MarinerThai Webboard

ข่าวต่างๆ ในวงการเรือและพลังงาน => ข่าวอัพเดทรายวัน => หัวข้อที่ตั้งโดย: mrtnews เมื่อ มิ.ย 22, 16, 06:18:39 ก่อนเที่ยง

ชื่อ: ‘ประยุทธ์’ หารือ ‘โมดิ’ ดันขนส่งทางทะเลเชื่อม ‘เจนไน-ทวาย’
โดย: mrtnews เมื่อ มิ.ย 22, 16, 06:18:39 ก่อนเที่ยง
"ประยุทธ์" หารือทวิภาคี "นายกฯอินเดีย" ผลักดันความเป็นหุ้นส่วนการค้าเชื่อมโยงคมนาคมบก - เรือ - อากาศ  โดยเฉพาะขนส่งทางทะเล "เจนไน กับเขตศก.พิเศษทวาย"

(http://www.marinerthai.net/pic-news3/2016-06-21_001.jpg) (http://www.marinerthai.net/pic-news3/2016-06-21_003.jpg)

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 59 เวลา 12.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากโรงแรมที่พักไปยัง ไฮเดอราบาดเฮ้าส์ (Hyderabad House)หรือ เรือนรับรองรัฐบาลอินเดีย โดยมี นายนเรนทร โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดียรอให้การต้อนรับในโถงอาคาร ก่อนเชิญนายกรัฐมนตรีไปยังห้อง Deccan Suite เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กกับนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย

ต่อมา ในเวลา 13.30 น ณ ห้องBanquet Hall ชั้น 2 เป็นการประชุมเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและอินเดีย พร้อมคณะรัฐมนตรีกลุ่มย่อย ซึ่งฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ในเวลา 14.30 น. นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอินเดียร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 2 ฉบับ คือ แผนปฏิบัติการว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย-อินเดีย และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยนาคาแลนด์กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากนั้นในเวลา 14.45 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนเรนทร โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดียแถลงข่าวร่วมกันถึงผลการหารือ ณ ห้อง Ballroom ชั้น 2 เรือนรับรองอินเดีย โดย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของท่านนายกรัฐมนตรีโมที เป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจและขอบคุณรัฐบาลอินเดียที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะผู้แทนไทยอย่างอบอุ่น

อินเดีย เป็นแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่ อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนาที่ได้แพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียเป็นมิตรใกล้ชิดที่มีพื้นฐานมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนโยบายรุกตะวันออก (Act East)ของรัฐบาลอินเดียสอดคล้องกับนโยบายมุ่งตะวันตก (Look West)ของไทย อินเดียเป็นประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียที่กำลังมีบทบาทสำคัญทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ อินเดียยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงความสำเร็จในนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโมดิ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีโมดิ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ในปีหน้าไทยและอินเดียจะร่วมกันฉลองโอกาสครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 70 ปี โดยมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปีและมีกิจกรรมหลักในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งโอกาสดังกล่าวเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะหารือร่วมกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร อีก 70 ปีต่อไปในอนาคต เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และก้าวไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

โดยมีการหารือกันในหลายประเด็น ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะผลักดันความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย และอินเดียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีโมที โดยเราเห็นพ้องที่จะเน้นที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และจะต้องส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกันในทุกกิจกรรม การลงทุนร่วมกัน นอกจากนนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็วจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ในการหารือ นายกรัฐมนตรีโมทีแจ้งว่าจะสนับสนุนภาคเอกชนอินเดียให้ไปลงทุนในไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็สนับสนุนภาคเอกชนไทยให้เข้ามาลงทุนในอินเดียเช่นกัน เพื่อสนับสนุนนโยบายMake in IndiaและSmart Citiesและเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการประชุมสภาธุรกิจไทย-อินเดีย ครั้งที่ 1 และกิจกรรมทางธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ทราบว่าภาคเอกชนไทยได้เข้ามาสร้างชื่อเสียงให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวอินเดียเห็นศักยภาพของไทย อาทิ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินที่เมือง อาห์เมดาบาด รัฐคุชราต และที่เมืองกัลกัตตาโดยบริษัทก่อสร้างของไทย ซึ่งได้รับคำชื่นชม ถึงความสวยงามและสะดวกสบาย นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าย่อย (outlet)ประเภทอาหาร ที่ได้รับความนิยมจากชาวอินเดียด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยมากลงทุนมากขึ้น

ด้านความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีโมดิได้หารือกันเกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย และเส้นทางหลวง BIMSTEC ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมและค้าขายระหว่างกัน โดยไทยมีบทบาทในฐานะประตูเชื่อมของอินเดียไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก รวมถึงการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างเจนไนกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการผลักดันให้มีการสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตามที่กำหนดไว้ภายในปีนี้ ซึ่งหากสำเร็จ RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรกว่า 3,000 ล้านคน และการผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี BIMSTEC ให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว

ด้านความมั่นคง ความร่วมมือระหว่างไทยและอินเดียเป็นไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมได้มาเยือนอินเดีย และมีการหารือในหลากหลายประเด็น อาทิ ความร่วมมือด้านกลาโหมและเหล่าทัพ ความร่วมมือด้านข่าวกรอง การต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์และความมั่นคงทางทะเล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายกำลังประสานงานกันเพื่อผลักดันให้ผลการหารือดังกล่าวมีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงในภูมิภาค

ความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ศาสนาและการศึกษาเป็นสาขาที่มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด ปฏิสัมพันธ์ของภาคประชาชนเป็นกลจักรสำคัญที่ช่วยรักษาพลวัตความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ผู้นำทั้งสองจึงเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบสองฝ่ายซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั้งสองประเทศ โดยใช้มิติด้านศาสนาซึ่งนายกรัฐมนตรีโมทีให้ความสำคัญ โดยไทยพร้อมจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา (Buddhist Circuit)ตามเส้นทางแสวงบุญสถานที่สำคัญในอินเดียและประเทศใกล้เคียง

ด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีขอให้นายกรัฐมนตรีโมดิส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยในอินเดียมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมทีรับที่จะไปพิจารณา นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยยังได้บริจาคเงินจำนวน 9 แสนบาทให้กองทุน"Thailand Fund for Nalanda University"เพื่อเป็นทุนการศึกษาและทุนศึกษาวิจัยสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจากไทยหรือชาติอื่น ๆ ในสาขา"Buddhist Studies, Philosophy & Comparative Religion"นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศจะสนับสนุนความร่วมมือเชิงวัฒนธรรมระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่งที่เปิดสอนวิชาอินเดียศึกษา จึงหวังว่าจะมีโอกาสส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาไทยศึกษาในอินเดีย เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

โดยในวันนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีโมดิยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการแลกเปลี่ยนความตกลง 2 ฉบับ คือ 1) แผนปฏิบัติการว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย-อินเดีย ปี 2560-2562 และ 2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยนาคาแลนด์ นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่ายินดีที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารAxis (เอ็กซิส) จำกัด ของอินเดียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการเป็นพันธมิตรในการให้บริการสนับสนุนธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเยือนอินเดียครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้มีการส่งเสริมเรื่องการจัดตั้งสำนักงานใหญข้ามประเทศIHQหรือITCในประเทศไทยมากขึ้นด้วย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่พรุ่งนี้จะได้เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พุทธคยา ซึ่งจะได้เป็นประธานในพิธีสวดมนต์และเจริญจิตภาวนาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ที่วัดมหาโพธิ์พุทธคยา และถวายภัตตาหารเพลที่วัดไทยพุทธคยาด้วย

(http://www.marinerthai.net/pic-news3/2016-06-21_002.jpg)

เยือน ตปท.พร้อมนำหลักศก.พอเพียงไปเผยแพร่

พล.อ.ประยุทธ์  ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า"สำหรับในเวทีระหว่างประเทศ ทุกครั้ง ผมและผู้แทนรัฐบาล รัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นอกจากจะเป็นการประชุมหารือไปตามประเด็น หรือตามวัตถุประสงค์ ของการประชุมแล้ว เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมถึงการขยายความร่วมมือระหว่างกันในกรอบต่างๆ แล้ว ผมได้ให้น้อมนำหลักการของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่สร้างความสมดุล ในทุกมิติ ให้ทุกประเทศได้ไปพิจารณา ทั้งในเรื่องของความมั่นคง – เศรษฐกิจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือว่าหลักการของสหประชาชาติคือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดกับสำหรับมวลมนุษยชาติ ทั้งโลก

เช่น 1.การประชุมระดับสูงสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 2 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ประเทศสมาชิกจำนวน 193 ประเทศ ที่ต้องการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในภาวะปัจจุบัน และกำหนดทิศทางเป้าหมายการพัฒนาในอนาคตในปี 2573 ในที่ประชุมต่างให้การยอมรับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนดังปรากฏในรายงานผลการศึกษาของ UNEP เกี่ยวกับการเพิ่มความร่วมมือแบบใต้ – ใต้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา ตามแนวทาง "เศรษฐกิจสีเขียว"

2. การประชุมสุดยอดเอเชีย ด้านความมั่นคง หรือ IISS Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 15 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเวทีหารือระดับสูงเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผมได้เน้นย้ำความสำคัญ ของการส่งเสริมการพัฒนาควบคู่กับความมั่นคง อันเป็นรากฐานของการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม หากมีปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ที่มีความขัดแย้ง ก็จะบั่นทอนความมั่นคงของประเทศในทุกมิติ และทุกภูมิภาคได้ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การพัฒนาจากภายใน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และใช้นโยบาย "ประชารัฐ" ในการขับเคลื่อน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาด้วยพระองค์เองมากว่า 40 ปี และทรงดำเนินงานพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

3. การประชุมกลุ่ม G-77 ที่ไทยเราได้รับเกียรติ ให้เป็นประธานกลุ่มในปีนี้ มีสมาชิกกว่า 130 ประเทศ ผมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งศูนย์ศึกษาเขาหินซ้อน ห้วยทราย อ่าวคุ้งกระเบน ภูพาน ห้วยฮ่องไคร้ พิกุลทอง เพื่อให้ทุกประเทศได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศสมาชิก ไม่ได้ไปบังคับ แต่ให้พวกเขายอมรับในหลักการ เหตุผล และสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตา ในศูนย์ต่างๆ ได้นำพาพวกเขาไปเยี่ยมชมด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 2030 ร่วมกัน ทุกประเทศ ต่างอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ตั้งแต่เพาะปลูก ผลิต แปรรูป สร้างนวัตกรรม และการตลาด ดังนั้นเราจำเป็นต้องพัฒนาไปด้วยกัน เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้ ผมอยากให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจ ในสมบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ให้เป็นสมบัติของชาติ และจะเป็นต้นแบบหนึ่ง ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของโลก ในปีมหามงคลนี้ ก็ครบรอบ 10 ปีที่สหประชาชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย "รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ" ขอให้ทุกภาคส่วน ได้น้อมนำไปสู่การปฏิบัติ ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์สุข เพื่อความอยู่ดี มีสุขของปวงชนชาวไทยด้วย"

(http://www.marinerthai.net/pic-news3/news_source.jpg) (http://www.komchadluek.net/news/politic/230372)

ที่มา Data & Images - (http://www.marinerthai.net/pic-news3/komchadruek.jpg) (http://www.komchadluek.net/)