ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

จีนหรือเวียดนาม ฝ่ายไหนกันแน่ ที่ก่อปัญหาในทะเลจีนใต้?

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 24, 14, 19:45:30 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย หนิง ฟู่ขุ่ย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย

มหาสมุทรเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต และยังเป็นบ้านที่มวลมนุษยชาติใช้พำนักยังชีพและพัฒนาตนร่วมกัน ทะเลจีนใต้รวมทั้งหมู่เกาะซีซา ก็เป็นช่องทางที่สำคัญประหนึ่ง เส้นทางสายไหมทางน้ำ ที่เชื่อมจีนกับโลกเข้าด้วยกันในประวัติศาสตร์ และยังเป็นแหล่งของผลิตภัณฑ์และชีวิตของชาวประมงจีนมาถึงหลายรุ่น ดังเช่นที่อ่าวไทยเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงอารยธรรมสยามอันเรืองรองของไทย


แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทะเลจีนใต้อันไพศาลกลับไม่สงบนัก เนื่องจากเวียดนามได้ก่อกวนโครงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล ตามน่านน้ำในบริเวณหมู่เกาะซีซาของจีน เพื่อเรียกร้องความสนใจของทุกฝ่าย ซึ่งในขณะที่สายตาของทั่วโลกกำลังจับจ้องไปที่น่านน้ำแห่งนี้

สื่อมวลชนของชาติตะวันตกบางสำนักได้มองข้ามข้อเท็จจริงหลายประการ และกล่าวหาจับผิดว่าการที่จีนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นการทำลายสภาพการณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตราหน้าจีนว่า ไม่เคารพและปฏิบัติตามกฎกติการะหว่างประเทศ ก็ดี, ทำตัวเป็น จอมรังแก (ชาติ) ผู้อ่อนแอกว่า ก็ดี, หรือกล่าวหาว่าจีนเป็น ตัวก่อปัญหา ของทะเลจีนใต้ก็ดี

แต่ที่จริงเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า? ตกลงแล้วเป็นใครกันแน่ที่ก่อปัญหา? ตามข้อมูลที่ได้ศึกษาค้นหามา ข้าพเจ้าอยากจะขอแนะนำให้มิตรสหายชาวไทยได้ทราบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงพื้นฐานสัก 3 ประการ

ประการแรกคือสิทธิอธิปไตยในหมู่เกาะซีซาเป็นของจีน ซึ่งจีนเป็นชาติแรกที่ค้นพบ, พัฒนาและบริหารจัดการ, และมีอำนาจในการปกครองหมู่เกาะซีซา อีกทั้งทางการของจีนได้มีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง, ถูกต้องตามกฎหมาย, และโดยสงบมาโดยตลอด โดยตั้งแต่กลางและปลายศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมาราชวงศ์จีนทุกสมัยก็ได้มีอำนาจปกครองและส่งทัพราชนาวีมาลาดตระเวนยังเขตของหมู่เกาะแห่งนี้แล้ว

และต่อมาในปี 1946 รัฐบาลจีนยังได้รับสิทธิเหนือหมู่เกาะซีซาคืน จากการครอบครองอันไม่ชอบธรรมของประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์นี้ได้ถูกบันทึกไว้อยู่ในเอกสารสากลหลายฉบับ หลังจากนั้น ทางการจีนยังได้ปกครองและบริหารหมู่เกาะซีซาอย่างชอบด้วยกฎหมายตลอด ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จัดตั้งหน่วยงานผู้มีอำนาจไปปกครองดูแล และออกบทบัญญัติบังคับใช้ เป็นต้น

และในปี 1974 กองทัพและประชาชนจีนยังได้ขับไล่กองทัพเวียดนามใต้ที่เข้ามารุกรานให้ออกไปจากเกาะซันหูกับเกาะกันเฉวียนของหมู่เกาะแห่งนี้อีกด้วย เป็นการรักษาและปกป้องอำนาจอธิปไตยในหมู่เกาะแห่งนี้

ในประเด็นนี้ เมื่อก่อนปี 1974 รัฐบาลทุกชุดของเวียดนามไม่เคยได้คัดค้าน ไม่ว่าจะด้วยแถลงการณ์หรือคำประกาศใดๆ จากทางรัฐบาล, แม้แต่ในหนังสือพิมพ์, แผนที่, หรือกระทั่งหนังสือสำหรับการเรียนการสอนก็ตาม ต่างก็ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าหมู่เกาะซีซาเป็นอาณาเขตของจีนมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้วทั้งสิ้น

เรื่องเหล่านี้ล้วนมีประวัติความเป็นมาเป็นไปและมีเอกสารที่ตรวจสอบได้ทั้งสิ้น

มีสุภาษิตว่า "คนที่ไม่ยอมรักษาคำพูดจะไม่เป็นที่ยอมรับ ประเทศที่ไม่มีความน่าเชื่อถือจะต้องถดถอยล่มสลาย" รัฐบาลเวียดนามนั้นได้ละเมิดคำมั่นสัญญาที่ตนเองเคยรับปากไว้ โดยเรียกร้องเอาหมู่เกาะซีซาของจีนมาเป็นพรมแดนของตัว

ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการละเมิดต่อหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในหัวเรื่อง กฎหมายปิดปาก (ห้ามกลับคำภายหลัง) และอื่นๆ ยังส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อภาพลักษณ์และเครดิตของตนเองในสังคมโลกด้วย

ประการที่ 2 ก็คือ ทางเวียดนามได้ยั่วยุอย่างไร้เหตุและไม่มีความชอบธรรม แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซของบริษัท Haiyang Shiyou 981 ของจีน อยู่ห่างจากเกาะจงเจี้ยนซึ่งเป็นเกาะของหมู่เกาะซีซา และเขตแดนของหมู่เกาะซีซาของจีนเป็นระยะทางเฉลี่ย 17 ไมล์ทะเล และอยู่ห่างจากแผ่นดินชายฝั่งของประเทศเวียดนามถึง 133-156 ไมล์ทะเล ดังนั้น แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยังไม่เคยเจรจากันในประเด็นที่เกี่ยวกับการปักปันเขตแดน แต่ไม่ว่าจะตามหลักการใด น่านน้ำดังกล่าวก็ไม่อาจอยู่ภายใต้อำนาจปกครองดูแลของทางเวียดนามไปได้ โดย 10 ปีที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการของจีนก็ทำกิจกรรมการสำรวจในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ซึ่งรวมไปถึงการสำรวจวัดคลื่นความสั่นสะเทือน และปฏิบัติการสำรวจแท่นขุดเจาะ เป็นต้น ดังนั้น ในครั้งนี้ปฏิบัติการแท่นขุดเจาะ 981 เป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากกระบวนการสำรวจที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในอำนาจอธิปไตยและขอบเขตบริหารของทางจีนทั้งสิ้น ทางเวียดนามจึงไม่มีสิทธิที่จะว่ากล่าวอย่างไม่มีความรับผิดชอบ และยิ่งไม่มีสิทธิที่เข้าแทรกแซงหรือขัดขวางอีกด้วย

แต่ที่ทางจีนตกใจก็คือ หลังจากที่ทางจีนได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ทางเวียดนามมีการส่งกองเรือจำนวนมากที่รวมทั้งเรือติดอาวุธอยู่ด้วย ใช้มาตรการเด็ดขาดก่อกวนการปฏิบัติงานของจีนอย่างผิดกฎหมาย ปะทะกันกับเรือทางการของทางรัฐบาลจีนซึ่งกำลังทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว อีกทั้งยังมีการส่งเจ้าหน้าที่พิเศษเช่น มนุษย์กบ (นักประดาน้ำ) เข้าไปยังเขตน่านน้ำ กับมีการปล่อยอวนและทิ้งทุ่น หรือวัตถุกีดขวางเป็นจำนวนมากในแถวนั้นด้วย ซึ่งจนถึงเวลา 17 นาฬิกาของวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา เรือของทางเวียดนามในบริเวณดังกล่าวมีจำนวนมากสูงสุดถึง 63 ลำ และได้รุกล้ำเขตหวงห้ามของจีน ปะทะกับเรือของทางการจีนรวมทั้งสิ้นถึง 1,416 ครั้ง ซึ่งการกระทำมากมายหลายครั้งอย่างแข็งกร้าวแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นมาก่อนเลยในโลกนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ทางเวียดนามยิ่งเพิ่มความแข็งกร้าวและเล่นงานหนัก โดยเจตนาที่จะปลุกระดมให้เกิดกระแสต่อต้านจีนภายในชาติตนอีกด้วย โดยในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พวกผิดกฎหมายชาวเวียดนามหลายพันคนได้ลอบวางเพลิงประท้วงกลุ่มบริษัทต่างชาติซึ่งรวมทั้งบริษัทของจีนด้วย ส่งผลให้ชาวจีนในเวียดนามถูกเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายมากถึง 4 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่าอีก 300 คน และก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินเป็นจำนวนมหาศาล

นี่ก็เปรียบเหมือนกับว่า ทางจีนได้เพาะปลูกทุเรียนในสวนหลังบ้านของตนเองมาเป็นแรมปี แต่พอเตรียมจะเก็บเกี่ยวตอนที่ผลสุก จู่ๆ กลับมีกลุ่มคนบุกเข้ามา ใช้วิธีวางเพลิง ชกต่อย ขู่เรียกร้องว่านั่นเป็นผลไม้ของตัวเอง แถมยังวางแผนยึดไว้เสร็จสรรพอีกด้วย

ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ถ้าไม่เรียกว่าการก่อปัญหา การท้าทาย แล้วจะให้เรียกว่าอะไร?

และประการที่ 3 ก็คือ ทางจีนยังคงยึดมั่นในการจัดการกับเหตุการณ์เช่นนี้ด้วยวิธีที่เหมาะสม จีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ ทางเรา (จีน) ไม่ก่อเรื่อง และไม่อยากเห็นบริเวณรอบๆบ้านเราเกิดความวุ่นวายอะไร หากมีสิ่งใดที่สามารถทำได้เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์เช่นนี้ ทางเราก็จะดำเนินการให้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หวั่นไหว ด้วยเหตุนี้ ทางจีนจึงยังคงความยับยั้งชั่งใจเป็นอย่างสูงมาโดยตลอด โดยได้พยายามสื่อสารเจรจากับบุคคลในแต่ละระดับของทางเวียดนามถึง 30 กว่าครั้ง แนะนำให้ทางเวียดนามคำนึงถึงภาพรวมความสัมพันธ์ทางทวิภาคีระหว่างสองประเทศและสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ให้ความเคารพในอธิปไตยและขอบเขตอำนาจของทางจีน, หยุดแทรกแซง ก่อกวนต่างๆ นานา ที่มีต่อการดำเนินการของจีน ถอนกำลังคนกับกองเรือทั้งหมดออกจากบริเวณดังกล่าว เพื่อลดความตึงเครียดลง และเพื่อให้สามารถคืนความสงบให้กับน่านน้ำและผืนทะเลแผ่นนี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปัจจุบันนี้ ช่องทางการสื่อสารพูดคุยระหว่างจีนและเวียดนามไม่มีการติดขัดอะไร แต่ในขณะเดียวกัน ทางจีนก็ ไม่กลัวเรื่อง ที่เกิดจากการแทรกแซงทางทะเลของทางเวียดนามเลยแม้แต่น้อย


จีนได้ใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อที่จะป้องกันตัว ทั้งส่งเรือทางการไปยังจุดที่เกิดเหตุเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของการปฏิบัติงาน และรักษาระเบียบในการปฏิบัติงานบนทะเล และปลอดภัยในการเดินเรือ

จึงสามารถกล่าวได้ว่า ทางจีนมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะรักษาสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ให้เกิดความสงบ กับยังรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างจีนกับเวียดนามให้เข้มแข็งยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ ที่ผ่านมา

แต่ความตั้งใจของทางจีนที่จะคงอำนาจอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของประเทศก็ยังคงมั่นยิ่งกว่าทุกครั้งเช่นกัน

ประเทศจีนกับไทยต่างก็เป็นชาติทางทะเลทั้งคู่ ซึ่งเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับทางทะเลนั้นถือว่ามีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของประเทศทั้งสอง ข้าพเจ้าเองก็มีความคิดที่เหมือนกับเพื่อนชาวไทยทั้งหลาย ว่ามีความรู้สึกที่ลึกซึ้งและความผูกพันต่อทะเลและมหาสมุทร จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผืนน้ำที่เชื่อมเรานานาชาติไว้ จะเป็นท้องทะเลแห่งสันติภาพ, ท้องทะเลแห่งความร่วมมือ, ท้องทะเลแห่งมิตรภาพ และกลายเป็นสายสัมพันธ์ที่ทำให้ประชาชนจากชาติต่างๆ ได้เพิ่มพูนความเข้าใจกับความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และร่วมกันพัฒนาเจริญก้าวหน้าด้วยกัน จีนจะเป็นพลังสำคัญในการรักษาความมั่นคงและสันติภาพในทะเลจีนใต้ และขับเคลื่อนให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาก้าวหน้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ จีนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่หวั่นไหวและไม่มีการเปลี่ยนแปลง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นใน มีเหตุผลย่อมไม่ต้องขึ้นเสียง ธรรมะย่อมมีอยู่ในใจตน เชื่อว่าเพื่อนๆ นักอ่านชาวไทยที่ฉลาดเฉลียวและใช้เหตุผลทั้งหลาย ย่อมที่จะเข้าใจและให้การสนับสนุนในความพยายามของทางจีน ในอันที่จะปกป้องรักษาสิทธิและอธิปไตยของตัวเองและความมั่นคงเสถียรภาพของทะเลจีนใต้

ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ กับคำถามที่ว่า เป็นใครกันแน่ที่ก่อปัญหาในทะเลจีนใต้? ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกท่านคงทราบแก่ใจดี

ที่มา -