ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ทะเลกลืนแผ่นดินอ่าวไทย

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 14, 14, 19:51:17 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ทะเลกลืนแผ่นดินอ่าวไทย : ปรีชา เพาะพูล ทีมข่าวระวังภัยรายงาน

ภาวะวิกฤติจากปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งที่ตีวงกว้างทางฝั่งอ่าวไทย จ.สงขลา ที่มองเห็นได้ชัดเจนคือบริเวณริมหาดชลาทัศน์ ที่เชื่อมต่อไปยังหาดสิมิหลา ที่ถูกท้องทะเลกลืนกินไปในทุกปี สิ่งที่สำคัญคือการปลูกสร้างสิ่งรุกล้ำลงไปในทะเล การสร้างโรงสูบน้ำเสียเพื่อไปบำบัดที่เกาะแต้ว 2 ปีให้หลัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่ริมหาดชลาทัศน์ที่หายไป


ขณะที่เกิดคลื่นลมแรงในช่วงหน้ามรสุมเพราะผลกระทบจากคลื่นที่เข้ามาปะทะกับสิ่งปลูกสร้างของโรงสูบน้ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศของคลื่นทะเล โครงสร้างของโรงสูบน้ำเริ่มถูกกัดเซาะจนทำให้กินวงกว้างไปยังถนนริมหาดชลาทัศน์ ทำให้เกิดการทรุดตัวของถนนเรื่อยมา แผ่นดินของหาดชลาทัศน์กว่า 200 เมตรทางด้านทิศเหนือต้องหายไป

สงขลาฝังใจบ้านสูญหายเพียงชั่วข้ามคืน

การสร้างทีกรอยน์ ที่มีรูปลักษณะเป็นตัวที โดยใช้หินเรียงออกไปในทะเล แม้ว่าจะสามารถหยุดยั้งไม่ให้คลื่นกัดเซาะชายฝั่งบริเวณโรงสูบน้ำและพื้นที่รอบริมถนนหาดชลาทัศน์ได้ แต่สิ่งที่ตามมาคือบริเวณที่เลยช่วงทีกรอยน์ไปนั้น เกิดการกัดเซาะมากขึ้นกว่าเดิม

เทศบาลนครสงขลาใช้วิธีมากมายในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการนำหินใส่กรงที่เรียกว่า เกเบี้ยน นำถุงบิ๊กแบ็กมาเรียง กั้นไว้เพื่อป้องกันคลื่น แต่ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้พื้นที่ที่อยู่ติดกันพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย...!!!

อีกจุดหนึ่งในเมืองสงขลาที่เห็นได้ชัดเจนนอกจากริมหาดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวสงขลาแล้ว ชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ได้รับอิทธิพลจากการสร้างเขื่อนกันทรายกันคลื่นในปี 2541 ที่บ้านปากคลองนาทับของกรมเจ้าท่า การสร้างเขื่อน กันทรายกันคลื่นก็ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบหนักกว่าเดิม

20 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านและชาวประมงในพื้นที่หมู่ 8 หลายสิบหลังต้องอพยพหนีตายเพื่อหาที่อยู่ใหม่ เพราะคลื่นที่กระทบกับสันของเขื่อนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนทิศ หาดทรายที่เคยสวยงามกลับเว้าแหว่ง บ้านเรือนต้องสูญหายไปในทะเลเพียงชั่วข้ามคืน

การแก้ปัญหาของกรมเจ้าที่โดยการนำหินมาวางเรียงไว้กันคลื่นทะเล ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะธรรมสถานหาดทรายแก้ว อ.สิงหนคร จ.สงขลา ที่เคยมีพื้นที่กว่า 80 ไร่ มีขนำนับ 100 หลัง สำหรับพระและผู้ปฏิบัติธรรมได้เข้ามาปฏิบัติทุกปี วันนี้กลายเป็นวัดร้าง


"วันนี้พื้นที่ของวัดเหลือเพียงไร่เศษ วิหารที่เคยสวยงาม ศาลาปฏิบัติธรรม พระพุทธรูปที่อยู่ในวิหารต้องถูกทะเลกลืนกินไปอย่างน่าเสียดาย เพราะการสร้างเขื่อนกันคลื่น การสร้างท่าเรือน้ำลึก" พระอาจารย์เล็ก ขันติวโร เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมรุ่นที่ 3 กล่าวอย่างปลงๆ

ที่ดินเมืองคอนถูกกลืนไม่ต่างสงขลา

วัดเกาะเพชร หมู่ 6 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช หลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนราษฎรอย่างมาก และที่สร้างความหวาดวิตกคือแนวคลื่นได้พัดเข้าใกล้โบสถ์ที่ประดิษฐานพระประธานคือ หลวงพ่อเกาะเพชร เข้าไปทุกขณะ ห่างเพียงไม่กี่สิบเมตรเท่านั้น 

หากจะว่าไปแล้ววัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดเดียวของชาวบ้านในตำบล ที่เป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมและศาสนพิธีต่างๆ เพราะรอบวัดจะเป็นมัสยิด พื้นที่ของวัดมีอยู่ 12 ไร่กว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาถูกน้ำทะเลซัดกินเนื้อที่ไปเหลือเพียง 7 ไร่กว่าๆ

"ทางวัดได้หาแนวในการสร้างพนังคอนกรีตหรือที่ชาวบ้านเรียกว่ากำแพงปูน โดยการรวบรวมเงินการจากสร้างวัตถุมงคลกว่า 10 ล้านในช่วงที่องค์จตุคามรามเทพได้รับความนิยม ทำให้วันนี้วัดและหมู่บ้านใกล้เคียงยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มก็ตาม" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 รักษ์ชาติ ช่วยเกลี้ยง  กล่าว

ห่างจากวัดประมาณ 10 กิโลเมตร บนถนนสายหลักในพื้นที่ ต.ขนาบนาก ทางกรมเจ้าท่าได้นำแผ่นปูนมาเรียงป้องกันคลื่นจากลมมรสุม สูงกว่า 3 เมตร ชาวบ้านในละแวกนี้บอกว่า การสร้างแนวกำแพงสูงขึ้นอาจทำให้สถานการณ์หนักกว่าเดิม

"คลื่นที่พัดเข้ามาช่วงมรสุมเมื่อปะทะกำแพงปูนจะสร้างคลื่นลูกใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจมีความสูงกว่า 10 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้รับผลกระทบทุกปี ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้รวมทั้งถนนที่ถูกตัดขาดนั้นหมายถึงการฝืนธรรมชาติ" รักษ์ชาติ ช่วยเกลี้ยง บอก

ชาวบ้าน-นายทุนแห่ยึดที่ดินงอกใหม่

การสร้างเขื่อนของกรมเจ้าท่าในปี 2535 เพื่อป้องกันการกัดเซาะของตลิ่งและกันทรายเข้าไปปิดร่องน้ำปากบาง แม้จะส่งผลให้พื้นที่ดินบางส่วนหายไปก็ตาม แต่ที่บ้านปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา กลับมีพื้นดินงอกขึ้นมาใหม่กว่า 300 ไร่ ทำให้ชาวบ้านและชาวประมงในพื้นที่ออกมาจับจองเพื่อเป็นเจ้าของ

ไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มนายทุนก็ตาลุกวาวเข้ามาพร้อมอำนาจเงินและอิทธิพลเข้ามากว้านซื้อ เพื่อครอบครองและปลูกสิ่งก่อสร้างกันอย่างคึกคัก

ขณะที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และกรมเจ้าท่า ได้ออกประกาศห้ามประชาชนบุกรุกและครอบครองพื้นที่ดังกล่าว เนื่องเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ก็ไม่สามารถทัดทานพลังชาวบ้านและนายทุน จนทางการต้องออกมาตรการในการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ 


รพล พาหุมันโต ปลัดอำเภอเทพา พยายามที่จะพูดคุยกับชาวบ้านให้นำโฉนดหรือหลักฐานที่มีอยู่มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ที่บุกรุกหรือกำลังจะทำการก่อสร้างหรือแม้แต่ปลูกสิ่งก่อสร้างแล้ว ก็ต้องรื้อถอนเพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ห้ามมิให้ครอบครอง พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่สาธารณะ

ตะลุมพุกร้องรัฐขอเจียดที่งอกบางส่วน

เช่นเดียวกับที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ก็มีปัญหาการกัดเซาะของชายฝั่งหน้าฤดูมรสุม ทำให้พื้นที่บนแหลมตะลุมพุกหายไป พื้นที่ริมหาดถูกคลื่นกัดเซาะชาวบ้านได้รับความเสียหาย ขณะที่การสร้างเขื่อนกันคลื่นของกรมเจ้าท่านั้นชาวบ้าน 500 กว่าหลังคาเรือนไม่มีที่อยู่อาศัย ในทางกลับกันพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกลับงอกขึ้นมาใหม่ในป่าชายเลนเนื้อที่กว่า 28,000 ไร่

"หลังจากบ้านพักถูกทะเลกลืนไปนั้น ทุกวันนี้ไม่มีที่อยู่อาศัย วันนี้ยอมรับว่าต้องบุกรุกที่สาธารณะสร้างเพราะเป็นหนทางสุดท้ายแม้จะผิดกฎหมายก็ตาม เพราะยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาดูแล" ประไพ ชัยนุรักษ์ กล่าว

นายประยุทธ ฐานะวัฒนา กำนันตำบลแหลมตะลุมพุก ในฐานะผู้นำชุมชน บอกว่า "เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่พักพิงอาศัยโดยขอแบ่งเพียง 150 ไร่เท่านั้น เพื่อให้ชาวบ้านผู้ที่ได้รับความสูญเสียได้อยู่อาศัย แต่ก็ไม่มีคำตอบจากทางรัฐบาลชุดที่ผ่านมา"

นักวิชาการแนะอย่าปิดกั้นธรรมชาติ

หลากหลายมุมมองของการป้องกันและแก้ไขปัญหาคลื่นกลืนแผ่นดินอ่าวไทย ที่แตกต่างกันตามยุคสมัย ดร.สมปราถณา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ภาควิชา วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แจงว่า "การนำหินมาเรียงกลางทะเลเพื่อป้องกันคลื่น ของกรมเจ้าท่าเป็นความคิดที่ผิด เพราะเป็นการปิดกั้นธรรมชาติ ยิ่งมีการสร้างหรือปลูกสิ่งรุกล้ำทางน้ำก็จะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า หากยังไม่หยุดการก่อสร้างก็คงจะแก้ไขไม่ได้"

ส่วนการเติมทรายในแต่ละพื้นที่ก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ เพราะแต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมือนกัน ชายหาดนั้นเมื่อนำสิ่งแปลกปลอมลงไปแล้วเกิดความเสียหาย ถ้าเราเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นออก ชายหาดจะกลับเข้าสู่สมดุลด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาดีกว่าที่ไม่ทำอะไรเลย

ปัญหาคลื่นกลืนแผ่นดินอ่าวไทย ชาวบ้าน วัด แหล่งท่องเที่ยว แม้แต่ทรัพยากรธรรมชาติต้องถูกทำลาย เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไขนอกเหนือจากการสร้างเขื่อน การนำหินมาเรียงกลางทะเล การถมทราย เพราะกระทบทั้งด้านภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่ วิธีชุมชน และอีกหลายๆ ด้าน

ที่มา -