ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

ญี่ปุ่นถกสหรัฐฯ ขอมี 'อาวุธเพื่อการรุกโจมตี' อ้างไม่มั่นใจอเมริกากล้าสั่งโสมแดง

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 11, 14, 22:27:33 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

รอยเตอร์ - โตเกียวดอดคุยวอชิงตันถึงความเป็นไปได้ในการซื้ออาวุธประเภทใช้เพื่อการรุกโจมตี เพื่อให้ตนเองสามารถแสดงแสนยานุภาพได้กว้างไกลเลยออกไปจากพรมแดนประเทศ ทั้งนี้จากการเปิดเผยของพวกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นหลายราย ขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญแดนอาทิตย์อุทัยบอกว่า ปัจจัยกระตุ้นประการหนึ่งคือ ความกังวลของญี่ปุ่นที่ว่า อเมริกาอาจลังเลที่จะโจมตีเกาหลีเหนือ หากโสมแดงก่อเรื่องร้ายแรง อย่างไรก็ตาม งานนี้พญาอินทรียังไม่กล้าออกตัวแรง เนื่องจากกลัวว่า จะสร้างความขุ่นเคืองให้แก่จีนและเกาหลีใต้


เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น 3 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า โตเกียวกำลังหารืออย่างไม่เป็นที่เปิดเผยและไม่เป็นทางการกับวอชิงตัน เกี่ยวกับ "สมรรถนะในการโจมตี" และย้ำว่า ยังเป็นการหารือขั้นต้นเท่านั้น รวมทั้งยังไม่มีการเจาะจงถึงอาวุธประเภทใดๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนแย้มว่า การหารือครอบคลุมทางเลือกทั้งหมด ตั้งแต่การที่ญี่ปุ่นยังคงพึ่งพิงทางทหารต่ออเมริกาต่อไป จนถึงการที่ญี่ปุ่นมี "เกราะ" ป้องกันตัวเองอย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ "สมรรถนะในการโจมตี" ในนิยามประนีประนอมของรัฐบาลญี่ปุ่นคือ สมรรถนะในการตอบโต้เพื่อรับมือจัดการกับการโจมตีด้วยขีปนาวุธและอาวุธที่เกี่ยวข้อง

เจ้าหน้าที่คนเดิมเพิ่มเติมว่า โตเกียวต้องการสรุปเรื่องนี้ภายใน 5 ปี ก่อนเริ่มต้นจัดซื้อยุทโธปกรณ์

ทางด้านพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกันกล่าวถึงเรื่องนี้ในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการ โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งแย้มว่า ญี่ปุ่นเคยมาคุยเรื่องนี้กับอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมชี้ว่า การเพิ่มสมรรถนะในการโจมตี จะเป็นไปได้ต่อเมื่อญี่ปุ่นแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักนิยมทางทหาร (military doctrine) ของตนเองซึ่งยังคงมีลักษณะเป็นแบบมุ่งป้องกันตัวอย่างเดียว โดยที่การปรับเปลี่ยนนี้ก็อาจหมายถึงการเปิดประตูต้อนรับระบบขีปนาวุธเพื่อการโจมตี และยุทโธปกรณ์เพื่อการโจมตีอย่างอื่นๆ มูลค่านับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ อาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นไปได้หลายหลากรูปแบบ เป็นต้นว่า จรวดร่อนที่ยิงจากเรือดำน้ำ เหมือนกับจรวดร่อน "โทมาฮอว์ก" ของอเมริกา

แม้กองทัพแดนอาทิตย์อุทัยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ก็ถูกจำกัดจากรัฐธรรมนูญใฝ่สันติภาพที่จำกัดบทบาทไว้เพียงการเป็นกองกำลังป้องกันประเทศ

กองทัพญี่ปุ่นมีเรือผิวน้ำหลายสิบลำ, เรือดำน้ำ 16 ลำ และเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ นอกจากนี้ยังมีเรืออีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการต่อ และญี่ปุ่นยังกำลังสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 อันล้ำยุคใช้เทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ "สเตลท์" จากสหรัฐฯเป็นจำนวน 42 ลำ

การปรับปรุงและเพิ่มบทบาทกองทัพเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่ลงมือเพิ่มงบกลาโหมเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ยุติคำสั่งห้ามกองกำลังญี่ปุ่นออกไปรบนอกประเทศ และผ่อนคลายมาตรการจำกัดการส่งออกอาวุธ

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเผยว่า โตเกียวยกเลิกการร้องขอหารือเรื่องสมรรถนะในการโจมตี ในระหว่างการเจรจาระดับสูงเพื่อกำหนดแนวทางการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ที่คาดว่า จะดำเนนการสิ้นสุดปลายปีนี้ แต่แยกไปหารือเป็นประเด็นต่างหาก ตามความต้องการของวอชิงตันที่กังวลว่า จะทำให้จีน รวมถึงเกาหลีใต้ พันธมิตรสำคัญในเอเชียอีกชาติ ขุ่นเคืองใจ

กระนั้น ข้อตกลงกับวอชิงตันคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีแถมมีอุปสรรคขัดขวางมากมาย นับจากราคาที่ต้องจ่ายในภาวะที่ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะมากกว่ามูลค่าจีดีพีถึงสองเท่าตัว ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับจีน

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังต้องได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการเปลี่ยนแปลงหลักนิยมทางทหาร เนื่องจากจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบโครงแห่งการเป็นพันธมิตรที่ระบุว่า อเมริกาเป็นผู้จัดหา "ดาบ" ของกองกำลังด่านหน้าและการป้องปรามทางนิวเคลียร์ ขณะที่ญี่ปุ่นทำหน้าที่ถือ "โล่" ป้องกัน

เจ้าหน้าที่อเมริกันอีกคนหนึ่งชี้ว่า วอชิงตันไม่อยู่ในสถานะที่จะยกระดับสมรรถนะในการโจมตีของโตเกียวได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากโตเกียวยังไม่ได้พัฒนาแนวความคิดเฉพาะเจาะจง หรือเข้ามาหารืออเมริกาด้วย "ข้อเรียกร้องที่เฉพาะเจาะจง"

ขณะเดียวกัน พวกผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น เป็นต้นว่า นารุชิเกะ มิชิชิตะ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลญี่ปุ่นระหว่างปี 2004-2006 มองว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้โตเกียวต้องการยกระดับแสนยานุภาพคือ ความเคลือบแคลงว่า อเมริกาที่มีกำลังพล 28,000 คนในเกาหลีใต้ และ 38,000 คนในญี่ปุ่น อาจลังเลที่จะโจมตีเกาหลีเหนือหากเกิดวิกฤต


"เราอาจจะต้องการมีสมรรถนะในการโจมตีระดับขอบเขตจำกัด บางชนิดบางประเภทเอาไว้ในมือ เพื่อให้สามารถเป็นผู้ริเริ่มทำการโจมตีได้ เพื่อที่เราจะได้สามารถบอกกับฝ่ายอเมริกันว่า 'ถ้าคุณไม่ทำงานนี้ให้เรา เราก็จะทำมันด้วยตัวเอง'" มิชิชิตะ กล่าว

ตัวนายกฯอาเบะเองก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับความลังเลของสหรัฐฯ ดังสะท้อนให้เห็นจากคำแถลงของเขาต่อรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วที่ว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด "ที่จะต้องไม่ให้เกิดความเข้าใจอันผิดพลาดขึ้นมาว่า ฝ่ายอเมริกันจะไม่ใช้ดาบของตน" ในยามหน้าสิ่วหน้าขานเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมา

"ในห้วงเวลาเช่นนั้น เราจะยอมรับได้จริงๆ หรือ ถ้าหากกลายเป็นว่าญี่ปุ่นยังต้องไปวิงวอนให้สหรัฐฯโจมตีใส่ขีปนาวุธที่กำลังคุกคามจะเข้ามาเล่นงานญี่ปุ่น?" อาเบะตั้งข้อปุจฉา

ทั้งนี้ภายใต้ข้อกำหนดทางการปฏิบัติด้านความมั่นคงซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ในกรณีที่ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธนำวิถี "กองทหารสหรัฐฯจะจัดหาข่าวกรองที่จำเป็นให้แก่ญี่ปุ่น และเมื่อมีความจำเป็น ก็จะใช้กำลังเพื่อเป็นการเพิ่มแสนยานุภาพในการโจมตี" ให้แก่ญี่ปุ่น

ที่มา -