ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เรือจีนรุ่นใหม่สวยกระเด้งเช้งวับ ไทยไม่ซื้อ ไม่ท้อลุยต่อตลาดอาเซียน

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 23, 13, 00:00:13 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

จีนกำลังมองหาลูกค้ารายใหม่ๆ ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากประสบความสำเร็จขายเรือฟรีเกตที่ปลดระวางแล้วให้แก่พม่า 2 ลำ และอีก 2 จำหน่ายให้บังกลาเทศเมื่อเร็วๆ นี้ กับเรือชั้นอื่นอีกหลายลำที่จำหน่ายให้ปากีสถาน และไกลออกไปจนถึงอียิปต์ ปัจจุบัน จีนกำลังนำเสนอเรือฟรีเกตแบบ 054A ซึ่งเป็นเรือรบรุ่นใหม่ทันสมัยยิงกว่า เป็นหัวหอกในการบุกตลาดใหญ่อาเซียนสำนักข่าวกลาโหมออนไลน์ที่มีชื่อเสียงในแคนาดา "กันวาดีเฟนซ์รีวีว" รายงาน

       
จนถึงปีนี้จีนต่อเรือแบบ 054A เสร็จแล้ว 15 ลำ อีก 3 ลำอยู่ระหว่างดำเนินการจากทั้งหมด 21 ลำในชั้น ส่วนใหญ่นำเข้าประจำการในกองเรือทะเลจีนตะวันออก 5 ลำ ประจำการกองเรือภาคใต้ที่ฐานทัพเรือซันย่า เกาะไหหลำ ลำล่าสุดขึ้นระวางประจำการเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นรายงานในเว็บไซต์ ChinaDefence.Com

รายงานชิ้นล่าสุดของ Kanwa Defence Review กล่าวว่าจีนพร้อมขายเรือฟรีเกตชั้นนี้ให้ทุกประเทศ รวมทั้งระบบอำนวยการกับควบคุม ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และระบบอาวุธอย่างครบวงจร แต่การทำตลาดก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย
       
แบบ 054A เป็นเรือฟรีเกตชั้นเจียงไค 2 (Jiangkai II) ในระบบของกลุ่มนาโต้ จีนเสนอเวอร์ชั่นหนึ่งของรุ่นให้กองทัพเรือไทยพิจารณาในแผนการจัดซื้อจัดหาเรือฟรีเกตใหม่ 2 ลำมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยมอบเงื่อนพิเศษสุดคือ "ซื้อ 2 ได้ 3" แต่คณะกรรมการพิจารณาของไทยก็ยังเลือกเรือฟรีเกตที่ต่อในเกาหลี โดยให้เหตุผลว่าสนองเงื่อนไขต่างๆ ได้ครบถ้วนรวมทั้งสามารถปฏิบัติการร่วมกับเรือหลวงชุดนเรศวร-ตากสินที่อยู่ระหว่างอัปเกรดได้ด้วย
       
แต่จีนก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในพม่ากับบังกลาเทศ หากไม่นับรวมปากีสถานที่พึ่งพาระบบอาวุธและยุทโธปกรณ์จากจีนเป็นหลักตลอดมาในยุคใหม่นี้
       
ในเดือน มี.ค.2555 พม่าได้ทำพิธีขึ้นระวางประจำการเรือมหาบัณฑูลา (UMS Maha Bandoola F-21) กับเรือมหาติหาตุรา (UMS Maha Thiha Thura F 23) ทั้ง 2 ลำเป็นเรือฟรีเกตชั้นเจียงหู 1 (Jianghu 1) ขนาด 1,900 ตัน หรือแบบ 053H ในรหัสของจีน ติดตั้งระบบต่างๆ รวมทั้งอาวุธที่ผลิตในจีน เป็นเรือที่กองทัพประชาชนปลดระวางแล้ว
       
เมื่อ 24 ปีก่อนหน้านี้ จีนประสบความสำเร็จขายเรือแบบ 053 ให้กองทัพเรือบังกลาเทศ 1 ลำ และเพิ่งจะขายรุ่นที่ใหม่กว่าให้อีก 2 ลำเมื่อเร็วๆ นี้ ลูกค้าของเรือจีนยังรวมทั้งอียิปต์ด้วย กองทัพเรือประเทศนี้ซื้อเรือแบบ 053H1 จำนวน 2 ลำ เมื่อปีที่แล้วเป็นเรือเก่าเช่นกัน
       
สำหรับพม่า สำนักข่าวกลาโหมหลายแห่งรายงานว่าด้วยความจำกัดด้านงบประมาณในช่วงนั้นก็จึงไม่สามารถติดตั้งระบบจรวดต่อสู้อากาศยานบนเรือมหาบัณฑูลากับเรือมหาติหาตุราได้ มีเพียงจรวดยิงจากเรือสู่เรือแบบ C-802 กับปืนต่อสู้อากาศยานอันเป็นมาตรฐานของเรือชั้นนี้

       
แต่ในเดือน มี.ค.ปีนี้พม่าได้ส่งเรือมหาติหาตุรา F-23 กลับไปยังอู่ต่อเรืองหวงปู้ (Huang Pu Shipyard) ในนครกว่างโจว ติดตั้งระบบจรวดนำวิถี C-802A ที่ยิงได้ไกลกว่าพร้อมระบบจรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่ไม่ได้ระบุแบบ
       
ต้นปีนี้เช่นกันพม่าได้ทำพิธีนำเข้าประจำการเรือเกียนสิตตา (F-12 Kyansittha) เรือฟรีเกตที่มีรูปโฉมโฉบเฉี่ยวทันสมัยซึ่งเป็นลำที่ 2 ในชุดเดียวกัน ก่อนหน้านี้ในปี 2551 พม่าประสบความสำเร็จในการต่อเรืออองเซยา (F-11 Aung Zeya) ซึ่งเป็นเรือต้นของชั้น เว็บไซต์ข่าวกลาโหมของชาวพม่าเองรายงานว่าจะมีการต่อเรือชั้นนี้อีกหลายลำ

จุดที่น่าสังเกตก็คือเรือชั้นอองเซยาต่อขึ้นตามต้นแบบเรือฟรีเกตรุ่นหนึ่งของจีน แต่ติดจรวดนำวิถียิงเรือแบบ Kh-35E ที่ผลิตในรัสเซีย ติดปืนใหญ่เรือโอโตเมลารา (Oto Melara) ขนาด 76 มม. ติดท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 324 มม. แบบ YU-7 ASW ของจีน และระบบปืนยิงเร็วระยะประชิด (Close-In Weapon System) ขนาด 30 มม. 6 ลำกล้องแบบ AK-630 ผลิตในจีน และระบบจรวดต่อสู้เรือดำน้ำอีกรุ่นหนึ่งของจีน ทำให้เป็นเรือฟรีเกตทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือพม่าในปัจจุบัน
       
และจีนก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในเดือน มี.ค.ปีนี้ได้ส่งเรือฟรีเกตแบบ 053H1 หรือ เจียงหู 2 ที่ปรับปรุงใหม่กลับไปแวะเยือนพม่าอีก รวมทั้งเข้าร่วมงานแสดงเทคโนโลยีทางทะเลและการอวกาศที่เกาะลังกาวี (LIMA 2013) มาเลเซีย โดยหวังว่าจะเป็นแรงกระตุ้นตลาดในภูมิภาคนี้ เจ้าหน้าที่จีนกล่าวว่าจะส่งเรืออีกหลายรุ่นออกตระเวนเยือนเมืองท่าในกลุ่มอาเซียนในช่วงต่อไป
       
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมจีน เรือตระกูล 053 มีประวัติความเป็นมายาวนาน จีนต่อขึ้นจากต้นแบบเรือชั้นริกา (Riga-Class) ของอดีตสหภาพโซเวียต ใช้เป็นกำลังรบหลักมานานหลายทศวรรษ พัฒนามาเป็นลำดับถึงชั้นเจียงหู 5 และกลายเป็นเรือฟรีเกตอเนกประสงค์ชั้นเจียงเว่ย (Jiangwei-Class) หรือแบบ 053H3 ขนาด 3,100 ตัน จนกระทั่งนำแบบ 054A ที่มีขนาดใหญ่กว่าขึ้นระวางประจำการ
       
ตามข้อมูลในหนังสือ World's Warships เรือฟรีเกต 053H1 ขนาดมาตรฐานมีระวางเพียง 1,565 ตัน ทำความเร็วสูงสุดได้ 25.5 นอต (47.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง) มีรัศมีปฏิบัติการ 5,400 กม. ใช้ลูกเรือ 195 คน รวมทั้งนายทหาร 30 นาย ติดปืนใหญ่เรือแบบ 79A ขนาด 100 มม. ระบบจรวดต่อสู้เรือดำน้ำกับตอร์ปิโด และยังสามารถดัดแปลงติดตั้งระบบอาวุธอื่นๆ ได้อีกจำนวนหนึ่ง
       
เรือชั้นนี้หลายลำได้กลายเป็นเรือเก่าที่จีนพร้อมอัปเกรดเพื่อขายต่อซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่จะได้ระบายระบบอาวุธต่างๆ ที่จีนผลิตออกมาอย่างมากมายไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบจรวดยิงทำลายเรือผิวน้ำหลายรุ่นที่มีระยะยิงตั้งแต่ 25-280 กม. รวมทั้งจรวดตระกูล C-802 (แบบ YJ-82 "อิงจี้") กับ C-802A ที่ว่ากันว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าจรวด "ปลาบิน" เอ็กโซเซต์ ที่ผลิตในฝรั่งเศส แต่ราคาถูกกว่ากันมาก จรวดต่อสู้เรือตระกูลนี้มีใช้ในราชนาวีไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรือรบและระบบอาวุธของจีนมีภาพลักษณ์ที่ติดลบพอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยได้ปฏิเสธเรือแบบ 054T เมื่อต้นปีนี้ แม้ว่าจีนจะยื่นข้อเสนอพิเศษสุด ทั้งนี้ราชนาวีไทยมีประสบการณ์ตรงมากกว่าชาติอาเซียนอื่นๆ จากเรือแบบ 053 "เจียงหู 1" ที่ซื้อในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งก็คือเรือชุด ร.ล.เจ้าพระยา-บางปะกง (หมายเลข 455 และ 456) กับชุด ร.ล.กระบุรี-สายบุรี (หมายเลข 457-458) ในวันนี้
       
สำนักข่าวกลาโหมหลายแห่งได้อ้างแหล่งข่าวในราชนาวีที่ระบุว่า ไทยต้องสั่งรื้อเรือชุดนี้ในหลายจุดซึ่งส่งผลให้จีนต้องปรับปรุงเรือของตัวเองแบบยกใหญ่เช่นกัน และสิ่งนี้ได้ทำให้ฝ่ายไทยมั่นใจมากขึ้น นำมาสู่การจัดซื้อเรือชุดนเรศวร-ตากสิน (หมายเลข 421 และ 422) ในเวลาต่อมา

       
แต่แล้วไทยก็เจอปัญหาเดิมๆ เมื่อซื้อเรือชุดนเรศวร-ตากสินและพอดีในช่วงนั้นจีนได้พัฒนาต่อยอดเป็นแบบ 035H2 หรือ "เจียงหู 3" เข้าประจำการ ทำให้ราชนาวีไทยตัดสินใจอัปเกรดเรือชุด ร.ล.นเรศวร-ตากสิน ขึ้นเทียบชั้นกับเจียงหูรุ่นใหม่ โดยสั่งรื้อใหม่เกือบจะทั้งหมด กระทั่งยอมสละปืนใหญ่ท้ายเรือเพื่อดัดแปลงพื้นที่ทำลานจอดเฮลิคอปเตอร์สำหรับภารกิจต่อต้านเรือดำน้ำ ฝ่ายไทยเข้าร่วมออกแบบกับฝ่ายจีนโดยมีที่ปรึกษาจากอุตสาหกรรมต่อเรือของเยอรมนีกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
       
ผลที่ออกมาก็คือเกือบจะไม่มีอะไรเหลือตามต้นแบบเดิมของเรือ 053H นอกจากโครง เรือชุด ร.ล.นเรศวร-ตากสิน ถูกดัดแปลงไปติดตั้งเครื่องยนต์ ระบบอำนวยการ และระบบอาวุธของโลกตะวันตกเกือบจะทั้งหมด นับตั้งแต่นำขึ้นระวางประจำการในปี 2537 และ 2538 ตามลำดับ
       
กองทัพเรือจีนต่อเรือ "เจียงหู 3" ออกมาเพียง 3 ลำ และ 2 ลำเพิ่งปลดระวางประจำการในเดือน เม.ย.ปีนี้ จีนขายให้กองทัพเรือบังกลาเทศทั้ง 2 ลำ โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่า แต่เป็นเรือเทียบชั้นกับเรือชุด ร.ล.นเรศวร-ตากสิน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วราชนาวีได้ตกลงให้กลุ่มซาบจากสวีเดนอัปเกรดครั้งใหญ่เช่นเดียวกับเรือหลวงจักรีนฤเบศ เพื่อให้ปฏิบัติงานเชื่อมดาต้าลิงก์กับเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าและฝูงบิน JAS-39 กริพเพนของกองทัพอากาศได้ รวมทั้งการติดตั้งระบบจรวด ESSM (Evolved Sea Sparrow Missile) ล้ำยุคที่ซื้อจากสหรัฐฯ ด้วย
       
ตามรายงานล่าสุดของ KDR ประสบการณ์ของไทยเป็นบทเรียนของฝ่ายจีนเช่นกัน และจีนหวังว่าเรือแบบ 054A จะเป็นหัวหอกสำคัญในการบุกทะลวงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

ที่มา -