ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ผู้นำอินเดียระบุขายเรือตรวจการณ์ให้เวียดนามเสริมการป้องกันทางทะเล

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 29, 14, 20:24:20 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ให้คำมั่นวันนี้ (28 ต.ค. 57) ว่าจะเสริมความสามารถทางทหารของเวียดนามหลังการหารือระหว่างผู้นำของสองประเทศ ในความเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มจะสร้างความคับแค้นใจให้กับจีน


โมดีระบุว่าอินเดียจะขายเรือตรวจการณ์ให้กับเวียดนามภายใต้วงเงินสินเชื่อ 100 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่เวียดนามกำลังมองหาหนทางที่จะปรับปรุงการป้องกันตนเองในทะเลจีนใต้

ผู้นำอินเดียหารือกับนายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ที่อยู่ในระหว่างการเยือนอินเดียนาน 2 วัน ที่กรุงนิวเดลี ซึ่งเวียดนามนั้นพยายามที่จะกระชับสัมพันธ์กับพันธมิตรที่แข็งแกร่งหลังความสัมพันธ์กับจีนไม่สู้ดีนักอันเนื่องจากเหตุพิพาททางทะเล

โมดีระบุว่า ผู้นำทั้งสองได้ตกลงที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี และความร่วมมือด้านการป้องกันกับเวียดนามที่เป็นหนึ่งในความสำคัญของอินเดีย

"อินเดียยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการป้องกันและกองกำลังรักษาความปลอดภัยของเวียดนามให้ทันสมัย" ผู้นำอินเดีย กล่าว

ในคำแถลงร่วมที่เผยแพร่หลังเสร็จสิ้นการหารือระบุว่า ผู้นำทั้งสองชาติเรียกร้อง "การอดกลั้น" และ "เสรีภาพในการเดินเรือ" ในทะเลจีนใต้ ที่จีนเข้าไปมีส่วนขัดแย้งกับเวียดนามและชาติอื่นๆ

"ทั้งคู่เห็นพ้องกันว่าเสรีภาพของการเดินเรือและการเดินทางทางอากาศในทะเลจีนใต้ไม่ควรถูกขัดขวาง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรที่จะอดกลั้น เลี่ยงการคุกคามหรือใช้กำลัง และแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล" คำแถลงร่วมฉบับหนึ่ง ระบุ

ในเดือนพ.ค. ปักกิ่งเคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปยังน่านน้ำที่ฮานอยอ้างสิทธิอธิปไตย ซึ่งก่อให้เกิดการเผชิญหน้าทางทะเลนานหลายเดือนและนำมาซึ่งเหตุจลาจลต่อต้านจีนในเวียดนาม และในเดือนก.ค. จีนได้ย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวออก

ความเห็นของโมดีมีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายต่างประเทศของจีนเยือนเวียดนามเมื่อวันจันทร์ (27 ต.ค. 57) นับเป็นการเยือนครั้งที่ 2 ในรอบ 4 เดือน ในเป้าหมายที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์อันตึงเครียด

และนับเป็นการพบหารือกันครั้งแรกของโมดีกับนายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ตั้งแต่อินเดียประกาศวงเงินสินเชื่อด้านกลาโหมในเดือนก่อนระหว่างการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีอินเดีย

นายกฯยวุ๋ง กล่าววานนี้ว่าเขาหวังให้อินเดียสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการแก้ปัญหาอย่างสันติในข้อพิพาททะเลจีนใต้.




ผู้นำเวียดนามเยือนอินเดียหวังได้แรงหนุนแก้ปัญหาขัดแย้งทางทะเล

เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ของเวียดนาม มองหาการสนับสนุนจากอินเดียเพื่อแก้ไขข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้ สื่อท้องถิ่นรายงานวานนี้ (27 ต.ค. 57) ในความพยายามที่จะกระชับสัมพันธ์กับพันธมิตรระดับภูมิภาค ขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนยังคงไม่ดีนัก


ผู้นำเวียดนาม อยู่ในระหว่างการเยือนอินเดียเป็นเวลา 2 วัน โดยมีกำหนดพบหารือกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ในวันนี้ (28 ต.ค. 57) และคาดว่าจะหารือเพื่อกระชับความเป็นพันธมิตรภูมิภาคในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศต่างมีความสัมพันธ์อันตึงเครียดกับจีนเกี่ยวกับข้อขัดแย้งดินแดน

ปักกิ่ง และหลายชาติสมาชิกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ ที่เวียดนามต่อต้านอย่างหนักในความพยายามของจีนที่จะสร้างทางขึ้นลงเครื่องบิน และฐานทัพทหารบนหมู่เกาะที่จีนควบคุมอยู่ในน่านน้ำพิพาทดังกล่าว

"เวียดนามหวังว่าอินเดียจะสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขทุกข้อขัดแย้งอย่างสันติ เพื่อเป็นการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงทางทะเล และเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลตะวันออก" นายกฯ เวียดนาม กล่าวต่อสื่อของอินเดีย

ในเดือน พ.ค. 57 ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีน และเวียดนามตกลงถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ หลังจีนเคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในน่านน้ำพิพาทใกล้หมู่เกาะพาราเซล นำมาซึ่งเหตุจลาจลต่อต้านจีนอย่างรุนแรงในเวียดนาม

นายกฯ เหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ยังระบุว่า เวียดนามอนุญาตให้เรือจากประเทศต่างๆ รวมทั้งอินเดียเข้าเยี่ยมประเทศ ซึ่งการรับรองของเวียดนามครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากจีนระบุให้เรือของอินเดียออกจากน่านน้ำที่เวียดนามอ้างสิทธิ โดยระบุว่า เป็นน่านน้ำของจีน

จีนกล่าวว่า จีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ทั้งหมด ขณะที่บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่บางส่วน ขณะเดียวกัน อินเดีย และจีนก็มีเหตุพัวพันขัดแย้งเกี่ยวกับการแบ่งแนวพรมแดน ที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวหากันว่า ทหารของแต่ละฝ่ายรุกล้ำเข้ามาในเขตพรมแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง.

ที่มา -