ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ชี้ชะตาความมั่นคง

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 28, 13, 19:12:58 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนความเสี่ยงปัญหา  "ไฟฟ้าดับ" ที่ส่อแววจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากวันนี้สังคมไทยยังหาจุดตกลงกันไม่ได้ระหว่างการสร้างโรงไฟฟ้า กับ การต่อต้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญของสังคมไทยที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ เพราะจุดนี้จะเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ


ที่ผ่านมาสังคมไทยรับทราบมาโดยตลอดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นแทบทุกปี และการผลิตไฟฟ้าเริ่มเติบโตไม่ทันกับความต้องการใช้ หากเกิดปัญหากับเชื้อเพลิงหรือโรงไฟฟ้าขึ้นที่ใดที่หนึ่ง ความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะประสบกับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างจะเพิ่มสูงขึ้นทุกที ดังตัวอย่างที่เห็นได้เมื่อ เม.ย.56 ที่เมียนมาร์ปิดซ่อมแท่นวางท่อก๊าซธรรมชาติกว่า 10 วัน ก่อให้เกิดความโกลาหลหวั่นเกรงจะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ และกรณีฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้า จนทำให้ภาคใต้  14 จังหวัดเกิดไฟฟ้าดับขึ้นพร้อมกันเป็นเวลานาน

ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการที่ประเทศไทยเกิดความตึงตัวในการผลิตไฟฟ้า แม้สังคมไทยจะรับทราบปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่ยอมรับเพื่อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลพยายามผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3,200 เมกะวัตต์ให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ เพื่อเข้ามารองรับความต้องการใช้ที่จะทวีเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับหน้าที่เป็นผู้ก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียว

สาเหตุที่รัฐบาลเลือกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ราคาถูกเพียงกว่า 2 บาทต่อหน่วย ซึ่งใกล้เคียงกับก๊าซธรรมชาติ และจะทำให้ค่าไฟฟ้าของคนไทยไม่แพงจนเกินไป แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ก๊าซธรรมชาติในโลกใบนี้เหลือให้ใช้ได้อีกแค่เพียง 60 ปี ขณะที่ประเทศไทยเหลือใช้ได้อีกเพียง 10 ปีเท่านั้น ส่วนถ่านหินกลับมีเหลือใช้ในโลกนี้ได้ประมาณ 150 ปี ซึ่งยืนยาวและมั่นคงกว่า

แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค ที่วันนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ ก็มาจากสังคมยังไม่ยอมรับและไม่ให้ก่อสร้าง ปัจจัยหลักมาจากความตื่นกลัวเรื่องผงถ่านหิน อาจจะฟุ้งกระจายก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพกับชุมชน และเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด ซึ่งหลายคนยังคงจดจำภาพโรงไฟฟ้าแม่เมาะในอดีต จนทำให้หวาดกลัวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ๆ ขึ้น

นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า หากใครได้ไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง จะเห็นได้ว่าเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปจนหมดสิ้นแล้ว มีสภาพอากาศที่บริสุทธิ์ และยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้อนรับนักเดินทางมากมายในแต่ละปี เนื่องด้วยแม่เมาะได้พัฒนาเทคโนโลยีตัวโรงไฟฟ้าใหม่ จำกัดการฟุ้งกระจายของถ่านหินอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยลดปัญหาด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3,200 เมกะวัตต์ ที่รัฐบาลมอบหมายให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างนี้ เบื้องต้นจะก่อสร้างที่จังหวัดกระบี่ เป็นการสร้างทับโรงไฟฟ้ากระบี่เดิมที่หมดอายุลง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ กฟผ.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นตัวชี้วัดว่า ต่อไปภายภาคหน้า กฟผ.จะได้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหรือไม่! เพราะหากสร้างไม่ดีก่อให้เกิดมลภาวะขึ้น  ชาวบ้านคงไม่ยินยอมให้ กฟผ.ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกเป็นแน่

โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ที่จะสร้างขึ้น เป็นโรงไฟฟ้าแรกของปริมาณผลิตทั้งหมด 3,200 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างให้มีขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และจะขายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2562 จากนั้นโรงที่ 2 จะเกิดขึ้นในปี 2565 โรงที่ 3 ปี 2568 และโรงที่ 4 ปี 2571 ขนาดกำลังการผลิตเท่ากันคือโรงละ 800 เมกะวัตต์ ตามแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3)

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เบื้องต้นมีแนวโน้มที่น่าจะก่อสร้างได้ เพราะประเด็นปัญหาที่ชาวบ้านเป็นห่วงคือ กลัวการฟุ้งกระจายระหว่างขนส่งถ่านหินนั้น กฟผ.ได้เตรียมศึกษาการใช้สายพานระบบปิดลำเลียงถ่านหินจากท่าเรือสะพานช้างเข้ามายังโรงไฟฟ้าระยะทางกว่า

8 กิโลเมตร และกำลังพิจารณาว่าจะทำเป็นแบบอุโมงค์หรือแบบลอยฟ้า ที่สำคัญระบบปิดจะไม่ทำให้ถ่านหินฟุ้งกระจายออกมาข้างนอกได้เลย ลดปัญหาได้โดยสิ้นเชิง ส่วนกองถ่านหินจะมีการทำหลังคาคลุม และมีสเปรย์น้ำป้องกันลมพัด แก้ปัญหาการฟุ้งกระจายได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบบดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ที่อาจต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาท แต่หากเป็นผลดีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กฟผ.ก็พร้อมพิจารณาดำเนินการ

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน กฟผ.จึงได้เชิญสื่อมวลชนไปดูต้นแบบโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16-19 ก.ย.56 โดยเดินทางไปดูโรงไฟฟ้าจิมาร์ช ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้ามาเลเซีย ตั้งอยู่ริมหาดทะเลฝั่งช่องแคบมะละกา ใกล้ปากแม่น้ำสุไหง เซปัง รัฐเนกรีเซมบีลัน อยู่ห่างจากเมืองเซปัง 15 กิโลเมตร โดยโรงไฟฟ้าจิมาร์ชเป็นโรงไฟฟาถ่านหิน โดยนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย  และแอฟริกาใต้ ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 6,100 ล้าน  ริงกิต หรือประมาณหมื่นล้านบาท และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งมีอายุสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้ามาเลเซียถึง 25 ปี

นายเยน อัดนัน บินโมฮัมมัด หัวหน้าแผนกด้านความปลอดภัยสังคมและสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าจิมาร์ช กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจิมาร์ชมีพื้นที่ 600 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากแหล่งชุมชน และใช้วิธีถมทะเลให้พื้นที่โรงไฟฟ้ายื่นออกไปในทะเล เพื่อสะดวกต่อการขนส่งถ่านหินทางเรือ และลดปัญหากระทบกระทั่งเกี่ยวกับพื้นที่ของชาวบ้าน ดังนั้นจึงไม่ค่อยเกิดปัญหากับชุมชนมากนัก ซึ่งก่อนสร้างได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และมีการตรวจสอบด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นประจำ พร้อมทั้งส่งรายงานผลการตรวจสอบให้กลุ่มเอ็นจีโอดูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะบอกด้วยว่าก่อนและหลังการสร้างทางโรงไฟฟ้าจะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย และปัจจุบันได้ตรวจสอบสิ่งแวดล้อมทุกเดือนและส่งรายงานให้รัฐบาลดูด้วย ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดเกี่ยวกับมลพิษที่ปล่อยออกไป ทำให้การต่อต้านมีไม่มากนัก

นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประมง ซึ่งก่อนก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้เรียกกลุ่มประมงมาอธิบายเกี่ยวกับผลกระทบกับชาวประมง โดยโรงไฟฟ้ากำหนดให้เงินชดเชยกับชาวประมงในระหว่างที่กำลังก่อสร้าง แต่จะหยุดจ่ายเมื่อโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จ ส่วนน้ำที่ปล่อยออกไปได้รับการบำบัดแล้ว และแม้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกลายเป็นน้ำอุ่น ทำให้ปลามาอาศัยบริเวณนี้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการให้เงินช่วยเหลือกับชาวประมงไม่สามารถให้ได้ตลอดไป เพราะให้เท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่ความสัมพันธ์อันดีระยะยาวจะทำให้โรงไฟฟ้าอยู่ได้อย่างมั่นคง


อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าถ่านหินจิมาร์ชใช้วิธีลำเลียงถ่านหินระบบปิด ทำให้ไม่เห็นการฟุ้งกระจาย ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับที่

จังหวัดกระบี่ของไทยที่ กฟผ.จะเข้าไปก่อสร้าง และสิ่งสำคัญที่รัฐบาลตระหนักอย่างมาก ต่อการเลือกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กับคนไทย เพราะมองว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไทยจะต้องรักษาระดับค่าไฟฟ้าไม่ให้สูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุน

ดังนั้น หากวันนี้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว 4 โรงได้ ค่าไฟฟ้าในปี 2568-2571 จะทรงตัวระดับ 4 บาทต่อหน่วยได้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วย และจะเป็นค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าไต้หวันและเกาหลีใต้ ที่ปัจจุบันขึ้นไปถึง 6-7 บาทต่อหน่วย ซึ่งค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะทำให้ไทยได้เปรียบด้านความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนสูงตามไปด้วยวันนี้คงถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันตัดสินใจว่า จะให้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินได้หรือไม่ หรือไทยจะต้องกลายเป็นประเทศที่ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไปตลอด ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยเดินทางมาเกือบสุดทางตันแล้ว และควรเร่งหาจุดสมดุลของการสร้างโรงไฟฟ้ากับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างพอเหมาะ เพราะการตัดสินใจวันนี้จะเป็นรากฐานความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้ลูกหลานในอนาคตต่อไป.

บรรยายใต้ภาพ - ธาตรี ริ้วเจริญ

ที่มา -