ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

"เมียนมาร์" แก้กฎหมายพลังงาน ลดขายก๊าซธรรมชาติหวั่นขาดแคลน

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 21, 14, 22:30:24 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในเมียนมาร์ จนนำไปสู่การประท้วงรัฐบาลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าให้มีราคาที่แพงขึ้น เหตุการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน อีกทั้งปัญหาการส่งกระแสไฟฟ้าที่ไม่ทั่วถึงต่อประชากรในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้งของทุกปี ทั้งที่เมียนมาร์มีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานอุดมสมบูรณ์เป็นที่เลื่องลือ ตอกย้ำถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวที่กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ


ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในปีล่าสุด จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ "เดอะ นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์" กระบอกเสียงของรัฐบาลเมียนมาร์ กระทรวงพลังงานออกแถลงการณ์ว่า ขณะนี้ทางรัฐสภาเมียนมาร์กำลังจัดทำร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งมีข้อกำหนดชัดเจนให้ประเทศเตรียมลดการผลิตก๊าซธรรมชาติลง รวมทั้งจำกัดการขายทรัพยากรสำคัญนี้ รวมถึงกฎหมายฉบับเดียวกันยังจะควบคุมการบริหารจัดการด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศด้วย

การร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้ จัดทำขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ และเตรียมที่จะนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาในสมัยประชุมที่จะเริ่มขึ้นอีกครั้งในวันนี้ 20 ตุลาคม 57 นี้ ซึ่งจุดประสงค์สำคัญของการร่างกฎหมายพลังงานเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปีหน้า เพื่อควบคุมการผลิตและการส่งออกของก๊าซธรรมชาติอยู่ในขอบเขตตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้

โดยการร่างกฎหมายพลังงาน หรือ Energy Bill จัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงพลังงานไฟฟ้า กระทรวงพลังงานสมาคมวิศวกรรมแห่งเมียนมาร์ กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมาร์

นอกจากนี้ ทางกระทรวงพลังงานเผยถึงรายละเอียดแผนการในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า ว่า จะใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากทั้งแหล่งบนบกและในทะเล เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น อันเป็นความพยายามของทางรัฐบาลที่จะตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงทั้งประเทศภายในระยะเวลากว่า 2 ปี

การผลิตก๊าซธรรมขาติในปริมาณมากขึ้นถือเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตขึ้นราว 7.8% ต่อปี และถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย

ตามรายงานของธนาคารโลกระบุว่า เมียนมาร์ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงกระแสไฟฟ้าในระดับต่ำที่สุดในโลก โดยประชากรในประเทศเพียง 33%เท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้ และเมื่อไม่นานมานี้ ดร.จิม ยง ประธานธนาคารโลก ได้ประกาศอนุมัติให้เงินกู้จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการขยายการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศเมียนมาร์

ด้าน อีเลฟเว่น เมียนมาร์ รายงานถึงตัวเลขการเติบโตของภาคการส่งออกก๊าซธรรมชาติในเมียนมาร์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ ล่าสุด มีมูลค่าสูงถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นตัวเลขที่โตมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์

โดยการส่งออกก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางทะเล ราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ มีการส่งผ่านทางท่ออยู่ที่ 609 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทางกระทรวงพาณิย์ของเมียนมาร์กล่าวว่า การส่งออกก๊าซธรรมชาติทั้งปี 2556 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3 พันล้านดอลลาร์

ดังนั้น ทิศทางและความเป็นไปได้ว่าภาคการส่งออกก๊าซธรรมชาติของเมียนมาร์ในปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณนอกชายฝั่งและบนฝั่ง อีกทั้งยังเปิดโอกาสที่มากขึ้นให้กับบริษัทต่างประเทศและในประเทศด้วย

ด้านสื่อทางการของจีนอย่างซินหัวรายงานอ้างอิงข้อมูลจากเวิลด์แบงก์ว่า เมียนมาร์จะสามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึงกระแสไฟฟ้าเป็น 50% ภายในปี 2563 ด้วยเงินทุนช่วยเหลือจากเวิลด์แบงก์และภาคเอกชน และคาดว่ารัฐบาลเมียนมาร์จะสามารถบรรลุป้อนกระแสไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2573

แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลเมียนมาร์กลับหวั่นวิตกกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ว่าอาจสร้างผลเสียให้กับประเทศในภายภาคหน้าได้ จึงเป็นเหตุผลในการร่างกฎหมายพลังงานฉบับใหม่ เพื่อปกป้องทรัพยากรในประเทศที่เริ่มจะหมดลง ท่ามกลางความต้องการที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศก็เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ


โดยทางกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาร์เผยถึงสถิติล่าสุดเกี่ยวกับความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำในปัจจุบันอยู่ที่ 4,361 เมกะวัตต์ ทั้งยังมีตัวเลขที่เป็นทางการอื่นๆ เช่น นับตั้งแต่ปี 2531 จนถึงเดือนมิถุนายนของปีนี้ การลงทุนจากต่างชาติในภาคพลังงานของเมียนมาร์มีมูลค่าสูงถึง 1.92 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 41.28% ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด

แม้รัฐบาลเมียนมาร์ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการร่างรัฐบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของขอบเขตในการบังคับใช้ ผลกระทบต่อการผลิต หรือ ภาคการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือว่ากำลังเฟื่องฟูอย่างมากในตอนนี้ รวมทั้งทิศทางของแผนการการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ

แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับหลายประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ เช่น ไทย ที่ถือว่าเป็นตลาดส่งออกหลัก และมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่งก๊าซราว 37% ของปริมาณใช้ก๊าซทั้งหมด

ที่มา -