ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ศึกท่าเรือแม่น้ำโขงระอุ...! เดิมพันขนส่งทางน้ำเบ่งบาน

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 03, 14, 22:26:05 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

แม่น้ำโขง" เป็นจุดส่งออกและนำเข้าสินค้าที่สำคัญทางภาคเหนือของประเทศไทย เพราะเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีนเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว จนถึงสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระยะทางจากจีนตอนใต้สู่ประเทศไทยกว่า 344 กิโลเมตร


แม่น้ำสายยุทธศาสตร์นี้ถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย-สปป.ลาว-เมียนมาร์-จีนตอนใต้)มาตลอดหลายสิบปี และมาสะดุดในปี 2554-55 ที่มีปัญหาความรุนแรงจากเหตุการณ์ปล้นเรือสินค้าจีน 2 ลำ แต่ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว การขนส่งได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงรายระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2557 ไทยกับจีนตอนใต้ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญในแม่น้ำโขง มีมูลค่าการค้า 2,952.87 ล้านบาท ประกอบด้วย มูลค่าการส่งออก 1,880.52 ล้านบาท สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้ากสิกรรมประเภทอัลมอนด์ แมคาเดเมียถั่ววอลนัตแห้ง ผลไม้ ยางพารา เศษยางพารา สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ปลากะตักตากแห้ง สินค้าเชื้อเพลิง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

ส่วนสินค้านำเข้ามีมูลค่า 1,072.35 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ สินค้ากสิกรรม พืชผักสด สินค้าเกษตร ใบชา บุหรี่ ของใช้ประจำวัน (อุปโภคบริโภค) และโลหะ-อโลหะ ฯลฯ

หากย้อนหลังไปในปี 2556 มีการค้ารวมทั้งสิ้น 7,872.88 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 4,788.72 ล้านบาท และนำเข้า 3,084.16 ล้านบาท โดยนำเข้าสินค้าเกษตรมากถึง 84.68% ของสินค้าทั้งหมด เช่น พืชผักสด ผลไม้

ท่าเรือห้าเชียงลงทุนเพิ่ม

ปัจจุบันมีท่าเรือเปิดให้บริการ 3 แห่ง คือ 1) ท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1 ตั้งอยู่ที่ ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ส่งมอบให้กับเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนดูแล เพื่อใช้เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น

2) ท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อทดแทนท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1 ซึ่งมีขนาดเล็กและตั้งอยู่กลางตัวเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน โดยตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร มีพื้นที่กว้างขวางกว่า 387 ไร่ สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าทั่วไปและคอนเทนเนอร์ ซึ่งบริหารโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยให้บริการครบครัน

3) ท่าเรือของเอกชน ก่อนหน้านี้ท่าเรือเอกชนที่ขออนุญาตใช้ขนส่งสินค้าชั่วคราวมีประมาณ 12 แห่ง แต่ขณะนี้เหลือเพียงรายเดียวที่มีบทบาท คือ ท่าเรือพาณิชย์ล้านช้างหรือท่าเรือห้าเชียงของกลุ่มเบียร์ช้าง ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบกก ต.เวียง อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของไทยจึงได้รับความนิยมจากเรือสินค้าเข้ามาใช้บริการ

สำหรับเรือสินค้าในแม่น้ำโขงมีประมาณ200 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือสัญชาติจีนแต่ปัจจุบันได้หันมาใช้เรือเล็กสัญชาติลาวกันมากขึ้น ทำให้สัดส่วนของเรือลาวมากกว่าเรือจีนเล็กน้อย ล่าสุดท่าเรือห้าเชียงกำลังลงทุนสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อรองรับการขนส่งที่ขยายตัวในแม่น้ำโขงนายดอน ทองประไพ ผู้จัดการท่าเรือห้าเชียง เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่บริเวณใกล้เคียงกับท่าเรือเดิมที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2557 นี้ ซึ่งจะใช้ประโยชน์ทั้งการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว

สินค้าท่าเรือเชียงแสน 3 แสนตัน

ส.อ.สุรชาติ จินดาวงค์ หนึ่งในผู้ประกอบการค้าชายแดนด้าน อ.เชียงแสนกล่าวว่าปัจจุบันกำลังประสบปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทผักและผลไม้จากจีน เพราะต้องไปส่งที่ท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 ซึ่งห่างจากสามเหลี่ยมทองคำไป 20 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1 ลงไปใต้น้ำอีก 10 กิโลเมตร จึงเสนอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดใช้ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน แห่งที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้าได้ด้วย

ด้านนายวีระ จินนิกร ผู้จัดการท่าเรือเชียงแสนและเชียงของ จังหวัดเชียงรายย้ำว่า ผู้ประกอบการควรจะไปใช้บริการที่ท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 จะดีที่สุด เพราะสถานที่กว้างขวางและมีการอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งวัสดุอุปกรณ์ ท่าเรือ หน่วยงานต่างๆ ที่ให้บริการ รวมทั้งมีศักยภาพในการรองรับสินค้าได้ปีละกว่า 6 ล้านตัน

"การกำหนดให้สินค้าบางชนิดสามารถนำขึ้นที่ท่าเรือห้าเชียงได้นั้น ก็เพื่ออำนวยความสะดวก แต่ผู้ประกอบการควรจะขนสินค้าทั้งหมดไปยังท่าเรือ แห่งที่ 2 จะสะดวกกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลาโหลดสินค้าลงหลายจุด รวมทั้งรองรับการแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าในอนาคต เพราะถนนสาย อ.เมือง-ท่าเรือเชียงแสน กำลังก่อสร้าง และเมื่อแล้วเสร็จในปี 2560 ก็สามารถเชื่อมท่าเรือเชียงแสน-กรุงเทพฯได้โดยสะดวกด้วย"

นายวีระกล่าวด้วยว่า เมื่อถนนเส้นนี้เสร็จและเปิดเออีซีเต็มตัว จะทำให้การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน แห่งที่ 2 มีความคึกคักขึ้น ซึ่งในปี 2556 มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือประมาณ 3 แสนตัน ปี 2557 (ม.ค.-ก.ค.) มีสินค้าผ่านท่าเรือแล้ว 3 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% คาดว่าในปีนี้จะทะลุถึง 350,000 ตันแน่นอน โดยมีสินค้าผ่านเฉลี่ยเดือนละประมาณ 10,000 ตัน


นายวีระเชื่อว่าในอนาคตจะไม่มีปัญหาเรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขงแห้ง จนเป็นปัญหาต่อการเดินเรือสินค้า โดยเฉพาะจากสามเหลี่ยมทองคำไปยังท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน แห่งที่ 2 ซึ่งเคยเกิดขึ้นในฤดูแล้ง เพราะจากการตรวจสอบค่าเฉลี่ยของแม่น้ำโขงตั้งแต่ฤดูแล้งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยลึก 3 เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการเดินเรือสินค้า และทางจีนมีผลประโยชน์ต่อเรือสินค้าในแม่น้ำโขงมาก สามารถควบคุมไม่ให้ระดับน้ำกระทบต่อการเดินเรือได้แล้ว

"จีนมีการพัฒนาเมืองท่าในแม่น้ำโขงที่เมืองกาลัมปาใกล้กับท่าเรือกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านของจีนตอนใต้ โดยสร้างเป็นท่าเรือเพื่อบรรทุกสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น"

ท่าทีของผู้บริหารท่าเรือเชียงแสนชัดเจนว่า ไม่รับข้อเสนอผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่ออกมากระทุ้งการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ปลดล็อกไปใช้ท่าเรือแห่งเดิมท่ามกลางการส่งออก-นำเข้าผ่านเรือแม่น้ำโขงระหว่างจีนตอนใต้-ไทยที่มีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้น

ที่มา -