ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

บอร์ด EEC เห็นชอบพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 3 แห่งเป็นโครงการหลักของ EEC

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 08, 17, 09:31:27 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) - พฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2560 - นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ EEC ครั้งที่ 2 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง (แหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด) โดยมีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง พร้อมทั้งระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) เป็นโครงการหลักที่จะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก


โดยโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะมีระบบจัดการแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย สามารถรองรับการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านตู้/ปีในปัจจุบัน เป็น 18 ล้านตู้/ปี และขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มจาก 1 ล้านคัน/ปี เป็น 3 ล้านคัน/ปี และเป็นท่าเรือใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนได้ในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างช้าในปี 2568

ส่วนการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 จะช่วยขยายการนำเข้าวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง และ Boi-economy, รองรับการขนถ่าย LNG เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านตัน/ปี เป็น 62 ล้านตัน/ปี โครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนลงทุนในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

ขณะที่การพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ จะมีการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เพื่อรองรับการเชื่อมอ่าวไทย (สัตหีบ-กรุงเทพ-หัวหิน) ซึ่งจะเร่งรัดการออกแบบและก่อสร้างอาคารท่าเรือเฟอร์รี่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ส่วนท่าเรือสำราญกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาเตรียมการ

สำหรับรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และมีระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อนั้นจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางมาถึงท่าเรือจากร้อยละ 7 เป็น 30% ลดระยะเวลาในการขนส่งเฉลี่ยจากเดิม 24 ชั่วโมง หรือมากกว่าลงเหลือประมาณ 8 ชั่วโมง ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลงจาก 14% ของ GDP ลงมาอยู่ที่ 12% หรือประหยัดลงประมาณ 250,000 ล้านบาท/ปี โดยจะมีการลงทุนราว 68,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและสร้างทางคู่ รวมทั้งศูนย์กระจายและรวบรวมสินค้า ซึ่งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรรับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 รวมทั้งการพิจารณาจัดตั้งศูนย์กระจายและรวบรวมสินค้าตามความเหมาะสมระหว่างเสร้นทางรถไฟจากจังหวัดหนองคายถึงท่าเรือแหลมฉบัง

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้น เพื่อให้การลงทุนสำคัญๆ ใน EEC เกิดความคล่องตัว โดยยังคงรักษากระบวนการและมาตรฐานความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบ การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนโดยทั่วไปตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 และจะสามารถลดระยะเวลาการอนุมัติโครงการ โดยในแต่ละขั้นตอนจะดำเนินการร่วมกันและคู่ขนานกันไปทำให้ลดระยะเวลาเหลือ 8-10 เดือน จากกรณีปกติใช้เวลา 40 เดือน หรือกรณี Fast Track ใช้เวลา 20 เดือน

ที่ประชุมฯ เห็นชอบหลักเกณฑ์การการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC โดยเน้นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.และเอกชนที่เหลืออยู่ประมาณ 12,000 ไร่ และที่รอขอจัดตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วอีก 20,000 ไร่ และให้ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่ 1,466 ไร่ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของ กนอ. และให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ประสานกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีพื้นที่เหลืออยู่ เพื่อกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้สามารถระบุพื้นที่ให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนได้ทันที

ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ประกาศเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation:EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Dagital Park Thailand:EECd) โดย EECi อยุ่ภายใต้การดูแลของ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นฐานเชื่อมโยงและถ่ายทอดวิจัยและนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งอยู่บริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ในพื้นที่ 3,000 ไร่ และบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่ 120 ไร่ ส่วน EECd อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลขนาดใหญ่และพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงตามนโยบายรัฐบาล ตั้งอยู่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่ 709 ไร่


ที่ประชุมฯ รับทราบผลการทำความเข้าใจในพื้นที่ EEC ซึ่งประชาชนให้การสนับสนุนและร่วมกันแก้ไขข้อกังวล เพราะเห็นโอกาสที่จะได้รับการพัฒนา ทำให้อนาคตดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น โอกาสในการประกอบอาชีพดีขึ้น โดยขอให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น ความพอเพียงของน้ำ ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งเร่งการฝึกอบรมเยาวชนให้ทันการพัฒนา EEC และรับทราบว่า กนอ.ได้จัดพื้นที่บริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังประมาณ 350 ตารางเมตร ให้เป็น Co Working Space สำหรับกลุ่ม Start up ในพื้นที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนระบบ อินเตอรืเน็ตความเร็วสูง และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการจัดหลักสูตรสำหรับ SMEs

ที่ประชุมฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ โดยให้ สกรศ.ผนวกแผนจังหวัดเข้ากับแผนปฏิบัติการ EEC เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระบบเดียวกัน และให้ สกรศ.ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการยกระดับการพัฒนาความรู้ของคน โดยเฉพาะเยาวชน และผู้ทำงานในพื้นที่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยให้สถานประกอบการเข้ามาช่วยสร้างหลักสูตรและฝึกอบรมกับสถานศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาระดับอาชีวะ ซึ่งจะสร้างโอกาสที่จะมีงานรายได้สูงจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้เร่งทำหลักสูตรเฉพาะร่วมกับบริษัทที่มาลงทุนและมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมอีก 3 เรื่อง คือ 1.ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ให้มีการปรับการเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาของ EEC 2.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้พื้นที่ EEC ได้รับความมั่นใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และ 3.ให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการดำเนินการโครงการถไฟทางคู่เชื่อมโยงจาก EEC ต่อไปยังทวาย-ย่างกุ้ง-ติลาวา เชื่อมโยงไปจนถึงอินเดีย ทั้งนี้ในช้อสั่งการเรื่องที่ 1 และ 2 ให้ สกรศ.ดำเนินการรวบรวมเสนอที่ประชุมฯ ต่อไป

นายคณิศ  คาดว่า มูลค่าลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานในโครงการ EEC ประมาณ 7 แสนล้านบาท และคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการต่างๆ ได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และมูลค่าการลงทุนจากบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC คาดว่าประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยจะเน้นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น อาลีบาบา โบอิ้ง แอร์บัส พร้อมทั้งเชื่อว่า หากสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาได้จะส่งผลดีต่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ตั้งเป้าดึงบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนภายในปีนี้ให้ได้ 30 แห่ง

ทั้งนี้หลังจากที่ประชุมฯ ได้อนุมัติโครงการขนาดใหญ่แล้วจะส่งผลดีต่อการเจรจากับนักลงทุนได้ง่ายขึ้น โดย สกรศ.มีแผนจะเดินทางไปโรดโชว์ที่จีน และยุโรป เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น



ที่มา Data & Images -





..