ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

ก.พลังงานเชิญ 50 บริษัทซักซ้อมมาตรการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเน้นมาตรการความปลอดภัย

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 14, 13, 17:01:28 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กระทรวงพลังงานเน้นย้ำผู้ประกอบการกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้ปฏิบัติตามมาตรการขนส่งน้ำมัน 4 มาตรการหลัก คือมาตรการการป้องกันอุบัติภัย มาตรการเตือนภัย มาตรการระงับอุบัติภัย และมาตรการจัดการให้เกิดความปลอดภัย


นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม "ซักซ้อมมาตรการของการส่งน้ำมันเชื้อเพลิง" โดยมีผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และผู้ประกอบการกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและกิจการที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ทั้งผู้ค้า ผู้ขนส่ง และโรงกลั่นกว่า 50 บริษัทเข้าร่วมการประชุม ที่อาคารศูนย์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมีการแจ้งย้ำและทำความเข้าใจในการปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย มาตรการป้องกันอุบัติภัย มาตรการเตือนภัย มาตรการระงับอุบัติภัย และมาตรการจัดการให้เกิดความปลอดภัย

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันได้เกิดอุบัติภัยเกี่ยวกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงบ่อยครั้งจึงต้องการให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยที่กระทรวงพลังงานกำหนดขึ้น ทั้งในด้านการขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางท่อ การขนส่งทางรถยนต์ และการขนส่งทางรถไฟ โดยมาตรการป้องกันอุบัติภัยกำหนดให้ต้องมีการออกแบบระบบการขนส่งพร้อมอุปกรณ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมระดับสากล รวมทั้งต้องทำการทดสอบตรวจสอบระบบพร้อมอุปกรณ์ก่อนและระหว่างการใช้งาน ที่สำคัญการดำเนินการดังกล่าวต้องทำโดยผู้ทดสอบและตรวจสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมธุรกิจพลังงานเท่านั้น

ทางด้านมาตรการเตือนภัย ในส่วนของระบบการขนส่งทางท่อเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องมีระบบเตือนภัยอัตโนมัติผ่านระบบสื่อสารไปยังห้องควบคุมหรือ Control Room ส่วนระบบการขนส่งทางรถต้องมีการติดตามความเคลื่อนไหวโดยใช้ระบบ GPS และให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งแจ้งกรมธุรกิจพลังงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทุกครั้งเช่นเดียวกับการขนส่งทางรถไฟ

ส่วนมาตรการระงับอุบัติภัย ในระบบการขนส่งทางรถไฟและการขนส่งทางรถต้องมีการติดตั้งถังดับเพลิงแบบเคมีแห้ง และมีอุปกรณ์ควบคุมการไหลได้ในระยะปลอดภัย ซึ่งสามารถปิดตัวเองทันทีหากเกิดเพลิงไหม้

สุดท้ายคือมาตรการจัดการให้เกิดความปลอดภัยต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรการโดยเคร่งครัด ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการอบรม มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย มีการจัดทำแผน และมีการฝึกซ้อมเป็นประจำทุกปี

สำหรับการขนส่งทางน้ำนั้นมีขั้นตอนพิเศษที่กำหนดให้ต้องดำเนินการ นั่นคือต้องมีการประเมินความปลอดภัยของเรือก่อนทำสัญญาว่าจ้างขนส่งน้ำมันดิบ ประชุมทำความเข้าใจในเรื่องของการปฏิบัติงาน ตรวจสอบความปลอดภัยร่วมกันระหว่างเรือและท่าเรือ อุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัยและป้องกันมลภาวะ ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมพร้อมให้สามารถใช้งานได้ทันที โดยเฉพาะท่อยางจะต้องถูกเปลี่ยนทันทีเมื่อพบสภาพความเสียหาย

ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันในประเทศไทยทางทะเลใช้ท่อเป็นอุปกรณ์ลำเลียง ซึ่งท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทThai Oil มีความยาวท่อ 16 กม. อยู่ที่จังหวัดชลบุรี ท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท PTT GC ความยาวท่อ 20 กม. อยู่ที่จังหวัดระยอง และท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท Pan Asia ความยาวท่อ 6.5 กม. อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ส่วนระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบกมีความยาวรวมทั้งสิ้น 4,837 กิโลเมตร

ระบบขนส่งทางบก มีรถบรรทุกขนส่งทั้งน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ รวมกันทั้งสิ้น 17,642 คัน และจำนวนโบกี้ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางรถไฟ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,060 โบกี้

นอกจากนี้นายพงษ์ศักดิ์ ยังได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทุกรายให้ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรการอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ และยังได้กำชับให้ผู้ปฏิบัติงานด้านน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีบัตรพนักงาน ผ่านการอบรมตามกฎหมาย และต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง

ที่มา -




คปก.ชงสภาฯเร่งคลอดกม.รับผิดทางแพ่งจากมลพิษน้ำมัน เสนอตั้งกองทุนฯชดใช้ค่าเสียหาย

นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)เรื่อง พระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. .... เสนอต่อ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา


คปก.ได้ศึกษาประเด็นปัญหาระบบกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกรณีของความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันโดยเฉพาะ สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ก็ไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือไว้ ทั้งยังมีขอบเขตการใช้บังคับที่ยังไม่ครอบคลุม จึงจำต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด โดยเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันจะต้องรับผิดเต็มตามจำนวนความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจการเดินเรือบรรทุกน้ำมันต้องล้มละลายและส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นข้อพิจารณาอีกว่าหากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลแล้ว ความเสียหายนั้นอาจจะกระจายเป็นวงกว้างมากไม่เฉพาะเพียงรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น แต่มักจะส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ดังนั้นเมื่อมีการเรียกร้องความเสียหาย และหากระบบกฎหมายของประเทศในภูมิภาคมีความแตกต่างกันก็อาจเกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของค่าเสียหายที่ผู้เสียหายจะได้รับจากการยื่นฟ้องต่อศาลในแต่ละประเทศอันนำมาสู่ปัญหาการเลือกฟ้องคดีต่อศาล (Forum Shopping) ได้ในที่สุด ดังนั้นในการเลือกกำหนดแนวทางการร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันนั้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์สากลและกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วย

คปก.จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า จำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายเฉพาะในเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นใช้บังคับโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. .... ฉบับที่ได้มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว คปก. มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในส่วนของหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่มีการเขียนในลักษณะว่าประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CLC 1992แล้ว แต่โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นการเขียนไว้ล่วงหน้า และต่อมาเมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนาคตก็จะมีผลทำให้กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับโดยสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องทำการออกกฎหมายเพื่ออนุวัติการอีก

คปก.มีข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อมีการบัญญัติกฎหมายไว้ในลักษณะที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CLC 1992แล้ว หากรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับเมื่อใด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบดำเนินการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CLC 1992โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นในส่วนของหลักการและเหตุผลของพระราชบัญญัติก็จะเกิดความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง นอกจากนี้ เนื่องจากอนุสัญญา CLC ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดโดยพิธีสารแก้ไข ปี ค.ศ.2000และมีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เพื่อความสอดคล้องกับหลักสากลจึงเห็นสมควรให้มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สอดคล้องกับพิธีสารแก้ไขฉบับล่าสุดด้วย

กรณีการฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย คปก.ได้พิจารณาในส่วนของการใช้คำว่า "เอกชน" ไม่มีการให้คำนิยามไว้โดยชัดเจนว่าเอกชนหมายถึงบุคคลใดบ้าง มีเพียงแต่คำนิยามของคำว่า "บุคคล" เท่านั้นแล้ว เห็นสมควรให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเฉพาะคำว่า "เอกชน" ในมาตรา 31วรรคแรกของร่างพระราชบัญญัติเป็น "บุคคล" แทน

ทั้งนี้คปก.เห็นว่านอกจากให้มีการเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนความรับผิดในเรื่องดังกล่าวตามหลักเกณฑ์สากลที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการก่อตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อความรับผิดอันเกิดจากมลพิษน้ำมัน หรือ Fund Convention ทั้งนี้ เพื่อให้มีกองทุนในการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เกินจากความรับผิดของเจ้าของเรือหรือตาม CLC 1992 ด้วย ถึงแม้ว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนน้ำมันดังกล่าวนั้นผู้นำเข้าน้ำมันจะต้องทำการสมทบเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันตามปริมาณที่ตนนำเข้าด้วย อาจทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นบ้าง แต่เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับกรณีที่เกิดความเสียหายจากการรั่วไหลของน้ำมันแล้วก็นับว่าคุ้มค่า และเมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา Fund Convention และมีกฎหมายอนุวัติการแล้วก็จะทำให้ระบบความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหาย ที่เกิดจากมลพิษน้ำมันนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากล ที่ให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายเจ้าของเรือและผู้เสียหาย

ที่มา -