ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

อนาคต โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ VS ถ่านหิน

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 15, 13, 19:14:42 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 3 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ณ วันนี้ หากใครตั้งคำถามให้ผู้คนในสังคมร่วมกันคิด ร่วมให้คำตอบ กำหนดทิศทางอนาคตการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าควรเป็นชนิดใด จึงเหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุดก็เชื่อว่า คำตอบที่ได้รับของแต่ละคนที่ให้นั้นจะแตกต่างกันไป ที่สำคัญเกือบทุกคนล้วนไม่ต้องการให้สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้บ้านของตนเอง เพราะต่างวิตกกังวลถึงความไม่มั่นใจในความปลอดภัยและภยันตรายที่มองเห็นและมองไม่เห็นซึ่งอาจเกิดกับตนเองและครอบครัว


ผู้เขียนขอขอบคุณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้นำคณะสื่อมวลชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานโรงผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงเปรียบเทียบระหว่างโรงไฟฟ้าของ 2 ประเทศมหาอำนาจพลังงานในทวีปยุโรป ระหว่างวันที่ 6 - 12 สิงหาคม 56 ที่ผ่านมา คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดลิกไนต์ "นีเดอร์เราเซ็ม" ประเทศเยอรมนี ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโคโลญจน์ประมาณ 30 กิโลเมตร และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "โนฌองต์" ประเทศฝรั่งเศส อยู่ห่างจากกรุงปารีส ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

หากมองย้อนหลังนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ที่เราผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 907 เมกะวัตต์ จนขณะนี้ล่วงไป 44 ปีแล้ว กำลังผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นกว่า 35 เท่าคือ 32,601 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นว่าความต้องการและการเตรียมผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอและไว้สำรองกับความต้องการนั้นได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าในทุก ๆ ปี ข้อมูลจาก กฟผ. ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2556 ระบุว่า ความต้องการไฟฟ้าของประชาชนสูงสุด 26,598.1 เมกะวัตต์  (16 พ.ค. 2556) ขณะที่กำลังผลิตตามสัญญาอยู่ที่ 33,237 เมกะวัตต์ (30 มิ.ย. 2556) กำลังผลิตสำรองต่ำสุด 20.1% (16 พ.ค. 2556) โดยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตและซื้อในปีอยู่ที่ 88,367 ล้านหน่วย และคาดว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าในปีอยู่ที่ 66,889 ล้านหน่วย

สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตและซื้อ แยกเป็นจากก๊าซธรรมชาติ 67.2% ถ่านหินนำเข้า 10% ลิกไนต์ 10% น้ำมันเตา 9% พลังงานหมุนเวียน (น้ำ และอื่น ๆ) 5.8% ซื้อจากลาว 5.7% น้ำมันดีเซล 0.3% และซื้อจากมาเลเซีย 0.1% จะพบว่าการผลิตไฟฟ้าของเรานั้นยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันราคาก๊าซก็ขยับตัวสูงขึ้น รัฐบาลจึงต้องช่วยอุดหนุนเพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน กระนั้นภาระทั้งหลายประชาชนก็มิอาจหลีกหนีเพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เพราะที่สุดแล้วราคาต้องสะท้อนความเป็นจริงตามกลไกตลาด อีกทั้งเงินที่รัฐบาลนำมาอุดหนุนก็มาจากการจัดเก็บภาษีทางด้านอื่น ซึ่งอาจถูกมองว่าการจัดเก็บภาษีไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ได้

ในส่วนของพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้านั้น เรามิได้พึ่งพิงแหล่งพลังงานประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ราคาก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ผกผันกับจำนวนที่ลดน้อยลงจนเป็นที่คาดว่าในอ่าวไทยที่เคยโชติช่วงชัชวาล อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า อาจถึงคราอาทิตย์อัสดง ฉะนั้นการหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อมาทดแทนเพิ่มเติม จึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต

จากการเดินทางไปดูงานครั้งนี้ พบว่า เยอรมนีพึ่งพิงแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงจากถ่านหินมากที่สุดคือ 45% เพราะเป็นประเทศที่มีถ่านหินคุณภาพสูงจำนวนมาก รองลงมาคือ นิวเคลียร์ 18% ลม-แสงอาทิตย์-น้ำ 15% ก๊าซธรรมชาติ 14% อื่น ๆ (ชีวมวลหรือขยะ) 7% และน้ำมัน 1%

ส่วนฝรั่งเศส พึ่งพิงแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงจากนิวเคลียร์เป็นหลักถึง 79% รองลงมาคือ น้ำ 8% ก๊าซธรรมชาติ 4% ถ่านหิน 4% ลม 2% อื่น ๆ 2% น้ำมัน 1% ทั้งนี้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 58 โรง แบ่งเป็นบนแผ่นดิน 44 โรงและบนชายฝั่งทะเล 14 โรง และจำนวนโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต ขนาด 900 เมกะวัตต์ มี 34 โรง อายุ 26-36 ปี ขนาด 1300 เมกะวัตต์ 20 โรง อายุ 19-28 ปี และขนาด 1500 เมกะวัตต์ 4 โรง อายุ 13-17 ปี

และการที่เยอรมนีพึ่งพาถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงกว่าของฝรั่งเศส โดยเยอรมนี ราคาอยู่ที่ 0.25 ยูโรต่อกิโลวัตต์ แต่ฝรั่งเศส ราคาไม่ถึง 0.15 ยูโรต่อกิโลวัตต์

แม้ราคาค่าไฟฟ้าแตกต่างกัน แต่ค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตของประชากร 2 ประเทศก็พอ ๆ กัน แถมเยอรมนีอาจดูดีกว่านิด ๆ เพราะแต่ละรัฐบาลต่างมีนโยบาย แนวทางการบริหารและวิธีแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน กระนั้นในอนาคตฝรั่งเศสและเยอรมนีก็มีโครงการร่วมมือกันพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำความดันสูง (European Pressurized Water Reactor-EPR) โดยอาศัยการปรับปรุงจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ PWR ที่มีเป้าหมายเรื่องความปลอดภัย ลดความเป็นไปได้ของการเกิดอุบัติภัยรุนแรงลงเป็น 1 ต่อ 10 และจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้อยู่ในเขตโรงงาน มิให้ส่งผลต่อภายนอก

ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ทั้งก่อนเข้าและออกโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ทุกคนจะต้องผ่านมาตรการตรวจเข้ม ทั้งผู้ปฏิบัติงาน และผู้เข้าเยี่ยมชม รวมถึงมาตรการระวังป้องกันการก่อการร้าย ทั้งนี้ที่โรงไฟฟ้านีเดอร์เราเซ็มจะมีชุมชนขนาดใหญ่อยู่โดยรอบในรัศมีห่างเพียงแค่ 1-2 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้าโนฌองต์ มีมาตรการเข้มงวดยิ่งกว่า ส่วนชุมชนอยู่ในรัศมีห่าง 10 กิโลเมตรขึ้นไป


นั่นแสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งว่ามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้หรือไม่ อย่างไร

ขณะที่นางอัญชลี ชวนิชย์ ประธานคณะกรรมการ กฟผ. กล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์การเดินทางมาศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า เป็นการเชิญผู้แทนจากหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านศาลปกครอง สิ่งแวดล้อม สุขภาพและสื่อทุกสาขา เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่สู้ตาเราดูเอง ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด "ลิกไนต์" และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังจากไปชมเราก็กลับมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาข้อสรุปเสนอแนะต่อ กฟผ. โดยไม่ได้คาดหวังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่เรื่องเทคโนโลยีเราต้องหมั่นเรียนรู้เพิ่มเติมด้วย ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า

สำหรับประเทศไทย อนาคตโรงไฟฟ้า จะเป็นถ่านหินสะอาด "ลิกไนต์" หรือนิวเคลียร์ หรือพลังงานทางเลือกอื่นใด เพื่อให้เกิดความเหมาะสม คุ้มค่าและเพียงพอ วิธีที่จะหาคำตอบได้ดีที่สุดก็คือ สังคมต้องตระหนักรู้ มีจิตสำนึกร่วม แสวงหาความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง และปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบ

เพราะพลังงานไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง.

พรชัย ปุณณวัฒนาพร

ที่มา -