ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

แจ้งเกิดเมืองพิเศษ "นครแหลมฉบัง" ปั๊มรายได้ 2 แสนล้าน เมืองท่าอันดับ 16 โลก

เริ่มโดย mrtnews, พ.ย 11, 14, 20:16:12 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้งหลังจากที่ท้องถิ่นได้ผลักดันกันมานาน โดยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง อปท.รูปแบบพิเศษ 3 เมือง คือนครแม่สอด จังหวัดตาก, แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ปัจจุบันประเทศไทยมี อปท.รูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ส่วนที่เหลือเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 174 แห่ง เทศบาลตำบล 2,232 แห่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,339 แห่ง

ขั้นตอนหลังจากนี้ คือการนำร่างกฎหมาย 3 ฉบับ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเกาะสมุย และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแหลมฉบัง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับพื้นที่ "แหลมฉบัง" ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นชุมชนเมืองใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม (อีสเทิร์นซีบอร์ด) การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกระหว่างประเทศ และนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

ขณะเดียวกัน แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 กำหนดให้พื้นที่แหลมฉบังเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และจัดตั้งเทศบาลตำบลแหลมฉบังขึ้นมาทำหน้าที่พัฒนาดูแลชุมชนเมือง และบริการสาธารณะ โดยครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 5 ตำบล 24 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอศรีราชา ครอบคลุม 4 ตำบล 19 หมู่บ้าน คือตำบลทุ่งสุขลา ตำบลบึง ตำบลสุรศักดิ์ ตำบลหนองขาม รวมพื้นที่ 72.56 ตร.กม. และอำเภอบางละมุง ได้แก่ ตำบลบางละมุง มี 5 หมู่บ้าน พื้นที่ 16.03 ตร.กม. และพื้นที่ทางทะเล 21.06 ตร.กม.

แหลมฉบังทำรายได้ 2 แสน ล.

หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามจากท้องถิ่นเรียกร้องให้แหลมฉบังเป็นเมืองพิเศษ เพราะปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีเรือต่างประเทศเข้ามาเดือนละ 500-600 ลำ ตู้คอนเทนเนอร์ขนสินค้าที่ต้องขนย้ายปีละไม่ต่ำกว่า 6 ล้านตู้ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มีโรงงานกว่า 130 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีบริษัทต่างๆ ในเครือสหพัฒน์กว่า 80 บริษัท และยังเป็นฐานการผลิตน้ำมันของประเทศไทย ทั้งโรงกลั่นเอสโซ่, ไทยออยล์, ปตท. ทำรายได้ให้กับประเทศปีละไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกระดับให้เป็น "เทศบาลนครแหลมฉบัง" ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

สำหรับสาระของร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครแหลมฉบัง คือให้ยุบเลิกเทศบาลนครแหลมฉบัง เพื่อรองรับนโยบายการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.ให้สามารถพึ่งตัวเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็น อปท.ขนาดใหญ่ จึงสนับสนุนให้พื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบังซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง

อันเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันออกที่สำคัญของประเทศ ได้มีการพัฒนาที่สอดคล้องและก้าวทันกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ โดยการจัดตั้งขึ้นเป็น อปท.รูปแบบพิเศษ เพื่อให้สามารถจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของเมืองพิเศษแหลมฉบังมีประมาณ31ด้านอาทิการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยการจัดหาดูแลระบบสาธารณูปโภค การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การบำบัดน้ำเสีย การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ การผังเมืองและการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ การจัดการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

เมืองท่าลำดับที่ 16 ของโลก

นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แหลมฉบังควรจะเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษมานานแล้ว เพราะเป็นเมืองท่าที่สำคัญลำดับที่ 16 ของโลก มีท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม มีอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อะไหล่รถยนต์ มีรายได้ปีละ 2 แสนล้านบาท ควรจะบริหารแบบพิเศษทั้งรายได้ และอำนาจหน้าที่


"การที่เราจะมีอำนาจดูแลโดยตรงไม่ต้องผ่านกระทรวง จะสามารถลดขั้นตอนต่างๆ ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น บางครั้งเกิดเหตุสารพิษรั่วไหล มีกลิ่นเป็นมลพิษ เราก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ทำได้แค่เรียกมาปรับแล้วส่งเรื่องต่อ ทั้งๆ ที่นายกเทศมนตรีควรเป็นผู้บัญชาการระงับเหตุได้ทันท่วงที"

นายกเล็กนครแหลมฉบังบอกว่า ปัจจุบันเทศบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีโรงเรือน ที่ดิน และภาษีป้ายเพียง 600 ล้านบาท/ปี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วไม่พอที่จะบริหารงานสาธารณะต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเท่าที่ควร แต่หากเป็นเมืองพิเศษก็จะมีส่วนแบ่งรายได้ 1% ของรายได้ทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท/ปี จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นครแหลมฉบังกำลังเข้าสู่โหมดการเปลี่ยนผ่านอีกครั้งในฐานะ 1 ใน 3 เมืองพิเศษ ซึ่งต้องรอดูว่าร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแหลมฉบังจะผ่านสภานิติบัญญัติเมื่อไหร่

ที่มา -