ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ปัญหาความมั่นคงและก่อการร้ายทางทะเล

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 07, 15, 07:03:30 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

3 ก.ค. 2558 - มีผู้อ่านท่านที่เคารพถามว่า ปัญหาความมั่นคงทางทะเลของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีอะไรบ้าง ขอเรียนเลยนะครับว่ามีเยอะ บางเรื่องในเมืองไทยของเราไม่ค่อยพูดถึง แต่เพื่อนบ้านพูดถึงตลอด เป็นปัญหาละเอียดอ่อน อย่างเขตแดนทางทะเลจากจุดที่อยู่เหนือหมู่เกาะสุรินทร์เข้ามาจนถึงปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ทั้งไทย ทั้งเมียนมา ต่างอ้างอธิปไตยเหนือเกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก ที่จริงในตอนนี้เราน่าจะรีบแก้ไขนะครับ ถ้าปล่อยไว้ ผมว่าน่าจะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างกำลังทางเรือของไทยกับเมียนมาในอนาคต


กับมาเลเซียก็มี แต่โชคดีที่เราแก้ไขปัญหาได้ ทั้งไทยและมาเลเซียก็แก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนด้วยการลงนามในเอ็มโอยูกันแล้วเรียบร้อยเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2522 ให้พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 7,250 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมที่เรียกว่า Joint Development Area หรือ JDA โดยร่วมกันแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเล และแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน

ไทยกับกัมพูชาก็มีปัญหาในพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีป จนต้องมีการเจรจาทั้งในส่วนที่เรียกว่า Maritime delimitation ซึ่งเป็นการเจรจาในส่วนของการแบ่งแยกทะเล และการกำหนดเขตทางทะเล รวมถึงการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน ที่ดูน่าจะมีปัญหาก็เห็นจะมีทะเลด้านจังหวัดตราด ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ที่ต้องชมก็คือการเจรจาหาข้อยุติปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับเวียดนามที่จบลงด้วยดีและมีความสมานฉันท์ ไทยและญวนตกลงปัญหาเขตแดนทางทะเลและปัญหาไหล่ทวีปทับซ้อนกันได้เมื่อ 9 สิงหาคม 2540 โดยให้แบ่งพื้นที่ทับซ้อนด้วยเส้น K-C

ขอแถมเรื่องการก่อการร้ายทางทะเลหน่อยครับ ผมมีความเชื่อว่า ต่อไปในอนาคต การก่อการร้ายในทะเลจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ลักษณะการเกิดก็จะเหมือนกับเหตุการณ์เมื่อมกราคม พ.ศ.2543 ที่พวกก่อการร้ายใช้เรือบรรทุกระเบิดพุ่งชนเรือ USS The Sullivan's ของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในเขตของเยเมน โชคดีนะครับ ที่เรือบรรทุกระเบิดหนักมากจนจมไปก่อน ไม่อย่างนั้น ผมว่ามีทหารเรืออเมริกันตายเป็นร้อย

ตุลาคม 2543 พวกผู้ก่อการร้ายก็ใช้เรือเร็วบรรทุกระเบิดชนเรือ USS Cole ทำให้ทหารเรืออเมริกันตายไป 17 นาย พอถึงเดือนตุลาคม 2545 ก็ที่นอกชายฝั่งเยเมน ผู้ก่อการร้ายใช้เรือบรรทุกระเบิดวิ่งชนเรือขนส่งน้ำมัน Limburg ของฝรั่งเศส อีกไม่กี่วันต่อมา ผู้ก่อการร้ายอาบูซายับระเบิดเรือข้ามฟากขนาดใหญ่ในฟิลิปปินส์ มีคนตายเป็นร้อยเช่นกัน

ทุกวันนี้ ผู้ก่อการร้ายได้พัฒนาขีดความสามารถในการก่อการร้ายทางทะเลไปจนถึงขั้นที่เป็นอันตรายสูงสุด และเมื่อร่วมมือกับพวกโจรสลัด รวมทั้งมีองค์กรที่มองไม่เห็นสนับสนุนเรื่องการเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ และมีพวกผู้คนที่มีแนวความคิดและอุดมการณ์บ้าๆ บอๆ แบบเดียวกันให้ที่พำนักพักพิงทำเป็นแหล่งหลบซ่อน การก่อการร้ายแบบนี้ก็เป็นอันตรายมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า


กลุ่มการก่อการร้ายของโลกออกแถลงการณ์ขู่ออกมาแล้วนะครับ ว่ากำลังพิจารณาวางแผนโจมตีเรือสินค้าในช่องแคบมะละกา อาจจะออกปฏิบัติการในรูปแบบของการยึดเรือ จับตัวประกันเรียกค่าไถ่ ระเบิดเรือ อย่างที่เรือ M/V Trimanggada ของอินโดนีเซียโดนโจมตีที่ช่องแคบมะละกา โดนเข้ายึดเรือ ถอดอุปกรณ์การติดต่อสื่อสารและอุปกรณ์การเดินเรือที่สำคัญ เอากัปตันเรือ ช่างเครื่อง และคนสำคัญในเรือไปกักตัวไว้ นี่ก็เป็นเวลา 12 ปีแล้วนะครับ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าคนพวกนั้นเป็นตายร้ายดียังไง เป็นไปได้ที่คนพวกนี้จะถูกนำไปสอนเทคนิคการเดินเรือให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายเพื่อจะใช้ก่อการร้ายทางทะเลในอนาคต

เรื่องปัญหาความมั่นคงทางทะเลของไทยกับเพื่อนบ้าน และเรื่องการก่อการร้ายทางทะเลนี่ ผมไม่อยากให้เราเฉย หรือกวาดปัญหาทั้งหมดเอาไปซุกไว้ใต้พรมนะครับ เพราะถ้าเกิดขึ้นเมื่อใด เราจะโดนทำลายชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติยิ่งกว่าโดนเทียร์ 3 ของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา มากกว่าโดนไอยูยูของสหภาพยุโรป หรือแม้แต่โดนปัญหาธงแดงของไอเคโอ หรือองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

เราต้องเตรียมให้พร้อมอย่างที่วงการสาธารณสุขของไทยเตรียมรับมือโรคร้ายอย่างเมอร์ส ซึ่งเราสามารถควบคุมจนอยู่หมัด และได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ.

โดย คุณนิติ นวรัตน์
www.nitipoom.media
www.facebook.com/nitipoom.thailand

ที่มา -