ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

8 สมาคมอุตฯ ประมง ผนึกต้านค้ามนุษย์ ป้องส่งออกแสนล้าน

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 28, 13, 19:10:41 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

8 สมาคมประมง ดิ้นเฮือกสุดท้ายจัดตั้ง "สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย" ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ หวังสหรัฐปรับการจัดอันดับไทยอยู่ในบัญชี Tier 2 Watch List เป็น Tier 3 อัตโนมัติกุมภาพันธ์ 2557 นี้


รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานสหรัฐ เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นต้นทาง-ปลายทาง และทางผ่านการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก โดยเหยื่อการค้ามนุษย์จะถูกบังคับใช้แรงงานและแสวงหาผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมกุ้ง การผลิตเสื้อผ้าราคาถูก การบังคับทำงานในโรงงาน การรับใช้ทำงานบ้าน และการบังคับขอทานตามท้องถนน

ภายใต้กฎหมาย Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA จัดลำดับประเทศที่มีการค้ามนุษย์ไว้ 3 ระดับขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 หรือ Tier 1 กลุ่มประเทศที่มีการดำเนินการโดยสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ตามกฎหมาย TVPA, ขั้นที่ 2 หรือ Tier 2 กลุ่มประเทศที่มีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย TVPA แต่ได้ใช้ความพยายาม "อย่างมีนัยสำคัญ" ในการปรับปรุงแก้ไข และขั้นที่ 3 หรือ Tier 3 กลุ่มประเทศที่มีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย TVPA และไม่ได้มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งประเทศไทยถูกจัดลำดับอยู่ในขั้นที่ 2 พิเศษ หรือ Tier 2 Watch List สินค้า 4 รายการ คือ กุ้ง สิ่งทอ อ้อย และสื่อลามก โดยติดต่อกันมาเป็นปีที่ 3 และจะขึ้นเป็นปีที่ 4 ในปี 2557 แล้ว ขณะที่กฎหมาย TVPA กำหนดว่า ประเทศที่ถูกจัดลำดับอยู่ใน Tier 2 Watch List 2 ปีติดต่อกัน ในปีถัดไปจะถูกปรับลดชั้นเป็นกลุ่มประเทศใน Tier 3 โดยอัตโนมัติ และสหรัฐอาจจะพิจารณาใช้มาตรการ "ระงับ" การให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และไม่ใช่ความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้าก็ได้ ขณะนี้สหภาพยุโรปนำประเด็นเรื่องแรงงานรวมอยู่ในการเจรจาข้อตกลงการค้าด้วย

สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้มี "ความเสี่ยง" ที่จะถูกลดระดับชั้นลงเป็น Tier 3 ภายในปี 2556 หากไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า มีพัฒนาการอย่างเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงแรงงานเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA แต่หากมีพัฒนาการที่สำคัญสมควรให้ปรับขึ้นระดับจาก Tier 2 Watch มาเป็น Tier 2 หรือ Tier 1 ได้เช่นกัน

แหล่งข่าวจากวงการอาหารทะเล เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในเร็ว ๆ นี้ภาคเอกชน 8 สมาคมที่ทำธุรกิจด้านประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวมกันหลายแสนล้านบาท จะร่วมกันลงนามจัดตั้งเป็น "สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย" เพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง และจะมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะไม่รับซื้อสินค้าจากเรือประมงที่ไม่สังกัดสมาคมประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย และมีการค้ามนุษย์ เพื่อแสดงให้ทางสหรัฐได้เห็นความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ก่อนที่จะมีการพิจารณาปรับอันดับประเทศไทยจากที่อยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List เป็นกลุ่มบัญชี Tier 3 อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2557

"เดือนกุมภาพันธ์ 2557 เราจะทราบผลการพิจารณาอย่างไม่เป็นทางการของรัฐสภาสหรัฐแล้ว ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขัน หากไทยถูกจัดอันดับไปอยู่ Tier 3 ตลาดหลักอย่างสหรัฐและยุโรปอาจจะเลิกซื้อสินค้าจากไทย จะเกิดผลกระทบมหาศาลต่อรายได้จากการส่งออก ทุกวันนี้เศรษฐกิจตกต่ำ การไปหาตลาดใหม่ ไม่สามารถทดแทนกำลังซื้อจากตลาดหลักอย่างอเมริกาและยุโรปได้ 8 สมาคมมีมูลค่าการค้ารวมกันหลายแสนล้านบาท เฉพาะทูน่ามียอดการส่งออกประมาณ 1 แสนล้านบาท ธุรกิจส่งออกกุ้งอีกประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานอีกเป็นล้านคนในธุรกิจเหล่านี้" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

โดยข้อตกลงที่จะไม่รับซื้อสินค้าจากเรือประมงที่ไม่สังกัดสมาคมประมง และมีการค้ามนุษย์นั้น เพราะปัจจุบันมีเรือประมงจำนวนมากยังไม่เป็นสมาชิกของสมาคม ทำให้ไม่สามารถควบคุมเรื่องการค้าแรงงานมนุษย์ได้เต็มที่ แต่เรือประมงที่จะเป็นสมาชิกของสมาคมประมงได้ 1.ต้องมีใบทะเบียนเรือที่ออกโดยกรมเจ้าท่า 2.ต้องมีอาชญาบัตรเรือ ตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ว่าด้วยการทำการประมงในบริเวณที่จับสัตว์น้ำ"


นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงให้เร่งรัดจัดระบบการทำการประมงของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยูของสหภาพยุโรป ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจึงพิจารณาแผนปรับปรุงการบริหารจัดการเรือประมงทะเลทั้งระบบ ให้เหมาะสมกับปริมาณทรัพยากร รวมถึงทำให้ทราบจำนวนเรือประมงที่ได้รับอนุญาต รวมถึงแรงงานภาคประมงที่ถูกต้อง เนื่องจากพบว่าเรือประมงที่ขออนุญาตขึ้นทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่ามีจำนวน 45,149 ลำ แต่จากการตรวจสอบของกรมประมงพบว่ามีเรือที่ทำการประมงอยู่ถึง 57,141 ลำ โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเรือที่มีอาชญาบัตรเพียง 17,199 ลำ

สำหรับขั้นตอนกระบวนการขึ้นทะเบียนชาวประมงนั้น ได้มอบหมายให้กรมประมงเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับขึ้นทะเบียนชาวประมง และประสานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 22 จังหวัดที่เป็นพื้นที่หลักในการทำประมง แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทะเบียนชาวประมงระดับจังหวัด โดยกรมประมงจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันตรวจสอบเรือประมงทั้งหมด

ที่มา -