ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

กฎหมายลิขสิทธิ์ ที่คนทำเว็บและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องระวัง

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 27, 15, 19:41:00 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ปัจจุบันการแชร์เนื้อหาสาระ การแชร์ข่าวผ่าน social network เช่น Line , facebook , youtube หรือแม้กระทั่ง การใช้ภาพและวีดีโอ จากทางอินเทอร์เน็ต หรือทาง Social Network นั้น ล้วนมีลิขสิทธิ์ หากคุณแชร์โดยไม่รู้กฎหมายลิขสิทธิ์ คุณก็มีสิทธิที่จะถูกฟ้องร้อง และอาจถูกทั้งจับคุกและปรับได้ ยิ่ง กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ 4 สิงหาคม 2558 นี้ด้วย


อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และที่ปรึกษาด้านกฏหมาย กล่าวถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คนทำเว็บและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ต้องระวัง ในงานสัมมนางานจิบกาแฟคนทำเว็บ ( Webpresso ) เรื่อง ตอบคำถามกับปัญหาคาใจบนโลกออนไลน์ ว่า....

" หากรูปใน facebook ถูก copy ไปใช้ในทางเชิงพาณิชย์ ในทางกฎหมาย ถ้าเราถ่ายเองหรือจ้างคนอื่นถ่าย ถือว่าภาพถ่ายนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของเรา   ทั้งนี้รูปที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินดารา ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

และ ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ กฎหมายลิขสิทธิจะมีผลบังคับใช้ หากคุณทำการหากคุณลบลายน้ำในรูป หรือทำการตัดครอปรูปโดย รูปนั้นไม่นำชื่อเจ้าของภาพ แล้วนำไปใช้ในเว็บตัวเอง หรือแชร์ทาง Social Network โดยไม่อ้างอิงเจ้าของตัวจริง  มี โทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 2 แสนบาท   ดังนั้น การ Copy รูปภาพบน  facebook , youtube ,  instagram , twitter , flickr หรือจากเว็บอื่น  ต้องให้ Credit ใส่ชื่อเจ้าของรูปอ้างอิงไว้ด้วย "

กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่จะมีผลในวันที่ 4สิงหาคม 2558 นั้น มีเจตนารม คือ เวลาจะเอาผลงานของใครมา ต้องเอาชื่อคนนั้นมาใส่ด้วย

หากเป็นการ copy เนื้อหาบนหน้าเว็บ  มาโพสต์ทาง facebook หรือเว็บเรา ผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ?
ถ้าเป็นรายบุคคล เป็น facebook ใช้ส่วนตัว สามารถใช้ได้  ทั้งนี้ต้อง  อ้างอิงแหล่งที่มา  ใช้ส่วนตัว  และ ไม่มีแสวงหาผลกำไร ถึงจะไม่ผิดลิขสิทธิ์
แต่ถ้าในกรณีนิติบุคคล ถือว่าไม่ได้  ถ้าเว็บไซต์คุณมีแบนเนอร์  หรือ facebook มีกิจกรรมชิงโชค ถือว่า ผิดลิขสิทธิ์

ถ้าเว็บไซต์ หรือ blog ของเรา นำ embed วีดีโอจาก youtube แปะใส่ในหน้าเว็บเราล่ะ ทำได้มั้ย ผิดหรือเปล่า?
embed ของ youtube ใส่หน้าเว็บเราเป็นสิงที่อันตราย  เพราะลิขสิทธิ์ของเขา แต่อยู่ภายใต้เวบของเรา ซึ่งผิดลิขสิทธิ์
ดังนั้นวิธีแก้คือ ใส่ภาพนิ่งเป็นตัวอย่างภาพวีดีโอนั้น พร้อมกับทำลิงค์ไปยังวีดีโอเจ้าของคลิป อันนี้สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์

หากกลุ่มผู้ผลิตรายการทีวี ต้องการนำคลิป Youtube ไปใช้ควรทำอย่างไร ?
ต้องเผยชื่อ user youtube เจ้าของคลิปนั้น เพื่ออ้างอิง  และคลิปที่ใช้ได้ต้องเผยแพร่แบบสาธารณะ
ถ้าเป็นคลิป youtube แบบ Private หรือแชร์ลิงค์เฉยๆที่ไม่ใช่สาธารณะนำมาใช้ ถือว่าผิดลิขสิทธิ์
กรณีแฟนเพจ facebook แชร์ภาพของ fanpage อื่น เพื่อเรียกเรตติ้ง มีความเสี่ยงถูกฟ้อง เพราะเรื่องแสวงหาผลกำไร


ดังนั้น หากไม่อยากโดนฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ควรถ่ายเอง วาดเอง หรือขอจากเจ้าของรูปเอง ก็ใช้ได้ แต่ถ้าเอาจาก google อาจโดนฟ้องได้ และถูกเรียกเงินสูงด้วย

ถ้าแปลจากเว็บต่างประเทศ  แล้วอ้างอิงให้แล้ว ผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ? 
ถ้าเป็นเนื้อหาข่าว ไม่ผิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าเป็นบทความอาจผิดลิขสิทธิ์ได้ ถ้าใช้ในเรื่องแสวงหาผลกำไร หรือใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ การนำเนื้อหามารีไรท์เรียบเรียงใหม่ ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้า copy paste แปลรายคำ ถือว่าผิดลิขสิทธิ์

ตัวอย่างเนื้อหาข่าวที่ไม่ผิดลิขสิทธิ์ เช่น เนื้อหาข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อมูลทั่วไป  ราคาหุ้น พยากรณ์อากาศ หนังฉายวันนี้ ราคาน้ำมัน ผลการแข่งขันฟุตบอล อันนี้ไม่เป็นลิขสิทธิ์  สามารถแชร์ หรือใช้ได้

แต่ถ้าเป็น พวกภาพข่าว รูป บทสัมภาษณ์ข่าว  คอลัมน์ข่าว ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ หากนำไปใช้โดยไม่ขออนุญาตเจ้าของภาพ หรือเจ้าของคอลัมน์ อาจเสี่ยงถูกฟ้องในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้

ที่มา -




พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558




ไขข้อข้องใจ 10 คำถาม คำตอบ กฎหมายลิขสิทธิ์ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ โพสต์ แชร์ อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย

กรมทรัพย์สินทางปัญญาไขข้อข้องใจกฎหมายลิขสิทธิ์ เปิดคำถาม คำตอบ 10 ข้อ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ หวังสกัดความปั่นป่วนในโลกโซเชียล หลังทั้งโพสต์ ทั้งแชร์กระหน่ำ "มาลี" เผยเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจในเรื่องลิขสิทธิ์
   
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำคำถาม คำตอบ จำนวน 10 ข้อ เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หลังจากเกิดความไม่เข้าใจในสังคมขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทำแบบนั้น ทำแบบนี้ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย เป็นต้น กรมฯ จึงต้องออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก

โดย 10 คำถาม คำตอบ มีรายละเอียดดังนี้

1. ลิขสิทธิ์คุ้มครองอะไรบ้าง มีอะไรที่เราสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่

ตอบ ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไปในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

2. เราสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเทอร์เน็ตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้ไหม

ตอบ การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ก็สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้วจึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน

3. การก๊อบปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟซบุ๊กของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ ทำได้หรือไม่

ตอบ บทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการก๊อบปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) อย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

4. การนำงานมาใช้และเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ที่จะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ตอบ การนำงานมาใช้และเผยแพร่ ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ จึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย

5. การแฮกหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพหรือคลิปวิดีโอบนอินเทอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิตอลออก และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา มีความผิดอย่างไร และมีโทษเท่าใด

ตอบ การแฮกหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และหากทำการลบลายน้ำดิจิตอลออกโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิด ก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน

โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท เพื่อการค้า 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท เพื่อการค้า ปรับ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. การก๊อบปี้ภาพหรือบทความจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ในลักษณะอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ และอย่างไรจึงไม่ต้องขออนุญาต

ตอบ กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

7. การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทิวบ์มาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ตอบ การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทิวบ์มาไว้ที่บล็อกของเราถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์

ในกรณีของการแชร์ลิงก์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

8. หากซื้อซีดีเพลง หนังสือ หรือรูปภาพมาอย่างถูกต้อง เมื่อใช้แล้วจะนำออกขายต่อได้หรือไม่ กรณีซื้อโดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เพลงจากเว็บไซต์ จะขายต่อได้หรือไม่

ตอบ การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้น จึงสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้

9. ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) เช่น YouTube Google True DTAC จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอัปโหลดหนังหรือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์

ตอบ ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

10. จะทำอย่างไรเมื่อมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ตอบ เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล

นางมาลีกล่าวสรุปว่า จากกรณีข้อสงสัยที่เกิดขึ้น ถือเป็นข้อดีที่ทำให้คนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ มีจิตสำนึกว่างานที่จะนำไปใช้มีเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ และมีการคิดก่อนแชร์ คิดก่อนใช้ ซึ่งกรมฯ ขอแนะนำว่าถ้าไม่ชัวร์ ไม่แชร์จะดีกว่า

ที่มา Data & Pictures -