ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ศึกษาธรรมชาติจากภาวะการหลอมละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 19, 13, 16:06:57 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

การศึกษาธรรมชาติของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากภาวะการหลอมละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสภาวะแวดล้อมโดยรวมของทั้งโลก ทั้งในทางบวกและทางลบ หลายองค์กรพยายามค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกมานานแล้ว โครงการสำรวจที่ใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นโครงการ "ไอซ์บริดจ์" ที่เป็นปฏิบัติการหนึ่งขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ที่กินระยะเวลายาวนานถึง 6 ปี ในการสำรวจและติดตามตรวจสอบแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกอย่างต่อเนื่อง


เมื่อ 13 มิถุนายน 56 ที่ผ่านมา เอริค ริโญต์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์วิน เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งผ่านทาง "เจอร์นัล ไซน์ซ" ที่ถือว่าเป็นผลงานการศึกษาวิจัยแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก บริเวณทวีปแอนตาร์กติกที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา ช่วยให้แวดวงวิชาการด้านนี้เข้าใจธรรมชาติของแผ่นน้ำแข็งได้มากขึ้นและถูกต้องขึ้นกว่าเดิม

ที่สำคัญก็คือ งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การหลอมละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกนั้นไม่เพียงเร็วกว่าที่คาดเท่านั้น แหล่งที่มาของการหลอมละลายยังไม่ใช่อย่างที่เคยเชื่อกันก่อนหน้านี้อีกด้วย

จากผลการศึกษาดังกล่าวนั้น แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก จะบางลงโดยเฉลี่ยแล้วปีละ 50 เซนติเมตร แตกต่างกันออกไปแล้วแต่พื้นที่ บางแห่งอาจละลายบางลงเร็วกว่านั้นมากถึงปีละ 100 เมตรเลยทีเดียว แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกนั้นก่อตัวขึ้นจากการที่ธารหิมะหรือกลาเซียร์เลื่อนไถลลงจากที่สูงบริเวณที่เป็นแผ่นดินของทวีปแอนตาร์กติกลงสู่ทะเล ทำให้น้ำทะเลโดยรอบจับเป็นแผ่นแข็งแล้วสะสมขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ดังนั้น มวลของกลาเซียร์ขั้วโลกจึงขึ้นอยู่กับหิมะที่ตกในบริเวณขั้วโลกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม มวลของธารหิมะดังกล่าวนี้ลดน้อยลงเร็วกว่าที่การสะสมราว 2-3 เท่าตัว

ตามความเข้าใจแต่เดิม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แผ่นน้ำแข็งเกิดการหลอมละลายขึ้นเมื่ออุณหภูมิบรรยากาศโลกร้อนขึ้น ทำให้เชื่อกันว่าการหลอมละลายดังกล่าวจะค่อยเป็นค่อยไป แต่งานวิจัยชิ้่นใหม่ของริโญต์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การหลอมละลายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากพื้นที่บริเวณริมขอบหรือจากด้านบนที่เรามองเห็นด้วยตาได้ แต่การหลอมละลายหลักเกิดขึ้นจากด้านใต้ของแผ่นน้ำแข็ง นั่นคือ เกิดจากการที่อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้นนั่นเอง


เอริค ริโญต์ ตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดกระแสลมในพื้นที่ ที่เรียกว่า "โซนอล วินด์" ทวีความรุนแรงขึ้น โซนอล วินด์ พัดวนตามเข็มนาฬิกาอยู่เหนือทวีปแอนตาร์กติก เมื่อพลังลมแรงขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยและจำกัดอยู่ในเฉพาะบางพื้นที่ก็จะพัดให้กระแสน้ำเย็นบริเวณพื้นผิวทะเลออกห่างไปจากแอนตาร์กติกา ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลเข้ามาแทนที่ หลอมละลายแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกไปด้วย โดยเชื่อว่าสาเหตุนี้เป็นที่มาของการที่แผ่นน้ำแข็งที่เรียกว่า "ลาร์เซนบี ไอช์ ชีท" ซึ่งถล่มไปเกือบหมดเมื่อปี 2002 ที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาเมื่อแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกหลอมละลายและลดขนาดลงก็คือ กลาเซียร์ ที่เลื่อนไหลลงมายังพื้นผิวน้ำทะเลที่เคยถูกชะลอไว้ด้วยแผ่นน้ำแข็งมหึมาจะเลื่อนไหลลงมาเร็วขึ้นตามไปด้วย โดยเร็วขึ้นถึง 8 เท่า จากที่เคยเป็น ทั้งนี้ ริโญต์เชื่อว่าหากแผ่นน้ำแข็งทั้งหมดหายไป จะทำให้การเลื่อนไหลดังกล่าวเร็วขึ้นโดยเฉลี่ย 10 เท่าตัว ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการหลอมละลายของธารหิมะมีมากขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรให้สูงขึ้นเร็วและมากกว่าที่เคยคาดคิดกัน

ที่มา -