ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

IEA ห่วงไทยวิกฤตพลังงาน ปี 2578 ก๊าซหมดอ่าวนำเข้าเชื้อเพลิง 3 ล้านล้าน

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 11, 13, 21:51:42 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน เปิดเผยรายงาน "แนวโน้มพลังงานโลกในอนาคต ฉบับปี 2556" (World Energy Outlook 2013) ฉบับพิเศษ ครอบคลุมทิศทางพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จากปัจจุบันจนถึงปี 2578 โดย Maria Van Der Haeven กรรมการบริหาร ไออีเอ เป็นผู้กล่าวรายงาน


จากการศึกษาพบว่า การใช้พลังงานของอาเซียนในปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษก่อน โดยความต้องการใช้น้ำมัน 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติ 141 พันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีความต้องการใช้ถ่านหินเติบโตขึ้นมากกว่า 10% และมีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 16% ของเชื้อเพลิงพื้นฐานในปัจจุบัน ปริมาณการใช้พลังงานต่อจำนวนประชากรในอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำมาก คิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกโดยเฉลี่ย เนื่องเพราะการทำให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานยังเป็นปัญหาหนึ่งของภูมิภาค เพราะมีประชากรถึง 134 ล้านคน หรือคิดเป็น 22%

ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยส่วนใหญ่ถึง 66 ล้านคนอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือประเทศฟิลิปปินส์ 28 ล้านคน และเมียนมาร์ 25 ล้านคน

ขณะเดียวกันมีประชาชนจำนวน 279 ล้านคน คิดเป็น 47% จากทั้งหมด ยังคงใช้ฟืนในการประกอบอาหาร โดยประชากรกลุ่มนี้อยู่ในประเทศอินโดนีเซียมากเป็นอันดับ 1 ถึง 103 ล้านคน

อันดับ 2 ประเทศเวียดนาม 49 ล้านคน

อันดับ 3 ประเทศฟิลิปปินส์ 47 ล้านคน

และอันดับ 4 ประเทศเมียนมาร์ 44 ล้านคน

ในปี 2578 คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มจากปัจจุบันถึง 3 เท่า และมีจำนวนประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 25% จากประมาณ 600 ล้านคนในปัจจุบัน จึงทำให้ความต้องการใช้พลังงานในภูมิภาคเติบโตขึ้นถึง 80% และเมื่อรวมการใช้พลังงานของอาเซียนเข้ากับจีนและอินเดียแล้ว จะทำให้ศูนย์กลางพลังงานของโลกย้ายมาอยู่ที่เอเชีย

ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการน้ำมันของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 5 ล้านบาร์เรล มีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 240 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2578 คิดเป็นมูลค่า 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหภาพยุโรป

ส่วนความต้องการก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 80% จากปัจจุบัน เป็น 250 พันล้านลูกบาศก์เมตร ความต้องการถ่านหินจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากปี 2554 เพราะเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกและมีอยู่มากในภูมิภาค โดยอินโดนีเซียจะเป็นผู้ผลิตหลัก

ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 1,900 ล้านเมกะวัตต์ ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งมีราคาแพงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้คาดว่าจะมี 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐสำหรับพัฒนาในส่วนนี้

ทั้งนี้ คาดว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมาจากเชื้อเพลิงถ่านหินสูง 700 ล้านเมกะวัตต์ พลังงานทดแทน 300 ล้านเมกะวัตต์ และก๊าซธรรมชาติ 200 ล้านเมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามพบว่าการพัฒนาพลังงานทดแทนยังมีอุปสรรคสำคัญจากโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวย การออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าของภาครัฐ และการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง

ขณะที่การบริโภคพลังงานขั้นสุดท้ายจะเพิ่มขึ้น 76% โดยภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นภาคใช้พลังงานสูงสุด โดยความต้องการใช้จะเติบโตขึ้นถึง 90% ขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภูมิภาคจะเติบโตขึ้น 2 เท่า ถึงระดับ 2,300 ล้านตัน

นอกจากนี้ การอุดหนุนราคาพลังงานยังคงเป็นปัญหาหนึ่งในภูมิภาค เพราะทำให้มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ภาครัฐต้องเสียงบประมาณในการอุดหนุนสูง และเป็นอุปสรรคขัดขวางการลงทุน

โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่จำเป็น และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปี 2555 อาเซียนใช้เงินในการอุดหนุนราคาพลังงานถึง 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะมีความพยายามของหลายประเทศที่จะลดการอุดหนุนราคาพลังงาน แต่ควรมีการอุดหนุนพลังงานสำหรับคนจนให้สามารถเข้าถึงพลังงานได้

สำหรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นในอาเซียน ส่งผลให้มีการนำเข้าพลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น แต่หากมีนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กำหนดมาตรฐานการเผาผลาญน้ำมันของรถยนต์จะสามารถลดภาระส่วนนี้ได้ รวมถึงแก้ไขกฎหมายเพื่อจูงใจให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน


ถ้าหากมีการลงทุนจำนวน 330,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยประหยัดเงินได้ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงเพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ได้ 2% และลดการนำเข้าน้ำมันได้ 700,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ การลงทุนเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในภูมิภาค เช่น การลงทุนระบบสายส่งร่วมกัน (Asean Power Grid) หรือท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น จะเป็นกุญแจสำคัญอีกประการที่ช่วยลดการนำเข้าพลังงานได้

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีความต้องการใช้พลังงานประมาณ 118 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมัน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของภูมิภาค จึงถือเป็นประเทศที่มีความต้องการพลังงานมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย และความต้องการใช้พลังงานของไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน เป็น 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2578 ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มจาก 42,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 65,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ขณะเดียวกันการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือกำลังผลิตเพียง 25% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ขณะที่โครงการขุดเจาะและสำรวจใหม่ ๆ รวมถึงการพยายามรักษาระดับการผลิตไม่สามารถชดเชยกำลังผลิตที่ลดลงได้

ส่วนความต้องการถ่านหินจะเพิ่มขึ้น 160% และความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยจะเติบโตเฉลี่ย 3.8% ต่อปี เป็น 400ล้านเมกะวัตต์ในปี 2578 แต่การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นสิ่งจำเป็น

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่า ไทยมีแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่จำกัด จึงต้องนำเข้าเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างมาก จนกลายเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปี 2578 โดยไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มจากประมาณ 30% หรือ 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 90% หรือ 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าเพิ่มขึ้นมีโอกาสนำมาจากประเทศพม่าและการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมากที่สุด นอกจากนี้ จะมีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 60% ในปัจจุบัน เป็น 90% ในอนาคต ส่งผลให้ไทยต้องใช้เงินนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเพิ่มจาก 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2554 เป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2578

ที่มา -




นักวิชาการกังวลแผน PDP 2013ไม่ฟังความเห็นภูมิภาค / ส.ว. หวั่นใช้ก๊าซธรรมชาติมากเกินไป

ฟังความเห็นร่างแผน PDP 2013 ล่าช้าอาจไม่ทันสิ้นปี นักวิชาการหวั่นไม่ฟังความเห็นภาคประชาชน ต้องจัดเวที PDP ภูมิภาคได้แล้ว

ส.ว. ชี้แผน PDP 2013 ต้องลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันใช้ถึง 68% แนะใช้พลังงานที่มีเทคโนโลยีที่สะอาด-กระจายโรงไฟฟ้าและสายส่งให้ครอบคลุม

เมื่อวันที่ 9 ต. ค. 56 ที่ผ่านมา  ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและติดตามแผนการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศไทย วุฒิสภา ได้มีการพิจารณาความคืบหน้าการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสำหรับจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP ฉบับใหม่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเชิญอาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

อาจารย์เดชรัตน์ระบุว่าปัจจุบันการร่างแผน PDP 2013 มีความล่าช้า โดยเฉพาะการประชุมคณะทำงานทบทวนสมมติฐานแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งในปี 2556 นี้ยังพึ่งประชุมไปครั้งเดียวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจากการประชุมยังคงมีข้อถกเถียงกันเรื่องการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า (Load Forecast) เรื่องนิยามของพลังงานถ่านหินสะอาด และเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้สิ่งที่ตนเป็นห่วงนั่นก็คือการเริ่มต้นรับฟังความเห็นในส่วนของภูมิภาคต่างๆ ซึ่งหากจะให้แผน PDP 2013 เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ เดือนตุลาคมนี้ก็ควรต้องมีการเริ่มจัดเวทีในภูมิภาคต่างๆ ได้แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ไม่อยากให้มีการดำเนินการแบบรวบรัดแบบที่แล้วมา

อาจารย์เดชรัตน์ระบุว่าหากแผน PDP 2013 ได้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ แล้ว เชื่อว่าในการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าจะจำกัดวงแคบลงมาเพราะมีการให้ข้อมูลจากทุกฝ่าย

อนึ่งในการหารือในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 56 ที่ผ่านมานั้นนายวิบูลย์ ได้หารือในประเด็นเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า PDP 2013 ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ดังนี้

จากที่ขณะนี้กำลังผลิตไฟฟ้าของไทยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติถึง 68% และจากการประมูลได้ IPP สร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซเพิ่มอีก 5,400 MW ดังนั้นในการจัดทำแผน PDP 2013 ที่กำลังเร่งให้เสร็จปลายปีนี้ต้องคำนึงถึงเชื้อเพลิงที่จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ในแผน PDP 2013 ต้องไม่ใช้ก๊าซ เพราะขณะนี้ก๊าซธรรมชาติที่มีไม่เพียงพอให้ใช้เพิ่ม ต้องใช้ LNG ซึ่งแพงกว่าก๊าซที่ใช้อยู่ประมาณเท่าตัว และการใช้ก๊าซมากๆ จะเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างมาก

และควรหันไปใช้ถ่านหินสะอาดหรือนิวเคลียร์ เพราะขณะมีนี้เทคโนโลยีที่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ในขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านกำลังสร้างกันจำนวนหลายโรงแล้ว และเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจก็ควรออก พ.ร.บ. ควบคุมมาตรฐานต่างๆ ใช้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวดด้วย

นอกจากนี้ในการสนับสนุนการใช้หญ้าเนเปียร์ ตามที่กระทรวงพลังงานได้เคยประกาศให้ได้ 10,000 MW นั้น ต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่จะใช้ปลูกหญ้าจำนวนมาก และราคาที่อาจจะสูงขึ้นมากในอนาคต รวมทั้งต้องเร่งเจรจาจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำจากพม่าที่มีศักยภาพอยู่มาก และซื้อเพิ่มจากลาวให้มากขึ้น

รวมทั้งต้องกำหนดให้โรงไฟฟ้าและสายส่งที่จะสร้างใหม่กระจายให้ทั่วแต่ละพื้นที่สามารถรองรับความต้องการในพื้นที่ได้ และสายส่งกระจายไปให้สามารถถ่ายโอนได้เพื่อลดการสูญเสียในระบบ และลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟฟ้าดับ

สุดท้ายต้องกำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้มีการสนับสนุนให้ประชาชนใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน

ที่มา -