ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ดัน พ.ร.บ.ประมงเข้าสภานิติบัญญัติ ตั้งกก.นโยบายแห่งชาติคุมใบอนุญาต-โควตาจับปลา

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 22, 14, 21:51:31 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กระทรวงเกษตรฯดัน ร่าง พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่เข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หวังแทนฉบับปัจจุบันที่ใช้มาถึง 67 ปี กำหนดให้มีการตั้ง คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ รวมศูนย์บริหารจัดการกิจการประมงของประเทศ ทั้งประมงทะเล-น้ำจืด-นอกน่านน้ำ ให้ทันยุคทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้านชาวประมงหวั่นการกำหนดโควตาจับ ปลา-เครื่องมือประมง สุดท้ายต้องลดจำนวนเรือประมงลง โดยไม่ได้วางมาตรการช่วยเหลือ


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ...เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมี 11 หมวด ได้แก่ หมวด 1 การบริหารจัดการด้านการประมง ประกอบไปด้วยคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ, คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด, สถิติการประมง, การควบคุม หมวด 2 เขตการประมง ประกอบไปด้วยการกำหนดเขตประมงแบ่งเป็นประมงทะเลชายฝั่ง-ประมงทะเลนอกชายฝั่ง-ประมงน้ำจืด, การทำการประมงในเขตการประมง ว่าด้วยเครื่องมือในการทำประมง

หมวด 3 การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะมีการกำหนดมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หมวด 4 สุขอนามัยสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ จะมีการประกาศมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการจับ การดูแลรักษาการแปรรูป การเก็บรักษา และการขนส่งสัตว์น้ำ หมวด 5 การนำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ การขออนุญาต การออกใบอนุญาต และ หนังสือรับรองสุขภาพคุณภาพสัตว์น้ำ/สุขอนามัย

หมวด 6 การประมงนอกน่านน้ำไทย จัดให้มีคณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทย เพื่อบริหารจัดการใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ หมวด 7 ค่าอากร/ค่าธรรมเนียม/ใบแทนใบอนุญาต หมวด 8การโอนใบอนุญาต หมวด 9 พนักงาน เจ้าหน้าที่ หมวด 10 มาตรการทางปกครอง และหมวด 11 บทกำหนดโทษ

นายสุรจิตต์ อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมงกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.การประมง จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพื่อรักษาทรัพยากรในทะเล ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีปริมาณมากอย่างในอดีต โดยกฎหมายฉบับเก่าถือว่า "ล้าสมัยมาก" อาชญาบัตรใช้เครื่องมือประมงสามารถต่ออายุใช้ได้ตลอดชีวิต แต่ปัจจุบันกรมประมงเห็นว่า ต้องปรับให้มีการควบคุม ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯว่าจะปรับอย่างไร เช่น อาจกำหนดให้ใช้ได้แค่ 5 ปี หลังจากนั้นต้องกำหนดโควตาใหม่ ว่าจะให้มีการใช้เครื่องมือชนิดต่าง ๆ ทำการประมงในน่านน้ำไทยปริมาณเท่าใด

ทั้งนี้ มาตรา 16 ของร่าง พ.ร.บ.การประมงระบุว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำและขีดความสามารถในการทำประมง, กำหนดนโยบายการประมงนอกน่านน้ำ-การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ-การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่สำคัญคณะกรรมการชุดนี้ยังเป็นผู้กำหนดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะทำการประมงภายในน่านน้ำไทยด้วย

"คณะกรรมการนโยบายประมงจะมีองค์ประกอบมาจากทุกภาคส่วนต้องมาดูการควบคุมทรัพยากร มีระยะเวลาที่แน่ชัด ถ้า พ.ร.บ.นี้ออกมา อาชญาบัตรที่มีอยู่เดิมก็ต้องยกเลิก ทุกคนต้องมาทำตามกติกาใหม่หมด" นายสุรจิตต์กล่าว

ปัจจุบันมีอวน 4 ประเภทที่กรมประมงไม่อนุญาตให้ขออาชญาบัตรเพิ่มแล้ว ได้แก่ อวนลาก อวนรุน อวนล้อมปลากะตัก และอวนล้อมปลากะตักปั่นไฟ ถือเป็นเครื่องมือที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติอาจจะพิจารณาให้ยกเลิกการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอาชญาบัตรเครื่องมือประมง หรือการใช้เครื่องมือไม่ถูกต้องตามที่ขออนุญาตไว้ จดอาชญาบัตรเครื่องมือธรรมดาแต่ในทางปฏิบัติกลับใช้เครื่องมืออวน 4 ประเภทที่ทำลายล้างสูง หรือมีการสวมสิทธิ์อาชญาบัตร กรณีนี้ภาคประมงของประเทศไทยถูกสหรัฐจับตาส่งผลให้กรมประมงต้องออกมาตรการกวดขันนำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบผู้มีใบอนุญาตและอาชญาบัตรประมงทั้งหมดถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เพื่อไม่ให้มีการสวมสิทธิ์กันได้

ด้านนายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล อุปนายกสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทยกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่นี้ถือว่า "เป็นที่น่าพอใจ" มีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในขั้นตอนคณะกรรมการ

ผู้กำหนดนโยบายทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่อาจจะเกิดปัญหาเมื่อถึงขั้นตอนที่ต้องลดจำนวนเรือประมงลงตามปริมาณทรัพยากรทางทะเลที่ลดลง

"ตอนนี้สมาคมประมงต่าง ๆ กำลังทำข้อมูลทรัพยากรในทะเลอยู่เพื่อเตรียมส่งให้คณะกรรมการที่จะมีขึ้นพิจารณาลดจำนวนเรือประมงลง ถึงตอนนั้นใครจะช่วยชาวประมงที่ต้องเลิกอาชีพ เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่กำหนดเรื่องกองทุนสนับสนุนความยั่งยืนในการทำประมง ผมเห็นว่าจะกลายเป็น พ.ร.บ.ขาหัก มีช่องโหว่ ก็ต้องรอดูโมเดลจากคณะกรรมการในอนาคต ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร"


แต่โดยรวมแล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้เหมาะสม การตั้งคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติทำให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมและมีผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแล หากจะมีการลงนามอนุสัญญาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมงหรือแม้แต่การตกลงสัญญากันระหว่างเอกชนก็ต้องผ่านคณะกรรมการชุดนี้ก่อน

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงเรืออวนลากคู่จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อทรัพยากรทางทะเลน้อยลงและรัฐบาลต้องการลดจำนวนเรือประมงลง ภาครัฐต้องมีงบประมาณช่วยเหลือชาวประมงที่ต้องเลิกอาชีพหรือเปลี่ยนเครื่องมือจับปลาที่ภาครัฐถือว่าทำลายทรัพยากร เช่น ใช้งบประมาณซื้อต่อเรือประมงจากชาวประมง แล้วนำมาจมเป็นแหล่งปะการังเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ

"ผมว่ากฎหมายฉบับนี้ยังไม่เรียบร้อยในหลายส่วน สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรเรียกเราชาวประมงเข้าไปให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย เพราะชาวประมงอยู่กับอาชีพนี้มาทั้งชีวิต เรารู้ดีที่สุด อย่าฟังแต่กรมประมงฝ่ายเดียว" นายมงคลกล่าว

ที่มา -