ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

สหรัฐอเมริกา กับ "ตลาดพลังงาน" โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 09, 14, 19:38:30 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

หากจะยังจำกันได้เมื่อ 10-15 ปีก่อน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราเลข 2 หลักมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จนเศรษฐกิจของจีนมีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา แซงหน้าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและยุโรปไปแล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนมีขนาดกว่า 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และกำลังจะแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังขยายตัวในอัตรา 7-8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกามีเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี


การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน ทำให้ราคาของสินค้าขั้นปฐมหรือวัตถุดิบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม สังกะสี ซึ่งรวมทั้งราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา อ้อย น้ำมันปาล์ม และพืชต่าง ๆ ที่สามารถนำมาผลิตทดแทนน้ำมันมีราคาสูงขึ้นไปด้วย

เมื่อราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น ก็เป็นเหตุจูงใจให้มีการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นแหล่งพลังงาน เหมืองแร่ ยางพารา และสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้เพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดราคาของสินค้าต่าง ๆ เหล่านี้ก็ค่อย ๆ ลดลง เกิดดุลยภาพใหม่ในตลาดสินค้าขั้นปฐมเหล่านี้

แต่มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการการผลิตหรือเทคโนโลยีเกือบทุกด้านรวมทั้งในด้านพลังงาน เทคโนโลยีเช่นว่าก็คือ ความสามารถในการขุดเจาะลงไปใต้ชั้นหินดานลึกกว่า 10 กม. และสามารถลดต้นทุนการขุดเจาะดังกล่าวได้จนสามารถนำก๊าซธรรมชาติและน้ำมันขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เป็นผลสำเร็จ โดยการอัดฉีดน้ำลงไปแทนที่ก๊าซและน้ำมัน

แม้ว่าใต้ชั้นหินดานลงไปลึกกว่า 10 ก.ม. โดยทั่วไปในอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา หรือในภูมิภาคอื่น ๆ จะค้นพบก๊าซและน้ำมัน แต่ก็ไม่มีประเทศใดมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าพอที่จะสามารถขุดเจาะเพื่อผลิตก๊าซและน้ำมันดิบขึ้นมาใช้อย่างสหรัฐอเมริกา

เมื่อเวลาผ่านไปปริมาณพลังงานที่สหรัฐสามารถขุดเจาะขึ้นมาใช้แทนการนำเข้าพลังงานก็มีมากขึ้นทุกที่ แม้ว่าในขั้นนี้สหรัฐอเมริกายังไม่สามารถส่งออกได้มากนัก เพราะยังไม่มีท่อส่งก๊าซและน้ำมันมาถึงยุโรปและภูมิภาคอื่น การขนส่งทางทะเลก็ยังมีต้นทุนสูง แต่การใช้พลังงานของตนเองทดแทนพลังงานนำเข้า ทำให้ต้นทุนต่ำลงไปเรื่อย ๆ ขณะนี้ประมาณการว่าพลังงานที่สหรัฐอเมริกาผลิตได้มีค่าความร้อนเท่า ๆ กับการผลิตของประเทศซาอุดีอาระเบีย อันเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้นเหมือนอย่างที่เคยเป็น คืออยู่ในระดับประมาณ 90-100 เหรียญสหรัฐมาเป็นเวลาหลายปี

การที่สหรัฐสามารถพึ่งตัวเองในด้านพลังงาน จึงทำให้ยังคงความเป็นมหาอำนาจได้ต่อไป และเป็นสาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจสหรัฐยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าอาจจะฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ การว่างงานเริ่มลดลงแม้ว่าจะไม่ค่อยเร็วนักก็ตาม และดูดีกว่ายุโรปค่อนข้างมาก

การที่สหรัฐสามารถพึ่งตนเองได้ในด้านพลังงาน และมีโอกาสที่จะส่งออกได้ในอนาคตถ้าหากสามารถพัฒนาระบบขนส่งให้มีราคาถูกกว่านี้ พร้อม ๆ กับสามารถพัฒนาให้การขุดเจาะอัดฉีดน้ำลงไปแทนที่มีต้นทุนที่ถูกลง ทำให้เงินทุนจากทั่วโลกไหลกลับเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกามากขึ้น โอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งขึ้นเมื่อเทียบเงินสกุลหลักของโลกจึงมีมากขึ้น

ขณะเดียวกัน บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคต่าง ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไปด้วยตามน้ำหนักของยุทธศาสตร์ของสหรัฐกล่าวคือ น้ำหนักของสหรัฐที่จะให้กับการรักษาเสถียรภาพและดุลแห่งอำนาจในตะวันออกกลางน่าจะน้อยลง ทรัพยากรทางการเงินและการทหารในภูมิภาคนี้น่าจะมีสัดส่วนที่น้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน น้ำหนักที่สหรัฐจะให้กับการรักษาเสถียรภาพและดุลแห่งอำนาจของตนในเอเชียตะวันออกและยุโรปตะวันออกน่าจะมีมากขึ้น

ในทศวรรษต่อไปเราน่าจะเห็นบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น คู่แข่งของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียก็คงจะหนีจากจีนไม่พ้น แต่จะมาในรูปอื่นที่ไม่ใช่การแข่งขันในทางทหาร จะเป็นในรูปแบบใดก็เป็นเรื่องที่น่าคิด จีนเองก็คงจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบ การหาทางออกทางทะเลทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและทางฝั่งอันดามัน ก็คงจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่น่าจะมีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกัน สหรัฐก็คงต้องพยายามรักษาพันธมิตรเดิมอย่างอาเซียนไว้อย่างเหนียวแน่น

รูปแบบยุทธศาสตร์ในยุโรปตะวันออกก็คงคล้ายกัน โดยคู่แข่งของสหรัฐก็คงหนีไม่พ้นรัสเซีย แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม รัสเซียก็ยังคงสามารถดำรงความเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศที่เคยร่วมกันอยู่ในสาธารณรัฐเดิม ในขณะที่สหรัฐก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศนาโต้ ซึ่งได้แก่ประเทศยุโรปตะวันตก และประเทศยุโรปตะวันออกที่เกิดใหม่

การที่ยุโรปตะวันตกยังต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินจากรัสเซีย โดยท่อน้ำมันและก๊าซผ่านยุโรปตะวันออก ซึ่งทำให้อำนาจต่อรองของรัสเซียต่อประเทศยุโรปตะวันตกยังมีอยู่


เหตุการณ์เดินขบวนในยูเครนเพื่อแบ่งแยกดินแดนกลับไปรวมกับรัสเซีย หรือการที่แหลมไครเมียซึ่งเคยรวมอยู่กับยูเครนมีประชามติให้กลับไปรวมกับรัสเซีย เห็นได้ชัดว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างรัสเซียกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก หรือกลุ่มประเทศนาโต้โดยมีสหรัฐหนุนหลังอยู่ โดยที่ยุโรปตะวันตกไม่วิตกว่าจะมีผลต่อการส่งพลังงานของรัสเซียไปยังยุโรปตะวันตก

ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ายุโรปตะวันตกมองเห็นศักยภาพของการผลิตพลังงานโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ว่าอาจจะทดแทนการผลิตน้ำมันของตะวันออกกลางได้ทั้งหมด และพลังงานจากตะวันออกกลางอาจจะสามารถทดแทนพลังงานทั้งหมดที่นำเข้าจากรัสเซียได้ในอนาคตอันใกล้ อำนาจต่อรองของยุโรปตะวันตกเหนือรัสเซียอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้รัสเซียไม่กล้าทำอะไรที่รุนแรงต่อยูเครนและประเทศยุโรปอื่น ๆ

โลกตลอดมาจนทุกวันนี้ พลังงานกลายเป็นอาวุธสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์ของนโยบายการต่างประเทศ และนโยบายทางการทหารที่สำคัญ ดุลแห่งอำนาจและความสำคัญของภูมิภาคต่าง ๆ ของมหาอำนาจนั้น มักจะเปลี่ยนผันแปรไปตามทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญสำหรับโลกทุกวันนี้คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าพลังงาน

บทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจคงมีมากขึ้นในภูมิภาคนี้

คอลัม์ คนเดินตรอก

ที่มา -