ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

โครงการขุด “คลองไทย” จีนขุด ใครได้ประโยชน์

เริ่มโดย mrtnews, ม.ค 23, 20, 20:13:33 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"คลองไทย" ถูกปลุกผีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขุดคลองไทยเส้น 9A กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา ตามข้อเสนอของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังชาติไทย


ส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน กลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้จำนวน 49 คน โดยมีกำหนดพิจารณาเรื่องนี้ให้เสร็จภายใน 120 วัน

โครงการขุดคลองไทยถูกผลักดันมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่มาเข้มข้นเอาจริงเอาจังกันในยุค คสช.มีการปล่อยข่าวปลอมว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามในเอ็มโอยูกับฝ่ายจีนที่เมืองกวางโจว ศึกษาโครงการขุดคอคอดกระ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคลองไทย แต่ถูกคนใกล้ชิดบิ๊กจิ๋ว ปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องของนายหน้าหลอกเงินจีน ปล่อยข่าว

ที่ฮือฮากันมาก คือ สามารถทำให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง องคมนตรี เขียนจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี สนับสนุนการสร้างคลองไทย ในขณะที่สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.สายทหาร เตรียมที่จะเสนอพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พิจารณาสร้างคลองไทย พล.อ.ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่มีการสร้างคลองไทยในยุคที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม มักจะรายงานข่าว "ลักไก่" ออกมาเป็นระยะๆ ว่า นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง

น่าสังเกตว่า โครงการขุดคลองไทยนี้ เคลื่อนไหวผ่านนายทหารนอกราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว อย่างเช่น พล.อ.หาญ ลีลานนท์ อดีตแม่ทัพภาค 4 พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และพล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นนายกสมาคมคลองไทย เพื่อการศึกษาและพัฒนา เป็นต้น

สมาคมคลองไทย เพื่อการศึกษาและพัฒนา เป็นองค์กรเคลื่อนไหวให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนถึงคุณประโยชน์ของคลองไทย การจัดรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ หลายครั้งในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกครั้งมีข้อสรุปว่า ประชาชนเห็นด้วย

คลองไทย คือ คลองที่เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย แนวคลองจะอยู่ตรงไหน ยังไม่มีความชัดเจน ล่าสุดคือ แนว 9 A ตัดผ่าน 5 จังหวัด คือ ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา

ประโยชน์ของคลองไทยที่ผู้สนับสนุนยกขึ้นมาอ้าง คือ ช่วยย่นระยะเวลาการเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียไปทะเลจีนใต้ ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งแออัดตัดตรงผ่านคลองไทยได้เลย ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเดินเรือในภูมิภาคนี้แทนสิงคโปร์

ระยะเวลาที่จะประหยัดได้ จากข้อมูลของสมาคมคลองไทยฯ เอง บอกว่า 1-2 วัน ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจเดินเรือหัวเราะอยู่ในใจ เพราะถ้าประหยัดเวลาได้แค่ 1-2 วัน จะมีประโยชน์อะไร คลองสุเอซหรือคลองปานามาประหยัดเวลาได้ 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 10 วัน

เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว คลองไทยก็ตกม้าตายแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเทคนิคการก่อสร้าง ที่ความต่างของระดับน้ำที่ฝั่งมหาสมุทรอินเดียกับระดับน้ำในคลองไทยที่ต่างกันมาก เรือขนาดใหญ่ออกจากคลองแล้ว จะลงไปในมหาสมุทรอย่างไร จะวิ่งลงไปแบบสไลเดอร์ได้หรือไม่ แนวคลองที่ตัดผ่านป่าชายเลน ชุมชนชายฝั่งซึ่งจะทำลายระบบนิเวศวิทยา และวิถีชีวิตของชุมชน งบประมาณก่อสร้างจะมาจากไหน ฯลฯ

เรื่องการขุดคลองไทยนี้ เป็นความต้องการของทุนจีน ซึ่งยังไม่เปิดเผยตัว วัตถุประสงค์ก็ชัดๆ ง่ายๆ เป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ คือ มีรายได้หลักจากการขุดคลอง ประชาชนในพื้นที่ที่แนวคลองผ่าน เคยเล่าให้สื่อบางสำนักฟังว่า มีคนจีนมาสำรวจพื้นที่ พูดคุยด้วยว่า คลองไทยจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น

เมื่อปี 2556 สภาผู้แทนราษฎร นิการากัวลงมติให้สัมปทาน บริษัท ฮ่องกง เพื่อการลงทุนพัฒนาคลองนิการากัว (เอชเคเอ็นดี) ของนายหวัง จิ้ง มหาเศรษฐีจีน ขุดคลองผ่านตอนใต้ของนิการากัว เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ากับทะเลแคริบเบียน โดยมีอายุสัมปทาน 50 ปี

จนถึงบัดนี้ โครงการคลองนิการากัวยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย แต่มีข่าวว่า อาจจะมีการต่ออายุสัมปทานอีก 50 ปี

ยุทธศาสตร์ของจีนในยุคสี จิ้นเผิง เป็นผู้นำ คือ การส่งออกทุนจีนผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในนาม หนึ่งแถบหนึ่งสะพาน โดยบริษัทจีนเป็นผู้ก่อสร้าง ใช้วัสดุแรงงานจากจีน ใช้เงินกู้จีน หลายๆ โครงการเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วขาดทุน ไม่มีการใช้ประโยชน์ เพราะการลงทุนไม่ได้เกิดจากการศึกษาความเป็นไปได้จริงๆ เมื่อขาดทุนชำระหนี้ที่กู้จากจีนไม่ได้ ก็จะถูกยึดโครงการ

โครงการท่าเรือน้ำลึกศรีลังกาเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว โครงการรถไฟจีน-ลาวกำลังจะเป็นรายต่อไป รัฐบาล คสช.รู้ทันเรื่องนี้ จึงดึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมาลงทุนเองทั้งหมด

โครงการคลองไทยถูกนำเสนอจากจีนมาก่อนที่สี จิ้นผิง จะมีอำนาจ ก่อนที่จะมีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คือ มีการผลักดันผ่านวุฒิสมาชิกเมื่อประมาณปี 2547 แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า เพราะไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อขุดคลองแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไร มีแต่การบรรยายสรรพคุณว่า จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ ประชาชนสองฝั่งคลองจะพ้นจากความยากจน

เมื่อสี จิ้นผิง ประกาศโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โครงการคลองไทยก็ถูกโมเมเอาไปพ่วงกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางด้วย เพื่อให้ดูขลัง แต่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวกันเลย

ก็หวังว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สร้างมิติใหม่ เห็นด้วยกัน จะเป็นเพียงผลการศึกษา คงไม่ถึงกับลงมติให้สร้าง ให้ขุดแบบสภานิการากัว เมื่อ 7 ปีก่อนนะ เพราะเห็นอยู่ว่า ขุดคลองไทยแล้วใครจะได้ประโยชน์



ที่มา Data & Images -




บทความ : คลองไทย ฝัน... จะเป็นจริง : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

คลองไทยกลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้มีการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย และมีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่ ต้องรอคำตอบหลังจากผ่านไป 120 วัน หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 49 คน เป็นผู้ไปค้นหาคำตอบเชิงวิชาการต่อไป แต่ขออย่างเดียว ขอให้คณะกรรมาธิการดังกล่าวทำงานอยู่ภายใต้ความจริงจังและจริงใจ และต้องโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ


คลองไทย เป็นโครงการที่พูดถึงกันมานาน มีการศึกษากันมาแล้ว 1 ครั้ง ของวุฒิสภา ปี 2544-2548 แต่ในบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรไม่เคยนำโครงการคลองไทยมาเป็นญัตติในการศึกษาเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของสภาไทย คลองไทย เป็นโครงการใหญ่ระดับโลก มีผลกระทบวงกว้างทั้งเชิงบวกและเชิงลบ และอาจจะส่งผลไปยังกลุ่มอาเซียน เอเชีย และระดับโลกก็เป็นได้ คลองไทยเป็นที่กล่าวขาน ทั้งแสดงความยินดีและห่วงใยของผู้หวังดีต่อชาติบ้านเมือง

ในยามที่ประเทศหมดช่องทางนำเงินมาขับเคลื่อนประเทศ โลกข้างหน้าเปลี่ยนไปมาก มีการขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่ทันสมัยและล้ำยุค จะหวังรายได้เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วโลกที่ท้าทาย นักท่องเที่ยวสอดรับกับการเดินทางที่ราคาถูก ประหยัด และรวดเร็ว จะหวังส่งสินค้าออกที่เป็นอยู่ก็ยากและตีบตัน ติดกับดักค่าของเงินบาทที่แข็งค่า ติดกับดักค่าแรงที่สูง ตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจหลายอย่างย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย หวังจะให้นักลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนก็ยิ่งยาก เพราะติดกับดักเรื่องค่าแรงและการบริหารจัดการที่ยุ่งยากและซับซ้อน

ย้อนไปดู 10-20 ปีที่ผ่านมา เช่น จีนซื้อยางดิบจากไทย แต่จีนกลับผลิตยางดิบได้เอง ส่งผลให้ไทยติดกับดักเรื่องการส่งออกยางพารา ซึ่งกระทบกับเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ 3 กก./ 100 บาท รวมถึงสินค้าอื่นๆ แต่ละประเทศเจริญก้าวหน้าทั้งคน ทั้งเงิน รวมถึงเทคโนโลยี หันมาผลิตเอง ใช้เอง ภาวะเช่นนี้อาจจะส่งผลให้ภาวการณ์ส่งออกของไทยต้องฝืดเคือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนึ่งในหลายช่องทาง คือ หาเงินโดยใช้ภูมิรัฐศาสตร์ของภาคใต้ให้เป็นธุรกิจบริหารจัดการ จากที่ตั้งของภาคใต้ที่ขนาบด้วยทะเล คือ การขุดคลองไทย เปิดพื้นที่ให้เป็นเส้นทางการขนส่งทางทะเลใหม่ของโลก เพราะที่ตั้งของคลองไทยอยู่ตรงกลางของเศรษฐกิจโลกเกือบทุกด้าน พร้อมด้วยตลาดและจำนวนคนที่อยู่รอบๆ ประเทศไทยราวๆ 4 พันล้านคน พื้นที่เหมาะทั้งที่ตั้งและภูมิอากาศ ไม่ร้อนและไม่หนาว รอบๆ คลองไทยประกอบด้วยประเทศที่ทรงพลังทางด้านเศรษฐกิจ เช่น จีนและอินเดีย ลงมาทางใต้ กลุ่มอาเซียนและออสเตรเลีย

คลองไทยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน กังวลใจว่าเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก ที่จะขึ้นไปยังขั้วโลกเหนือ ส่งผลให้คลองไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่หวัง ประเด็นนี้น่าจะเกิดขึ้นยากที่นักเดินเรือจะไม่ใช้คลองไทย แล้วหันไปใช้เส้นทางขั้วโลกเหนือ เพราะขั้วโลกเหนืออากาศหนาวราว 7-9 เดือน มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปีเส้นทางขั้วโลกไม่มีเมืองท่าใหญ่ๆ ที่จะกักตุนหรือขนถ่ายสินค้า

ด้วยปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวจึงยากที่จะเป็นเส้นทางหลักในการเดินเรือ คลองไทย หลายท่านกังวลใจว่าคุ้มหรือไม่ กลัวโน่น กลัวนี่ กันมากมาย แต่ถ้าศึกษาแล้วมันคุ้ม ก็ค่อยว่ากัน ขึ้นอยู่กับผู้นำและพระสยามเทวาธิราชจะมองเห็นและดลบันดาล แต่ถ้าไม่หลุดพ้นกับดักความกล้าหาญ ประเทศก็จะยากจน ประชาชนแร้นแค้นอยู่ร่ำไป ประเทศไทยบริหารเงินขาดดุล ระดับ 700,000 ล้าน เพราะไม่มีเงินจึงจำเป็นต้องหาช่องทางใหม่เพื่อหาเงินเข้าประเทศ หรือจะเลือกใช้เงินภาษีของประชาชน มาหว่านมาแจกกันต่อไป โครงการชิม ช้อป ใช้ ดูแล้วตื่นเต้น เร้าใจไม่น้อย จ่ายมาเท่าไหร่ประชาชนเฝ้ารอ

แต่สุดท้ายเงินดังกล่าวก็หมุนเข้ากระเป๋านายทุนใหญ่เช่นเคย

สําหรับข้อมูลเชิงวิชาการที่สามารถนำมาอ้างอิงและเป็นที่น่าเชื่อถือ มีให้คนที่เห็นต่างหรือห่วงใย ได้ศึกษาและตัดสินใจ เช่นข้อมูลจำนวนเรือ ข้อมูลค่าใช้จ่ายของเรือนำมาประกอบการศึกษาการขุดคลองไทย ได้นำมาเป็นตัวอย่าง จากข้อมูลที่เชื่อถือได้ ฐานข้อมูลปี 2016 (2559) จำนวนเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศประเภทต่างๆ ใช้บริการ/แล่นผ่านคลองและช่องแคบเดินเรือสำคัญๆ ของโลก Database recorded of World Ships are passing Through and movement each of Importance water Straits & Canal's Year 2016 ดังนี้

1.ช่องแคบสิงคโปร์ (Singapore Straits) movement estimate ~209,057 ลำ (หรือเที่ยว)

2.ช่องแคบมะละกา-มาเลเซีย (Malacca Straits) movement estimate ~84,000 ลำ (หรือเที่ยว)

3.ช่องแคบบอสฟอรัส (อิสตันบูล)-ตุรกี (Bosphorus (Istanbul) Straits) movement estimate ~41,000 ลำ (หรือเที่ยว)

4.คลองซุเอส (The Suez canal) Transist estimate ~22,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

5.คลองปานามา (The Panama canal) Ships Transit estimate ~14,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

6.คลองคีล-เยอรมนี (The Kiel canal-Geramany) Ships Transit estimate ~43,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

7.คลองโครินทร์-ประเทศกรีซ (The Corinth canal-Greek) Ships Transit estimate ~11,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

8.ช่องแคบลอมบอก-อินโดนีเซีย (The Lombok Strait-Indonesia) Ships passing estimate ~3,500 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

9.ช่องแคบซุนดา-ประเทศอินโดนีเซีย (The Strait of Sunda-Indonesia) Ships passing estimate ~70,000 ลำ (หรือเที่ยว/ปี 2016)

ด้านค่าใช้จ่ายของเรือต่อวัน ซึ่งมีผู้ให้ข้อมูลกันมากมาย จะขอยกตัวอย่างคร่าวๆ ขนาดเรือบรรทุกน้ำมันดิบ Crude Carrier Tanker 260,988 dwt. ความเร็วเรือปกติ 115.00 Knots ขนาดของเครื่องจักรใหญ่ (Main Engine) 20,630 KW. หรือราวๆ 28,050 แรงม้า PS.

ค่าเช่าเรือ T/C-Rate ต่อวัน จะตกประมาณวันละ 40,000-42,000 US$ เหรียญสหรัฐ หรือประมาณวันละ 1,302,000 บาท ราคานี้ยังไม่รวมค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ บนเรือขณะเรือวิ่ง ซึ่งถ้าหากรวมแล้วค่าใช้จ่าย/วัน ก็จะตกราวๆ 101,000 US$ ต่อวัน หรือประมาณ 3,131,000 บาท และการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของเรือแต่ละขนาด ระหว่างแล่นผ่านช่องแคบมะละกา กับแล่นผ่านคลองไทย โดยถัวเฉลี่ยแล้วแตกต่างกันประมาณ 1.6-2.2 วันครับ ดังนั้นจึงมีคำตอบว่า การที่เราจะเก็บค่าผ่านทางเรือต่างๆ นั้น ก็จะคิดจากค่าใช้จ่ายของเรือต่อวันที่ประหยัดไปซึ่งอาจจะคิดที่ 80% ของค่าใช้จ่ายที่ประหยัดไปทั้งหมดยกตัวอย่างเรือขนาด 2 แสน 6 หมื่นเดทเวทตัน ค่าใช้จ่ายวันละ 3,131,000 บาท คูณ 2 วัน ก็ตกประมาณ 6,262,000 บาท เมื่อจะเก็บค่าผ่านทาง (คลองไทย 9A) ที่ประมาณ 80% ก็จะตกราวๆ 5,009,600 บาท นี่คือค่าผ่านทางที่เรือขนาดนี้ต้องจ่ายเป็นค่าผ่านคลองในแต่ละครั้ง ส่วนค่าใช้จ่ายของเรือโดยหลักๆ คือ

1.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.เงินเดือนคนประจำเรือ
3.ค่าสูญเสียน้ำมันหล่อลื่น
4.ค่าน้ำจืดน้ำใช้
5.ค่าเสบียงแต่ละวัน
6.ค่าสึกหรอค่าเสื่อมสภาพของตัวเรือและเครื่องจักร
7.ค่าประกันภัยเรือ และอื่นๆ

การเดินเรือผ่านคลองไทย
การผ่านคลองไทยไม่จำเป็นต้องเป็น convoy ก็ได้เราขุดคลองให้มีความกว้างเพียงพอและใช้ทุ่น

ทำเป็นเส้นแบ่งแนวจรที่ชัดเจน และเรือก็ไม่ต้องกังวลน้ำขึ้น-น้ำลงเพราะคลองจะมีความลึกถึง 30 เมตร

จากระดับน้ำลงต่ำสุด จึงทำให้สามารถรองรับเรือทุกขนาดในโลกให้ผ่านได้ตลอดเวลา จึงทำให้เรือจะไม่มีการสูญเสียเวลาตรงนี้

1) เรือน้ำมันทุกขนาดรวมทั้งขนาดที่ใหญ่ที่สุดคือ ULCC เป็นเรือแบบ double hull หรือตัวเรือสองชั้น ดังนั้นโอกาสที่น้ำมันจะรั่วไหลออกมาภายนอกก็เป็นไปได้ยากมาก ยกเว้นว่าถูกขีปนาวุธยิงจริงๆ แต่ลำพังการเกยตื้นหรือเรือชนกันไม่ทำให้น้ำมันรั่วไหลออกมาได้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลว่าทำไมเรือพวกนี้จึงจะเข้ามาในอ่าวไทยไม่ได้

2) เรือบรรทุกสินค้าเทกอง (bulk) ขนาด ULOC หรือ เรือ China max นั้นวิ่งด้วยความเร็วเต็มที่เพียง 12 knots ไม่ใช่ 15-20 knots อย่างที่กล่าวอ้าง เรือพวกนี้ไม่สามารถผ่านช่องแคบมะละกาได้ต้องไปผ่านช่องแคบลอมบอกแทน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการผ่านคลองไทยกับผ่านช่องแคบลอมบอกแล้ว เราสามารถเก็บค่าผ่านคลองจากเรือพวกนี้ได้ถึง 12 ล้านบาทต่อเที่ยว และเรือพวกนี้จะมีวิ่งกันประมาณ 200 เที่ยวต่อปี ดังนั้นคลองไทยจะมีรายได้จากเรือพวกนี้เพียงอย่างเดียวประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท ซึ่งอันนี้ยังไม่นับรวมรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ในการทำเป็นศูนย์กระจายสินค้าในกรณีที่เรือพวกนี้ต้องการให้เรือใหญ่บรรทุกแร่มากองไว้ก่อนแล้วให้เรือเล็กมารับต่อไปอีกครั้ง

3) ระยะทางที่ใช้เป็นระยะทางที่คิดได้จากแผนที่ที่ใช้ในการเดินเรือจริง ไม่ได้ปั้นแต่งตัวเลขเพื่อหลอกประชาชนใดๆ ทั้งนั้น ประหยัดได้เท่าไหร่ก็บอกตัวเลขไปตามจริงเท่านั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องมีข้อกังขาในข้อมูลกันภายหลัง ส่วนเรื่องจำนวนเรือที่จะผ่านคลองไทยเพื่อเข้าแหลมฉบังนั้นก็ไม่ควรไปนับแต่ตัวเลขในปัจจุบัน เพราะแหลมฉบังเองก็กำลังขยายเป็นเฟส 3 และเฟส 4 เพื่อรองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นจำนวนเรือที่จะผ่านก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ ไหนจะมีท่าเรือคลองไทยทางฝั่งอ่าวไทยซึ่งวางตัวเป็นฮับกระจายสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีก ทำให้อนาคตต้องมีจำนวนเรือที่ผ่านคลองไทยเพิ่มขึ้นจากตัวเลขที่ใช้ตอนนี้อีกหลายเท่าตัว (ข้อมูลจากนักเดินเรือระดับโลก)

คลองไทยหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติรวมทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ร่วมกันผลักดันให้มีการศึกษา ก็กลับมาเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นเรื่องปกติและดีเสียด้วยซ้ำไป จะได้ช่วยกันตรวจสอบทักท้วง แต่อยากกราบเรียนว่าคลองไทยถ้าเกิดขึ้นจริงจะนำบทเรียนของหลายๆ คลอง มาเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติให้มากที่สุด แต่ห่วงอย่างเดียว คือกลัวคนไทยนำคลองไทยไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดและเหตุผลที่ไม่ยอมฟังใคร หวังเอาชนะคะคานกัน

ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาชนและชาติรับกรรมและประเทศไทยก็ยังติดกับดักในการพัฒนาประเทศต่อไป

ณรงค์ ขุ้มทอง ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ และโรงเรียนดาวนายร้อย



ที่มา Data & Images -







..