ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ปตท. ผนึก ‘ซาอุฯ’ ยักษ์พลังงานโลกเล็งผุดโรงกลั่นปิโตรเคมีครบวงจร

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 16, 14, 19:51:39 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมประเทศเวียดนาม เพื่อส่งผลการสำรวจความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างโรงกลั่นปิโตรเคมีครบวงจร ภายใต้ชื่อ "วิคตอรี่" บริเวณเขตเศรษฐกิจ Nhon Hoi จังหวัด BinhDinh ซึ่งมีกำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรล/วัน และปิโตรเคมี 5 ล้านตัน/ปี โดยมีเงินลงทุนโครงการ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


ทั้งนี้ จะเป็นการร่วมทุนกับบริษัท ซาอุดิ อารัมโก จำกัด (ARAMCO) จากประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม และเป็นโครงการลงทุนระดับอาเซียนครั้งแรก รวมทั้งเป็นการนำร่องก่อนที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 แต่ต้องรอการพิจารณาและตัดสินใจจากรัฐบาลเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะสามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ในเร็วๆนี้

"หากสามารถดำเนินการได้โครงการดังกล่าวจะเป็นโรงกลั่นปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในระดับอาเซียน เพราะโซนตะวันออกของอาเซียนยังมีการผลิตน้ำมันได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงถือเป็นการลงทุนครั้งแรกในอาเซียนตะวันออก"

ดร.ไพรินทร์กล่าวอีกว่า ในปีนี้กลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย 5 บริษัทคือ PTT, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ได้รับการบันทึกชื่อลงใน Dow Jones Sustainability Index (DJSI) จากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ากลุ่ม ปตท. มีความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจที่เกื้อกูลกัน

ที่มา -




PTT บุกเวียดนามผุดโรงกลั่น ทุ่ม 2.2 หมื่นล้านเหรียญ พร้อมลุยโครงการโรวูม่า

ปตท.จับมือซาอุดีอารัมโก ยักษ์ใหญ่พลังงานโลก ทุ่ม 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ผุดโครงการ "โรงกลั่นปิโตรเคมี" ในเวียดนาม รองรับความต้องการใช้น้ำมันในฝั่งตะวันออกของเอเชีย ด้าน ปตท.สผ.แจงปี 2558 เดินหน้าโครงการโรวูม่า ในโมซัมบิก เผยแหล่งก๊าซภูฮ่อมซ่อมเสร็จ จ่ายก๊าซเอ็นจีวีได้แล้ว

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท เปิดเผยว่า ปตท.ได้ส่งมอบผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้าง "โรงกลั่นปิโตรเคมี" แห่งแรกในประเทศเวียดนาม ในบริเวณเขตเศรษฐกิจ Nhon Hoi จังหวัด BinhDinh ต่อรัฐบาลเวียดนาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งยืนยันว่า ปตท.และซาอุดีอารัมโก บริษัทผลิตน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ยืนยันจะลงทุนในโครงการดังกล่าว สำหรับโรงกลั่นน้ำมันที่ได้ศึกษาจะมีกำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 5 ล้านตันต่อปี ใช้เงินลงทุน 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปของเวียดนาม และรองรับความต้องการใช้น้ำมันในฝั่งตะวันออกของเอเชีย อย่างฟิลิปปินส์ จีนและญี่ปุ่น

นายอธิคม เติบศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บมจ.ปตท. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว  ปตท.และซาอุดีอารัมโก จะถือหุ้นฝั่งละ 40% และอีก 20% เป็นในส่วนของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ทำข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวเสนอภายใน 1 เดือน หลังจากนายกรัฐมนตรีเวียดนามพิจารณาแล้ว จึงจะมีคำตอบให้กับ ปตท.ถึงขั้นตอนกระบวนการต่างๆ และมาตรการส่งเสริมเกี่ยวกับการลงทุนของโครงการ โดยจากผลการศึกษาที่ออกมา คาดว่าจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เติบโตขึ้นอีกประมาณ 3-4% ซึ่งการดำเนินโครงการจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.โกลบอล เคมิคอล หรือพีทีทีจีซี กล่าวว่า โครงการโรงกลั่นปิโตรเคมีของเวียดนาม จะไม่กระทบกับโครงการลงทุนโรงกลั่นปิโตรเคมีที่อินโดนีเซีย ที่พีทีทีจีซี จะร่วมลงทุนกับเปอร์ตามินา  ของอินโดนีเซีย เพราะโครงการของพีทีทีจีซี มีวัตถุประสงค์ที่จะตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศของอินโดนีเซียเป็นหลัก

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า ในช่วงปี 2558 บริษัทจะลงทุนโครงการโรวูม่าในประเทศโมซัมบิก ด้วยเงินลงทุนในส่วนของบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ 8.5% หรือประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และภายในระยะเวลา 5-6 ปี จึงจะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ หลังจากสำรวจเบื้องต้นแล้วพบว่า มีปริมาณสำรองอยู่ถึง 100 ล้านตัน โดยจะเริ่มจากการสร้างแท่นขุดเจาะ และ LNG Terminal กำลังการผลิต 10 ล้านตัน/ปี

"ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG รองรับไว้แล้ว 5-6 ล้านตัน/ปี โดยมีลูกค้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย รวมทั้งยังรอการเจรจากับลูกค้าใหญ่ในอินเดียด้วย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาลโมซัมบิกออกกฎหมายรองรับโครงการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน" นายเทวินทร์กล่าว

นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี ซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซแล้วเสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2557 และสามารถเริ่มจ่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ได้ทำให้สถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีทั้ง 37 แห่ง ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 12 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้บริการได้ตามปกติแล้ว.

ที่มา -




PTTEP คาดเริ่มลงทุนในโครงการโมซัมบิกปี 58 ใช้เงินราว 1 พันล้านเหรียญ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถลงทุนโครงการโรวูม่าในประเทศโมซัมบิกช่วงปี 58 ประเมินเงินลงทุนในส่วนของบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ 8.5% ราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในระยะเวลา 5-6 ปีจึงจะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ หลังจากสำรวจเบื้องต้นแล้วพบว่ามีปริมาณสำรองอยู่ถึง 100 ล้านตัน โดยจะเริ่มจากการสร้างแท่นขุดเจาะ และ LNG Terminal กำลังการผลิต 10 ล้านตัน/ปี


ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG รองรับไว้แล้ว 5-6 ล้านตัน/ปี โดยมีลูกค้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย รวมทั้งยังรอการเจรจากับลูกค้าใหญ่ในอินเดียด้วย นอกจากนั้น ยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาลโมซัมบิกออกกฎหมายรองรับโครงการนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน

"โรวูม่า เป็นแหล่งใหญ่ ทางเทคนิคเชื่อว่ามีอยู่เยอะ  แต่มีจุดสำคัญคือเรื่องการขาย และรอรัฐบาลโมซัมบิกอนุมัติ ถึงจะเริ่มลงมือทำ"นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ กล่าวยังถึงแหล่งเบอร์ซาบาในอัลจีเรีย โดยคาดว่าจะผลิตน้ำมันได้ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปี 58 โดยมีกำลังการผลิต 20,000 บาร์เรล/วัน ส่วนแหล่งฮัดซีเบอร์ราเกซ (HBR) ในอัลจีเรีย บริษัทเตรียมเจาะหลุมประเมินผลประมาณ 4-5 หลุมและเตรียมการผลิตต่อไป

สำหรับแหล่งมอนทาร่าในออสเตรเลีย ขณะนี้ผลิตน้ำมันได้ 2.5 หมื่นบาร์เรล/วัน โดยปีนี้จะมีปริมาณการผลิตเฉลี่ย 1.6-1.7 หมื่นบาร์เรล/วัน โดยจะผลิตได้สูงสุดที่ 2.8 หมื่นบาร์เรล/วัน อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตเต็มที่อยู่ที่ 3 หมื่นบาร์เรล/วัน แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดปัญหาอีกหลุมหนึ่ง ส่วนแหล่งแคช เมเปิล ขณะนี้ได้มีผู้ยื่นข้อเสนอทั้งการเข้าซื้อ และร่วมทุน

บริษัทยังเตรียมเข้าผลิตแหล่ง M3 ในเมียนมาร์ หลังจากที่เข้าไปสำรวจแล้วคาดว่าจะมีปริมาณไม่มาก โดยจะผลิตส่งให้กับรัฐบาลเมียนมาร์ ส่วนแปลงที่ยังไม่ได้สำรวจได้แก่ MD7, MD8  อยู่ในทะเล บริษัทถือ 100%

นายเทวินทร์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันดิบปรับลงต่ำกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล ไม่ค่อยกระทบกับราคาขายของบริษัท เพราะมีสัดส่วนของยอดขายก๊าซ 60-70% ของยอดขาย ราคาจึงค่อนข้างนิ่ง แต่ราคาขายของน้ำมันได้มีการบริการจัดการความเสี่ยงด้วยการทำประกันความเสี่ยงประมาณ 50%

ที่มา -