ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ปฏิบัติการร่วมค้นหา MH370 ชี้ชัดทัพเรือจีนห่างชั้นสหรัฐฯ

เริ่มโดย mrtnews, เม.ย 24, 14, 20:17:40 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

รอยเตอร์ – การส่งเรือรบ เรือยามฝั่ง เรือขนสินค้า กระทั่งเรือตัดน้ำแข็งรวมกว่า 20 ลำเข้าร่วมปฏิบัติการค้นหา MH370 เผยให้เห็นจุดอ่อนของกองทัพแดนมังกรอย่างชัดเจนจากการขาดฐานปฏิบัติการนอกชายฝั่งและท่าเรือพันธมิตร นักวิเคราะห์จำนวนมากยังชี้ว่า กองทัพเรือแดนมังกรต้องใช้เวลาอีกนับสิบปีกว่าจะสามารถเทียบชั้นสหรัฐฯ ในด้านต่างๆ รวมทั้งในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ไม่เฉพาะเพียงเอเชียที่แดนอินทรีสร้างเครือข่ายพันธมิตรโยงใยกว้างขวาง

   
เอียน สตอรีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเอเชียของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ระบุว่า จีนรู้ดีว่าต้องเติมเต็มช่องว่างด้านยุทธศาสตร์นี้เพื่อตอบสนองความต้องการสำหรับปฏิบัติการทะเลลึกเต็มรูปแบบในปี 2050 แต่ที่น่าแปลกใจคือ ยังไม่มีแม้กระทั่งการหารือเกี่ยวกับการเข้าถึงท่าเรือของประเทศต่างๆ ทั้งที่ปักกิ่งตัดสินใจเด็ดขาดในการท้าทายความเป็นผู้นำด้านกองทัพเรือของสหรัฐฯ ในเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งต้องการปกป้องผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตนเองในมหาสมุทรอินเดียและตะวันออกกลาง
   
ในทางกลับกัน สหรัฐฯ สร้างเครือข่ายฐานปฏิบัติการเต็มรูปแบบอย่างครอบคลุม โดยมีฐานทัพเรือในญี่ปุ่น กวม และดิเอโกการ์เซีย ซึ่งได้รับการค้ำประกันจากการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงและข้อตกลงเข้าถึงและซ่อมแซมกับชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงท่าเรือเชิงยุทธศาสตร์ในสิงคโปร์และมาเลเซีย
   
ริชาร์ด บิตซิงเกอร์ นักยุทธศาสตร์การทหารในเอเชียของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัมในสิงคโปร์ เสริมว่า แม้จีนมีป้อมปราการในหมู่เกาะและแนวปะการังหลายแห่งในทะเลจีนใต้ แต่ไม่ใหญ่พอใช้เป็นฐานทัพนอกชายฝั่ง และแม้การจัดการเพื่อเข้าถึงท่าเรือของประเทศอื่นทำได้ง่ายมากระหว่างปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมในยามปลอดสงคราม เช่น การค้นหา MH370 แต่การที่จีนมีกรณีพิพาทกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ก็ทำให้โอกาสในการเข้าถึงท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระยะยาวมีน้อยมาก

บิตซิงเกอร์สำทับว่า กองทัพเรืออเมริกันเข้ามาทำกิจกรรมในภูมิภาคนี้นานถึงร้อยปี และยังคงบำรุงรักษาเครือข่ายเชิงยุทธศาสตร์นี้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่จีนเพิ่งเข้ามาเพียง 15 ปี จึงไม่สามารถตามทันสหรัฐฯ ได้ในชั่วข้ามคืน

จา เต้าเจียง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เห็นด้วยว่า แม้การค้นหาในมหาสมุทรอินเดียขณะนี้เป็นสถานการณ์ "ยกเว้น" แต่นักกลยุทธ์จีนก็รู้ว่า ไม่สามารถพึ่งพิงการเข้าถึงท่าเรือของชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ได้โดยอัตโนมัติ หากเกิดสถานการณ์ตึงเครียดเชิงกลยุทธ์
   
ด้วยเหตุนี้ เรือของกองทัพจีนจึงขยายการแวะเยือนท่าเรือประเทศต่างๆ จากเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และเมดิเตอร์เรเนียน ทว่า ยังไม่มีการหารือการเข้าถึงเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวอย่างจริงจังแต่อย่างใด
   
นอกจากนี้ปักกิ่งยังไม่พอใจคำวิจารณ์ของตะวันตกและอินเดียที่ว่า จีนกำลังพยายามสร้าง "สายประคำไข่มุก" ด้วยการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งรวมถึงปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ และพม่า

   
ขณะที่นักวิเคราะห์จีนมองว่า ท่าเรือเหล่านั้นไม่มีทางพัฒนาเป็นฐานทัพเรือจีนหรือนำไปสู่ข้อตกลงเข้าถึงระยะยาว เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งยังต้องการความไว้วางใจเชิงกลยุทธ์อย่างมากด้วย
   
นักวิเคราะห์หลายคนยังเชื่อว่า แม้สร้างสมแสนยานุภาพกองทัพเรืออย่างรวดเร็ว รวมทั้งส่งเรือแวะเยี่ยมท่าเรือมากมายในอ่าวเปอร์เซีย และจุดยุทธศาสตร์อื่นๆ ในตะวันออกกลางหลังเสร็จสิ้นการลาดตระเวนเพื่อป้องกันโจรสลัด ทว่า จีนยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษจึงจะสามารถปกป้องเส้นทางขนส่งนอกชายฝั่ง และระหว่างนี้จึงยังต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ ในการปกป้องเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญ เช่น ในช่องแคบฮอร์มุซที่นำไปสู่อ่าวเปอร์เซีย

ที่มา -