ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ย้อนรอยเหตุน้ำมันรั่ว 9 ครั้งใหญ่ในไทย

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 30, 13, 21:19:25 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ย้อนรอยเหตุน้ำมันรั่ว 9 ครั้งใหญ่ในไทยระหว่างปี 2540-2553 ขณะที่เหตุน้ำมันรั่วที่ระยองถือว่าอยู่ในการรั่วไหลระดับ 2 จากทั้งหมด3 ระดับ


ข้อมูลจากเว็บไซต์ฐานความรู้ทางทะเล (http://www.mkh.in.th) ระบุว่า  จากสถิติกรมเจ้าท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2553 พบการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณมาก (20,000 ลิตรขึ้นไป) ทั้งสิ้น 9 ครั้ง พบเกิดในทะเลและชายฝั่งท่าเทียบเรือ ส่วนมากพบการรั่วไหลบริเวณท่าเทียบเรือจากอุบัติเหตุระหว่างการขนถ่ายน้ำมัน และจากอุบัติเหตุต่างๆ ดังนี้


ขณะที่เหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)รั่วกลางทะเล จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น มีปริมาณน้ำมันรั่วประมาณ 50,000 ลิตร หรือประมาณ 316 บาร์เรล ประมาณ 50-70 ตันลิตรถือว่าอยู่ในระดับการรั่วไหลที่ 2 จากทั้งหมด 3 ระดับ(Tier)ตามการจำแนกในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุไว้ดังนี้ 

1.ระดับที่ 1 ปริมาณรั่วไหลไม่เกิน 20 ตันลิตร ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างขนถ่ายน้ำมัน ผู้ที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขจัดคราบน้ำมัน และ/หรือได้รับความช่วยเหลือจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน

2.ระดับที่ 2 รั่วไหลมากกว่า 20 - 1,000 ตันลิตร อาจเกิดจากเรือโดนกัน การขจัดคราบน้ำมันต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ และต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน หากเกินขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี อาจต้องขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

3.ระดับที่ 3 ปริมาณรั่วไหลมากกว่า 1,000 ตันลิตร อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง การขจัดคราบน้ำมันในระดับนี้ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆในประเทศ และต้องอาศัยความช่วยเหลือระดับนานาชาติ

สำหรับวิธีการขจัดคราบน้ำมันสามารถกระทำได้หลายวิธี โดยพิจารณาจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ชนิดของน้ำมัน ปริมาณการรั่วไหล ทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำ กระแสลม สภาพอากาศ ลักษณะทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีการขจัดคราบน้ำมันสามารถแบ่งได้วิธีการ 5 วิธีดังนี้

1.การปล่อยให้สลายตัวตามธรรมชาติ

เหมาะสมในกรณีที่มีการรั่วไหลจำนวนเล็กน้อย และชนิดของน้ำมันที่รั่วไหลสามารถสลายตัวเองได้ดีในธรรมชาติ เช่น น้ำมันดีเซล แต่ยังต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบของคราบน้ำมัน ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงในลักษณะใดบ้าง เพื่อหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

2.การกักและเก็บ

ทำได้โดยใช้ทุ่นน้ำมัน (Boom) จำกัดขอบเขตการแพร่กระจายของน้ำมันให้มีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น จึงใช้เครื่องเก็บน้ำมัน (Skimmer) เก็บคราบน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้วัสดุดูดซับคราบน้ำมันอื่นๆ เช่น ลำไม่ไผ่ มัดฟางข้าว เป็นต้น

3.ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน

เป็นวิธีการที่ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบนผิวน้ำได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น การใช้สารเคมีที่ทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ (oilspill dispersant) หรือสารลดแรงตึงผิวชีวภาพ (biosurfactant) ที่ผลิตจากจุลินทรีย์บางชนิด สารเคมีที่นำมาใช้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ และต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรใช้วิธีนี้เมื่อขจัดคราบน้ำมันไม่ได้ผลหรือไม่ทันการ

4. การเผา

สามารถใช้วิธีนี้ได้ก่อนที่คราบน้ำมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี และคราบน้ำมันต้องมีความหนาตั้งแต่ 3 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยเริ่มจากล้อมคราบน้ำมันด้วยทุนกักเก็บชนิดพิเศษที่ทนไฟได้ดี เช่น Ceramic type boom และเริ่มทำการเผา การขจัดคราบน้ำมันด้วยวิธีนี้ต้องทำด้วยครามเชี่ยวชาญเป็นพิเศษและมีการวางแผนเป็นอย่างดี

5. การทำความสะอาดชายฝั่ง

เป็นวิธีขจัดคราบน้ำมันในกรณีที่คราบน้ำมันถูกพัดเข้าหาฝั่ง โดยใช้คนและอุปกรณ์เข้าเก็บรวบรวมคราบน้ำมัน และใช้อุปกรณ์ช่วยเก็บคราบน้ำมันในกรณีที่คราบน้ำมันจับตัวเป็นก้อนหรือปนเปื้อนกับขยะ เช่น พลั่ว เสียม และถุงพลาสติก รวมทั้งใช้เครื่องมือตักน้ำมันในกรณีที่คราบน้ำมันยังไม่จับกันเป็นก้อน

ที่มา -




คราบน้ำตา..ใต้คราบน้ำมัน / บรรจง นะแส

คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น - โดย...บรรจง  นะแส

ภาพของคราบน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ไหลทะลักออกสู่ทะเลประมาณ 50-70 ตัน แผ่เป็นวงกว้างห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ที่สื่อมวลชนนำเสนอในค่ำของวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้คนในสังคมไทยไม่น้อย


กองทัพเรือภาคที่ 1 สนับสนุนใช้เครื่องบินกองทัพเรือบินลาดตระเวนดู พบว่า ทิศทางของคราบน้ำมัน และคาดว่าคราบน้ำมันอาจจะไปขึ้นบริเวณชายหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ในอีก 2-3 วันนี้ มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในทะเลในครั้งนี้ จะมีการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต

ในทางวิชาการแนวทางในการกำจัดคราบน้ำมัน มีการกำหนดวิธีการเอาไว้ 3 แนวทางคือ

1.ใช้บูมกั้น (Boom เป็นทุ่นลอยน้ำยาวๆ) เพื่อหยุดการรั่วไหล หรือปิดล้อมไม่ให้คราบน้ำมันแผ่กระจาย แต่เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ ทาง นายพรเทพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บอกแก่ผู้สื่อข่าวว่า ได้ใช้บูมกั้นยาว 200 เมตร กำจัดวงการแพร่กระจายคราบน้ำมัน

แต่ปัญหานี้อยู่ที่การให้สัมภาษณ์ของ นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่าที่เปิดเผยว่า "ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งมีหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเรือกว่า 10 ลำ ออกขจัดคราบน้ำมันที่รั่วบริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยคาดว่ามีปริมาณน้ำมันที่รั่วลงทะเลประมาณ 50-70 ตัน ซึ่งคราบน้ำมันลอยอยู่บนผิวน้ำมีความกว้างประมาณ 5 ไมล์ ยาว 1.5 ไมล์" ดังนั้น การใช้ บูม (Boom) กั้นแค่ 200 เมตรในครั้งนี้ จึงแทบจะไม่มีความหมายใดๆ ในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ด้วยวิธีดังกล่าว

2.ใช้ปั๊มที่เรียกว่าเครื่อง Skimmer (เป็นเครื่องสูบน้ำแบบลอยได้) ทำการสูบถ่ายคราบน้ำมันที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำแล้วเก็บไว้บนเรือ

อุบัติเหตุในครั้งนี้เราไม่สามารถใช้เทคนิคนี้ได้ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสคลื่น และลมแรงจัด ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ นายปกรณ์ ประเสริฐวงษ์ หัวหน้ากลุ่มสิ่งแวดล้อมกรมเจ้าท่า ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า "ช่วงที่เกิดน้ำมันรั่วเป็นช่วงที่มีคลื่นลมแรง ความเร็วลม 18 นอต การจะวางทุ่นเพื่อเก็บคราบน้ำมันทำไม่ได้" คำถามจึงมีอยู่ว่าเรากำลังกำจัดคราบน้ำมันครั้งนี้โดยวิธีไหน

3.ใช้ Oil Dispersant คือ การฉีดพ่นน้ำยากำจัดคราบน้ำมัน โดยทางเรือหรือทางเครื่องบิน เพื่อทำให้น้ำมันแยกเป็นอณูเล็กๆ เพื่อให้จุลินทรีในทะเลเป็นตัวย่อยสลาย ซึ่งก็ต้องอาศัยแสงแดดที่จ้าพอสมควร ซึ่งนายพรเทพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุทางบริษัทได้ปิดวาล์วหยุดการส่งน้ำมันทันที และใช้เรือฉีดพ่นยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน 4 ลำ พร้อมน้ำยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน 35,000 ลิตร จากบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ลำ บริษัท พีทีที โกลบอล 1 ลำ และเรือสนับสนุน SC Management จำนวน 3 ลำ เพื่อวิ่งวนให้น้ำมันทำปฏิกิริยากับน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน

นายปกรณ์ ประเสริฐวงษ์ หัวหน้ากลุ่มสิ่งแวดล้อมกรมเจ้าท่า อธิบายว่า "วิธีการดำเนินการขจัดคราบน้ำมันโดยการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นหยดขนาดเล็กกระจายลงไปในน้ำ ผ่านกระบวนการย่อยสลายของแบคทีเรียในทะเล ก่อนเป็นอาหารสัตว์ทะเล วิธีที่สองคือ เก็บน้ำมันขึ้นมา แต่จะใช้วิธีไหนขึ้นอยู่สภาพคลื่นลม ช่วงที่เกิดน้ำมันรั่วเป็นช่วงที่มีคลื่นลมแรงความเร็วลม 18 นอต การจะวางทุ่นเพื่อเก็บคราบน้ำมันทำไม่ได้ การใช้สารเคมีกระตุ้นให้น้ำมันแตกตัวเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์"

แต่การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน (Oil Dispersant) คือ การใช้สารเคมี ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวประเภทเดียวกับสบู่ ตัวสารจะทำให้คราบน้ำมันกระจายตัวออกเป็นอณูเล็กๆ ในห้วงน้ำ และจะจมลงสู่ก้นทะเลก่อนที่จะถึงชายฝั่ง จึงสรุปได้ว่า กระบวนการในการกำจัดคราบน้ำมันในทะเลในครั้งนี้ ได้ใช้วิธีการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันเป็นหลัก

แต่สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ก็คือ คราบน้ำมันที่เกาะตัวกันจากปฏิกิริยาของสารเคมี ซึ่งจะมีลักษณะเป็นลูกกลมๆ จะถูกลมซัดเข้าชายฝั่ง ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็จะตามมา ไม่ว่าการทำให้หาดทราย ชายฝั่งสกปรกเต็มไปด้วยคราบน้ำมันก็จะเกิดขึ้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ขบวนการขุดเจาะ หรือขนถ่ายน้ำมัน แล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล เพราะก่อนหน้านี้เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในหลาย ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเรือบรรทุกน้ำมัน เหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วไหล ล้วนได้สร้างความเสียหายจนไม่อาจประเมินค่าได้

หลายๆ ครั้งที่คราบน้ำมันกระจายไปทั่วทะเลและชายหาด ทำให้เกิดภาพที่น่าสลดหดหู่ เช่น นกและซากนกที่มีน้ำมันอาบไปทั้งตัวเกลื่อนหาด ปลาทะเลที่นอนตายอยู่บนชายฝั่ง ขณะที่คนงานที่ทำหน้าที่กำจัดคราบน้ำมัน พบว่า มีจำนวนหนึ่งมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ และเจ็บหน้าอก จากผลกระทบของสารเคมีจำนวนมากที่ใช้ขจัดคราบน้ำมันสะสมอยู่ในร่างกาย

รวมถึงการตรวจพบโลหะ และโลหะหนักตกค้างในสัตว์ทะเลที่นำมาจากแหล่งน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ซึ่งพบว่ามีการตรวจพบโลหะหนักจำนวนมาก บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โลหะบางชนิดไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่ทำลายระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น สารปรอททำลายระบบประสาท โดยเฉพาะทารกในครรภ์ถ้าได้รับสารปรอทจะทำให้มีสติปัญญาต่ำ มีพัฒนาการต่ำกว่าอายุจริง

ปรากฏการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วลงทะเล กินอาณาบริเวณกว้างในทะเลระยองในครั้งนี้ เราได้เห็นสื่อ หน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่ากองทัพเรือที่สนับสนุนใช้เครื่องบินกองทัพเรือบินลาดตระเวน และเรือของกองทัพออกไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้แก่บริษัทเอกชนอย่างแข็งขัน

แต่เรายังไม่เห็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคม ออกมาทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมโดยรวมที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว

จนถึงวันนี้ยังไม่พบว่ามีองค์กรส่วนท้องถิ่น หรือของรัฐหน่วยงานไหนได้ทำหน้าที่แจ้งความกล่าวโทษเพื่อเอาผิดต่อทางบริษัทที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ไม่ว่าต่อทะเล ต่อพันธุ์สัตว์น้ำ หรือต่อหาดทรายชายหาดที่อาจจะได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันในอีกไม่กี่วันข้าง หน้า

ปรากฏการณ์ของคราบน้ำตาที่ไร้ค่าของคนเล็กคนน้อย ก็ต้องซุกอยู่ใต้คราบน้ำมันเสมอ เพราะมูลค่ามันต่างกันโดยสิ้นเชิง.

ที่มา -