ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

กรมเจ้าท่าผุดแผนลุยลงทุนอู่ต่อเรือรับอีอีซี 2,000 ล้าน

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 09, 17, 06:17:08 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กรมเจ้าท่าลุยลงทุนอู่ต่อเรืออีอีซี 2,000 ล้าน หวังเจาะตลาดเมียนมา-เวียดนาม หนุนดีมานด์การขนส่งทางน้ำนับแสนล้าน


นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ระยะ 5 ปี เน้นขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพขนส่งเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและในอาเซียนรวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำเพิ่มจาก 12% เป็น 15% ภายในปี 2564

นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ กล่าวว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมการลงทุนก่อสร้างอู่ต่อเรือในพื้นที่อีอีซี คาดว่าวงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท โดยมีความต้องการจากกลุ่มลูกค้าในไทยด้านการซ่อมบำรุงเรือและต่อเรือ ตลอดจนต่อยอดรับช่วงต่อเรือและซ่อมแซมเจาะกลุ่มตลาดประเทศอาเซียนที่นิยมทำการประมงอย่างเมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา แต่ทั้งนี้ต้องมีความชัดเจนในด้านการทำตลาดและความคุ้มทุนเสียก่อน

นอกจากนี้ กรมจะหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อขอเพิ่มวงเงินโครงการจ้างเหมาขุดลอกร่องน้ำภายในประเทศ ซึ่งเป็นร่องน้ำทางเศรษฐกิจที่สำคัญจำนวน 8 ร่อง เช่น มหาชัย บางปะกง สงขลา สุราษฎร์ธานี และเจ้าพระยา โดยจะขอขยายวงเงินเป็น 2,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 250 ล้านบาท/แห่ง จากวงเงินเดิมซึ่งอยู่ที่ 500 ล้านบาท เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ความลึก 5 เมตร สามารถแล่นผ่านได้ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือตามแม่น้ำลำคลองในแต่ละปีมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์มาก เพราะเรือสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากกว่ารถ 200 เท่า ในการขนส่งครั้งเดียว



ที่มา Data & Images -




ครบรอบ 158 ปี กรมเจ้าท่ากำหนดยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ตามแผน 12

กรมเจ้าท่า (จท.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า ครบรอบ 158 ปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงวางรากฐานการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่มั่นคงมาตั้งแต่อดีต โดยมีกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การถวายสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีการทางศาสนา การมอบทุนส่งเสริมการศึกษาให้แก่บุตรสมาชิกสวัสดิการ จท. มอบโล่บุคคลดีเด่นและหน่วยงานดีเด่น มอบโล่บุคคลดีเด่นด้านการส่งเสริมความรู้ภารกิจ จท. มอบรางวัลเกียรติยศคนประจำเรือ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากร


โดยกรมเจ้าท่า ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อใช้เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่มุ่งเน้นการขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่มในสังคม สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและในอาเซียนอย่างเป็นระบบ โดยมีโครงข่ายเชื่อมโยงภายในประเทศที่สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ

ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ได้กำหนดสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 15 ภายในปี 2564 โดยจัดทำแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ ดำเนินโครงการใหม่ในปี 2560 อาทิ โครงการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาและในคลองบางกอกน้อย จำนวน 12 แห่ง โครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากร่องน้ำเขาตะเกียบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินทร จังหวัดเพชรบุรี โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ดำเนินการจ้างเหมาขุดลอกร่องน้ำภายในประเทศ 4 ร่องน้ำ และการจ้างเหมาขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเล 16 ร่องน้ำ โครงการติดตั้งสถานีตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องช่วยการเดินเรือ DGPS บริเวณอ่าวไทยตอนบน รวมทั้งผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชยนาวี การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินงานโดยมุ่งเน้นในการส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น ๆ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยและได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมยกระดับความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีการใช้การสัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำและทางเดินเรือ รวมทั้งการรักษาสภาพทางชลศาสตร์ที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนให้สามารถสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และพัฒนาประเทศชาติให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน



ที่มา Data & Images -





..