ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

อียิปต์สะเทือน ศก.โลก ดันราคาน้ำมันพุ่ง - ลดกำลังซื้อ

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 08, 13, 17:01:04 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

เป็นข่าวที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เมื่อผู้นำกองทัพของอียิปต์ ตัดสินใจเข้าแทรกแซงความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการสั่งปลดประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ออกกลางอากาศเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นทำหน้าที่รักษาการชั่วคราว จนกว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ และเตรียมเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง


แม้การเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลดังกล่าวของผู้นำกองทัพแห่งดินแดนไอยคุปต์จะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาการเมืองภายในประเทศเป็นหลัก แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเคลื่อนไหวในอียิปต์กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลกแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านผลกระทบที่จะมีต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นได้จากราคาน้ำมันดิบกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพุ่งทะยานทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 เดือน ที่ 102 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากกองทัพได้ออกมาขู่ว่าจะเข้าแทรกแซงทางการเมือง จนทำให้เกิดความตึงเครียดในอียิปต์อย่างหนัก

สาเหตุที่ความเคลื่อนไหวในอียิปต์กำลังกลายเป็นที่จับตามองจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะหลังจากมีการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เพราะว่าหากพรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นฐานทางการเมืองของ มอร์ซี และผู้ต่อต้านการรัฐประหาร เกิดลุกฮือขึ้นมาตอบโต้จนเกิดความวุ่นวาย และนำพาประเทศไปสู่ความไร้เสถียรภาพขึ้นมา ก็อาจจะไปกระทบกระเทือนต่อการดูแลความปลอดภัยในการเดินเรือสินค้า และเส้นทางการขนถ่ายน้ำมันสำคัญของโลกอย่าง "คลองสุเอซ" ที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรอินเดีย

ล่าสุดนั้น ฝันร้ายดังกล่าวดูท่าจะคืบคลานเข้าสู่ความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อตัวแทนพรรคภราดรภาพมุสลิมได้ปฏิเสธการยอมรับและร่วมงานกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ และเตือนว่าอาจเสี่ยงที่จะนำพาประเทศไปสู่ความวุ่นวายอีกด้วย ขณะที่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เกิดศึกม็อบชนม็อบ ระหว่างผู้สนับสนุนการรัฐประหารกับฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารขึ้นในเมืองอเล็กซานเดรียขึ้น จนมีผู้เสียชีวิตไป 14 คน บาดเจ็บร่วม 200 คน

ทั้งนี้ เส้นทางการเดินเรือผ่านคลองสุเอซนี้ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญต่อภาวะความเป็นไปของเศรษฐกิจอียิปต์ และเส้นทางการเดินเรือสินค้าและขนถ่ายน้ำมันการค้าของโลกเป็นอย่างมาก

เพราะตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรปกับทะเลแดง ที่จะออกสู่มหาสมุทรอินเดียได้ ซึ่งเส้นทางเดินเรือดังกล่าวนี้คิดเป็นสัดส่วน 8% ของปริมาณการค้าในทะเลของโลก อีกทั้งยังเป็นเส้นทางขนถ่ายน้ำมันที่สำคัญ โดยคิดเป็น 4.5% ของปริมาณการค้าน้ำมันของโลก และคิดเป็น 14% ของการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในทะเลของโลก

ด้านข้อมูลจากกระทรวงพลังงานสหรัฐ ประเมินว่า ในแต่ละวันมีน้ำมันดิบถูกขนถ่ายผ่านเส้นทางดังกล่าวประมาณ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน และก๊าซแอลเอ็นจี ที่ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ยังไม่รวมการขนถ่ายน้ำมันผ่านท่อที่ขนานไปกับคลองสุเอซที่ยาวกว่า 190 กิโลเมตร อีก 1.7 ล้านบาร์เรล

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ความเคลื่อนไหวของอียิปต์มีนัยสำคัญต่อความเป็นไปของราคาตลาดน้ำมันทั่วโลกไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ประเทศแห่งนี้ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกเลยด้วยซ้ำ

เนื่องจากหากเหล่าผู้เดินเรือสินค้าและผู้ขนถ่ายน้ำมันไม่เลือกเส้นทางคลองอุเอซเพื่อเดินทางไปเอเชียนี้ ก็จะต้องลงไปอ้อมไกลถึงแหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาใต้เลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกินระยะทางไกลกว่ากันมาก และทำให้ต้นทุนการขนส่งแพงกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกัน หรือหากพูดให้ชัดกว่านั้นคือ หากเริ่มจากกรุงลอนดอนของอังกฤษ เพื่อเดินเรือไปเมืองมุมไบของอินเดีย โดยผ่านคลองสุเอซนั้น โดยเฉลี่ยจะใช้ระยะทางการเดินเรือประมาณ 1.16 หมื่นกิโลเมตร ขณะที่เส้นทางแหลมกู๊ดโฮปใช้ระยะทางกว่า 1.98 หมื่นกิโลเมตร

ความกังวลต่อสถานการณ์ความวุ่นวายของดินแดนแห่งพีระมิดและฟาโรห์ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ล่าสุดได้ส่งผลสะเทือนไปยังประเทศต่างๆ แล้ว โดยล่าสุด ฮัตตา ราชสาร หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ได้ออกมาเผยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กำลังรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ในอียิปต์ที่จะส่งผลถึงเสถียรภาพในตะวันออกกลางและตลาดน้ำมันโลกที่จะพุ่งขึ้นสูง

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลอิเหนารู้สึกอ่อนไหวต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพิเศษ ก็เพราะเกรงว่าการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จะยิ่งเป็นการเข้ามาซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพของประชาชนให้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก รวมไปถึงปัญหาการขาดดุลงบประมาณของประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะลดการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ

อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลกจากผลพวงความวุ่นวายในอียิปต์ ก็อาจยิ่งเป็นการเข้าซ้ำเติมภาวะกระแสเงินทุนร้อนไหลออกและค่าเงินที่เริ่มอ่อนค่าลงอย่างหนักของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐออกมาเผยว่าอาจลดการใช้มาตรการอัดฉีดในปลายปีนี้ ทำให้ยิ่งทวีความเลวร้ายลงมากขึ้น

นอกเหนือจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและราคาน้ำมันโลกแล้ว ในอีกแง่หนึ่ง การบุกยึดอำนาจของกองทัพอียิปต์ก็ยังอาจส่งผลสะเทือนไปยังการเมืองและเสถียรภาพของภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายๆ ประเทศ เช่น ตุรกี บราซิล ที่กำลังเผชิญกับการลุกฮือประท้วงของประชาชนอยู่ในขณะนี้ได้ เพราะอาจกลายเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ เดิมตาม โดยเฉพาะในตุรกีนั้นเคยมีประวัติของการที่ทหารลุกขึ้นมายึดอำนาจมาแล้ว

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างตุรกีจะออกมาตำหนิการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับประเทศที่มีแนวโน้มการปกครองแบบอำนาจนิยมและไม่ค่อยถูกกับการปกครองประเทศโดยกลุ่มหัวรุนแรงอย่างพรรคภราดรภาพมุสลิม ที่ไม่ค่อยจะต่อว่าการลุกขึ้นยึดอำนาจครั้งนี้ของการกระทำครั้งนี้มากนัก เช่น ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความกังวลต่อสถานการณ์ความวุ่นวายในอียิปต์จะสร้างความปั่นป่วนต่อทิศทางราคาน้ำมันของโลก แต่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าราคาน้ำมันคงจะไม่พุ่งสูงขึ้นไปมากกว่าที่ระดับ 104-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลมากนัก เพราะปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมนั้นยังอ่อนแออยู่ โดยเฉพาะผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างจีน กำลังเผชิญกับภาวะการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง


นอกจากนี้ ผลผลิตน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ เช่น สหรัฐ ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความเคลื่อนไหวในตะวันออกกลางไม่สามารถส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกเหมือนในช่วงทศวรรษ 1960 ที่เกิดภาวะสงครามระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลและพันธมิตร จนมีการสั่งปิดช่องแคบคลองสุเอซ และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไม่ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไปกว่านี้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกๆ ฝ่ายยอมรับแล้วก็คือ ผลพวงจากกระแสทุนโลกาภิวัตน์นี้ได้ทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งหนึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่อีกมุมหนึ่งของโลกได้อย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน

ที่มา -