ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

ทำไมราคาน้ำมันส่งออกจึงถูกกว่าราคาน้ำมันที่ขายในประเทศ

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 15, 13, 19:17:45 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

คำถามหนึ่งซึ่งค้างคาใจสังคมไทยมากก็คือ ทำไมราคาน้ำมันที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ จึงถูกกว่าราคาน้ำมันที่โรงกลั่นน้ำมันขายในประเทศ


ก่อนที่จะทำความเข้าใจในปัญหานี้ได้อย่างลึกซึ้ง คงต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปถึงการเริ่มต้นส่งเสริมให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยกันก่อน

ในอดีต ก่อนที่รัฐบาลจะเปิดให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย เราต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดและทุกลิตรจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศสิงคโปร์

ต่อมาเมื่อเรามีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นฯในประเทศไทยเพื่อทดแทนการนำเข้า ก็ได้มีการกำหนดสูตรการตั้งราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นให้อ้างอิงราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่เป็นสากลได้รับการยอมรับและอ้างอิงกันไปทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเซีย

และเพื่อให้นักลงทุนมีแรงจูงใจในการมาลงทุนสร้างโรงกลั่นฯในประเทศไทย โดยมั่นใจว่าผลตอบแทนการลงทุนจะไม่ต่ำกว่าการตั้งโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ (เพราะความสะดวกในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่นท่าเรือ กฏระเบียบพิธีศุลกากร ของเราสู้สิงคโปร์ไม่ได้ และค่าขนส่งน้ำมันดิบมายังประเทศไทยก็แพงกว่าสิงคโปร์ด้วย) จึงให้มีการบวกค่าขนส่งจากสิงคโปร์มายังประเทศไทย ลงไปในสูตรราคาหน้าโรงกลั่นด้วย

นี่คือที่มาที่ไปของสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของไทยที่ใช้กันมาตั้งแต่มีการส่งเสริมให้มีการสร้างโรงกลั่นในประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 50 กว่าปีที่ผ่านมา

โรงกลั่นน้ำมันที่สร้างขึ้นในระยะแรกๆนั้นไม่ได้เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการเพียงรายใดรายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการร่วมทุนของผู้ค้าน้ำมันหลายรายมาลงทุนร่วมกัน และเมื่อกลั่นน้ำมันได้เท่าไร ผู้ค้าน้ำมันที่เป็นผู้ลงทุนร่วมกัน ก็รับน้ำมันไปจำหน่ายตามสัดส่วนการถึอหุ้นของแต่ละบริษัท ตามราคาหน้าโรงกลั่นที่ได้ตกลงกันไว้เป็นสูตรดังที่ได้ล่าวเอาไว้ข้างต้น (ซึ่งราคาก็มีการปรับขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก โดยมีการแจ้งราคาหน้าโรงกลั่นทุกวัน)

ในระยะแรก โรงกลั่นฯในประเทศยังมีจำนวนไม่มากนัก การกลั่นน้ำมันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โรงกลั่นฯกลั่นน้ำมันได้เท่าไรก็ขายในประเทศหมด

ต่อมาในปีพ.ศ. 2535 รัฐบาลได้มีนโยบายเปิดเสรีโรงกลั่นน้ำมัน และได้มีการสร้างโรงกลั่นฯขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยอีกสองแห่ง ทำให้มีกำลังการกลั่นเกินความต้องการภายในประเทศ ประกอบกับประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในปีพ.ศ. 2540 จึงทำให้ความต้องการน้ำมันในประเทศลดต่ำลง โรงกลั่นฯจึงต้องหันไปพึ่งพาตลาดส่งออก เพื่อระบายน้ำมันส่วนเกินออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ

แน่นอนว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ส่วนเกินความต้องการในประเทศออกไปขายต่างประเทศนั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการสร้างโรงกลั่นฯในประเทศไทย เพราะเราสร้างโรงกลั่นฯมาเพื่อทดแทนการนำเข้า ไม่ได้สร้างมาเพื่อการส่งออกเหมือนอย่างโรงกลั่นฯในประเทศสิงคโปร์

ดังนั้นเมื่อต้องส่งออกน้ำมัน เราก็ต้องไปแข่งขันกับสิงคโปร์ที่มีความได้เปรียบเราในทุกด้าน และเป็นผู้ครองตลาดอยูก่อนแล้ว ถ้าเราต้องการขายให้ได้ เราก็ต้องลดราคาลงมาเพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายถูกกว่าราคาในประเทศไปเสียทั้งหมด ในบางตลาดที่เรามีความได้เปรียบด้านการขนส่ง เช่น ลาว กัมพูชา เราก็ขายราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่น ยกเว้นบางตลาดที่เราเสียเปรียบด้านการขนส่งทางเรือเท่านั้น ที่เราต้องตัดราคาลงมาเพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์

ซึ่งเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการค้าระหว่างประเทศ ที่ราคาส่งออกนั้นมีทั้งราคาถูกและราคาแพง มีทั้งราคาทีสูงกว่าที่ขายในประเทศ หรือบางกรณีก็ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่เรามีสินค้าส่วนเกินเหลือมากๆ และต้องระบายออกอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ข้าว เป็นต้น

ว่าที่จริงแล้วมีสินค้าหลายชนิดที่ราคาขายส่งออกถูกกว่าราคาขายในประเทศ อย่างเช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

นอกจากเหตุผลในเรื่องของการผลิตเกินความต้องการจนต้องส่งออก และต้องไปแข่งขันราคากับคู่แข่งแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นๆอีกที่ทำให้บางครั้งผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมีราคาถูกกว่าราคาที่ขายในประเทศ คือ

1. น้ำมันที่ส่งออกมีคุณภาพไม่เหมือนกับน้ำมันที่ขายภายในประเทศ โดยน้ำมันที่ขายในประเทศไทยมีคุณภาพสูงกว่า เพราะรัฐบาลกำหนดมาตรฐานเอาไว้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่นน้ำมันเบนซินและดีเซลของเราต้องได้มาตรฐานยูโร 4 และต้องมีเปอร์เซนต์ซัลเฟอร์ต่ำเป็นพิเศษ ในขณะที่ของประเทศเพื่อนบ้านเราบางแห่งไม่ได้มีมาตรฐานสูงขนาดนั้น

ดังนั้นเราจึงต้องทำน้ำมันคุณภาพต่ำไปขายแข่งกับเขา หรือถ้าไม่อยากทำน้ำมัน    คุณภาพต่ำไปขายแข่ง ก็ต้องลดราคาน้ำมันคุณภาพดีของเราลงมาให้แข่งขันกับเขาให้ได้

2. การส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศมีต้นทุนที่ถูกกว่าขายในประเทศ พราะตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างได้ เช่นการสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ทำให้ลดราคาลงได้

3. การส่งออกไม่ใช่ธุรกิจหลักของโรงกลั่นฯ ดังนั้นการระบายน้ำมันออกได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเก็บสินค้าไว้เป็นเวลานาน สิ้นเปลืองเนื้อที่คลังน้ำมันและถังเก็บน้ำมัน อีกทั้งยังทำให้กลั่นน้ำมันได้เต็มกำลังการผลิตตลอดเวลา ย่อมเป็นผลดีต่อการบริหารต้นทุนสินค้ามากกว่า


ดังนั้น ถ้าจะต้องส่งออกในราคาที่ต่ำลงไปบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในเชิงธุรกิจ และเป็นหลักของการบริหารธุรกิจที่ทำกันอย่างนี้ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามผมเข้าใจดีว่า ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นกติกาสากลและเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามกลไกการตลาด แต่ก็คงมีหลายท่านทำใจไม่ได้ และรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมที่คนไทยต้องซื้อน้ำมันแพงกว่าคนต่างชาติ (ในบางครั้ง) และคงอยากรู้ว่าจะทำให้ราคาขายในประเทศและราคาส่งออกมันเท่ากันได้ไหม

คำตอบคือทำได้ครับ นั่นก็คือการปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นเสียใหม่ ให้อ้างอิงราคาส่งออก (Export Parity) แทนที่จะอ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ก็จะทำราคาขายในประเทศลดลงได้ประมาณ 50-75 ส.ต./ลิตร

แต่ปัญหาในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นคือ การลงทุนในธุรกิจโรงกลั่นฯในประเทศไทยจะไม่น่าสนใจอีกต่อไป (จากปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะลงทุนกันอยู่แล้ว) ในขณะที่ความต้องการน้ำมันของไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็จะต้องกลับไปนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์เหมือนในอดีต ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศชาติมากกว่า

ข้อสำคัญแก้แล้ว ราคาส่งออกก็จะยังถูกกว่าอยู่ดี (ในบางกรณี) เพราะผมบอกแล้วไงว่ามันเป็นการแข่งขันตามกลไกตลาด ถ้าเราอยากขาย เราก็ต้องสู้ราคา

สู้ทำใจให้ยอมรับในเหตุผลและความเป็นจริงทางธุรกิจน่าจะดีกว่านะครับ !!!

มนูญ ศิริวรรณ

ที่มา -