ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

เหรียญ 2 ด้านท่าเรือใหม่ สานฝันโลจิสติกส์ใต้? : สุพิชฌาย์ รัตนะ รายงาน

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 14, 13, 19:56:46 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 56 ได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....
   

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใหญ่ของรัฐครานี้ หากสัมฤทธิผลถือเป็นจุดเปลี่ยนเส้นเลือดใหญ่ด้านการขนส่งแดนใต้ครั้งสำคัญยิ่ง

ที่สำคัญได้ก่อให้เกิดอานิสงส์ต่อการลงทุนในส่วนการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบกและทางน้ำในพื้นที่ปลายด้ามขวาน โดยเฉพาะการสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเรือชุมพร ท่าเรือน้ำลึกสงขลา และท่าเรือปากบารา จ.สตูล
   
เรื่องนี้ "ทวี ปิยะพัฒนา" รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสายงานเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจภาคใต้ มองว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท นอกจากจะช่วยสร้างโอกาสต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้แล้ว ยังจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม เพราะภาคใต้มีพื้นฐานที่พร้อมจะก้าวไปเป็นประตู หรือศูนย์กลางของการเชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับนานาประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ภาคธุรกิจพยายามผลักดันให้รัฐเร่งดำเนินโครงการเหล่านี้ แต่แทบจะไม่มีผลในรูปธรรมมากนัก ดังนั้นเมื่อมีโครงการเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่แวดวงนักลงทุนจะมีเสียงตอบรับเป็นส่วนใหญ่ เพราะจะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
   
"การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ระบบรถราง ในเส้นทางภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ารัฐล่าช้าอย่างมาก จนประเทศเพื่อนบ้านก้าวหนีไปไหนต่อไหนแล้ว ไม่ต้องพูดถึงความสูญเสียทางธุรกิจของประเทศที่มีมูลค่ามหาศาล คราวนี้หากยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นบอกได้คำเดียวว่า เมื่อเปิดประตูเออีซี เราตกขบวนแน่นอน" ทวี กล่าว
   
สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล นับเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานานพอสมควร ดังนั้นควรจะดำเนินการให้ชัดเจน เพราะเป็นจุดสำคัญต่อโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้พื้นที่ภาคใต้ โดยเป็นประตูทั้งนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการส่งออกของไทยใช้บริการจากท่าเรือน้ำลึกของมาเลเซียเพื่อส่งออกสินค้าของไทยไปสู่ภูมิภาคอื่น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรและประมง ดังนั้นโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างคมนาคมภาคใต้ นอกจากจะทำให้ผู้ส่งออกของไทยลดต้นทุนการขนส่งแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้นด้วย
   
"ธนารักษ์ พงษ์เภตรา" ประธานสภาธุรกิจชายแดนใต้ IMT-GT (ประเทศไทย) และในฐานะรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นการยกระดับธุรกิจขนส่งให้แก่ภาคใต้ทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมาต้นทุนขนส่งคือเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจไทยเสียโอกาสในการแข่งขันกับคู่แข่ง และต้องพึ่งเพื่อนบ้าน เพราะหลายรัฐบาลมองข้ามความสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งดังกล่าว
   
"การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคใต้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยเท่านั้น แต่การพัฒนาระบบคมนาคมยังเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ทั้งระบบ ดังนั้นจะช่วยสร้างรายได้และเพิ่มจีดีพีให้แก่ภาคใต้ได้อย่างแน่นอน" ธนารักษ์ กล่าว
   
ขณะเดียวกัน การพัฒนาดังกล่าวจะสอดรับกับแนวทางความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยเฉพาะกรอบของคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย เช่น โครงการพัฒนาด่านสะเดา จ.สงขลา และด่านบูกิตกายูฮิตัม โครงการศึกษาการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ระหว่างอ.สะเดา จ.สงขลา การเชื่อมโยงแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับเขตเศรษฐกิจภาคเหนือ (NCER) และเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECER) ของมาเลเซีย เป็นต้น

   
ดร.สุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ยอมรับว่า หากท่าเรือสงขลา และท่าเรือปากบารา เกิดขึ้นก็เป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมระหว่างฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนมาแล้ว แต่ไม่คืบหน้านัก ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้ถือว่าสอดรับกับความต้องการของภาคเอกชนโดยตรง
   
เช่นเดียวกับ ดร.มานะ ภัตรพานิช ตัวแทนบริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ศึกษาความเหมาะสม เห็นว่า การที่รัฐเดินหน้าสร้างท่าเรือปากบาราและท่าเรือน้ำลึกสงขลา จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ส่วนจะใช้พื้นที่ใดดำเนินการนั้นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง
   
ทั้งนี้ ผลการศึกษาเมื่อ 2-3 ปี ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า พื้นที่ ต.นาทับ อ.จะนะ เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา เนื่องจากข้อดีคือ เป็นพื้นที่สาธารณะประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดิน ทั้งยังมีระดับน้ำลึกประมาณ 14 เมตร และอยู่ห่างจากฝั่งเพียง 9.2 กิโลเมตร ระดับพื้นดินสูงจากระดับชายหาดประมาณ 3-4 เมตร และอยู่ใกล้เส้นทางสายหลัก ขณะที่ชุมชนโดยรอบพร้อมที่จะร่วมมือในการศึกษารายละเอียดร่วมกันหากมีการยืนยันการก่อสร้างในอนาคต
   
ในทางกลับกันในมุมมองของ บรรจง นะแส ผู้อำนวยการโครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลภาคใต้ บอกว่า ในมุมของภาคประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และจะออกมาคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายรัฐบาลนำเสนอเฉพาะมุมมองของเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว เมื่อถึงเวลาศึกษาอย่างจริงๆ ก็จะพบว่า นอกจากจะเป็นการก่อสร้างที่ไม่คุ้มแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
   
"แน่นอนว่า หลังจากนั้นจะมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตามมาด้วย  ถือเป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะมีประสบการณ์ผลกระทบจากมาบตาพุดมาแล้ว ดังนั้นวันที่ 30 มีนาคม จะมีกลุ่มองค์กรและภาคประชาชนร่วมจัดกิจกรรมและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย" แกนนำเอ็นจีโอรายนี้ระบุ 
   
ทั้งหมดล้วนเป็นมุมสะท้อนจากหลายภาคส่วนในพื้นที่ แม้โครงการที่จะบังเกิดขึ้นจะมีคุณูปการต่อภาคเศรษฐกิจโดยองค์รวมก็ตาม แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ...

ที่มา -