ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

กพช. มีมติเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ ต่อลมหายใจก๊าซอ่าวไทย

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 03, 16, 06:23:12 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประเมินการผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ่าวไทยจะเหลือใช้ได้อีกไม่เกิน 7 ปี ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เช่น การต่อสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุ หรือการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ โดยเฉพาะแหล่งก๊าซเอราวัณ ในแปลงสำรวจ B10, B11, B12 และ B13 ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด และแหล่งบงกช ในแปลงสำรวจ B15, B16 และ B17 ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่จะทยอยสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566


ทั้ง 2 แหล่งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติสูงถึง 2,214 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือร้อยละ 76 ของปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทย จึงต้องรักษาระดับการผลิตเอาไว้เพื่อความต่อเนื่องในการผลิต และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้นำเสนอ 2 แนวทางให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา คือ 1) การเจรจากับผู้รับสัมปทานเดิมเพื่อให้ดำเนินการต่อ และ 2) เปิดประมูลทั่วไป

ล่าสุด กพช.จึงมีมติในวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา กำหนดให้ใช้วิธีเปิดประมูลกับแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้เหตุผลที่ กพช.เลือกใช้วิธีเปิดประมูลแหล่งก๊าซทั้ง 2 แหล่งว่า การประมูลทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจสำรวจและผลิต มีความโปร่งใส และสามารถตอบคำถามสังคมได้ว่า ผู้ชนะประมูลให้ข้อเสนอที่ดีอย่างไร แต่วิธีเปิดประมูลมีข้อเสียคือ จะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี เพื่อให้เจ้าของสัมปทานรายเดิมดำเนินการขนย้ายเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกจากพื้นที่ และผู้รับสัมปทานรายใหม่ยังต้องสำรวจเพิ่มเติมว่ามีปริมาณเหลือใช้ได้อีกกี่ปี ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานค่อนข้างกังวลว่าในช่วงปี 2565 ที่สัญญาสัมปทานหมดอายุแล้วยังไม่มีการผลิต อาจจะต้องนำเข้าก๊าซเพื่อมาทดแทนส่วนที่หายไป

ส่วนการเจรจากับผู้รับสัมปทานเดิมนั้น ข้อดีก็คือสามารถผลิตก๊าซได้ต่อเนื่องทันที ผู้ผลิตมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่และสามารถระบุปริมาณก๊าซคงเหลือได้ชัดเจนมากที่สุด แต่การใช้วิธีการนี้มีเสียงคัดค้านจากองค์กรภาคเอกชนว่า ไม่สามารถตรวจสอบการเจรจาสัญญาสัมปทานได้

ดังนั้น กพช.จึงตัดสินใจให้ใช้วิธีเปิดประมูลในที่สุด โดยขั้นตอนต่อไปก็คือ ทางกรมเชื้อเพลิงฯจะต้องจัดทำเงื่อนไขการเปิดประมูล หรือ TOR และกำหนดต้องเปิดประมูลให้ได้ภายในปี 2559

สำหรับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นั้น พล.อ.อนันตพรระบุว่า จะต้องรอให้การแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมใหม่แล้วเสร็จก่อน เพราะขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงถ้อยคำโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีความเหมาะสม ในหลักการได้เพิ่มวิธีการให้สิทธิ์สำรวจและผลิตจากเดิมที่มีเพียงระบบสัมปทาน ให้เพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และจ้างผลิตเข้าไปเพิ่มเติม ตามที่มีการเปิดรับฟังความเห็นไปก่อนหน้านี้ เมื่อแก้ไขแล้วเสร็จจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

แม้ว่าจะมีความชัดเจนในการต่อสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุแล้ว แต่เมื่อประเมินภาพรวมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยแล้วพบว่า มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่มีการสำรวจและผลิตก๊าซจากแหล่งใหม่เข้ามาเพิ่มเติม นอกเหนือจากความเสี่ยงนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการไม่สามารถพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 780 เมกะวัตต์ กับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เท่ากับว่าจะต้องมีการใช้ก๊าซมากขึ้นตามไปด้วย


ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่กระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณาให้มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มารองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา "ก๊าซขาดแคลน" จาก 3 แนวทางคือ 1) ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ขยายคลังก๊าซ LNG ในเฟสที่ 1 เพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่มีศักยภาพ 10 ล้านตัน/ปี เพิ่มเป็น 11.5 ล้านตัน/ปี 2) ให้ ปตท.ขยายคลังก๊าซ LNG บริเวณใกล้เคียงมาบตาพุดในเฟสที่ 2 อีก 5 ล้านตัน/ปี

และ 3) ให้ กฟผ.ศึกษารายละเอียดในเชิงลึกในโครงการคลังก๊าซ LNG ในรูปแบบคลังลอยน้ำ หรือ FSRU (Floating Storage Regasification Unit) ในพื้นที่อ่าวไทย กำลังผลิต 5 ล้านตัน เพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และพระนครใต้ นอกจากนี้ยังต้องการให้โครงการดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับระบบท่อก๊าซที่สามารถส่งไปยังโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก โดยให้เวลา กฟผ.ศึกษารวม 3 เดือน จากนั้นให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาต่อไป



ที่มา Data & Images -