ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

สำรวจทางเชื่อมไทย-มาเลย์ ระบบ "โลจิสติกส์" ผลักการค้า

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 14, 13, 16:54:22 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

หากกล่าวถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อีกหนึ่งเรื่องหลักที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในเวลานี้คือ "โลจิสติกส์" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคโตอย่างต่อเนื่อง หากมีการเชื่อมต่อเส้นทางการค้าที่มีประสิทธิภาพต่อกัน


รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยการสังเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศไทย จากการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ และการปรับรูปแบบโซ่อุปทาน ภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นำคณะทีมวิจัยและสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ประเทศ "มาเลเซีย" โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้สนับสนุนโครงการดังกล่าว

เป้าหมายการวิจัยพุ่งไปที่ขีดความสามารถ ตลอดจนผลกระทบของโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ในการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดในปลายปี 2558 รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบขนส่งทางถนนสู่ระบบรางมากขึ้น และเพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของมาเลเซีย ที่ด่านปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา

ในการเดินทางวันแรก คณะเดินทางเข้าชมงานที่ด่านศุลกากรสะเดา เพื่อเป็นการตั้งต้นสำหรับการสำรวจเส้นทางระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่งด่านสะเดาแห่งนี้มีตัวเลขการค้าในปี 2555 ถึง 291,723.39 ล้านบาท

นอกจากนี้ ด่านสะเดายังนับได้ว่าเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมถนนเพชรเกษม หรือเส้น AH2 เข้ากับทางด่วนระหว่างรัฐ หรือ Federal Highway สาย E1 ในมาเลเซีย ถนนสายนี้ตัดจากด่านบูกิต กายู ฮิตัม ฝั่งตรงข้ามด่านสะเดา ไปสิ้นสุดที่ประเทศสิงคโปร์ และยังเชื่อมไทยให้ไปสู่ท่าเรือกลัง ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของมาเลเซียอีกด้วย ตั้งห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ในเขตเมืองกลัง รัฐสลังงอร์ ติดกับช่องแคบมะละกา

นอกจากด่านสะเดา และด่านศุลกากรที่สำคัญอีกแห่ง คือด่านบ้านประกอบ ใน อ.นาทวี ห่างจากหาดใหญ่ 90 กิโลเมตร ซึ่งเปิดใช้ครั้งแรกในปี 2553 เชื่อมกับจุดผ่านแดนโกตา ปุตรา ของมาเลเซีย ด่านนี้มีจำนวนรถยนต์เข้าออกปี 2554 จำนวน 6,499 คัน และปี 2555 จำนวน 5,491 คัน รถยนต์ที่ผ่านด่านนี้ มีทั้งนักท่องเที่ยว และคนในพื้นที่ใช้เดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงความหนาแน่นที่ด่านสะเดา

คณะทีมวิจัยเดินทางไปยังสถาบันขนส่งแห่งประเทศมาเลเซีย หรือ MITRANS ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมารา สถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญในเรื่องโลจิสติกส์ ตั้งอยู่ในเมืองชาช์อาลัม รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย MITRANS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538

เดิมทีเป็นศูนย์ศึกษาโลจิสติกส์ขนาดเล็ก และเป็นส่วนหนึ่งในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมารา จนเมื่อปี 2549 รัฐบาลมาเลเซียเริ่มเล็งเห็นความสำคัญด้านโลจิสติกส์ จึงมีการผลักดันให้ศูนย์ดังกล่าวเป็นสถาบัน และให้งบประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี เพื่อทำวิจัยในเรื่องโลจิสติกส์ รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชนด้วย

นอกจากนี้ MITRANS ยังมีบทบาทสำคัญในการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระบบ National Single Window : NSW ที่เป็นระบบกลางการเชื่อมข้อมูลด้านศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียและประเทศอาเซียนอีกด้วย

จากทริปสำรวจดังกล่าวพบว่ามาเลเซียมีความแข็งแกร่งในด้านบริการขนส่งข้ามพรมแดนกับไทยอย่างมาก เนื่องจากรัฐลงทุนในด้านนี้ มีศูนย์โลจิสติกส์สำหรับเปลี่ยนหัวรถ เปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ เติมน้ำมันรถบรรทุก ส่วนไทยยังมีปัญหาเรื่องต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันที่แพงกว่า รวมไปถึงไม่มีการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโลจิสติกส์ระหว่างไทย-มาเลเซีย หากต้องการให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ต้องมีการบูรณาการอย่างแข็งขันระหว่างกัน เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินในการขนส่งสินค้าระหว่างกัน และลดต้นทุนสินค้าหลายชนิด ก็ยังเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้เดินทางและประชาชนอีกด้วย


ที่มา -