ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

PRM ตั้งเป้ารายได้ปี 61 โตไม่ต่ำกว่า 10% ตามแผนขยายกองเรือเพิ่มอีก 9 ลำ

เริ่มโดย mrtnews, ก.พ 03, 18, 19:28:29 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

PRM ตั้งเป้ารายได้ปี 61 โตไม่ต่ำกว่า 10% ตามแผนขยายกองเรือเพิ่มอีก 9 ลำ,ตั้งงบ 5.12 พันลบ.รองรับซื้อเรือ

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 - นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พริมา มารีน (PRM) กล่าวว่า บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ปี 61 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% มาที่ระดับใกล้เคียง 5,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวจากโรงกลั่น (ธุรกิจเทรดดิ้ง) 47% ,ธุรกิจขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) 40% ,ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (FSO) 12% และที่เหลือจะเป็นการบริหารจัดการกองเรือของอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี


ทั้งนี้ เป็นผลมาจากบริษัทฯมีแผนขยายกองเรือ ที่คาดว่าปีนี้จะมีเรือเข้ามาเพิ่มจำนวนทั้งหมด 9 ลำ โดยมีขนาดรวมประมาณ 430,000 เดทเวทตัน จากสิ้นปี 60 ที่มีจำนวนเรือทั้งสิ้น 25 ลำ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ จากเดิมที่มีอยู่ 14 ลำ จะเพิ่มเรือเข้ามาอีก 6 ลำ เพื่อรองรับความต้องการใช้เรือขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นไปยังคลังน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการขนส่งสินค้าประเภทปิโตรเคมี รวมถึงนำมาทดแทนเรือเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานซึ่งจะช่วยลดอายุเฉลี่ยของเรือให้ลดลง

ธุรกิจ FSU ซึ่งปัจจุบันมีเรืออยู่ทั้งหมด 7 ลำ จะเพิ่มเรืออีก 1 ลำ เพื่อรองรับการขยายการให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงแบบใส (Clean Product) เช่น ดีเซลและเบนซิน ซึ่งถือเป็นการขยายการให้บริการเพิ่มเติมและทดแทนการให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ส่วนธุรกิจ FSO บริษัทฯ มีแผนเพิ่มเรืออีก 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 2 ลำ เพื่อรองรับการให้บริการงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะปลดประจำการเรือเก่าในปีนี้ด้วย จำนวน 2-3 ลำ ส่งผลทำให้ในปีนี้บริษัทฯ จะมีกองเรือประมาณ 30-33 ลำ

นอกจากนี้บริษัทฯได้วางงบลงทุนซื้อเรือไว้ราว 5,123 ล้านบาท โดยแหล่งเงินลงทุนจะมาจากเงินที่เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่เหลืออยู่ราว 2,000 ล้านบาท และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.71 เท่า และมีนโยบายไม่ให้เกิน 1.5 เท่า

"ในแผนการดำเนินของปีนี้ เราจะมีเรือใหม่เข้ามาซึ่งประกอบด้วยเดือนม.ค. คือ เรือศรีกาญจนดิษฐ์ และเดือนมิ.ย.เราก็จะมีเรือ ศรีสุราษฎร์ เข้ามาอีก 1 ลำ ขณะที่ในเดือนมี.ค. เราก็จะมีการขายเรือสิริกมล อายุ 31 ปี ซึ่งจะส่งผลทำให้กองเรือของเราจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ปี แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ FSU , ธุรกิจเทรดดิ้ง ,ธุรกิจ FSO และการบริหารจัดการกองเรือฯ เราก็จะมีการปรับ Portfolio ให้เหมาะสม จากการเพิ่มปริมาณเรือขนส่งน้ำมัน หรือเรือเทรดดิ้งให้มากขึ้น โดยจะมีเรือเคมีเข้ามาในต้นเดือนมี.ค. ขณะเดียวกันเราก็มองเรือเคมีอีกจำนวน 2 ลำ อีกทั้งเรายังมีการเจรจากับกลุ่มลูกค้าเพื่อซื้อเรือ Aframax เข้ามาเพิ่มเติมอีก ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไตรมาส 2 นี้" นายชาญวิทย์กล่าว

นายชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากการขยายธุรกิจขนส่งฯ ให้มีศักยภาพการเติบโตที่ดี เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้บริการเรือขนส่งน้ำมันที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งภายในประเทศและระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทฯยังมีการดำเนินการปรับการบริหารจัดการเรือภายในกองเรือที่มีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด ช่วยบริหารจัดการด้านต้นทุนการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนการขนส่งรายเที่ยวหรือ Spot เป็นแบบ Time Charter ที่เป็นลักษณะสัญญาระยะยาวและลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ทำให้ลดความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนพลังงานการขนส่งน้ำมันได้ดี หรือการโยกย้ายน้ำมันมาบรรจุให้เต็มความสามารถการบรรทุกของกลุ่มธุรกิจ FSU ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนดำเนินงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทฯได้ดีขึ้น

"มุมมองของเรายังคงไม่เปลี่ยน ซึ่งเราอยากจะเติบโตเข้าไปในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในกองเรือที่จะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย"นายชาญวิทย์ กล่าว



ที่มา Data & Images -




'พริมา มารีน' ชูแผนปรับพอร์ตกองเรือ

พริมา มารีน เปิดแผนปี 61 ปรับพอร์ตเสริมทัพกองเรือเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการด้านต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ รับจังหวะธุรกิจมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง ลุยขยายกองเรืออีก 9 ลำในปีนี้ เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบและปิโตรเคมีเหลวทางทะเลในภูมิภาค และขยายการให้บริการไปสู่การขนส่งและจัดเก็บน้ำมันสำเร็จรูปประเภทใส ดันการเติบโตทางธุรกิจที่ดี ตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 10%


นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ("PRM") ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวทางเรืออย่างครบวงจรซึ่งเป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย รวมถึงให้บริการเรือขนส่งที่สนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการกองเรือของอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า แนวทางดำเนินงานของ PRM ในปีนี้ จะปรับพอร์ตกองเรือให้สอดรับกับทิศทางของอุตสาหกรรมการให้บริการเรือขนส่งน้ำมันทางทะเล และการบริหารจัดการกองเรือและต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการเติบโตและรักษาอัตราการทำกำไรขั้นต้นที่ดี

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนเสริมทัพกองเรือที่จะเข้ามาประจำการในปีนี้ทั้งหมด 9 ลำ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวจากโรงกลั่น  (ธุรกิจขนส่งฯ) จำนวน 6 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 14 ลำ รองรับความต้องการใช้เรือเพื่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นไปยังคลังน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการขนส่งสินค้าประเภทปิโตรเคมี รวมถึงนำมาทดแทนเรือเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานซึ่งจะช่วยลดอายุเฉลี่ยของเรือให้ลดลงอีกด้วย

ขณะที่ธุรกิจขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป หรือ FSU ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 7 ลำ จะเพิ่มเรืออีก 1 ลำ ขนาดประมาณ 100,000 เดทเวทตัน เพื่อขยายการรองรับการให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงแบบใส (Clean Product) เช่น ดีเซลและเบนซิน ซึ่งถือเป็นการขยายการให้บริการเพิ่มเติมและทดแทนการให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ส่วนธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล หรือ FSO บริษัทฯ มีแผนเพิ่มเรืออีก 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 2 ลำ เพื่อรองรับการให้บริการงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศ

"ปีนี้เรามีนโยบายบริหารจัดการกองเรือให้สอดรับทิศทางความต้องการของลูกค้า ซึ่งนอกจากการขยายธุรกิจตามแผนงานที่ได้วางไว้ ยังเน้นขยายธุรกิจขนส่งฯที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีจากปริมาณความต้องการใช้บริการเรือขนส่งน้ำมันที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งภายในประเทศและระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นแล้ว รวมถึงดำเนินการปรับการบริหารจัดการเรือภายในกองเรือที่มีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด ช่วยบริหารจัดการด้านต้นทุนการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนการขนส่งรายเที่ยวหรือ Spot เป็นแบบ Time Charter ที่เป็นลักษณะสัญญาระยะยาวและลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ทำให้ลดความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนพลังงานการขนส่งน้ำมันได้ดีหรือการโยกย้ายน้ำมันมาบรรจุให้เต็มความสามารถการบรรทุกของกลุ่มธุรกิจ FSU ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนดำเนินงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานของ PRM ได้ดีขึ้น" นายชาญวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ จากการประเมินแผนขยายกองเรือที่คาดว่าจะทยอยรับเรือได้ภายในปีนี้ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านรายได้จากการดำเนินงานมากกว่า 600 ล้านบาท จากการมีกองเรือให้บริการจาก 4 กลุ่มธุรกิจรวมทั้งสิ้น 34 ลำไม่รวมเรือจากพันธมิตรอีก 13 ลำ ที่จะเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น จึงมั่นใจว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2561 จะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือมีรายได้ใกล้เคียง 5,000 ล้านบาท



ที่มา Data & Images -





..