ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

รัสเซียมองไกล ‘เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ’ จะกลบรัศมี ‘เส้นทางสายไหม’

เริ่มโดย mrtnews, ม.ค 20, 14, 20:12:07 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com) Moscow Sees Northern Sea Route Vitiating Great Silk Road By Paul Goble 16/01/2014

มอสโกเชื่อว่า "เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ" ที่กำลังเปิดใช้งานได้มากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากการถดถอยของแผ่นน้ำเข็งบริเวณอาร์กติก จะเป็นเส้นทางซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างที่สุดในการค้าระหว่างตะวันออก-ตะวันตก หาใช่ "เส้นทางสายไหมสายใหม่" ที่เป็นเส้นทางคมนาคมทางบกจากประเทศจีนไปยุโรปแต่อย่างใดไม่ ขณะเดียวกัน เส้นทางทะเลสายนี้ก็จะส่งเสริมเพิ่มพูนอิทธิพลบารมีของสหพันธรัฐรัสเซีย ต่อการค้าดังกล่าว

       
เมื่อตอนที่สหภาพโซเวียตแตกออกเป็นเสี่ยงๆ หลายๆ ฝ่ายในยุโรปและในสหรัฐฯออกมาพูดเกี่ยวกับการสร้างเส้นทางสายไหม (Great Silk Road) เวอร์ชั่นอัปเดต ที่จะเชื่อมโยงจีนกับยุโรปโดยผ่านประเทศต่างๆ ในเอเชียกลางและแถบเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) ซึ่งก็จะช่วยปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสของภูมิภาคเหล่านี้ให้ยิ่งถอยออกห่างจากมอสโก และหันมายังฝ่ายตะวันตก จากนั้นก็มีการดำเนินการไปอย่างมากมายทีเดียวเพื่อทำให้โครงการดังกล่าวนี้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย เครือข่ายทางหลวง, ทางรถไฟ, และสายท่อส่งก๊าซท่อส่งน้ำมัน กลายเป็นความจริงขึ้นมา (ดูเรื่อง "Central Asia, Afghanistan and the New Silk Road: Political, Economic and Security Challenges," The Jamestown Foundation, November 14, 2011)

แต่ถึงแม้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังคงเดินคืบหน้าต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้มีการเปิดหนทางติดต่อเชื่อมโยงระหว่างยุโรปกับเอเชียเส้นใหม่ นั่นก็คือ เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ (Northern Sea Route) มาถึงตอนนี้พวกผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียเชื่อว่า เส้นทางใหม่นี้ต่างหาก หาใช่การพัฒนาเส้นทางสายไหมสายใหม่ใดๆ เลย ที่จะแสดงบทบาทครอบงำการค้าระหว่างตะวันออก-ตะวันตก ไม่เพียงเท่านั้น มันยังจะเปิดให้สหพันธรัฐรัสเซียมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการค้านี้อีกด้วย
       
รัสเซียมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องการเดินเรือในแถบทะเลอาร์กติก (Arctic Sea) ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากแผ่นดินใหญ่ทางบกของตน ทว่าก่อนหน้านี้ แดนหมีขาวแทบจะใช้เส้นทางดังกล่าวเฉพาะเพื่อการลำเลียงข้าวของไปยังจุดต่างๆ ตามแนวชายฝั่งที่มีประชากรดำรงชีพอยู่ และเพื่อการขนถ่ายนำเอาทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ออกมาใช้ในสถานที่อื่นๆ แต่ในระยะทศวรรษหลังๆ มานี้ แบบแผนเช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นผลมาจากการที่โลกร้อนขึ้น จนทำให้แผ่นน้ำแข็งแถบอาร์กติกละลายถอยร่นขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เกิดการปฏิวัติในการเดินเรือทะเล สืบเนื่องจากการใช้ตู้คอนเทนเนอร์แบบมาตรฐานที่สามารถขนถ่ายขึ้นลงยานขนส่งรูปแบบต่างๆ โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายสินค้าภายในตู้ จนทำให้การขนส่งสินค้าทางทะเลมีราคาถูกลงกว่าวิธีการอื่นเป็นอันมาก
       
แนวโน้มทั้ง 2 ประการนี้ ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุดในระหว่างทศวรรษ 1990 เมื่อตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย แล้วรัสเซียและกองเรือภาคเหนือของพวกเขาก็ตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย สถานการณ์เช่นนี้เองเปิดทางให้นานาชาติเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับดินแดนแถบอาร์กติกเพิ่มมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้หลายๆ ฝ่ายมีความเข้าใจไปว่า เส้นทางสายไหมจะยังคงเป็นหนทางที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับยุโรปไปอีกนานแสนนาน
       
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ อเล็กซานเดอร์ โปรนิน (Aleksander Pronin) ระบุเอาไว้ในบทวิเคราะห์ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ Stoletie.ru ว่า รัสเซียกำลังเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูฐานะของตนในแถบอาร์กติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องมาจากรัสเซียมีความสนใจในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่แถบนี้ เป็นต้นว่า ก๊าซและน้ำมัน แต่เหตุผลอีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นเพราะมอสโกมีความสนใจที่จะตอบโต้ต้านทานผลพวงต่อเนื่องเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของโครงการเส้นทางสายไหมสายใหม่ ที่ยังไม่ได้ถูกท้าทายใดๆ เลย
       
โปรนิน หยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตแล้ว เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือก็ยิ่งมีความสำคัญต่อรัสเซียเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจาก "เมืองท่าติดทะเลแห่งสำคัญๆ ในภาคพื้นยุโรปของอดีตสหภาพโซเวียตนั้น เวลานี้ส่วนใหญ่ทีเดียวตกไปเป็นสมบัติของยูเครน, จอร์เจีย, และพวกประเทศแถบทะเลบอลติก" เสียแล้ว ยิ่งกว่านั้นเครือข่ายการสัญจรด้วยรางรถไฟระหว่างรัสเซียกับยุโรป ก็ต้องผ่านพวกอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตที่เวลานี้ต่างกลายเป็นรัฐเอกราช มีเพียงเส้นทางทะเลทางตอนเหนือเท่านั้น ที่รัสเซียสามารถติดต่อค้าขายกับเหล่าประเทศตะวันตกได้โดยไม่มีอุปสรรคข้อติดขัด
       
ถือเป็นโชคร้ายที่ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต แทนที่จะคอยพิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ของรัสเซียในแง่มุมนี้ ก็กลับไปประกาศในปี 1987 ว่า ตั้งแต่นี้ไป "เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ (ควรที่จะ) เปิดให้แก่การเดินเรือระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์" บอริส เยลตซิน (Boris Yeltsin) ผู้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของรัสเซีย หลังจากสหภาพโซเวียตพังครืนลงไปแล้ว ยังคงสืบต่อดำเนินนโยบายที่ โปรนิน บรรยายว่าเป็น นโยบาย "ที่สร้างความวิบัติ" ซึ่งผลกระทบของมันยิ่งแผ่ลามกว้างขวางมากขึ้นอีก จากการที่กองเรือพาณิชย์ภาคเหนือของรัสเซียก็อยู่ในภาวะล่มสลายไปในทางเป็นจริงเสียแล้ว
       
ทั้งนี้เมื่อถึงช่วงประมาณปลายทศวรรษ 1990 การเดินเรือทะเลของรัสเซียตามชายฝั่งแถบอาร์กติก มีปริมาณน้อยกว่ายุคสหภาพโซเวียตในช่วงต้นทศวรรษ 1930 ด้วยซ้ำ หลังจากทำการสำรวจสถานการณ์เช่นนี้ในตอนนั้นแล้ว ประธานคณะกรรมการภาคเหนือแห่งรัฐรัสเซีย (Russian State Committee for the North) กล่าวว่า "การฟื้นฟูเส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ เป็นไปได้ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญใหญ่หลวงที่สุดสำหรับรัสเซีย ทว่าสหพันธรัฐรัสเซียไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนเส้นทางนี้ได้"
       
แทบไม่มีใครเลยในมอสโกเวลานั้นที่ดูเหมือนจะสังเกตเห็นสิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นนี้ ถึงแม้ว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทางภาคเหนือของรัสเซียต่างประสบความลำบากเดือนร้อน, การส่งออกวัตถุดิบต่างๆ จากภาคเหนือของรัสเซียโดยใช้เส้นทางเดินเรือทางทะเลมีปริมาณลดต่ำลง, และประเทศอื่นๆ ต่างเคลื่อนเข้ามาเพื่อพยายามฉวยโอกาสความได้เปรียบ โปรนินระบุว่า การเดินเรือทะเลที่เสื่อมโทรมลงของรัสเซียยังก่อให้เกิดผลต่อเนื่องอันร้ายแรงอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อไม่มีการเดินเรือทะเลเสียแล้ว ก็ไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงให้เครื่องบินรัสเซียใช้ ผลก็คือ บริการทางอากาศภายในประเทศของรัสเซียในเขตเหนือไกลโพ้น (Far North) อยู่ในสภาพพังพินาศในทางเป็นจริง
       
ทั้งหมดเหล่านี้ต่างกำลังส่งผลต่อเนื่องในทางลบอย่างสำคัญที่สุดต่อฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่ากำลังมีเรือซึ่งชักธงที่ไม่ใช่ธงรัสเซียไหลบ่าเข้ามาในอาณาบริเวณดังกล่าว นักวิเคราะห์ชาวมอสโกผู้นี้แจกแจงต่อ อย่างไรก็ดี สิ่งต่างๆ กำลังเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุดประการต่างๆ ของรัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เกย์ ชอยกู (Sergei Shoigu) เป็นต้นว่า การเพิ่มขยายปริมาณของกองเรืออาร์กติกของรัสเซีย, การฟื้นฟูฐานทัพอากาศทางทหารในภาคเหนือ, การก่อตั้งกองพลน้อยอาร์กติกพิเศษขึ้นมาในกองทัพ และการส่งกำลังพลและวัสดุอุปกรณ์เข้าไปตั้งประจำอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ ของแถบอาร์กติก ตลอดจนประจำอยู่บนเรือต่างๆ เหล่านี้ โปรนินบอกว่า ล้วนแต่ก่อให้เกิดความหวังในทางบวกทั้งสิ้น

       
แต่โปรนินบอกว่า ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ได้แก่การกำหนดกรอบโครงของผลประโยชน์ที่รัสเซียจะได้รับจากอาณาบริเวณแถบนี้ โดยที่เรื่องนี้ในปัจจุบันยังคงมีสภาพเป็นเพียง "เอกสารสรุปความคิด (concept paper) ว่าด้วยผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซียในแถบอาร์กติก" เขาชี้ว่า เอกสารดังกล่าวนี้ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นเอกสารลับนั้น จะก่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนขึ้นมาว่า การพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ในมหาสมุทรตอนเหนือของรัสเซียนั้น มีความสำคัญมากยิ่งกว่าเพียงแค่เป็นเรื่องความมั่นคงและการเข้าถึงทรัพยากรในภูมิภาคแถบนั้นเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องของการตอบโต้ทัดทานความสำคัญของโครงการเส้นทางสายไหมสายใหม่ ที่ฝ่ายตะวันตกได้ลงทุนลงแรงไปด้วยความหวังมากมายอีกด้วย
       
พอล โกเบิล เป็นผู้ชำนาญการด้านปัญหาทางชาติพันธุ์และศาสนาในยูเรเชียมาอย่างยาวนาน เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและสิ่งพิมพ์ ของสถาบันการทูตอาเซอร์ไบจัน (Azerbaijan Diplomatic Academy) , รองคณบดีด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยออเดนเตส (Audentes University) กรุงทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย ทั้งนี้ก่อนที่จะหันมาทำงานแวดวงวิชาการเมื่อปี 2004 เขาได้เคยทำงานในหน้าที่ต่างๆ ในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ, สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ, ตลอดจนวิทยุเสียงอเมริกา และ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี้
       
(ข้อเขียนนี้มาจาก "Eurasia Daily Monitor" ฉบับ Volume: 11 Issue: ทั้งนี้ Eurasia Daily Monitor เป็นสิ่งพิมพ์ของมูลนิธิ เดอะ เจมส์ทาวน์ ฟาวน์เดชั่น The Jamestown Foundation ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี)

ที่มา -