ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

Fabien Cousteau หลานนักสมุทรศาสตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศสทำสติถิอยู่ใต้น้ำ 31 วัน

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 04, 14, 18:28:36 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

หลาน "ฌาคส์ กูส์โต" นักสมุทรศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดัง อยู่ใต้น้ำนาน 31 วัน ทำลายสถิติที่ปู่เคยทำไว้ โดยอาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรภายในเรือดำน้ำ พร้อมทีมนักวิทยาศาสตร์และนักถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี ตั้งเป้าหมายกระตุ้นคนรุ่นใหม่ใส่ใจและดูแลมหาสมุทรเหมือนที่ปู่เขาเคยทำ

       
ฟาเบียง กูส์โต (Fabien Cousteau) วัย 46 ปี หลานของ ฌาคส์ กูส์โต (Jacques Cousteau) นักสมุทรศาสตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส เพิ่งขึ้นสู่ผิวน้ำ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำ บริเวณแนวประการังคีย์ลาร์โก (Key Largo) ฝั่งฟลอริดา สหรัฐฯ นาน 31 วันร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์และนักถ่ายทำสารคดี
       
รอยเตอร์รายงานว่า กูส์โตผู้หลาน อยู่ใต้น้ำลึก 18 เมตร โดยอาศัยอยู่ภายในเรือดำน้ำ "อะควอริส" (Aquarius) ที่มีความยาว 18 เมตร ร่วมกับ "อะควอเนาต์" (aquanaut) อีก 2 คน และเพิ่งโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2014 ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่ใช้เวลาหลายปีในการเตรียมการสำหรับปฏิบัติการดังกล่าวอยู่หลายปี และยังเริ่มปฏิบัติการล่าช้ากว่าที่กำหนด
       
หลังขึ้นสู่ผิวน้ำกูส์โตได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการสื่อสารไปยังคนจำนวนมากทั่วโลก เพื่อกระตุ้นความรู้สึกคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจต่อมหาสมุทร ปกป้องดูแลมหาสมุทร มีความสงสัยใคร่รู้ต่อมหาสมุทรในแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคคุณปู่ของเขา

นอกจากเป้าหมายเชิงอนุรักษ์ของกูส์โตแล้ว ทางด้านทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น (Northeastern University) ก็เข้าร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางทะเลต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ
       
การอาศัยอยู่ใต้น้ำได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ออกจากไปเก็บตัวอย่างจากบริเวณใกล้ๆ แนวประการังได้หลายครั้งในแต่ละวัน รวมถึงเก็บตัวอย่างได้ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน อีกทั้งยังได้สังเกตสิ่งมีชีวิตทางทะเลในสภาวะแวดล้อมที่วิธีการอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้
       
สำหรับเรือดำน้ำอะควอริสนั้นติดตั้งอุปกรณ์ปรับอากาศและอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต และยังมีฝักบัวอาบน้ำ ห้องน้ำ และอีก 6 ช่องนอน รวมถึงช่องหน้าต่างที่ให้ผู้อาศัยสังเกตสิ่งมีชีวิตทางทะเลได้ตลอด 24 ชั่วโมง

       
ถึงแม้ปฏิบัติการดังกล่าวจะประสบความเร็จแต่ระหว่างทางก็เผชิญกับความระทึกด้วยเช่นกัน โดย ดร.แอนดรูว์ แชนต์ซ (Andrew Shantz) นักวิทยาศาสตร์ด้านนิเวศวิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาอินเตอร์เนชันนัล (Florida International University) ซึ่งร่วมใช้ชีวิตในเรือดำน้ำดังกล่าวนาน 17 วัน เล่าประสบการณ์ระทึกว่า คืนหนึ่งเครื่องปรับอากาศเกิดหยุดทำงาน และอุณหภูมิก็เพิ่มสูงถึง 35 องศาเซลเซียส และความชื้น 95%

แชนต์ซกล่าวว่าเขายังเห็นปลากรุ๊ปเปอร์ยักษ์ (Goliath grouper) โจมตีปลาบาร์ราคูดา (arracuda) ที่มีฟันแหลมคมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และเขายังรวบรวมข้อมูลที่ปกติต้องเก็บรวบรวมนานถึง 6 เดือนได้ภายในเวลา 17 วัน จากการเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้
       
สำหรับการอยู่ใต้น้ำที่นานที่สุดก่อนหน้านี้เป็นสถิติของกูส์โตผู้ปู่ ที่ใช้เวลาอยู่ในใต้น้ำในปี 1963 นาน 30 วัน ภายในเครื่องอำนวยความสะดวกคล้ายๆ กัน โดยดำลึกลงไป 9 เมตรใต้ทะเลแดง
       
ที่มา -



mrtnews

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับคุณปู่ ฌาคส์ กูส์โต (Jacques Cousteau) นักสำรวจใต้ทะเลลึก

นักผจญภัยในอดีตไม่ได้สนใจที่จะค้นหาความลึกลับใต้ทะเลมากเท่าความรู้สึกจะศึกษาและยึดครองดินแดนในทะเล คงเพราะคนโบราณคิดว่าอาณาบริเวณใต้ทะเลเป็นสถานที่ลึกลับที่ไม่มีทั้งสัตว์ ต้นไม้ ปราสาท มนุษย์ หรือแม้แต่ทองคำ ฯลฯ
       
Plato ปราชญ์กรีกในสมัยโบราณได้เคยเขียนเรื่องทะเลว่า ใต้ทะเลมีอสูรกายและสัตว์ร้ายมากมาย ดังนั้นนักแผนที่ในสมัยนั้น จึงมักวาดรูปสัตว์อสูรปรากฎอยู่กลางทะเลทุกหนแห่งที่มนุษย์ยังไม่เคยเดินทางไปสำรวจ
       
ครั้นเมื่อนักเดินเรือโปรตุเกส Bartholomew Dias และ Vasco da Gama ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 สามารถแล่นเรือในอ้อมแหลม Good Hope ไปอินเดียได้ และ Christopher Columbus เดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ นักผจญภัยทุกคนก็เริ่มรู้ขนาดของโลก และรู้ว่าโลกมีทะเล ณ ที่ใดบ้าง ส่วนนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องการรู้ว่าทะเลและกระแสน้ำในมหาสมุทรเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุใดน้ำทะเลจึงเค็ม และในทะเลมีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง เป็นต้น
       
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 Robert Boyle แห่ง Royal Society จึงได้พยายามตอบคำถามเหล่านี้ โดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์ เช่น อ้างว่าเพราะท้องทะเลอยู่ลึกมากจนแสงอาทิตย์ส่องลงไปไม่ถึง ดังนั้นอุณหภูมิของน้ำในบริเวณนั้นคงเย็นจัด จนน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง แต่ในขณะเดียวกันท้องทะเลก็อยู่ใกล้นรกใต้โลกที่ร้อนมาก ดังนั้นน้ำที่ท้องทะเลลึกจึงควรร้อน เมื่อได้ข้อสรุปที่แตกต่างกันเช่นนี้ Boyle จึงพยายามถามนักดำน้ำ แต่คนเหล่านั้นก็ตอบไม่ได้ว่า น้ำในทะเลลึกร้อนหรือเย็น
       
หนทางเดียวที่จะให้คำตอบสำหรับโจทย์เรื่องนี้ได้ คือ นักวิทยาศาสตร์ต้องส่งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์หรือคนลงไปสำรวจ ดังนั้น Royal Society จึงมอบให้ Robert Hooke ศึกษาปัญหานี้ Hooke ได้ให้เรือผ่านคลื่นเสียงลงน้ำแล้วฟังเสียงสะท้อนจากท้องน้ำ การรู้ความเร็วของเสียงในน้ำ และเวลาทั้งหมดที่เสียงใช้ในการเดินทาง ทำให้ Hooke สามารถวัดความลึกของแม่น้ำ Thames ได้ และเขาได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง Directions for Seaman bound for Voyager ในปี 1662 งานวิจัยนี้มีผลทำให้กัปตันเรือเดินทะเลของอังกฤษทุกคนได้รับการขอความร่วมมือจาก Royal Society ให้รายงานผลการสำรวจความลึกของทะเลทุกหนแห่งที่เรือแล่นผ่านไปเวลาเดินทาง
       
แต่ความลึกมิใช่ประเด็นเดียวที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการรู้ เพราะเขาต้องการมากกว่านั้น เช่นอยากเห็นสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ระดับลึกต่างๆ ด้วย ความต้องการเช่นนี้ทำให้เกิดเทคโนโลยีการสำรวจที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเวลาต่อมา
 
ในปี 1816 Robert Wauchope ได้ใช้อุปกรณ์เป็นเชือกวัดความลึกของทะเลได้ถึง 2.624 กิโลเมตร เชือกที่ใช้มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 6.3 เซนติเมตร และมีลูกปืนใหญ่ที่ลงไปสำรวจดู หนักลูกละ 33 กิโลกรัม 7 ลูกถ่วงเพื่อให้ปลายเชือกหยั่งถึงท้องน้ำพอดี จากนั้นคน 100 คน ดึงเชือกขึ้น เพราะน้ำมีแรงต้านมาก ดังนั้นกว่าจะดึงเชือกขึ้นได้หมด Wauchope ก็พบว่าต้องใช้เวลานานถึง 1 ชั่วโมงกับ 20 นาที วิธีนี้จึงไม่ใช่วิธีที่ดีในการวัดความลึกของทะเลเพราะต้องใช้เวลานานและคนหลายคน
       
ในคริสตศตวรรษที่ 19 เมื่อโลกมีโทรเลขใช้ และรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลอเมริกามีความประสงค์จะวางสายเคเบิลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อติดต่อสื่อสารกัน โดยให้สายวางติดท้องทะเลพอดี เพราะไม่ต้องการให้สายรบกวนการสัญจรไปมาของเรือเดินสมุทร และไม่ให้กระแสน้ำพัดพาสายไปมาจนสายขาด ดังนั้นความต้องการสถานแรกของวิศวกรคือ ต้องรู้แน่นอนว่าโครงการวางสายเคเบิลต้องใช้ลวดยาวเพียงใด และต้องวางลวดพาดผ่านบริเวณใดบ้างตลอดเส้นทาง
       
ดังนั้น ในปี 1856 ราชนาวีสหรัฐฯ จึงใช้เรือรบชื่อ Arctic และCyclops สำรวจมหาสมุทรแอตแลนติกก่อน โดยอาศัยเทคนิคการฟังเสียงสะท้อนด้วยอุปกรณ์ Sounding Machine ที่ Lord Kelvin ประดิษฐ์ ผลการสำรวจนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่าบริเวณท้องมหาสมุทรแอตแลนติกมีเทือกเขา หุบเขา พืชใต้น้ำ ภูเขาไฟ ฯลฯ และยังพบอีกว่า น้ำทะเลที่ระดับลึกต่างกันมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน เพราะน้ำ ณ บริเวณต่างเส้นรุ้งจะมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน เช่นน้ำในบริเวณขั้วโลกจะมีอุณหภูมิต่ำจึงมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำปกติ ดังนั้น น้ำจะจมลงเบื้องล่าง แล้วไหลใต้น้ำผิวสู่เส้นศูนย์สูตร ส่วนน้ำที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรเมื่อได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์จะมีอุณหภูมิสูง และมีความหนาแน่นน้อย จึงไหลที่ผิวน้ำไปที่ขั้วโลก การไหลลักษณะนี้จึงทำให้เกิดกระแสน้ำอุ่น Gulf Stream และกระแสน้ำเย็น Humboldt ในมหาสมุทรแอตแลนติก และแปซิฟิกตามลำดับ
       
ในด้านสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ที่ท้องทะเลลึกนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบว่ามหาสมุทรเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดของโลก เพราะมีสิ่งมีชีวิตที่เล็กขนาดจุลินทรีย์จนใหญ่ระดับวาฬ และหมึกยักษ์ อีกทั้งมีพืชกับสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดที่มีความเกี่ยวพันทางพันธุกรรมกับพืช และสัตว์บนบกด้วย แต่การสังเกตดูสัตว์น้ำเหล่านี้ใช่ว่าจะทำได้ง่าย เพราะงานลักษณะนี้มิใช่งานของพวกสมัครเล่น แต่เป็นงานของนักสมุทรศาสตร์มืออาชีพ

สำหรับสิ่งมีชีวิตในทะเลนั้น ในปี 1845 Edward Forbers อ้างว่า จำนวนสปีชีส์ของสัตว์ในทะเลจะลดลงๆ จากที่ผิวจนถึงที่ระดับลึก 550 เมตร แล้ว ณ ที่ลึกยิ่งกว่านั้นทะเลจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อาศัยอยู่ได้เลย
       
แต่ข้อสันนิษฐานนี้ไม่มีใครยอมรับ เพราะ Forbers ไม่มีหลักฐานที่ได้จากการทดลอง
       
ข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถลงไปในน้ำได้ลึก คือมนุษย์เป็นสัตว์บกที่ต้องการออกซิเจนเพื่อหายใจตลอดเวลา แต่ปอดมนุษย์ไม่สามารถแยกออกซิเจนจากน้ำได้ดีเหมือนเหงือกปลา ดังนั้นการจะให้คนดำน้ำได้ลึกจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องออกซิเจน นอกจากนี้ความดันน้ำที่ระดับลึกมาก จะกดดันปอดในร่างกายจนระบบหายใจทำงานไม่ได้ นั่นคือคนจะตาย ส่วนอุณหภูมิที่เย็นจัดของน้ำที่ระยะลึกก็สามารถทำให้ร่างกายเป็นตะคริวได้ ดังนั้นมนุษย์จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการลงไปสำรวจใต้น้ำ ไม่ว่าจะเพื่อเก็บวัตถุโบราณ หรือสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ซึ่งอาจทำได้โดยใช้ชุดประดาน้ำที่มีหมวกคลุมศีรษะ และมีสายโยงนำอากาศดีเหนือผิวน้ำมาให้คนดำน้ำ และนำอากาศเสียจากคนดำน้ำไปทิ้ง แต่อุปกรณ์เช่นนี้จะจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของนักประดาน้ำใต้ทะเล เพราะผู้ดำน้ำต้องผูกโยงตัวกับเรือข้างบนด้วยท่ออากาศตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถเดินทางสำรวจได้ไกล
       
ดังนั้นในปี 1825 William James จึงประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า Self-contained Underwater Breathing Apparatus (หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า scuba) ซึ่งประกอบด้วยหมวกที่สวมติดกับชุดดำน้ำ และมีถังอากาศติดกับข้างหลังผู้ดำน้ำ เพื่อทำหน้าที่ปั้มอากาศและออกซิเจนเข้าออก ทำให้ผู้ดำน้ำสามารถเคลื่อนที่ได้คล่องแคล่วและไกล เพราะไม่ต้องยึดกับเรืออีกต่อไป นี่จึงเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านเทคโนโลยีการสำรวจทะเลลึก
       
การสำรวจด้วยวิธีนี้ทำให้นักสมุทรศาสตร์พบว่า ในบริเวณใกล้ผิวน้ำจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มาก และสัตว์เหล่านี้ต่างเป็นโซ่อาหารของกันและกัน แม้ในที่ลึกมาก ถึง 10 กิโลเมตรก็ยังมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เพราะสัตว์ประเภทนี้ไม่ต้องการแสงอาทิตย์ในการดำรงชีวิต แต่ใช้แสงที่มีในตัวเองเพื่อสื่อสารและสืบพันธุ์ นอกจากนี้ทะเลลึกยังมีสิ่งที่มีชีวิตอีกหลากหลายรูปแบบเช่น มีหมึกยักษ์ที่ระดับลึก 1 กิโลเมตร หนอน tubeworm ที่ระดับลึก 2.25 กิโลเมตร วาฬที่ระดับลึก 2.44 กิโลเมตร และแม้แต่ที่ระยะลึก 11.03 กิโลเมตร ก็ยังมี amphipod พวก Crustacean และมีสภาพนิเวศที่ไม่เหมือนสถานที่ใดบนโลกเลย โลกใต้สมุทรจึงเป็นโลกที่น่าสนใจ ลึกลับและน่าตื่นเต้น

       
บุคคลหนึ่งที่ทำให้ชาวโลกได้เห็นและตระหนักในความสำคัญของเรื่องนี้ เขาผู้นั้นคือ Jacques- Yves Cousteau

ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ Jacques - Yves Cousteau หรือที่เพื่อนสนิทเรียกสั้นๆ ว่า JYC และบางคนเรียกกัปตัน Cousteau หรือที่แฟนโทรทัศน์เรียกชายสวมหมวกแก๊ปสีแดง นับเป็นเซเล็บที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็น 1 ใน 10 ของคนที่โลกรู้จักดีที่สุด จากผลงานที่นำชีวิตใต้ทะเลสู่สายตาชาวโลกทางโทรทัศน์ ด้วยบทบาทเป็นผู้บังคับบัญชาเรือดำน้ำชื่อ Calypso ที่มีลูกเรือประจำการเป็นนักประดาน้ำ ตั้งแต่ปี 1950 จนกระทั่งถึงปี 1997 ที่ Cousteau เสียชีวิต
       
รายการโทรทัศน์ของ JYC ชื่อ Planet Ocean ได้ทำให้ผู้ชมจำนวนนับร้อยล้านคนได้ตื่นเต้นกับการเห็นสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ และการดำรงชีวิตใต้ทะเล นอกจากนี้ JYC ยังได้เขียนหนังสือและเผยแพร่บทความเกี่ยวกับทะเลและการอนุรักษ์ทะเลด้วย
       
ในปี 1968 รายการโทรทัศน์ชื่อ The Undersea World of Jacques-Yves Cousteau ได้กลายเป็นโทรทัศน์ในฝันของคนทั้งโลก
       
Jacques-Yves Cousteau เกิดที่ Saint-Andr?-de Cubzac ในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ.1910 บิดาชื่อ Daniel ส่วนมารดาชื่อ Elizabeth Cousteau เป็นบุตรคนโตและมีน้องชายชื่อ Pierre-Antoine Cousteau เล่าว่าเขาเริ่มสนใจทะเลตั้งแต่อายุ 10 ขวบเมื่อได้ไปร่วมกิจกรรมค่ายฤดูร้อนที่ Vermont ในสหรัฐอเมริกา และได้ดำลงไปในทะเลสาบเพื่อทำความสะอาดท้องทะเลสาบโดยการเก็บกิ่งไม้และใบไม้ไปทิ้ง เพื่ออนุรักษ์ทะเลสาบนั้น เขาบอกว่ารู้สึกประทับใจในประสบการณ์ครั้งนั้นมาก
       
เมื่ออายุ 20 ปี Cousteau ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนทหารเรือ Ecole Navale เมื่อจบการศึกษา ได้ไปเรียนต่อที่วิทยาลัย College Stanislas ในปารีส แต่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ทำให้ไม่สามารถใช้ตาได้ดีพอจะเป็นนักบินแห่งราชนาวีได้ Cousteau จึงบ่ายเบนความสนใจจากนักบินไปเป็นทหารเรือแทน
       
เมื่ออายุ 25 ปี Cousteau ได้รับแว่นครอบตา (goggle) ที่ช่วยให้คนดำน้ำสามารถเห็นสัตว์ใต้น้ำได้ จากเพื่อนที่ชื่อ Philippe Tailliez เขาจึงใช้แว่นนี้ดูปลาในทะเล Mediteranean และรู้สึกตื่นเต้นมาก เมื่อเห็นฝูงปลาสีสวยและรูปร่างแปลกตา ว่ายน้ำอย่างพร้อมเพรียงโดยไม่ว่ายชนกันเลย โลกใต้น้ำเช่นนี้ได้ทำให้ชีวิตของ Cousteau ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเขาตัดสินใจว่า จากนี้ไปจะใช้ชีวิตที่เหลือในการศึกษาธรรมชาติใต้น้ำ

อีกสองปีต่อมา Cousteau ได้เข้าพิธีสมรสกับ Simone Melchoir และได้ทายาทเป็นผู้ชาย 2 คน ชื่อ Jean-Michel กับ Philippe ซึ่งเมื่อเติบใหญ่ลูกทั้ง 2 คนได้เข้าร่วมขบวนสำรวจของ Cousteau ด้วย
       
หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตคู่นาน 54 ปี ภรรยา Simone ก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง Cousteau ได้แต่งงานใหม่กับ Francine Triplet (ซึ่งได้ลอบเป็นชู้กับ Cousteau ตั้งแต่สมัยที่ Simone ยังมีชีวิตอยู่) อย่างเป็นทางการ ชีวิตสมรสกับภรรยาคนที่ 2 นี้ มีลูกสาว 1 คนชื่อ Diane และลูกชาย 1 คนชื่อ Pierre-Yves

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัว Cousteau ได้อพยพลี้ภัยสงครามไปอยู่ที่เมือง Negeve ณ ที่นี่ Cousteau ได้เพื่อนใหม่ชื่อ Marcel Ichac ซึ่งมีอุดมการณ์ชีวิตเหมือนกัน คือ ต้องการจะนำโลกธรรมชาติที่คนธรรมดาๆ ไม่เคยเห็น ได้มีโอกาสดู เช่นโลกใต้ทะเลลึก และโลกบนยอดเขาสูง ฯลฯ โดยถ่ายทำในรูปของภาพยนตร์สารคดีสั้นๆ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีเนื้อหาแนวนี้ถูกถ่ายทำในทะเลที่ระดับลึก 18 เมตร โดยคนถ่ายไม่มีเครื่องช่วยหายใจใดๆ ภาพยนตร์ชื่อ Par dix-hiut metres di fond ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดประจำปี 1943จากรัฐบาลฝรั่งเศส
       
เมื่อประสบความสำเร็จ และได้รับกำลังใจสนับสนุน Cousteau กับเพื่อนวิศวกรชื่อ Emil Gagnan จึงประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่ชื่อ aqua-lung (ปอดน้ำ) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้สวมสามารถหายใจใต้น้ำได้ โดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับอุปกรณ์อื่น นักประดาน้ำที่มีปอดน้ำติดตัวสามารถว่ายน้ำไปมาใต้ทะเลได้อย่างเสรีเป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีสายยางที่ยาวรุงรังยึดโยงตลอดเวลา สิ่งประดิษฐ์นี้ไม่มีใครเคยทำขึ้นมาก่อน เพราะผู้คนในสมัยนั้นคิดว่าไม่น่าจะมีใครสามารถประดิษฐ์สิ่งนี้ได้
       
แต่เมื่อ Cousteau ได้รับความช่วยเหลือจาก Yves le Prieur ในการปรับปรุง aqua-lung ด้วยการนำอุปกรณ์ regulator มาใช้ในการควบคุมจังหวะการหายใจเข้า-ออกให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอคือ ไม่ขาดตอนหรือติดขัด เทคโนโลยี scuba จึงได้รับการพัฒนาไปมากจน Cousteau สามารถนำสิ่งประดิษฐ์นี้ออกขาย แล้วจัดตั้งบริษัทที่มีจุดมุ่งหมายจะวิจัยทะเลทั่วโลก
       
ในปี 1950 Cousteau วัย 40 ปีได้ซื้อเรือดำน้ำลำหนึ่งด้วยเงินส่วนตัวและตั้งชื่อว่า Calypso เพื่อจะนำครอบครัวท่องเที่ยวไปในทะเลและมหาสมุทร ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น Cousteau ก็ได้พัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพสัตว์ในทะเลให้ดีขึ้นด้วย เพื่อจะใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีวิทยาศาสตร์ใต้ทะเล
       
ในความเป็นจริง Cousteau มิได้ต้องการทำรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยใดๆ แต่ตั้งใจจะสร้างภาพยนตร์แข่งกับภาพยนตร์ชุด James Bond ของฮอลลีวูดซึ่งกำลังโด่งดังมาก
       
เมื่อปัจจัยทุกอย่างพร้อม Cousteau กับเพื่อนๆ ชื่อ Philippe Tailliez และ Frederic Dumas (คนทั้งสามได้รับฉายาว่า musketeer ทั้งสาม) จึงนำอุปกรณ์อันได้แก่ เรือดำน้ำและกล้องถ่ายรูปใต้น้ำลงเรือเพื่อไปหาผู้แสดง (ซึ่งในที่นี้คือปลา) เพราะ Cousteau ต้องการให้เนื้อหาออกแนวผจญภัย ดังนั้นเขาจึงเขียนเนื้อเรื่องแนวดราม่า (drama) ที่มีทั้งฉลาม วาฬ โลมา ฯลฯ และสมบัติใต้ท้องทะเลลึก โดยให้เป็นดาราแสดงนำและตัวประกอบ แล้วใช้ทะเลเป็นฉากหลัง จากนั้นให้นักดำน้ำดำลงทะเลด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ในขณะเดียวกันก็พูดคุยตลกเพื่อให้ผู้ชมคลายเครียดและหัวเราะ แล้วจัดให้ภัยอันตรายคืบคลานเข้าใกล้นักดำน้ำ แต่ผู้ชมภาพยนตร์จะรู้สึกมั่นใจทุกครั้งว่า เรื่องนี้ทั้งเรื่อง ไม่มีใครตาย ในที่สุดนักดำน้ำก็ว่ายคืนสู่ผิวน้ำ แล้วดื่มเหล้าองุ่นฉลองความสำเร็จ ส่วน Cousteau ก็วางแผนถ่ายทำตอนต่อไป
       
ความลับหนึ่งที่ทำให้คนดูภาพยนตร์ทุกคนประหลาดใจคือ ตลอดเวลาที่ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเหล่านี้ Cousteau มิได้อยู่ในยาน Calypso เลย (นานๆ ครั้ง) และเวลาจะถ่ายทำภาพยนตร์ Cousteau จะนั่งเฮลิคอปเตอร์บินไปลงบนเรือ Calypso เพื่อถ่ายภาพช่วงต้น จากนั้นก็นำคลิปเก่าและคลิปใหม่มาตัดต่อเพื่อเรียงลำดับจัดสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ หน้าที่แสดงเป็นของนักประดาน้ำและปลา ตัว Cousteau เป็น CEO ผู้มีหน้าที่หาทุนมาสร้างภาพยนตร์ โดยการออกพบปะนายทุน หรือไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาทุนและงบประมาณมาสนับสนุนโครงการ
       
ในปี 1951 Cousteau วัย 41 ปี ได้ถ่ายทำภาพยนตร์ชีวิตสัตว์ใต้ทะเลแดง (Red Sea) เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก เพราะทะเลบริเวณนั้นอุดมด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด อีกทั้งมีสวนปะการังใต้น้ำที่สวยงาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้โลกเริ่มรู้จัก Cousteau และสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลสำคัญต่างๆ ได้เริ่มเชื้อเชิญ Cousteau ให้ไปถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับสถานที่เหล่านั้นบ้างเพื่อโฆษณาชวนผู้คนมาเที่ยว
       
อีก 5 ปีต่อมาภาพยนตร์สารคดีสีเรื่อง "The Silent World" ของ Cousteau ได้รับรางวัลออสการ์ประเภทสารคดี นับเป็นภาพยนตร์สีเรื่องแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติใต้น้ำที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย
       
ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา Cousteau เริ่มสนใจแนวคิดเรื่องการดำรงชีวิตใต้น้ำของมนุษย์ และนี่ก็คือ จุดกำเนิดของโครงการ Conshelf ซึ่ง Cousteau กับเพื่อนอีก 4 คนได้เข้าไปอาศัยและใช้ชีวิตในห้องปิดที่อยู่ใต้ทะเลเป็นเวลานาน 1 เดือน ในปี 1963 เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำออกฉายในรายการพิเศษของสมาคม National Geographic Society ภาพยนตร์ได้ทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าการใช้ชีวิตใต้น้ำของมนุษย์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

เมื่ออายุ 64 ปี Cousteau ได้จัดตั้งสมาคม Cousteau ขึ้นเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในทะเล และได้เริ่มโครงการวิจัยเรื่อง "Rediscovery of the World" เพื่อตอบโจทย์ทุกประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพของแหล่งน้ำทุกหนแห่งบนโลก
       
สำหรับผลงานด้านการเขียนหนังสือนั้น Cousteau ได้เขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ The Silent World: A Story of Undersea Discovery and Adventure ในปี 1953 และก่อนเสียชีวิต 10 ปี Cousteau ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ The Human, The Orchid and The Octopus ร่วมกับ Susan Schiefelbein ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมใต้ทะเล และความน่าสนใจของชีวิตสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลา wrasse ที่ชอบวางไข่ในฟองน้ำ เป็นต้น
       
ตามปกติ Cousteau เป็นคนที่ชื่นชมภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อครั้งที่ถ่ายทำภาพยนตร์ที่ทะเลอินโดจีน ขณะนั่งเรือแจวถ่ายทำ Cousteau เห็นคนแจวเรือหยุดแจว จึงถามว่าเพราะเหตุใด คนแจวเรือเวียดนามให้เหตุผลว่า ในเวลาหลังอาหารเที่ยงเล็กน้อยปลาจะนอนหลับพักผ่อนเหมือนคนดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะจับปลาได้ง่าย ในส่วนของวิธีจับปลานั้น Cousteau ต่อต้านการใช้ฉมวกแทง เพราะวิธีการฆ่าปลาลักษณะนั้นเป็นการทำลายความสวยงามของปลา
       
ในปี 1972 Cousteau วัย 72 ปี ได้นำเรือ Calypso ไปสำรวจมหาสมุทรแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะ Calypso ไม่ได้รับการออกแบบให้เดินทางท่ามกลางเกาะน้ำแข็งที่ลอยเต็มในทะเลถึงกระนั้น การสำรวจของ Cousteau ได้ทำให้เกิดอนุสัญญา Protocol on Environmental Protection to the Antarctica ซึ่งกำหนดให้บรรดาประเทศสมาชิก ต้องปกป้องและคุ้มครองทวีปแอนตาร์กติกาเป็นเวลานาน 50 ปี
       
เมื่อ Cousteau มีประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์มากขึ้น เขาตระหนักว่า นโยบายต่างๆ และการตัดสินใจขององค์กรอนุรักษ์มักถูกกำหนดโดยตลาดมากกว่าผู้บริหาร เช่น บริเวณริมฝั่งทะเลมักถูกมนุษย์ทำลายด้วยการทำเป็นสถานที่ตากอากาศ หรือแม้แต่ปัญหาการจับปลาในทะเลก็กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน เพราะโลกกำลังประสบปัญหาอาหารขาดแคลน และประชากรโลกกำลังเพิ่มตลอดเวลา ดังนั้นการจับปลาในทะเลควรต้องมีการควบคุม และโลกต้องอนุรักษ์สัตว์น้ำบางชนิด เช่น วาฬ และพยูน เป็นต้น เพื่อให้สัตว์เหล่านี้ไม่สูญพันธุ์ตลอดไป และมนุษย์ต้องอนุรักษ์ทะเลด้วย โดยการทำให้ทะเลปลอดสารปนเปื้อนเพื่อจะได้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
       
เพราะ Cousteau เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์มาก เขาจึงได้รับเชิญเป็นผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ด้านสมุทรศาสตร์แห่ง Monaco และเป็นนักเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมต่อต้านไม่ให้มีการนำกากกัมมันตรังสีไปทิ้งในทะเล Mediteranean เพราะ Cousteau คิดว่า น้ำในทุกหนแห่งคือของขวัญมีค่าที่พระเจ้าประทานให้โลก ดังนั้นชาวโลกจึงต้องพิทักษ์และอนุรักษ์น้ำให้สะอาดและมีเพียงพอสำหรับความต้องการของมนุษย์ทุกคน
       
ในส่วนของความนิยมที่สังคมมีต่อ Cousteau นั้น มีมากจนเพื่อนนักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่า Cousteau เป็นบุคคลที่ฉวยโอกาสโฆษณาความยิ่งใหญ่ของวิทยาศาสตร์อย่างเกินจริง เพราะในการเดินทางทุกครั้ง ผู้ชมจะเห็นแต่นักวิทยาศาสตร์ สำหรับตัว Cousteau เอง เขาคิดว่ามนุษย์ไม่ควรใช้วิทยาศาสตร์สร้างอาวุธสงคราม เพราะวิทยาศาสตร์มิใช่ศัตรูของมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงควรใช้วิทยาศาสตร์ในการทำให้สังคมมีความเป็นอารยะยิ่งขึ้น
       
แม้จะมิได้เป็นนักสมุทรศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ Cousteau เป็นบุคคลที่ทำให้วิทยาการนี้แพร่หลายและน่าสนใจ โดยการทำจอโทรทัศน์ให้เป็นหน้าต่างของโลกใต้น้ำสำหรับผู้ชมร่วม 250 ล้านคนในแต่ละตอนเป็นประจำ
       
ในด้านที่เกี่ยวกับเกียรติยศนั้น Cousteau ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติและธนาคารโลก อีกทั้งยังได้รับยศ Commindeur de la L?gion d' Honeur ของฝรั่งเศส สมาชิกของ French Academy of Science รางวัล International Environmental Prize ของสหประชาชาติรวมถึง Medal of Freedom จากสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดี Ronald Regan ด้วย
       
มรดกทางปัญญาที่ Cousteau ได้ทิ้งไว้ให้โลกคือภาพยนตร์สารคดีกว่า 120 ตอน หนังสือกว่า 50 เล่ม และมูลนิธิปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีสมาชิกกว่า 300,000 คน
       
ส่วนเรือ Calypso นั้น เมื่อถูกเรือโดยสารชนที่ท่าเรือ Singapore และจมลง Cousteau ได้กู้เรือขึ้นมาใหม่ แล้วลากไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ที่ฝรั่งเศส
       
ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ความสัมพันธ์ของ Cousteau กับบรรดาลูกๆ ไม่ดีนัก เพราะเป็นคนมีหนี้สินตลอดเวลา นอกจากนี้ลูกที่เกิดจากภรรยาคนแรกก็รู้สึกไม่พอใจที่พ่อแอบมีบ้านที่สอง โดยไม่มีใครในครอบครัวแรกรู้เรื่องนี้เลยเป็นเวลานานถึง 20 ปี และเมื่อ Simone ตายด้วยโรคมะเร็ง Cousteau วัย 91 ปี ได้เข้าพิธีสมรสอย่างเป็นทางการกับภรรยาคนที่ ชื่อ Francine Triplet

เมื่อลูกชายของ Cousteau ชื่อ Philippe ตกเครื่องบินทะเลตายที่แม่น้ำ Tagus ใกล้กรุง Lisbon Cousteau รู้สึกสลดใจมาก เพราะ Philippe คือคนที่เขาตั้งใจจะให้เป็นทายาททางวิชาการและธุรกิจ เมื่อไม่มี Philippe, Cousteau ได้จัดให้ลูกอีกคนชื่อ Jean-Michel เข้ารับตำแหน่งแทน
       
Cousteau เสียชีวิตที่ปารีส เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1997 สิริอายุ 87 ปี ศพถูกนำไปฝังที่บ้านเกิด และชาวเมืองได้เรียกชื่อถนนที่ตัดผ่านบ้านเกิดของ Cousteau ว่า rue du Commandant Cousteau เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลผู้ถือกำเนิดที่เมืองนี้
       
ณ วันนี้โลกรู้จัก Cousteau ในฐานะนักอนุรักษ์ทะเล นักสำรวจ นักนิเวศ ผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีใต้น้ำ นักนววัตกรรม ช่างภาพ นักเขียน ครู และนักวิจัย ผู้มีผลงานสำคัญ 3 ด้าน คือ
       
(1)ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักสำรวจเห็นเหตุการณ์ในน้ำลึกได้
       
(2) ได้ปลุกเร้าความสนใจของคนทั่วไปต่อทะเล และชี้ให้ทุกคนเห็นความจำเป็นที่จะต้องพิทักษ์ และอนุรักษ์แหล่งน้ำทุกหนแห่ง
       
(3) ได้จูงใจให้อนุชนรุ่นหลังสนใจจะใช้ชีวิตเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ที่มา -