ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ลูกเรือผวาอีโบลา ยกเลิกไปแอฟริกา ! สะเทือน 'ข้าวไทย'

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 11, 14, 22:33:13 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"ถ้าอีโบลายังระบาด..ชาวนาไทยเดือดร้อนแน่ ราคาข้าวตก ไม่มีโกดังเก็บ"

"โรคไข้เลือดออกอีโบลา" ที่กำลังระบาดอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1,800 คน ผู้ติดเชื้อได้รับการยืนยันอีก 3,700 คน ใน 4 ประเทศ คือ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย แม้ว่าไวรัสร้ายตัวนี้ยังไม่แพร่เข้ามาถึงประเทศไทยก็ตาม แต่ความหวาดกลัวโรคอีโบลาส่งผลกระทบถึงชาวนาไทยเรียบร้อยแล้ว...


ต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ราคาข้าวไทยร่วงหล่นจากตันละ 1.3 หมื่นบาท ลงไปเหลือ 1.2 หมื่นกว่าบาท คำสั่งซื้อข้าวของหลายบริษัทชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด สืบไปถึงเบื้องลึกกับกลุ่มผู้ส่งออกข่าวไทย ทำให้รู้ว่า เป็นเพราะบริษัทเรือสินค้าขนาดใหญ่ ที่ว่าจ้างมาขนข้าวไทยไปแอฟริกานั้น ได้ส่งสัญญาณยกเลิกการเดินทางทั้งหมด เพราะไม่มีลูกเรือกล้าเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่แอฟริกาตะวันตกแหล่งแพร่ระบาดของอีโบลา !?!

จากสถิติส่งออกข้าวที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยส่งออกข้าวประมาณปีละ 8-10 ล้านตัน ประเทศผู้ซื้อข้าวไทยอันดับต้นๆ คือกลุ่มประเทศในแอฟริกาตะวันตก เช่น เบนิน, ไนจีเรีย, แคเมอรูน ฯลฯ และกลุ่มประเทศที่เราคุ้นเคย เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น ฯลฯ หากแบ่งสัดส่วนแล้ว ปริมาณข้าวส่งออกประมาณร้อยละ 50 ถูกขายไปยังทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะแอฟริกาตะวันตกแหล่งแพร่เชื้ออีโบลาขณะนี้ มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20-30 หรือปีละ 2-3 ล้านตัน เฉพาะประเทศไนจีเรียศูนย์กลางการค้าสำคัญมีประชากรกว่า 170 ล้านคนนั้น สั่งซื้อข้าวไทยเดือนละ 3-4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าเงินไม่ต่ำกว่า 2,500-4,000 ล้านบาทต่อเดือน

"ชูเกียรติ โอภาสวงศ์" นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย วิเคราะห์สถานการณ์ให้ฟังว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาได้ 15 วันแล้ว เรือสินค้าที่รับจ้างขนส่งข้าวไปแอฟริกานั้น ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทในยุโรปที่ล่องเรือมาส่งสินค้าในเอเชีย แล้วรับข้าวไทยหรือสินค้าอื่นๆ ไปส่งต่อทวีปแอฟริกา การขนส่งข้าวขึ้นลงต้องใช้แรงงานลูกเรือจำนวนมาก เมื่อไม่มีใครกล้าไปก็ต้องยกเลิก โดยขั้นตอนปกตินั้น หลังทำสัญญาซื้อขายข้าวแล้ว ผู้ซื้อจะรับผิดชอบหาเรือมาขนข้าว เมื่อขนข้าวขึ้นเรือเสร็จ ผู้ส่งออกไทยถึงจะได้รับเงิน

"พ่อค้าเตรียมข้าวแพ็กใส่กระสอบไว้เรียบร้อยแล้ว ข้าวที่แอฟริกาสั่งซื้อเกือบทั้งหมดเป็นข้าวนึ่ง หมายความว่า เราต้องนึ่งเตรียมไว้ด้วย ข้าวที่นึ่งเสร็จจะถูกส่งมาจัดเก็บในโกดัง เตรียมให้เรือมารับ ถ้าเรือไม่มารับก็ไม่ได้เงิน โกดังมีข้าวเต็ม โรงสีไม่ได้เงินไปซื้อข้าวใหม่ ถึงมีเงินซื้อก็ไม่มีโกดังเก็บ ความต้องการซื้อข้าวจากชาวนาจึงต้องลดลง ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวตกลงไปตันละเกือบพันบาทแล้ว อนาคตจากนี้ไปยังไม่มีใครรู้ เพราะถ้าเชื้ออีโบลาระบาดไปเรื่อยๆ ข้าวพวกนี้ต้องค้างอยู่ในโกดัง ข้าวนึ่งไปแล้วจะส่งขายประเทศอื่นคงยาก"

ตัวแทนผู้ส่งออกข้าวฯ กล่าวต่อว่า ไม่มีใครเคยคิดว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้น รัฐบาลช่วยอะไรไม่ได้มากนัก ผู้ส่งออกต้องช่วยกันหาตลาดใหม่ให้เร็วที่สุด หรือต้องติดต่อหน่วยงานหรือองค์กรระดับนานาชาติมาช่วยจัดหาเรือส่งสินค้าพิเศษให้ ตอนนี้ไนจีเรียกำลังเดือดร้อนเหมือนกัน ถ้าข้าวไทยส่งออกไม่ได้ เพราะสต็อกข้าวของไนจีเรียคงอยู่ได้อีกไม่กี่เดือนเท่านั้น 

"พวกเราปวดหัวกันมาก เพราะข้าวนึ่งเสร็จแล้ว เอาไปเก็บในโกดังต้องมีค่าพ่นยา ค่าใช้จ่ายต่างๆ สุดท้ายเก็บได้นานที่สุดก็ไม่น่าจะเกิน 3 เดือน ส่วนชาวนากำลังเดือดร้อนหนัก เพราะข้าวนาปรังที่สุพรรณบุรีกำลังจะเก็บเกี่ยวมาขายอีกรอบแล้ว ต้องลุ้นกันว่า เชื้ออีโบลาควบคุมได้เร็วแค่ไหน" นายกผู้ส่งออกข้าวไทยแสดงความกังวล


ทั้งนี้ นอกจากปัญหาลูกเรือผวาไม่กล้าไปท่าเรือแอฟริกาแล้ว เจ้าของบริษัทเรือบางแห่งยังกลัวด้วยว่า เรือที่กลับมาจากแอฟริกาอาจถูกห้ามเข้าไปจอดส่งสินค้าในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่รัฐบาลกลัวว่าเชื้อร้ายอีโบลาจะติดมากับเรือและลูกเรือ รวมถึงบริษัทประกันภัยยกเลิกไม่ยอมรับรับประกันเส้นทางนี้ด้วย ทำให้ค่าระวางเรือพุ่งจากเดิมอีกไม่ต่ำกว่า 50-100 เปอร์เซ็นต์ 

"จินตนา ชัยยวรรณาการ" อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกในตลาดตกต่ำลงอย่างรวดเร็วนั้น คงต้องขอให้มีการหารืออย่างเร่งด่วนระหว่าง กลุ่มโรงสี เกษตรกร และผู้ส่งออกข้าว เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ด้วยการมอบข้าวสารมูลค่า 5 ล้านบาท ให้แก่ประเทศประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาผ่านทางผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา

ต้องมาติดตามกันว่า คสช.จะส่งข้าวสารมูลค่า 5 ล้านบาท หรือประมาณ 400 ตันนั้น ไปยังแอฟริกาตะวันตกด้วยวิธีใด!?!

ที่มา -