ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

การปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 05, 13, 20:04:55 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 4 มิ.ย. 56 เห็นชอบในหลักการแนวทางการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 จนกว่าจะมีการตราพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลขึ้นมาบังคับใช้และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. ให้กระทรวงแรงงาน (รง.) ดำเนินการออกประกาศกระทรวงแรงงานว่าด้วยมาตรฐานแรงงานทางทะเลเพื่อรองรับการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 เป็นการเฉพาะ

2. ให้ คค. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการมาตรฐานแรงงานทางทะเล โดยให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาร่วมเป็นคณะกรรมการและจัดหางบประมาณดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง คค. รายงานว่า

1. อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 (Maritime Labour Convention : MLC 2006)เป็นอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ที่รวบรวมและปรับปรุงอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานในกิจการทางทะเลให้เป็นอนุสัญญาฉบับเดียวที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันเพื่อคุ้มครองคนประจำเรือทั่วโลกจำนวนมากกว่า 1.2 ล้านคน ให้มีสถานที่ทำงานที่มั่นคงปลอดภัย การจ้างงานที่เป็นธรรม สภาพความเป็นอยู่และการทำงานที่มีคุณค่า การคุ้มครองสุขภาพ การรักษาพยาบาลและมีสวัสดิการทางสังคม โดยอนุสัญญาฯ ได้มีการรับรองในที่ประชุมใหญ่  สมัยที่ 94 ของ ILO เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่มีประเทศสมาชิก ILO ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ครบ 30 ประเทศ และมีจำนวนตันกรอสของเรือรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 33 ของกองเรือโลก

2. อนุสัญญาแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ภายหลังจากที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 เป็นประเทศที่ 30 และมีจำนวนตันกรอสของเรือโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 59.85 ของกองเรือโลก ครบตามเงื่อนไขของการบังคับใช้อนุสัญญาฯ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเนื่องจากยังยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ไม่แล้วเสร็จ อันจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของเรือไทยในการเดินเรือเข้า — ออกเมืองท่าของประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ที่ถูกกำหนดให้ต้องมีใบรับรองแรงงานทางทะเลตามมาตรฐานข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ และเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อกิจการพาณิชยนาวีของไทยน้อยที่สุด หน่วยงานภาครัฐจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้สามารถออกใบรับรองการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ให้กับเจ้าของเรือไทยเป็นการเฉพาะในฐานะประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ

3. กรมเจ้าท่าขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการสำหรับแนวทางการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี จนกว่าจะมีการตราพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลขึ้นมาบังคับใช้ และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ แล้วโดยมีสาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 ดังนี้

3.1 อนุสัญญาฯ กำหนดหลักการและสิทธิพื้นฐานให้สมาชิกแต่ละประเทศต้องกระทำจนเป็นที่พอใจว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายของประเทศตนได้เคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิทางสังคมและการจ้างงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ

3.2 อนุสัญญาฯ กำหนดให้เรือที่เดินระหว่างประเทศขนาด 50 ตันกรอส หรือมากกว่าต้องมีใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล (Maritime Labour Certificate) และ ใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล (Declaration Maritime Labour Compliance) ไว้ในเรือ เพื่อแสดงว่ามีการปฏิบัติตามมาตรฐานเกี่ยวกับการจ้างงานคนประจำเรือ 14 ด้าน โดยการรับรองดังกล่าวต้องแสดงกฎหมายภายในและแสดงหลักฐานและมาตรการที่เจ้าของเรือได้ปฏิบัติตามกฎหมายในแต่ละมาตรฐานไว้ในใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล

3.3 อนุสัญญาฯ ให้อำนาจรัฐเจ้าของท่าเรือที่ให้สัตยาบันสามารถที่จะตรวจสภาพการจ้างและสภาพการทำงานของคนประจำเรือบนเรือที่เข้ามาเทียบท่าเรือในประเทศของตนได้ รวมทั้งยังสามารถกักเรือหรือสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องบนเรือนั้นให้เป็นไปตามที่อนุสัญญากำหนดได้ แม้ว่าประเทศซึ่งเป็นรัฐเจ้าของธงเรือจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นอนุสัญญาฉบับนี้

3.4 อนุสัญญาฯ ครอบคลุมแรงงานทางทะเลทุกด้านและมีความเชื่อมโยงกับอนุสัญญาขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) อาทิ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรมการออกประกาศนียบัตร และการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ (International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers: STCW) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974 : SOLAS) ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับคนประจำเรือและเรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า

4. เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถออกกฎหมายภายในได้ทันต่อการบังคับใช้ของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 กรมเจ้าท่าจึงได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาคมเจ้าของเรือไทย และสมาคมวิชาชีพชาวเรือไทย เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการออกใบรับรองการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ (Statement of Compliance for Maritime Labour Convention, 2006) ในระหว่างที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติบังคับใช้ โดยที่ประชุมได้มีมติให้ออกประกาศกระทรวงแรงงานกำหนดมาตรฐานแรงงาน เพื่อออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลภาคสมัครใจตามแนวทางการออกประกาศกระทรวงแรงงานว่าด้วยมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001 — 2553) และให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการตามอนุสัญญาฯ โดยมอบหมายให้กรมเจ้าท่าในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพณิชยนาวีนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการพณิชยนาวีก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

5. คณะกรรมการส่งเสริมการพณิชยนาวี ในการประชุม ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 ได้มีมติมอบหมายให้ คค. โดยกรมเจ้าท่านำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการแนวทางการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 จนกว่าจะมีการตราพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลขึ้นมาบังคับใช้และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ แล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 มิถุนายน 2556--

ที่มา -