ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

โรงกลั่นกับราคาน้ำมันของไทย - โดย: ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล

เริ่มโดย mrtnews, มี.ค 18, 14, 21:42:33 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ในขณะนี้สื่อมวลชนและประชาชนต่างให้ความสนใจเรื่องราคาน้ำมันในประเทศไทยกันมาก ว่าแพงจริงหรือ? และมีผู้สนใจถามเรื่องโรงกลั่นน้ำมันกันมามาก


ผมอยู่ในแวดวงธุรกิจน้ำมันมาเกือบ 30 ปี อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาถึง 8 ปี แม้ในปัจจุบันไม่ได้ทำงานในด้านบริหารกิจการน้ำมันอีกต่อไป และไม่มีส่วนได้เสียในกิจการน้ำมัน แต่ก็ยังติดตามสถานการณ์น้ำมันอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าข้อเขียนนี้คงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้สนใจ ความเห็นดังต่อไปนี้ บางส่วนเป็นการตอบข้อสงสัย บางส่วนเป็นความเห็นส่วนตัว มาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ทำงานอยู่ในธุรกิจน้ำมัน

โรงกลั่นไทยสร้างเพื่อทดแทนการนำเข้า ส่วนสิงคโปร์สร้างเพื่อการส่งออก ต้นทุนก่อสร้างและค่าดำเนินการของไทยสูงกว่า เพราะสิทธิประโยชน์ที่โรงกลั่นไทยได้รับน้อยกว่า การก่อสร้างโรงกลั่นใน ปัจจุบันอาจสูงกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ (ขึ้นอยู่กับขนาดและความซับซ้อน) ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นไทยสูงกว่าของโรงกลั่นสิงคโปร์จริง ซึ่งเป็นการกำหนดราคาเทียบเท่ากับการนำเข้า (import parity) โดยใช้ราคาน้ำมันอ้างอิงที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางตลาดน้ำมัน ราคาที่สูงกว่าหลักๆ มาจากมีส่วนเพิ่มคือค่าขนส่งค่าประกันและค่าสูญเสีย (สิงคโปร์มาไทย) ประมาณ 2 ดอลลาร์ สหรัฐต่อบาร์เรล ค่าปรับคุณภาพตามมาตรฐานไทย ประมาณ 2.5 - 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และค่าสำรองตามกฎหมาย

โรงกลั่นไทยมีค่าการกลั่น หรือกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย (Gross Refinery Margin or GRM) 3 ปีย้อนหลังประมาณ 5 - 6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (เฉพาะส่วนโรงกลั่นไม่รวมปิโตรเคมี) ค่าใช้จ่ายดำเนินการทั้งหมดประมาณ 3.5 - 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือกำไรสุทธิก่อนเสียภาษีไม่มาก แค่ 1.5 - 2.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถ้าตัดค่าขนส่งออก จากสูตรราคาจะพบว่าโรงกลั่นไทย จะอยู่ได้ยากมาก อาจจะขาดทุนหรือกำไรไม่มากพอที่จะจ่ายหนี้ต่างๆ ได้ ในอดีตช่วงวิกฤต เช่น ต้มยำกุ้ง GRM เหลือแค่ 1 - 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้โรงกลั่นแทบจะปิดกิจการต้องมีการปรับโครงสร้างการเงิน

ปัจจุบัน บริษัทที่มีโรงกลั่น พยายามหาทางเพิ่มรายได้และกำไรจากธุรกิจอื่นๆ เข้ามาเสริม เนื่องจากการดำเนินธุรกิจโรงกลั่นมีความเสี่ยงสูงมาก เช่น ขายปลีก ปิโตรเคมี พลังงานทดแทน ผลิตไฟฟ้าสาเหตุที่โรงกลั่นต้องส่งออกและราคาถูกกว่าราคาขายภายในประเทศ สาเหตุมาจาก โรงกลั่นไม่สามารถใช้กำลังผลิตได้เต็มที่ ปกติโรงกลั่นจะกลั่นน้ำมันเพื่อขายในประเทศเป็นหลัก เพราะได้ราคาสูงกว่าส่งออก แต่เนื่องจากกำลังผลิตเหลือโรงกลั่นจึงต้องพิจารณาเป็นช่วงๆ ว่าการกลั่นเพิ่มจะคุ้มค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มหรือไม่ และต้องมีราคาใกล้เคียงกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งโรงกลั่นสิงคโปร์เพื่อให้แข่งขันได้

โรงกลั่นของไทยผลิตน้ำมันขายในประเทศเป็นหลัก และการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เช่น เอทานอล และไบโอดีเซลมาทดแทนน้ำมันก็ทำให้มีน้ำมันส่วนเกินเพิ่มมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องส่งออก เพราะประโยชน์จะตกอยู่กับประเทศประหยัดเงินตราต่างประเทศ ในการนำเข้าน้ำมันและสารเพิ่มคุณภาพ MTBE ขณะที่เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมั่นคงต่อเนื่องจาก อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน สามารถเอามาเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ ปัจจุบันสามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันได้ราว 40,000 ล้านบาทต่อปี

โรงกลั่นผูกขาดโดย ปตท. เพราะถือหุ้นในโรงกลั่น 5 โรง จากทั้งหมด 6 โรง จากการบริหารโรงกลั่นมาเป็นเวลานานไม่เคยเห็น ปตท. มีคำสั่งให้ขึ้นราคาน้ำมัน มีแต่ ปตท.มาขอเจรจาปรับราคาลดลง เนื่องจาก ปตท. เป็นผู้ค้ารายใหญ่ซื้อน้ำมันไปขายต่อต้องการได้ราคาถูก ทุกครั้งที่มีการปรับคุณภาพน้ำมัน ทางภาครัฐมาขอให้ทางโรงกลั่นปฏิบัติตาม เพราะต้องการลดมลพิษและบริษัทรถยนต์ก็ต้องการได้คุณภาพน้ำมันที่ดีขึ้น โรงกลั่นยินดีทำให้แต่ขอให้ปรับราคาขึ้นเนื่องจากต้องไปกู้เงินมาลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งต้องการผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล คุ้มค่ากับการลงทุน

สิ่งสำคัญที่ ปตท. ได้ช่วยเหลือโรงกลั่น คือการจัดซื้อน้ำมันดิบที่เป็นชนิดเดียวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองจากผู้ขาย รวมทั้งพยายามขนส่งน้ำมันมาด้วยกันด้วยเรือขนส่งขนาดใหญ่เพื่อประหยัดค่าขนส่ง


การเจรจาต่อรองระหว่างโรงกลั่นกับ ปตท. ค่อนข้างเข้มงวดจริงจังมากทั้ง 2 ฝ่ายเพราะไม่มีใครยอมใครง่ายๆ เมื่อครั้งที่โรงกลั่น SPRC และ RRC (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ PTTGC) ปตท. มาเจรจาขอลดราคา ตามสูตรหลักการเดียวกับปัจจุบัน ทำให้โรงกลั่น 3 โรงขณะนั้นมีรายได้ลดลงกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นในช่วงนั้นมาก นอกจากต้องลดราคาขายลงแล้ว ต้องลดปริมาณกลั่นลงด้วยเนื่องจากกำลังผลิตใหม่เกินความต้องการของประเทศมาก

นอกจากนี้ บริษัทที่มีโรงกลั่นส่วนใหญ่เป็นบริษัทมหาชน มีคณะกรรมการบริษัทที่คอยดูแล ผู้แทน ปตท. ที่เป็นกรรมการไม่สามารถบังคับให้โรงกลั่นทำอะไรได้ตามใจชอบ เพราะตามหลักการกำกับกิจการที่ดี ต้องมีการรายงานรายการระหว่างกันซึ่งต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียด สำหรับราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นจะใกล้เคียงกัน เพราะถ้าแข่งขันกันลดราคาก็จะขาดทุน ดำเนินกิจการไม่ได้

บางคนอาจสงสัยว่าโรงกลั่นฮั้วราคากัน อย่างที่อธิบาย น้ำมันคุณภาพเหมือนกัน ไม่มีโรงกลั่นไหนยอมขายราคาแพงถูกกว่ากัน เพราะมีผลต่อผู้ซื้อและปริมาณน้ำมันที่เหลือ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ โรงกลั่นในไทยสร้างขึ้นมาเพื่อขายภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติ กำลังผลิตโดยรวมจะต้องใกล้เคียงกับความต้องการของประเทศอาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ถ้าจะสร้างโรงกลั่นใหม่ขึ้นมาด้วยเงินลงทุนมหาศาล เพื่อมาแข่งขันแย่งตลาดกันหรือเพื่อส่งออกอย่างเดียว รับรองว่าคิดผิด เพราะจะต้องขาดทุนไม่คุ้มค่ากับการลงทุนแน่นอน

บริษัทน้ำมันได้ค่าการตลาดสูงโดยเฉพาะ E85 ค่าการตลาด 5 - 6 บาทต่อลิตร เป็นความจริง 2 ปีก่อนค่าการตลาด E85 สูงกว่านี้อีก ตลอด 20 กว่าปีที่ขายปลีกน้ำมันค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันเฉลี่ยราว 1.5 บาทต่อลิตร ไม่มีโอกาสได้ปรับขึ้น แต่ช่วง 6 - 7 ปีก่อน ค่าการตลาดต่ำกว่านี้มาก เพราะทางภาครัฐเข้ามาขอร้องผ่านทางผู้ค้ารายใหญ่ให้ช่วยตรึงราคา ทำให้ผู้ค้ารายเล็กเดือดร้อน บางรายต้องขายกิจการทิ้ง

ผู้ค้าน้ำมันขายปลีกไม่ได้ประโยชน์จากการขายแก๊สโซฮอล์ E10 E20 E85 หรือดีเซล B5 เพราะค่าการตลาดเฉลี่ยก็ยังเหมือนเดิมไม่ต่างจากการขายน้ำมันปกติ ขณะที่ผู้ค้าที่มีโรงกลั่นต้องเสียผลประโยชน์จากการที่ปริมาณน้ำมันที่ผลิตขายได้ลดลงเพราะถูกแทนที่ด้วยเอทานอล และไบโอดีเซล เนื่องจากน้ำมันประเภทนี้ประเทศและเกษตรกรได้ประโยชน์มาก ผู้ค้าจึงให้ความร่วมมือส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ ระยะแรกก็ต้องลดราคาให้ถูกกว่าน้ำมันปกติ เป็นการจูงใจ โดยอาศัยกองทุนน้ำมันและภาษีมาช่วยเรื่องส่วนต่างราคา

นอกจากนี้ยังต้องจูงใจให้ผู้ค้าปลีกสถานีบริการมาขายกันมากๆ โดย E85 ต้องจูงใจมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะเรื่องราคาต้องต่ำพอควร ทั้งนี้ ผู้ค้าน้ำมันต้องลงทุนปรับปรุงระบบจ่ายน้ำมันใหม่ เพื่อให้ทนกับเอทานอลที่ผสมในปริมาณสูง ตกหัวจ่ายละประมาณ 2 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายน้ำมัน E85 ต่ำมากเพราะมีรถที่ใช้น้ำมันชนิดนี้ไม่มาก คงไม่มีผู้ค้าน้ำมันอยากมาเปิดขายมากๆ เพราะรายได้จะไม่คุ้มค่ากับปริมาณขาย ดังนั้นแรงจูงใจจึงสำคัญมากทั้งประชาชนคนใช้ และผู้ค้าน้ำมัน ข้อดีที่รัฐส่งเสริมอย่างจริงจัง

โดยสรุป อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันมีความเสี่ยงสูง นอกจากต้องอยู่กับสารไวไฟจึงต้องระวังเรื่องความปลอดภัยและเรื่องการดูสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนสูงมากยากแก่การคาดการณ์ ธุรกิจนี้มีการลงทุนสูงมากผลตอบแทนต่ำแต่มีความจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงของประเทศในยามฉุกเฉิน โรงกลั่นสร้างขึ้นมาเพื่อผลิตน้ำมันสำเร็จรูปทดแทนการนำเข้า และจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนถ้าเป็นโรงกลั่นเพื่อการส่งออก ถึงแม้การใช้เอทานอลและไบโอดีเซลมาทดแทนน้ำมันจะส่งผลกระทบในเรื่องรายได้ของโรงกลั่น แต่โรงกลั่นทุกโรงก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและเกษตรกรไทย

โอกาสที่ราคาน้ำมันขายปลีกจะลดลงมาก เช่น 5 - 6 บาทต่อลิตร มีน้อย นอกจากรัฐต้องพิจารณาการลดการจัดเก็บภาษีและกองทุนน้ำมัน ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นมีโอกาสลดลงได้ยาก แต่ถ้าลดลงได้คงไม่มากเพราะกำไรของโรงกลั่นไม่ได้สูงมาก โดยอาจมีการศึกษาร่วมระหว่างกระทรวงพลังงาน โรงกลั่น ลูกค้าโรงกลั่น และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในการปรับสูตรราคาให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและมีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ที่มา -