ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

‘กรณีแท่นขุดเจาะ’ บ่งชี้ ‘จีน’ หันใช้ ‘ไม้แข็ง’ รับมือ ‘ปักหมุด’

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 19, 14, 19:40:58 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย ปีเตอร์ ลี  (เก็บความจากเอเชียไท มส์ออนไลน์ www.atimes.com) China drills its hardpower reserves - By Peter Lee 08/05/2014

จีนทราบดีว่าความพยายามล่าสุดของตนที่จะเข้าขุดเจาะแหล่งน้ำมัน ซึ่งตั้งอยู่ตรงน่านน้ำที่ยังช่วงชิงกันอยู่บริเวณนอกชายฝั่งเวียดนามนั้น เป็นการท้าทายที่ชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของตนรายนี้ไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ได้ กระนั้นก็ตามที แท้ที่จริงแล้วกลเม็ดนี้ของแดนมังกรเล็งไปยังเป้าหมายซึ่งชัดเจนและใหญ่กว่านั้นเสียอีก กล่าวคือ มันเป็นการฝึกซ้อมเอาไว้สำหรับการเผชิญหน้ากับฟิลิปปินส์ –ประเทศซึ่งปักกิ่งต้องการที่จะหยามหยันอย่างแท้จริง รวมทั้งมันยังเป็นการยั่วญี่ปุ่นให้เข้าแสดงบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ เพื่อที่จะกลายเป็นการลดทอนความสำคัญของสหรัฐฯในเอเชียลงไปอีกด้วย สัญญาณทั้งหลายทั้งปวงในทะเลจีนใต้ในเวลานี้ ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นว่า จีนกำลังละทิ้งการใช้ "อำนาจละมุน" และหันมาแสดง "อำนาจแข็งกร้าว" แทนที่


เป็นเรื่องลำบากที่จะบังเกิดความรู้สึกแช่มชื่นยินดี จากการที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน HYSY981 หรือ Haiyang Shiyou 981 ของจีน ถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาในน่านน้ำพิพาทบริเวณนอกชายฝั่งเวียดนาม อันที่จริงแล้ว ถ้าหากสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน "เหลียวหนิง" ของตนเข้ามาตรงนั้นแทนที่จะเป็นแท่นขุดเจาะน้ำมัน ยังจะสร้างความรู้สึกว่าเป็นการยั่วยุน้อยกว่าด้วยซ้ำ

ผลพลอยได้อันน่าสนใจประการหนึ่งจากการรณรงค์เรียกร้อง "เสรีภาพในการเดินเรือ" ในทะเลจีนใต้ของสหรัฐฯที่ผ่านมา ก็คือ สหรัฐฯกำลังประกาศจุดยืนว่า การที่เรือของต่างประเทศจะเข้าปฏิบัติการทางทะเลภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone ใช้อักษรย่อว่า EEZ) ของชาติอื่นนั้น ไม่ได้เป็นการรุกล้ำในทางเศรษฐกิจชนิดที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) บัญญัติไว้ว่าห้ามกระทำ

ที่จริงแล้ว หลังจากการแสดงพฤติกรรมก่อกวนของเรือ ยูเอสเอ็นเอส อิมเพคคะเบิล (USNS Impeccable) ซึ่งเป็นเรือสำรวจของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งได้เที่ยวแล่นตระเวนไปทั่วเขต EEZ ของจีน พร้อมๆ กับที่ลากจูงเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ หลายๆ ชิ้นไปด้วยแล้ว สหรัฐฯยังได้ออกมาสำทับว่า เรือของตนลำนี้ไม่ได้ทำอะไรซึ่งจะสามารถวิเคราะห์ตีความได้ว่าเป็นการหาประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งเป็นการหาประโยชน์แบบหลายๆ วัตถุประสงค์โดยที่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในนั้น ตัวอย่างเช่นการจัดทำแผนที่พื้นมหาสมุทรในบริเวณดังกล่าว พร้อมกันนั้นสหรัฐฯยืนกรานด้วยว่าเรือกองทัพเรืออเมริกันลำนี้เพ่นพ่านอยู่แถวๆ นั้น ก็เพื่อตามแกะรอยความเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนต่างหาก

ถ้าใช้หลักเหตุผลเช่นนี้แล้ว การที่เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง แล่นฉึกฉักผ่านน่านน้ำใดๆ ก็ตามในทะเลจีนใต้ ไมว่าจะอยู่ภายในเขต EEZ ที่มีข้อพิพาทกันอยู่หรือไม่ ย่อมเป็นสิ่งที่ไมว่าใครๆ ก็ไม่สามารถร้องเรียนอะไรได้เลย จริงๆ แล้ว นี่เป็นสิ่งที่ เหลียวหนิง เคยทำมา ในเที่ยวเดินเรือทดสอบไปทั่วๆ ทะเลจีนใต้เมื่อช่วงสิ้นปี 2013

แต่การจัดส่ง "HYSY981" แท่นขุดเจาะน้ำมันในเขตน้ำลึกมูลค่าระดับพันล้านดอลลาร์ของจีนเข้ามา (ด้วยภารกิจแบบ "เดธ สตาร์" Death Star ของ ดาร์ธ เวเดอร์ ในภาพยนตร์ชุด สตาร์วอร์ส นั่นคือ เพื่อข่มขู่ประดาชาติปรปักษ์ที่กำลังช่วงชิงแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติกับแดนมังกร โดยที่มันเป็นวิธีสาธิตให้เห็นถึงศักยภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั่นเอง ว่าแม้กระทั่งเพียงลำพังฝ่ายเดียว ประเทศนี้ก็สามารถที่จะเข้าพัฒนาขุดค้นแหล่งน้ำมันต่างๆ ที่แย่งกันอยู่เหล่านั้นได้) คือกลเม็ดชนิดที่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพในเขต EEZ ทั้งหลายได้อย่างแท้จริง ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียด และก็เชื้อเชิญให้เกิดการตอบโต้

สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เลือกที่จะให้ตนเองยังพอมีช่องมีพื้นที่สำหรับขยับเนื้อขยับตัวอยู่บ้าง ด้วยการส่งแท่นขุดเจาะนี้ไปยังสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) หมู่เกาะซึ่งจีนยึดครองเอาไว้อยู่แล้วในขณะนี้ และดังนั้นจึงทรงสิทธิ์ที่จะอ้างเขต EEZ ที่อยู่ถัดออกไปจากแนวหมู่เกาะนี้ด้วย ถึงแม้ยังไม่ได้มีการระบุออกมาชัดๆ ว่ามันจะครอบคลุมไปถึงแค่ไหนก็ตามที เหตุฉะนี้จึงกล่าวได้ว่า น่านน้ำตรงนั้นทางฝ่ายเวียดนามมีเหตุผลโต้แย้งช่วงชิง ไม่หนักแน่นเท่ากับเหตุผลอ้างกรรมสิทธิ์ของทางฝ่ายจีน ทว่าจากขอบเขตลักษณะของการจู่โจมคราวนี้ บ่งบอกให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้คาดหมายหรอกว่า เวียดนามจะยอมกล้ำกลืนฝืนทนและเพิกเฉยทำไม่รู้ไม่เห็นต่อการท้าทายของตน


มีรายงานว่า การเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะ HYSY981 คราวนี้ มีกองเรือคุ้มกันเป็นจำนวนหลายสิบลำ ในจำนวนนี้หลายลำเป็นเรือตรวจการณ์ทางทะเลธรรมดาๆ ชนิดที่พบเห็นกันได้ทั่วไป นอกจากนั้นผมยังอยากจะขอสันนิษฐานด้วยว่า ยังมีเรือสนับสนุนลักษณะต่างๆ อีกหลายลำซึ่งจำเป็นต้องใช้ในกิจการการขุดเจาะน้ำมัน ผมยังได้เห็นรายงานชิ้นหนึ่ง หรือจริงๆ แล้วน่าจะเรียกได้ว่า มันเป็นการป่าวร้องของบล็อกเกอร์นักชาตินิยมผู้ตื่นเต้นตึงเครียดไปหน่อยผู้หนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งระบุว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันนี้มีเรือพิฆาตติดอาวุธต่อต้านขีปนาวุธหลายลำคอยให้ความคุ้มครองด้วย ถ้าหากว่าเป็นความจริงตามที่บล็อกเกอร์ผู้นี้ป่าวร้องแล้ว มันก็จะเท่ากับเป็นการก้าวข้ามเส้นครั้งสำคัญทีเดียว เนื่องจากเป็นการนำเอาองค์ประกอบทางการทหารอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน เข้าไปในการพิพาทช่วงชิงในทางเศรษฐกิจที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีอยู่กับชาติเพื่อนบ้านทางทะเลของตน

แต่ถึงไม่มีเรือพิฆาตปรากฏตัวอยู่ในฉากด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีความตั้งอกตั้งใจที่จะ "จัดหนัก" อยู่ดี


ฝ่ายเวียดนามได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ (หาชมได้ที่ http://news.usni.org/2014/05/07/hanoi-chinese-ships-rammed-vietnamese-patrol-boats-escalating-oilrig-dispute) ซึ่งแสดงให้เห็นเรือตรวจการณ์ทางทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังชนกระแทกเรือตรวจการณ์ของหน่วยยามฝั่งเวียดนาม ที่พยายามเคลื่อนเข้าไปยังแท่นขุดเจาะ เรื่องนี้เป็นสัญญาณประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นไม่ได้มีความหวาดหวั่นใดๆ เลย ในการแสดงบทบาทเป็นมหาอำนาจภูมิภาคผู้เป็นนักเลงโต/เที่ยวข่มขู่คุกคาม/ก้าวร้าวรุกราน ให้ท่านผู้ชมทั่วโลกได้เห็นกันถนัดถนี่

เรื่องนี้ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามอันใหญ่ๆ ขึ้นมาว่า ทำไมจีนจึงทำเช่นนี้?

ทำไมหลังจากที่เวียดนามแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะร่วมไม้ร่วมมืออย่างสมเหตุสมผลในการติดต่อสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเรื่อยมา โดยเหตุการณ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นท่าทีนี้อย่างชัดเจนเตะตาที่สุด ก็คือการที่ฮานอยไม่ได้ให้ความสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อเรื่องที่ฟิลิปปินส์ฟ้องร้องคัดค้านแผนที่ "เส้นประ 9 เส้น" ของจีนต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังหาเรื่องเอากับเวียดนาม ในลักษณะของการแสดงความดิบเถื่อนมุ่งโอ่อวด และความยะโสโอหังชมชอบข่มคนอื่น ?

สำหรับวัตถุประสงค์ระยะสั้นเฉพาะหน้าแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นเพราะว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการการฝึกซ้อม –ฝึกซ้อมการเข้าพัวพันในการปฏิบัติการทางนาวีที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่อุ้ยอ้าย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเป็นปรปักษ์จริงๆ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ก็เป็นการปฏิบัติการซึ่งมีโอกาสต่ำมากๆ ที่จะเกิดความอับอายขายหน้าจากการเผชิญหน้าทางทหารชนิดที่ก่อให้เกิดความสูญเสียร้ายแรง การเข้าพัวพันแสดงการยั่วยุครั้งใหญ่ภายในพื้นที่ซึ่งเวียดนามประกาศเป็นเขต EEZ ของตน และทำให้ได้โอกาสที่จะข่มเหงระรานเวียดนาม ผู้ซึ่งมีแสนยานุภาพทางนาวีค่อนข้างต่ำชั้น อีกทั้งไม่ได้เป็นพันธมิตรด้านการป้องกันอย่างเป็นทางการกับมหาอำนาจภูมิภาคที่ทรงความสามารถ (อย่างเช่นญี่ปุ่น) หรือกับมหาอำนาจระดับโลก (อย่างเช่นสหรัฐฯ) นับว่ามีคุณสมบัติครบเข้าข่ายดังกล่าวนี้ได้พอดี

สมรรถนะทางทหารและเครดิตความน่าเชื่อถือทางการทหารของสาธารณรัฐประชาชนนั้น มักจะถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ จนกระทั่งกลายเป็นความท้าทายอันใหญ่โตที่สุดประการหนึ่ง คำถามเช่นนี้เกิดขึ้นมา ก็เนื่องจากประเทศนี้ไม่ได้ต่อสู้ทำสงครามร้อนกับใครหน้าไหนเลยมาเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปีแล้วนั่นเอง แต่ด้วยการสร้างเรื่องยั่วยุเวียดนาม ระบบทางทหารของแดนมังกรก็จะมีโอกาสอันสวยงามที่จะได้เอ็กเซอร์ไซส์กันบ้างสักเล็กน้อย

เมื่อขบคิดพิจารณาถึงบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งที่ผมได้อ่านมา ซึ่งพูดเอาไว้ว่า "พวกเรือชั้นเยี่ยมๆ ชุดเดียวกับที่ใช้คุ้มกันเรือเหลียวหนิง กำลังถูกใช้มาดูแลแท่นขุดเจาะ HYSY981 ในเวลานี้ด้วย" มันก็ไม่ต้องใช้จินตนาการอะไรมากมายเท่าใดเลย ในการนึกคิดให้เห็นภาพเรือเหลียวหนิง ถูกยกเอามาวางไว้ภายในวงล้อมคุ้มกันรักษาความปลอดภัย ซึ่งเวลานี้กำลังรายล้อมแท่นขุดเจาะนี้อยู่

สำหรับวัตถุประสงค์ในระยะกลาง ผมมองว่ากลเม็ดเล่นงานเวียดนามนี้ เป็นการเตรียมตัวสำหรับการเผชิญหน้ากับประเทศซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการที่จะหยามหยันจริงๆ ซึ่งก็คือ ฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์ถือเป็นหมากที่มีความเสี่ยงกว่าเวียดนามเยอะ ถ้าหากคิดจะเคี้ยวคิดจะเล่นงาน ทั้งนี้เนื่องจากว่าฟิลิปปินส์มี 1) การจับมือเป็นพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯ และ 2) ทีมงานด้านนโยบายการต่างประเทศซึ่งได้กระทำการแบบที่กล่าวไว้ในคำพังเพยที่ว่า นำเอาไข่แทบจะทุกฟองของตนมาวางรวมอยู่ในตะกร้าเพียงใบเดียว ตะกร้าใบที่ว่านี้คือตะกร้าแห่งการท้าทายพร้อมลองเสี่ยงภัยจนสุดๆ ถึงริมขอบเหว ทั้งนี้ฟิลิปปินส์ยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์ระดับทวิภาคกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเอาเสียเลย หากแต่กำลังพึ่งพาอาศัย/กำลังวาดหวังว่า สหรัฐฯจะเป็นผู้ที่ช่วยป้องปรามความก้าวร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ และถ้าหากถึงขั้นที่เกิดการขัดแย้งสู้รบกันในบางลักษณะขึ้นมาแล้ว สหรัฐฯก็ยังจะเข้ามาแทรกแซงในหนทางที่เป็นการช่วยเหลือฟิลิปปินส์ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

ทางฝ่ายฟิลิปปินส์เองก็ดูเหมือนมองภาพสถานการณ์ด้วยสายตาอย่างเดียวกันนี้เช่นกัน ถ้าหากกรณีฟิลิปปินส์เข้ายึดเรือประมงจีนลำหนึ่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสาธิตให้เห็นว่า แดนตากาล็อกมีความเด็ดเดี่ยวมั่นคงขนาดไหนในการช่วยเหลือบรรเทาความลำบากของเวียดนาม โดยเลือกวิธีซึ่งทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนตกอยู่ในสถานการณ์อันไม่น่ายินดีของการเข้าพัวพันอยู่ในข้อพิพาททางทะเล 2 กรณีพร้อมๆ กัน แถมในกรณีหนึ่งมีโอกาสที่สหรัฐฯจะเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย

ผมไม่คิดหรอกว่า ในวันนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเข้าฮุบเหยื่อติดเบ็ดในลักษณะนี้ แต่ผมจะไม่ประหลาดใจอะไรเลย ถ้าหากว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะได้เห็นแท่นขุดเจาะ HYSY981 ไปปรากฏตัวอยู่ใน "ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก"

ในส่วนของวัตถุประสงค์ระดับสูงกว่านี้และยาวไกลออกไปนั้น ผมเชื่อว่าคณะผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้วินิจฉัยและมีมติแล้วว่า สหรัฐฯไม่สามารถที่จะเสนอสิ่งที่เป็นผลบวกใดๆ เพิ่มเติมเข้าสู่โต๊ะเจรจา เพื่อให้สาธารณรัฐประชาชนจีนได้พิจารณาตัดสินใจอีกแล้ว เนื่องจากสหรัฐฯนั้นได้แสดงการทุ่มเทยึดมั่นอย่างสุดตัวและอย่างเป็นสัญลักษณ์ ต่อ "การปักหมุดในเอเชีย" (Asia pivot) ตลอดจนนัยแห่งการมุ่งปิดล้อมสาธารณรัฐประชาชนจีนของนโยบายนี้ไปเรียบร้อยแล้ว จากการตระเวนเยือนเอเชียของโอบามาเมื่อเร็วๆ นี้


ผมคิดว่ามันจะเป็นการสุขุมรอบคอบกว่ามากนัก ถ้าหากประธานาธิบดีโอบามาจะ "ออกตัว" กระจายความเสี่ยงในการทุ่มเทวางเดิมพันของอเมริกาเสียบ้าง ด้วยการแวะเยือนปักกิ่งด้วย ทว่าเขากลับไม่ได้ทำเช่นนี้ โดยเพียงแค่ส่ง มิเชล โอบามา ไปแทน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สถานการณ์เวลานี้ไปไกลจนถึงขั้นที่ไม่สามารถหวนกลับได้อีกแล้ว

ผมเชื่อว่า การตอบโต้ของสาธารณรัฐประชาชน จะไม่ใช่อยู่ในลักษณะของการเข้าเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ แต่จะเป็นการมุ่งทำให้สหรัฐฯหมดค่าหมดความสำคัญลง ด้วยการผลักดันให้เรื่องความมั่นคงของเอเชีย เข้าสู่ขอบเขตซึ่งเหล่าเพื่อนบ้านของแดนมังกรต่างพากันวิตกกังวลอย่างลึกซึ้ง ทว่าเกี่ยวข้องพัวพันสหรัฐฯในระดับเพียงแค่แตะๆ ผิวๆ เท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมอยากจะยืนยันว่า เป็นการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนปรับจุดโฟกัสของลิ่มที่ใช้ตอกใส่เพื่อบั่นทอนทำลายความเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น

แทนที่จะพยายามตอกลิ่มเพื่อให้สหรัฐฯถอยห่างออกจากญี่ปุ่น และหันมาปรองดองรอมชอมในบางลักษณะกับผลประโยชน์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เวลานี้สาธารณรัฐประชาชนจีนกลับกำลังพยายามที่จะตอกลิ่มเพื่อให้ญี่ปุ่นถอยห่างออกจากสหรัฐฯ ด้วยการยั่วยวน/ล่อใจ ญี่ปุ่นให้แสดงบทบาทอย่างเป็นอิสระชนิดที่ทำให้สหรัฐฯหมดความสำคัญลงไป

ดังนั้น เราจึงได้เห็นสาธารณรัฐประชาชนจีนรอคอยจนกระทั่งประธานาธิบดีโอบามาเดินทางออกไปพ้นเอเชียแล้ว จากนั้นจึงหวนมารื้อฟื้นการยั่วยุของตนในเรื่องหมู่เกาะเซงกากุ ขณะเดียวกันนั้นก็ทำการติดต่อแลกเปลี่ยนเพื่อสันติภาพในขั้นผู้แทนระดับกลางๆ กับญี่ปุ่นไปด้วย ...

... และพร้อมๆ กันนั้นก็แสดงการโอ่อวดทุบตีเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นกำลังเฝ้าเกี้ยวพา เพื่อให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกรายหนึ่งในพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่มุ่งแอนตี้สาธารณรัฐประชาชนจีน ของนายกรัฐมนตรีอาเบะ

ผมขอคาดเดาต่อไปว่า แรงจูงใจในการทำเช่นนี้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน คือการบีบบังคับญี่ปุ่นให้ต้องละทิ้งการแสดงตัวว่ากำลังเดินอยู่ในจังหวะเดียวกันกับสหรัฐฯ โดยที่ยอมรับนับถือความเป็นผู้นำของสหรัฐฯในการปักหมุดในเอเชีย (ผมต้องขอยืนยันว่า อันที่จริงญี่ปุ่นได้แอบละทิ้งเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว จากการเที่ยวไล่จีบเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, และเกาหลีเหนือ โดยที่อาเบะมีวาระอย่างเป็นอิสระของตนเอง ไม่ใช่เป็นการเดินตามความต้องการของโอบามา) การบีบบังคับเช่นนี้จะทำให้ญี่ปุ่นมีหนทางดินอยู่ 2 ทาง ทางหนึ่งคือแบแผนการริเริ่มของตนเองที่จะให้การสนับสนุนทางด้านการทูต, เศรษฐกิจ, หรือการทหารบางอย่างบางประการแก่เวียดนาม หรือไม่เช่นนั้นญี่ปุ่นจะถูกเปิดโปงว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังเสนอต่อพวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อล่อใจพวกเขาให้เข้ามาอยู่ในค่ายของทางญี่ปุ่นนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็มีแต่ความกลวงกลางว่างเปล่าเท่านั้น

ในทันทีที่ญี่ปุ่น "เลิกสงวนท่าที" ก็จะถูกบังคับให้ต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างชนิดที่มีความหมายกับสาธารณรัฐประชาชนจีน "ความหมาย" ที่ว่านี้ อาจจะเป็นการปฏิสัมพันธ์ในหนทางของการเผชิญหน้ากัน หรือของการเจรจาต่อรองกันก็ได้ ทั้งนี้เพราะมีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น ญี่ปุ่นจึงจะสามารถผลักดันยุทธศาสตร์เอเชียของตนให้คืบหน้าไปได้ ... ส่วนทางสหรัฐฯก็จะได้เห็นอิทธิพลบารมีของตนต้องเสื่อมโทรมอับเฉาลงไป และจำเป็นต้องหันมาติดต่อสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นเดียวกัน เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่เกมได้อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อพิจารณาจากการที่แต่กี้แต่ก่อนมา สาธารณรัฐประชาชนจีนย่อมมุ่งโฟกัสไปที่การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า พร้อมๆ กับที่เสริมความแข็งแกร่งของตนทั้งในทางทหารและทางการทูต ดังนั้น การยั่วยุและการยกระดับความตึงเครียดอย่างเปิดเผยอย่างที่ผมพรรณนามานี้ ดูออกจะขัดแย้งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราเคยมีความเข้าใจเกี่ยวกับจีนกันมาในอดีต

แต่ผมคิดว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตัดสินใจแล้วว่า จากการที่สาธารณชนในสหรัฐฯผูกพันเห็นชอบกับนโยบายการปักหมุด รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนญี่ปุ่นให้ปฏิบัตินโยบายป้องกันตนเองร่วมกันระหว่างหลายๆ ประเทศในเอเชีย สหรัฐฯจึงไม่อยู่ในฐานะใดๆ อีกแล้วที่จะแสดงตัวเป็น "คนกลางผู้ซื่อสัตย์" บทบาทด้านความมั่นคงอันแท้จริงของสหรัฐฯในเอเชียนั้นกลับอยู่ที่การหนุนหลังพวกพันธมิตรปักหมุดของตนเองเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงต้องท้าทายแนวเส้นสมรภูมิของการปักหมุด ก่อนที่มันจะบีบรัดล้อมวงกระชับเข้ามาจนอึดอัดหายใจไม่ออก

และสาธารณรัฐประชาชนจีนก็กำลังทำการท้าทายดังกล่าวนี้ ด้วยการสาธิตให้เห็น (ในรูปลักษณ์ที่ค่อนข้างหยาบกระด้าง) ว่ายุทธศาสตร์แห่งการป้องปราม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องลึกของการปักหมุดนั้น จะไม่สามารถป้องปรามสาธารณรัฐประชาชนจีนได้หรอก และสาธารณรัฐประชาชนจีนพรักพร้อมที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายความสูญเสียในทางเศรษฐกิจ จากการท้าทายเจตนารมณ์และท้าทายความปรารถนาของสหรัฐฯตลอดจนพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐฯ

ส่วนสำหรับคำถามที่ว่า ทำไมสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงตัดสินใจที่จะกระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวและความชิงชังไปทั่วในช่วงจังหวะเวลานี้นั้น เราอาจเลือกให้คำตอบแบบที่ฟังดูเป็นบวก ด้วยการบอกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงแต่กำลังเร่งรัดให้ "ระเบียบใหม่แห่งเอเชีย" ที่มีความสมดุลใหม่ระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ตลอดจนมีการปลดริบสหรัฐฯออกเสียจากบทบาทฐานะเป็นเจ้าครอบงำ รีบถือกำเนิดออกมาโดยเร็ว

แต่การตีความในทางลบอาจจะฟังดูเร้าใจน่าเชื่อถือมากกว่า นั่นก็คือ สาธารณรัฐประชาชนมองเห็นแล้วว่า ช่วงทศวรรษข้างหน้าจะเป็นระยะเวลาแห่งความยากลำบากและน่าเกลียดน่าชัง โดยที่จะมีคณะรัฐบาลที่แอนตี้สาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นครองอำนาจในเมืองหลวงจำนวนมากของเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้จุดที่สำคัญที่สุดก็คือการที่ ฮิลลารี คลินตัน จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ วิธีการที่ดีที่สุดในการฟาดฟันการปักหมุดให้แตกสลาย ก็คือทำให้มันเดือดพล่านเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่การปักหมุดในทางการทหารจะเพิ่มขยายจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ และจะต้องลงมือกระทำการฟาดฟัน ตั้งแต่ในช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาซึ่งค่อนข้างจะปรองดองรอมชอมมากกว่ายังอยู่ในอำนาจ แถมโอบามายังกำลังถูกหันเหเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยความคิดที่ว่า เขาไม่ต้องการที่จะนำเอาเรื่องการเผชิญหน้ากับจีน มาสุมกองอยู่บนปัญหาอันยุ่งยากมากมายที่มีอยู่กับรัสเซียในปัจจุบัน

ช่วงทศวรรษแห่งการมุ่งใช้อำนาจละมุน (soft power) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเป็นอันว่าได้รูดม่านปิดฉากลงก่อนเวลาอันสมควรไปแล้ว เรื่องนี้ต้องขอบคุณความสำเร็จของการปักหมุด ซึ่งทำให้แรงขับดันของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะครอบงำภูมิภาคแถบนี้ โดยอาศัยคุณสมบัติแห่งอิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจ, ทางประชากรศาสตร์, ตลอดจนทางการทหารอย่างเป็นนัยๆ ของตน ต้องมีอันเป็นหมันไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป ผมคาดหมายว่าความสัมพันธ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีกับพวกชาติเพื่อนบ้านทางทะเลในเวลาต่อจากนี้ไป จะถูกขับดันด้วย "อำนาจแข็งกร้าว" (hard power) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมคิดว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนตัดสินใจแล้วที่จะปักหลักตั้งสติ และดูดซับค่าใช้จ่ายความสูญเสีย ทั้งในทางการทูต, เศรษฐกิจ, และสังคมทั้งหลายทั้งปวง จากการทำให้เกิดความหวาดกลัวและความโกรธเกรี้ยวเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ โดยที่พนันวางเดิมพันว่าตนเองจะสามารถงัดเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงซึ่งเหนือกว่า ตลอดจนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ยาวนานกว่าความเป็นปรปักษ์ของพวกชาติปักหมุดทั้งหลาย

มันเป็นเกมการพนันที่ทั้งน่าชิงชังและมีอันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากสัญชาตญาณทั้งระดับแรกสุด, ระดับสอง, และระดับสาม ของทุกๆ ฝ่ายที่เข้าพัวพันโยงใยอยู่กับฝ่ายแอนตี้สาธารณรัฐประชาชนจีน จะต้องมีการยกระดับเพิ่มสูงขึ้นไปเช่นกัน เพื่อสร้างความรู้สึกว่ามั่นคงปลอดภัยให้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เชื่อถืออย่างจริงจังในแนวทางป้องปรามที่ว่า สมรรถนะทางทหารของสหรัฐฯและเหล่าหุ้นส่วนปักหมุดของสหรัฐฯนั้น คือสิ่งที่จะช่วยปกปักรักษาเอเชียให้มีความปลอดภัย

มันช่างเป็นวันเวลาที่มีอันตรายมากจริงๆ

เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนาในแปซิฟิกตะวันตกแล้ว การนั่งงมอยู่เฉยๆ หรือกระทั่งการใช้ความพยายามในทางอำนาจละมุนเพื่อประจบเอาใจพวกชาติประชาธิปไตยในเอเชียตลอดจนสหรัฐฯนั้น ดูจะไม่ได้เป็นทางเลือกที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตีค่าให้ราคาอย่างสูงส่งแต่อย่างใด

จากความเคลื่อนไหวในทางมุ่งประจันหน้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะใน ชิงเต่า และในเซี่ยงไฮ้ ดูเหมือนว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังส่งสัญญาณว่า ตนเองเตรียมพร้อมแล้วที่จะละทิ้ง "อำนาจละมุน", รวมทั้งยุติเลิกใส่ใจกับคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯที่ว่าจะแสดงออกซึ่งความอดกลั้นอดทน, และหันมาเตรียมรับมือจัดการกับกิจการของตนภายใต้สมมุติฐานที่ว่าสภาพแวดล้อมระดับภูมิภาคจะมีความเป็นปรปักษ์สูงขึ้นทุกทีๆ

ดูเหมือนว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้กำลังแผดเสียงคำราม เพียงเพื่อให้สหรัฐฯยอมอ่อนข้อให้บ้างที่จะเป็นช่วยรักษาหน้าของปักกิ่งเอาไว้ หรือเพียงเพื่อให้สหรัฐฯยินยอมลั่นคำมั่นสัญญาลมปากบางอย่างบางประการเท่านั้น หากแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังพุ่งเป้าเล่นงานญี่ปุ่น แทนที่จะกำลังมุ่งรับมือกับสหรัฐฯ และกำลังท้าทายสหรัฐฯให้ต้องทำอะไรบางอย่างที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นการแสดงความสนับสนุนพันธมิตรของตน

สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นมีความฉับไวเสมอมา ในการมองเห็นความจำเป็นหรือในการมองหาโอกาสที่จะทำการท้าทายเครดิตความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการป้องปรามของสหรัฐฯ และยิ่งเมื่อเกิดกรณีรัสเซียเข้าผนวกไครเมีย ซึ่งทำให้สถานการณ์มีความว้าวุ่นปั่นป่วนเพิ่มสูงขึ้นด้วยแล้ว โอกาสดังกล่าวก็ดูจะมาถึงเร็วกว่าที่ใครๆ คาดหวังเอาไว้

ถ้าหากสาธารณรัฐประชาชนจีนจงใจที่จะบ่มเพาะวิกฤตส่งเสบียงที่แนวปะการังอายุนกิน (Ayungin Shoal ชื่อนี้เรียกกันในฟิลิปปินส์ สำหรับโลกภายนอกแล้วส่วนใหญ่รู้จักในชื่อว่า แนวปะการังเชกันด์ โธมัส Second Thomas Shoal –ผู้แปล) ขึ้นมา ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยอมปล่อยให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกทะเลไปเลยหากจำเป็น แทนที่จะอยู่เฉยๆ ปล่อยให้พลังพลวัตแห่งการปักหมุดเคลื่อนไปในทิศทางที่ตนเองต้องเสียประโยชน์แล้ว นี่ย่อมหมายความว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาอันตึงเครียดและไม่น่าชื่นชมแน่ๆ แล้ว และต้นทุนในการธำรงรักษาเครดิตความน่าเชื่อถือของการป้องปรามของสหรัฐฯ ก็อาจจะสูงกว่าที่เราปรารถนาอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว

สาธารณรัฐประชาชนจีนดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของตนที่จะปักหลักตั้งสติและต้านพายุลมแรงทางภูมิรัฐศาสตร์ (โดยในเร็ววันนี้ พายุดังกล่าวอาจจะรวมไปถึงวิกฤตไต้หวัน และติดตามมาด้วยการประณามให้สหรัฐฯกลายเป็นแพะรับบาป) ถึงแม้ว่ามันอาจจะต้องกินเวลานานหลายๆ ปีก็ตามที และพร้อมๆ กันนั้นก็จะเดินหน้าดำเนินการต่อสู้ในเวทีต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งตนเองสามารถยึดครองความได้เปรียบเอาไว้

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

ที่มา -



..-