ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ทลฉ.-ชินโจว เซ็นท่าเรือพี่น้อง หวังลดต้นทุนสายเรือ เพิ่มความถี่เดินเรือขนส่ง

เริ่มโดย mrtnews, พ.ย 01, 18, 16:14:40 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ท่าเรือแหลมบังเซ็นข้อตกลงท่าเรือชินโจวของจีน ร่วมพัฒนาขยายการเดินเรือและเพิ่มการขนส่งสินค้าระหว่างกัน ภายใต้ One Belt One Road สายเรือหวังช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนผ่านท่า จ่อเพิ่มความถี่เดินเรือจาก 2-3 เที่ยว/สัปดาห์เป็นทุกวัน


ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.โดยท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ได้ลงนามข้อตกลงท่าเรือพี่น้องกับ นางลี่ เซี่ย ฮวั่วหมิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการตลาด บริษัท เป่ยปู้-พีเอสเอ คอนเทนเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ผู้แทนของท่าเรือชินโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมการค้าที่มีการขยายตัวและการให้บริการระหว่างกันภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road พร้อมการขยายโอกาสทางธุรกิจและการขนส่ง

โดยการทำความร่วมมือกับท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือพี่น้องนั้นจะเกิดความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่ง เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งระหว่างกัน เพราะจีนเองมีปัญหากระบวนการภายในเรื่องกฎหมายในระหว่างมณฑล และแม้จีนจะปรับลดค่าภาระต่างๆ แต่สายเรือต้องการเรื่องความคล่องตัวในด้านพิธีการนำเข้า-ส่งออกมากกว่า รวมถึงการแก้ปัญหาเที่ยวเปล่าในขากลับ เป็นต้น

ดังนั้น ภายใต้ความร่วมมือนี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อประชุม JOINT WORKING GROUP MEETING เจรจารายละเอียด ส่วนผู้บริหารจะประชุมร่วมกันทุก 2 ปี ในการส่งเสริมการค้าและการให้บริการระหว่างท่าเรือ

"ปัจจุบันมีการเดินเรือจากแหลมฉบัง-ชินโจว สัปดาห์ 2-3 เที่ยว แต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการเดินเรือเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเส้นทางนี้ถือเป็นสายสั้น เป็นเรือฟีดเดอร์ขนาดเล็กและกลาง จะเน้นการเดินเรือชายฝั่งเป็นหลัก จากท่าเรือชินโจว (จีน)-ท่าเรือไฮฟอง-เว้-ดานัง (เวียดนาม)-กัมปงโสม (สีหนุวิลล์ กัมพูชา)-แหลมฉบัง-ท่าเรือกรุงเทพ เป็นปลายทาง โดยขนส่งยางพารา ผลไม้ มังคุด กล้วยหอม ทุเรียน"

ทั้งนี้ ท่าเรือชินโจวตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจีน บริเวณอ่าวเป่ยปู้ เป็นท่าเรือศูนย์กลางของจีนที่เชื่อมโยงภายในของจีนเอง โดยมีระบบรางเชื่อมภายในที่ดี และมีศักยภาพในการเชื่อมการเดินเรือโดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจีนได้พัฒนาอย่างมากมีขีดความสามารถ รองรับสินค้าได้ 114 ล้านตันต่อปี มีท่าเรือคอนเทนเนอร์ยาว 10 กม. ซึ่งในปี 2558 มีปริมาณสินค้าผ่านท่า 65.102 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.5% มีปริมาณตู้สินค้า 941,800 ทีอียู เพิ่มขึ้น 34.15% และปี 2560 มีปริมาณสินค้ากว่า 83 ล้านตัน และมีถึง 1.77 ล้านทีอียู และในปี 2561 (ในรอบ 8 เดือน) มีสินค้า 73.8 ล้านตัน และมีตู้สินค้า 1.67 ล้านทีอียู

สำหรับจีนนับเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยปี 2560 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 2 ล้านล้านบาท หรือ 16% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ซึ่งท่าเรือชินโจวเป็น 1 ใน 3 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ในเขตปกครองตนเองกว่างชีจ้วง โดยเป็นท่าเรือศูนย์กลาง ปัจจุบันสินค้าที่ขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือชิวโจว ได้แก่ บุหรี่ ผลไม้ (มังคุด และทุเรียน) แผ่นอะลูมิเนียม เป็นต้น หลังจากที่รัฐบาลจีนกลางได้มีนโยบายให้ท่าเรือชินโจว มีการให้บริการด้านพิธีการและการตรวจสอบสินค้าประเภทเกษตรและผลไม้ และอนุมัติให้เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว เป็นด่านท่าเรือนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปของจีน ทำให้เป็นโอกาสที่จะขยายการขนส่งทั้งผลไม้และรถยนต์ระหว่างกันในอนาคต

ด้านนางหลี่เหล่ยเหยียน รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครชินโจว กล่าวว่า ท่าเรือชินโจวเป็นประตูทางออกทะเลด้านตะวันตกของจีน มีท่าเทียบเรือ 90 ท่า รองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าได้ 114 ล้านตัน ซึ่งในปี ปัจจุบันมีการเดินเรือขนส่งสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบังสัปดาห์ละ 3 เที่ยว แต่หลังจากนี้จะร่วมมือกันพัฒนาเพื่อเปิดเดินเรือให้ได้ทุกวัน ซึ่งปริมาณสินค้าระหว่างไทยและจีนมีการเติบโตมาก โดยปี 2561 รอบ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) เติบโต 38.14%

โดยความร่วมมือนี้นอกจากเพื่อส่งเสริมการค้าที่มีการขยายตัวและการให้บริการระหว่างกันภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road พร้อมการขยายโอกาสทางธุรกิจและการขนส่ง อีกทั้งส่งเสริมเส้นทางการขนส่งทางน้ำเชื่อมต่อไทย-จีน และขยายต่อไปยังภูมิภาคและทวีปอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงการร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่าเรืออีกด้วย



ที่มา Data & Images -




ไทย-จีนลงนามเชื่อมท่าเรือ2พี่น้อง หวังขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพิ่ม

ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการ ท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือชินโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนางหลี่เหล่ยเหยียน รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครชินโจว นางลี่ เซี่ย ฮวั่ว หมิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการตลาด บริษัท เป่ยปู้-พีเอสเอ คอนเทนเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ร่วมลงนามในการลงนามร่วมกันถือเป็นท่าเรือพี่น้อง ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ลงนามกับหลายประเทศเพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ท่าเรือชินโจวถือเป็นท่าเรือที่สำคัญของจีนอยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ มีศักยภาพของยุทธศาสตร์ท่าเรือโดยจีนได้มีการพัฒนาท่าเรือแห่งนี้มาเป็นระยะๆ สำหรับด้านการพัฒนาท่าเรือชินโจวในช่วง3ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องมีท่าเรือที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ยาวถึง 10กม. ซึ่งเหมาะสมด้านศักยภาพการเชื่อมโยงกับไทย


สำหรับสินค้าหลักในการขนส่งจาก ท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังท่าเรือชินโจว เป็นสินค้านำเข้า-ออก ประกอบด้วย บุหรี่ ผลไม้ประเภท มังคุด และทุเรียน) แผ่นอลูมิเนียม ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลกลางจีนได้นโยบายให้ ท่าเรือชินโจวมีการให้บริการด้านพิธีการและการตรวจสอบสินค้าประเภทสินค้าเกษตรและผลไม้ และอนุมัติให้เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจวเป็นด่านท่าเรือนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ของประเทศจีน ซึ่งมีโอกาสที่จะขยายการขนส่งผลไม้และรถยนต์ระหว่าง 2ท่าเรือในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย ปริมาณการค้าระหว่างประเทศมากกว่า ร้อยละ80 ในการขนส่งทางน้ำ โดยขนถ่ายผ่านท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ5 ท่าเรือแหลมฉบังมี มีอัตราการเติบโตของตู้สินค้าอย่างต่อเนื่องซึ่งโครงการขยายท่าเรือขั้นที่3 จึงถูกกำหนดให้เป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งรถยนต์สำเร็จรูปอะไหล่และส่วนประกอบ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือ
       
"จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ในปี 2560 มีมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศอยู่ที่ร้อยละ 16 หรือ 2 ล้านล้านบาทของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ปัจจุบันสินค้าหลักที่ไทยได้ส่งผ่านท่าเรือดังกล่าวเบื้องต้น คือผลไม้ตามฤดูกาล สินค้าเกษตร ด้วยเรือขนาดกลาง เนื่องจาก เป็นเส้นทางเดินเรือระยะสั้น จำนวนสัปดาห์ละ 2-3 เที่ยว และในอนาคตจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประชุมหารือระดับผู้บริหารทุกๆ 2 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการขนส่งทั้ง 2 ประเทศ เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น มีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ และเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางทะเล รวมถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าที่ติดขัดได้อย่างเเท้จริง" ร้อยตำรวจตรี มนตรี กล่าว

ด้านนางหลี่เหล่ยเหยียน รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครชินโจว กล่าวว่า สำหรับการลงนามดังกล่าวถือว่าเป็นการพัฒนาด้านการขนส่งสินค้าระหว่าง 2ประเทศ ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการขนส่งสินค้าของท่าเรือชินโจวที่ผ่านมามีตัวเลขระหว่างเดือน มกราคม-กันยายน 2561 ที่ 73,790,000 ตัน มีการเดินเรือ3เส้นทาง 3ลำต่อสัปดาห์ และอนาคตภายหลังที่ลงนามร่วมกันแล้วจะมีการเดินเรือระหว่าง 2ประเทศ ทุกวัน ไป-กลับวันละ1เที่ยว

สำหรับท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือสำคัญของจีน มีปริมาณการขนส่งตู้สินค้ามากที่สุดในบรรดาท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ มีความสำคัญในฐานะประตูทางออกสู่ทะเล ของพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน มีท่าเทียบเรือจำนวน 90 ท่า ความสามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่า 114 ล้านตัน อีกทั้งยังมีศักยภาพเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ



ที่มา Data & Images -





..