ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมไทยกับการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 30, 13, 20:57:54 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนอยู่ที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้หยุดชะงักขาดตอนไปเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เราแทบจะไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อเพื่มขึดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเลย ยิ่งเป็นการขนส่งในระบบรางและทางน้ำด้วยแล้ว เราแทบจะไม่ได้ลงทุนในสองระบบนี้มานับเป็นสิบๆปีด้วยซ้ำไป


ผลจากการละเลยและการขาดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา ตลอดจนการไร้เสถียรภาพทางการเมืองติดต่อกันมาอย่างยาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

โดยจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันล่าสุดของสถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน World Economic Forum – WEF ได้จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ที่อันดับที่ 49 ของโลก ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ อย่างเช่น มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 29 เป็นต้น

ยิ่งมาพิจารณาลึกลงไปในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นรายสาขาของระบบขนส่งก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะปรากฏว่าเราแพ้เขาหลุดลุ่ย และแม้กระทั่งอันดับของปีก่อนก็ยังรักษาไว้ไม่ได้ด้วยซ้ำ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเขามีแต่จะดีขึ้น

ตัวอย่างเช่นระบบขนส่งทางรถไฟ (Rail) หรือการขนส่งในระบบราง  เราอยู่ในลำดับที่ 65 ของโลก ตกจากลำดับที่ 57 เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ลำดับที่ 17 จากลำดับที่ 20 เมื่อปีที่แล้ว

หรือระบบขนส่งด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำหรือทางอากาศ เราก็แย่ลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ท่าเรือเราอยุ่ในลำดับที่ 56 ลดลงจากลำดับที่ 43 เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ลำดับที่ 21 จากลำดับที่ 19 เมื่อปีที่แล้ว

ทางด้านท่าอากาศยานที่เราภูมิใจนักหนาว่าเรามีสนามบินสุวรรณภูมิที่เพิ่งสร้างใหม่ทันสมัย ปรากฏว่าเราอยู่ในลำดับที่ 33 ตกจากลำดับที่ 28 เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ลำดับที่ 24 จากลำดับที่ 29 เมื่อปีที่แล้ว แซงหน้าประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว

หรือแม้แต่การขนส่งทางถนนซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สุดทางด้าน Logistic ของไทย เราก็ยังตกจากลำดับที่ 36 เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 39 ในขณะที่ประเทศมาเลเซียก็ตกเหมือนกัน แต่ลำดับยังดีกว่าไทย โดยตกจากลำดับที่ 21 มาอยู่ที่ 27 ในปีนี้

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยซึ่งขาดการวางแผนและพัฒนาอย่างเป็นระบบมาอย่างยาวนาน กำลังจะกลายเป็นปัจจัยด้านคอขวด (bottle neck) ที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้น เมื่อเราเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีกสองปีข้างหน้า โดยสภาพทางภูมิศาสตร์และที่ตั้งของประเทศ ซึ่งเอื้ออำนวยให้เราเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้าน Logistic ของอาเซียน แต่ด้วยความสามารถทางโครงสร้างพื้นฐานที่เรามีอยู่อย่างจำกัด อาจทำให้เราต้องสูญเสียศักยภาพและโอกาสไป หรือไม่เราก็ต้องยอมให้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีความพร้อมมากกว่ามาแบ่งปันผลประโยชน์นี้ไปอย่างน่าเสียดาย

ในระยะยาว ถ้าเรายังไม่รีบปรับตัว แน่นอนว่าประเทศไทยจะต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกไปเรื่อยๆ ทุกปีที่ผ่านไป ทุกรัฐบาลที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาบริหารประเทศ เราจะได้ยินแต่ถ้อยคำสวยหรูปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่ารัฐบาลจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะปรับเปลี่ยนระบบ Logistic ของประเทศให้ทันสมัย ให้ใช้การขนส่งในระบบรางและทางน้ำมากขึ้น ลดการขนส่งทางถนนที่สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงลง จะลดต้นทุนด้าน Logistic ลง

คำพูดหรือนโยบายเหล่านี้ ผมได้ยินมาไม่ใช่แค่สองหรือสามปี แต่ได้ยินมานับเป็นสิบๆปี คำถามคือ มันติดขัดอะไร มันจึงนำไปสู่การปฏิบัติไม่ได้ ทั้งๆที่ฝ่ายนโยบาย (การเมือง) ก็อยากทำ เพราะทำแล้วได้คะแนนเสียง (อาจได้เงินด้วย?) ฝ่ายข้าราชการประจำก็เห็นด้วย เอกชนก็สนับสนุน แต่โครงการเหล่านี้ก็ไม่เกิด


ในทางตรงกันข้าม ประเทศเพื่อนบ้านเขากลับเดินหน้าโครงการเหล่านี้ได้รวดเร็วกว่าเรา ทั้งๆที่เขาคิดทีหลังเราเสียด้วยซ้ำไป จนมีคนในประเทศเพื่อนบ้านเคยแซวคนไทยที่ไปดูงานบ้านเขาว่า มาดูงานบ้านเขาทำไม ประเทศเขาไม่ได้เก่งอะไรหรอก เขาเพียงแต่คอยฟังว่าประเทศไทยคิดอะไร แล้วเขาก็หยิบเอาไปทำเสร็จก่อนประเทศไทยเท่านั้นเอง

ฟังดูแล้วก็เหมือนเขาพูดเล่นขำๆ แต่เป็นมุกที่แสบเข้าไปถึงทรวงคนไทยจริงๆ

ผมมาคิดดูแล้วที่บ้านเราไปไม่ถึงไหนอย่างที่เขาล้อเลียนเรา คงไม่ใช่เป็นเพราะเราโง่กว่าเขาหรือไม่มีวิสัยทรรศน์ในการพัฒนาหรอกครับ แต่คงเป็นเพราะสองสาเหตุดังต่อไปนี้มากกว่า คือ

1. การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ การเมืองบ้านเราไม่มีเสถียรภาพมากว่าสิบปี การที่การเมืองไม่นิ่งทำให้โครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐบาลขาดความต่อเนื่อง ยิ่งระยะหลังการเมืองบ้านเรายิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ดังนั้นนโยบายหรือโครงการอะไรที่เป็นของฝ่ายตรงกันข้ามก็จะถูกสกัดกั้นทุกวิถีทาง ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าโครงการนั้นจะป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ก็ตาม

2. การคอร์รัปชั่น เรียกร้องผลประโยชน์ และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว แน่นอนว่าการทำโครงการเมกะโพรเจคต์ต่างๆ ย่อมมีผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้นถ้าเราได้นักการเมืองหรือรัฐบาลหรือแม้กระทั่งฝ่ายค้านที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ก็ย่อมมีการเรียกร้องผลประโยชน์ ค่าตอบแทน ค่าวิ่งเต้น ค่าหัวคิว หรือขอรับช่วงเหมางาน จัดซื้อจัดหาต่างๆ จนทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หรือมีการขัดผลประโยชน์ ฟ้องร้อง ร้องเรียนกัน จนโครงการต้องล่าช้า นักลงทุนเบื่อหน่ายถอดใจ และถอนตัว ล้มเลิกโครงการไปในที่สุด

ดังนั้นตราบใดที่เรายังแก้ปัญหาสองข้อดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ ก็คงต้องปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านเขาประมาทน้ำหน้าไปอย่างนี้ต่อไปละกันครับ !!!

มนูญ ศิริวรรณ

ที่มา -