ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

‘มหาขันทีเจิ้งเหอ’ โคลัมบัสแห่งแดนตะวันออก

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 14, 14, 20:17:23 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

คอลัมน์ : China Today ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

หากจะถามว่าใครคือนักสำรวจผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึงโคลัมบัส ชาวตะวันตกผู้ค้นพบทวีปอเมริกาเป็นคนแรก หากอันที่จริงแล้วชาวตะวันออกเช่นเราเองก็มีนักสำรวจที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน


ซึ่งนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งก็คือ มหาขันทีเจิ้งเหอ หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนามว่า "ซำปอกง" นั่งเอง

เจิ้งเหอ (ค.ศ. 1371-1433) มีชื่อเดิมว่า "หม่า ซาน เป่า" เป็นคนชนชาติหุย ชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลามของจีน ดังนั้น เจิ้งเหอจึงมีชื่อเป็นภาษาอาหรับว่า Hajji Mahmud Shams

เจิ้งเหอเป็นชาวหุยที่อาศัยอยู่ที่เมืองจิ้นหนิง มณฑลหยุนหนาน ในสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์ที่ปกครองด้วยชาวมองโกล ซึ่งต่อมาไม่นานก็ถูกชาวฮั่นโค่นล้มและกู้แผ่นดินคืนมา ก่อตั้งราชวงศ์หมิงขึ้น ซึ่งเจิ้งเหอก็ได้มีโอกาสเข้ารับราชการเป็นคนสนิทใกล้ชิดของจักรพรรดิหย่งเล่อ (ค.ศ. 1403-1424) จักรพรรดิองค์ที่สามแห่งราชวงศ์หมิง

ขณะที่เจิ้งเหออยู่ในราชสำนักหมิง เขาได้มีโอกาสเข้าศึกษาที่หนันจิง ไท่เสวีย หรือมหาวิทยาลัยภายในราชสำนัก ต่อมาเขาได้เดินทางไปที่เมืองเมกกะอีกด้วย

ในปี ค.ศ. 1405-1433 ทางราชสำนักหมิงได้มีการส่งเสริมคณะออกสำรวจขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อค้นหาเส้นทางการค้า โดยเฉพาะในแถบมหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงการเสาะแสวงหาเมืองอาณานิคมไปพร้อมๆกัน


คณะสำรวจที่แต่งตั้งขึ้นโดยจักรพรรดิหย่งเล่อนั้น มีผู้นำคณะคือ เจิ้งเหอ มหาขันทีคนสนิทขององค์จักรพรรดิ กล่าวกันว่าคณะสำรวจของเจิ้งเหอนั้นยิ่งใหญ่อลังการมาก ประกอบด้วยเรือขนาดใหญ่ถึง 300 ลำ มีลูกเรือกว่า 28,000 คนเลยทีเดียว

ในการเดินทางสำรวจ 3 ครั้งแรก เจิ้งเหอได้เดินทางไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียและศรีลังกา การสำรวจครั้งที่ 4 คณะสำรวจเดินทางไปถึงอ่าวเปอร์เซียและซาอุดีอาระเบีย ครั้งต่อมาเดินทางลงใต้ไปถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกา ยาวเรื่อยไปจนถึงเคนยาเลยทีเดียว

มีการกล่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า คณะสำรวจของเจิ้งเหอที่เดินทางไปถึงเคนยานั้นได้เกิดการชนกับหินโสโครกเข้า จากนั้นผู้ที่รอดชีวิตก็ว่ายน้ำขึ้นฝั่งและมีการตั้งรกรากกันเกิดขึ้น ครั้งนั้นเกิดการแต่งงานกันระหว่างชาวจีนและชนพื้นเมือง ทำให้เกิดชาวจีน-แอฟริกันขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ในการเดินทางไปสำรวจของเจิ้งเหอ ทุกครั้งเขาจะนำสินค้าส่งออกไปขาย ไม่ว่าจะเป็นใบชา ผ้าไหม กระเบื้องเคลือบ และทุกครั้งเขาก็จะได้สิ่งของแปลกๆเดินทางกลับมายังประเทศจีนเสมอ ครั้งหนึ่งที่เจิ้งเหอเดินทางไปแอฟริกา เขาได้นำม้าลายและยีราฟมายังประเทศจีนด้วย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก

นอกจากเรื่องสินค้าแล้ว เจิ้งเหอยังมีการเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา ไปพร้อมๆกัน ที่ศรีลังกา ได้มีการก่อสร้างศาสนสถานไว้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระอัลเลาะห์ และพระวิษณุอีกด้วย


ต่อมาในปี ค.ศ. 1424 จักรพรรดิหย่งเล่อเสด็จสวรรคต และถือเป็นจุดสิ้นสุดของคณะสำรวจทางทะเล เล่ากันว่าเจิ้งเหอเสียชีวิตลงในการเดินทางครั้งสุดท้ายของเขา แม้เจิ้งเหอจะมีสุสานอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ หากแต่กล่าวกันว่าไม่มีร่างของเขาอยู่

เพราะร่างของเขานั้นแท้จริงแล้วได้จมลงภายใต้ท้องสมุทรที่เขารัก เช่นเดียวกับชาวเรือผู้มีชีวิตอยู่บนผืนน้ำอันเป็นบ้านของเขานั่นเอง

ที่มา -