MarinerThai Webboard

ข่าวต่างๆ ในวงการเรือและพลังงาน => ข่าวอัพเดทรายวัน => หัวข้อที่ตั้งโดย: mrtnews เมื่อ มี.ค 16, 16, 06:24:36 ก่อนเที่ยง

ชื่อ: ประมง "สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม" จอดเรือทิ้ง 3 พันลำ-ปิดล้ง-ตกงานหลายหมื่น
โดย: mrtnews เมื่อ มี.ค 16, 16, 06:24:36 ก่อนเที่ยง
เกือบหนึ่งปีแล้วสำหรับการแก้ไขปัญหาการประมงทำผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU หลังจากสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลือง และให้ไทยเร่งสะสางปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าได้สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจอย่างมากในพื้นที่ 22 จังหวัดที่เป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประมงขนาดใหญ่ที่กระจายสินค้าไปจำหน่ายทั่วประเทศ และส่งออก

(http://www.marinerthai.com/pic-news3/2016-03-15_001.jpg) (http://www.marinerthai.com/pic-news3/2016-03-15_003.jpg)

จอดเรือทิ้ง 3,000 ลำ ใน 22 จังหวัด

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเรือประมง 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ไม่สามารถทำการประมงได้ ต้องจอดเรือเทียบท่ากว่า 3,000 ลำ ส่วนจังหวัดสมุทรสาครมีเรือพาณิชย์ทั้งหมด 1,100 ลำ สามารถออกเดินเรือได้ 200 ลำ และจอดทิ้งกว่า 900 ลำ ปัญหาดังกล่าวแม้ว่ารัฐบาลจะเร่งเยียวยา แต่เม็ดเงินยังลงไปไม่ถึงผู้ประกอบการที่เดือดร้อนเท่าที่ควร

"วันนี้ชาวประมงยังได้รับความเดือดร้อนแม้ว่าภาครัฐจะช่วยเหลือเยียวยาแต่เงินยังไม่ถึงมือชาวประมงได้แต่เพียงบางส่วนแต่ไม่ได้มากหากเทียบกับโอกาสที่เสียไป ส่วนแหล่งเงินกู้ที่รัฐให้กู้กับธนาคารออมสินก็เข้าถึงยาก มีกฎเกณฑ์ เงื่อนไขที่ยุ่งยาก ทำให้ชาวประมงที่จอดเรือเริ่มขาดสภาพคล่อง หันมากู้เงินกู้นอกระบบมากขึ้น หากปัญหานี้ไม่คลี่คลายจะทำให้เจ้าของเรือหนี้ท่วมหัว"

กำลังซื้อวูบ-ศก.ถดถอย

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาครมาจากอุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากการประมงเป็นหลัก หลังจากเผชิญปัญหาไอยูยู ทำให้ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาครชะลอตัว การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคัก ตลาดสดซบเซา ค้าปลีกค้าส่งตามห้างสรรพสินค้ามีคนเดินช็อปปิ้งลดลง โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะทำให้เศรษฐกิจสมุทรสาครถดถอย 30%

ขณะที่วัตถุดิบกลุ่มปลาเบญจพรรณ ที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารหายากและมีราคาสูงขึ้น ทำให้ล้งปิดตัวประมาณ 20-30% และห้องเย็นปิดตัวลง 7 แห่ง สำหรับปัญหาแรงงานภาคประมง ซึ่งส่วนใหญ่ 90% เป็นแรงงานเมียนมา และอีก 10% เป็นแรงงานไทย ขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้แรงงานเมียนมาส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศไปแล้ว ในระยะยาวจะส่งผลเสียหากอุตสาหกรรมประมงฟื้นตัวกลับมา จะทำให้ขาดแคลนแรงงาน

ปิดล้งกุ้ง-โรงน้ำแข็ง/ห้องเย็นอ่วม

นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาขึ้น ทำให้สัตว์น้ำขาดแคลนทุกชนิด เกิดการแย่งวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น แต่ยังคงขายราคาเดิม ตอนนี้ล้งกุ้งปิดตัวไปแล้ว 392 แห่ง เหลือเพียง 3-4 แห่งเท่านั้น ซึ่งมีแรงงานตกงานจำนวนหลายหมื่นคน ส่วนลูกจ้างที่เป็นแรงงานเมียนมาก็กลับประเทศ

ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็อยู่ในสภาพย่ำแย่เช่นกัน โดยเจ้าของโรงน้ำแข็งเจ้ทิ้ง จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่โชคร้ายสำหรับอุตสาหกรรมประมง นอกจากแพปลาและตลาดทะเลไทยจะซบเซามากแล้ว ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง ชะลอตัวตาม ปัจจุบันโรงน้ำแข็งรายใหญ่ในสมุทรสาครกว่า 30 แห่ง บรรยากาศการซื้อขายเงียบเหงา และตั้งแต่เรือประมงหยุดเดินเรือจนถึงขณะนี้ ภาพรวมยอดขายลดลง 40-50%

ด้าน นายปพิชญา แต้ศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยนาวีห้องเย็น จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่เรือประมงหยุดเดินเรือ ธุรกิจห้องเย็นให้เช่าได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย และก่อนหน้านั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศห้ามไม่ให้เรือประมงต่างชาติเข้าทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย

(http://www.marinerthai.com/pic-news3/2016-03-15_002.jpg)

หนี้เสียพุ่งหันนำสินทรัพย์จำนอง

สำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดสมุทรสงคราม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม กล่าวว่า สมุทรสงครามมีเรือประมง 2,297 ลำ เป็นเรือต่ำกว่า 30 ตันกรอส 1,351 ลำ เรือขนาด 30-60 ตันกรอส 509 ลำ และเรือ 60 ตันกรอสขึ้นไป 437 ลำ โดยมีเรือประมงที่สามารถออกทำการประมงได้ 60% และอีก 40% เป็นเรือจอดทิ้งไว้ ทำให้อาหารทะเลลดลง และราคาอาหารทะเลสูงขึ้น 10-20% เช่น ปลาทูติดอวนดำ ปกติราคา 70-80 บาท/กก. ขณะนี้ราคา 150-160 บาท/กก. และปลาทูอวนลากเดิมราคา 70-150 บาท/กก. เพิ่มเป็น 300 บาท/กก. แต่ยังไม่มีการปลดแรงงาน

"ปัญหา IUU ส่งผลให้ 22 จังหวัดชายทะเลขาดแคลนอาหารทะเล หรือในอนาคตจะต้องนำเข้าและบริโภคในราคาที่สูงขึ้น หากประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะ 1 ปี ความเสียหายเป็นแสนล้าน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อวูบหนัก เจ้าของเรือประมงไม่สามารถที่จะชำระหนี้ธนาคารได้ หนี้เสีย (NPL) พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง มีการนำที่ดินและบ้านไปจำนอง พร้อมทั้งประกาศขายเรือ แต่ก็ขายไม่ได้ เพราะมีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 44 ห้ามโอนใบอนุญาต" นายมงคลกล่าว

ผลกระทบเป็นลูกโซ่เช่นนี้ เกิดขึ้นกันถ้วนหน้าใน 22 จังหวัดชายทะเลจากปัญหา IUU กับการไล่จัดระเบียบเรือประมงในรอบ 1 ปีนี้ เพื่อให้ได้มาตรฐานในแบบฉบับยุโรป

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline (http://www.facebook.com/PrachachatOnline)
ทวิตเตอร์ @prachachat

(http://www.marinerthai.net/pic-news3/news_source.jpg) (http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1457934517)

ที่มา Data & Images - (http://www.marinerthai.net/pic-news3/prachachart.jpg) (http://www.prachachat.net/)