เพราะในชีวิตจริงเมื่อจบการศึกษาไปนิสิตเหล่านี้ก็ต้องเจอคนหลากหลายอาชีพ
ดังนั้นเราจึงพยายามสอนให้นิสิตรู้จักปรับตัวให้เหมาะสม
นิสิตมีการฝึกเข้ายามเป็นผลัดในช่วงเวลาเย็นและกลางคืน
โดยต้องไม่กระทบต่อเวลาในการอ่านหนังสือเพราะบางวิชาที่เป็นวิชาพื้นฐานนิสิตเดินเรือต้องเรียนร่วมและตัดคะแนนรวมกับนิสิตต่างสาขาวิชา
ต่างคณะหรือวิทยาลัย ซึ่งมีผลต่อคะแนนเฉลี่ยรวม
ถ้าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะต้องพ้นสภาพการเป็นนิสิต(Retirement)
นิสิตต้องออกกำลังกายทุกวันในช่วงเย็นทั้งการวิ่ง ว่ายน้ำ และกายบริหาร(Physical
Training) และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย
พูดง่ายๆก็คือเราแทบจะนำระบบที่ใช้ในโรงเรียนนายเรือและศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีมาปรับใช้ในวิทยาลัยการขนส่งและโลจิสติกส์ให้เหมาะสม
ถามว่าทำไมนิสิตต้องเรียนรู้ ฝึกฝนและเข้าใจระบบเหล่านี้
เนื่องจากนิสิตเหล่านี้ต้องถูกส่งไปฝึกภาคปฏิบัติในทะเลตอนปิดภาคการศึกษากับทางศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีในชั้นปีที่
1 และ 2 ก่อนไปฝึกกับเรือสินค้าในชั้นปีถัดไป
เราจึงต้องสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและสามารถฝึกร่วมไปในแนวทางเดียวกันได้อย่างสมัครสมานสามัคคี
ในตอนเย็นๆนิสิตเหล่านี้จะวิ่งออกกำลังกาย และร้องเพลงขณะวิ่งไปรอบๆมหาวิทยาลัย
ซึ่งในปีแรกอาจจะดูแปลกๆในสายตานิสิตอื่นๆ
แต่พอนานไปก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาและถ้าวันไหนนิสิตติดเรียนในบางวิชาและออกมาวิ่งช้าก็จะโดนถามจากผู้ที่มาออกกำลังกายทั่วไปในมหาวิทยาลัยว่าทำไมวันนี้ออกมาวิ่งกันช้า(โดนควดซะยังงั้น)
และมักจะได้รับคำชื่นชมจากอาจารย์และนิสิตอื่นๆว่าดูเข้มแข็งและเป็นระเบียบเรียบร้อยดี
การซ่อมหรือลงโทษระหว่างนิสิตรุ่นพี่รุ่นภายในวิทยาลัย
กาลเวลาทำให้เป็นเรื่องปกติสำหรับนิสิตในวิทยาลัยเดียวกันที่เรียนสาขาวิชาอื่น
ซึ่งผลพลอยได้ก็คือ นิสิตเหล่านี้ต่างเข้าใจวิถีของกันและกัน
เมื่อนิสิตเหล่านี้จบการศึกษาออกไปไม่ว่าจะสาขาวิชาวิทยาการเดินเรือเดินเรือ
สาขาวิชาธุรกิจพาณิชยนาวี
สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีและสาขาการจัดการโลจิสติกส์
พวกเขาเหล่านี้ก็คือเพื่อนกัน พวกเขาเข้าใจแนวทางการศึกษาของกันและกัน
การเข้าใจวิถีของกันและกันผู้เขียนเชื่อเป็นการส่วนตัวว่านำมาซึ่งประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของระบบธุรกิจนั้น
เพราะความยึดมั่นถือมั่นในตนได้ถูกลดทอนลงไป
และแน่นอนผลประโยชน์ย่อมเกิดกับอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีไทยทั้งระบบ
เพียงแต่อาจถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขของเวลาบ้าง ปัญหาถูกแก้ไขด้วยคนฉันใด
ปัญหาย่อมถูกแก้ไขด้วยการให้การศึกษาแก่คนฉันนั้น.
|