ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ระบบฐานข้อมูลทะเบียนเรือ ทางแก้ค้ามนุษย์ 'ภาคประมง'

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 16, 14, 20:06:59 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 3 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์

จุฬาฯเผย 6 ข้อค้นพบ! ประมงไทยในอินโดฯ ชี้ระบบฐานข้อมูลทะเบียนเรือ ทางแก้ค้ามนุษย์'ภาคประมง'


ในการปลดล็อกไทยออกจากบัญชี 3 หรือเทียร์ 3 ประเทศที่ไม่มีความพยายามแก้ปัญหาค้ามนุษย์ตามที่สหรัฐได้จัดทำขึ้นนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและต้องอาศัยเวลาในการแก้ไข

เนื่องจากปัญหาค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกับ "ภาคประมง" นั้นเป็นปัญหาที่เรื้อรัง มิหนำซ้ำยังมีความซับซ้อนเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมาจะเห็นมาตรการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในระยะเร่งด่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการจัดระเบียบขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หรือการเปิดศูนย์บริการแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จทั่วประเทศ

จากนั้นก็มีมาตรการแก้ปัญหาในส่วนอื่นๆ ตามโรดแมพที่กำหนดไว้ทยอยออกตามมา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เปิดเผยผลการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาค้ามนุษย์บนเรือประมงนอกราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในโรดแมพการแก้ปัญหาระยะกลางในปี 2558 เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา

โดยเนื้อหาสาระสำคัญ คือ ขยายการใช้บังคับให้ครอบคลุมตั้งแต่เรือประมงที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป และเรือประมงที่ไปประจำนอกราชอาณาจักรโดยไม่จำกัดเวลา จากเดิมที่ห้ามใช้บังคับกับเรือประมงที่มีลูกเรือน้อยกว่า 20 คน และอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

อีกทั้งแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุขั้นต่ำของลูกจ้างเด็ก โดยให้จ้างแรงงานอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกโจมตีว่ามีการใช้แรงงานเด็ก ไม่ว่ารูปแบบใด

นอกจากนี้ยังกำหนดเรื่องเวลาพัก สัญญาจ้าง การทำทะเบียนลูกจ้าง และเอกสารการจ่ายค่าจ้าง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและควบคุมการจ่ายค่าตอบแทน พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขที่นายจ้างต้องดูแลสวัสดิการอื่นๆ ให้แก่ลูกจ้างบนเรือ

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังที่กล่าวมาเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในแรงงานภาคประมง ยังเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น!

ในงานเสวนาหัวข้อ "การช่วยเหลือลูกเรือไทยและข้ามชาติ 'ตกเรือ' ณ เกาะอันบน ประเทศอินโดนีเซีย : คนตกเรือ ค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ลูกเรือประมงหรือไม่?" ที่ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการค้าแรงงานบนเรือประมงทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกหลายด้าน และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ปัญหาการค้ามนุษย์เท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์และกรรมการบริหารสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย (ทีโอเอฟเอ) สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น สรุปความได้ว่า ปัญหาแรงงานในภาคประมงนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว สร้างความเจ็บช้ำและสร้างความเสียหายให้วงการเรือประมงนอกน่านน้ำไทยมหาศาล

ที่ผ่านมา สมาคมฯเคยเรียกร้องให้ภาครัฐร่วมแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการ เพราะเราคือส่วนหนึ่งที่นำรายได้เข้าประเทศ ก็ไปหามาทุกกรม ทุกกระทรวงแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ขนาดลูกเรือประมงของเรา 4 คนถูกโจรสลัดที่โซมาเลียปล้นเรือและจับกุมไป 4 ปีแล้วยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เคยไปร้องเรียนมาหลายหน่วยงานแล้วแต่ก็ไม่มีใครสนใจ

"สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการและภาครัฐปล่อยมานาน คือ ขบวนการค้ามนุษย์ ที่หมอชิต หัวลำโพง สนามหลวง ผมเคยพูดในรายการโทรทัศน์เมื่อ 7 ปีที่แล้ว และได้เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเพิ่มมาตรการป้องกัน แต่ทุกวันนี้ก็ไม่แก้ปัญหากัน"

ในส่วนของลูกเรือนั้นก็มีหลายปัญหาที่เหนือการควบคุม ทั้งเรื่องส่วนตัว เช่น หนี้สิน การดื่มสุรา การเบิกเงินล่วงหน้า ซึ่งนายจ้างจ่ายตรงให้กับลูกเรือหรือครอบครัวของเขา ไม่มีการจ่ายผ่านนายหน้าเด็ดขาด รวมทั้งเรื่องไต้ก๋ง ซึ่งยอมรับว่ามีบางส่วนที่ใช้ความรุนแรงกับลูกเรือ

ส่วนกรณีหักเงินเกิดจากการที่ลูกเรือเบิกเงินล่วงหน้า เมื่อมีการเบิกเพิ่ม หรือไปติดหนี้ใคร นายจ้างก็ต้องช่วยจ่ายให้ไปก่อน ไม่เช่นนั้นจะถูกข่มขู่ทำร้ายจากเจ้าหนี้ที่มาทวง

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากให้เร่งแก้ไขคือ "ประกันสังคม" คนเรือเหล่านี้ยังไม่มีสิทธิ ทั้งที่พวกเขาควรได้รับ

ดร.บัณฑิต โชคสงวน ตัวแทนจากศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) กล่าวเสริมว่า ควรมีการจัดทำ "ฐานข้อมูลทะเบียนเรือ" ในภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งในขณะนี้ปัญหาดังกล่าวยังไร้การควบคุม

"เราจัดประชุมเรื่องนี้มา 3-4 ครั้งแล้ว ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้เชื่อว่าปัญหาอื่นจะเบาบางลง"

เขาอธิบายว่า ทุกประเทศมีหน่วยงานรับผิดชอบทะเบียนเรือแตกต่างกัน ประเทศไทยไม่ใช่กรมประมงแต่เป็นกรมเจ้าท่าที่รับผิดชอบ จะมีเพียงมาเลเซียประเทศเดียวที่กรมประมงทำเอกสารทั้งหมดอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ภายหลังจากหารือพบว่า มีความยุ่งยากเรื่องการจดทะเบียนเรือ อย่างไรก็ดีในการจดทะเบียนให้ถูกต้องและนำไปรวมกันไปเป็นข้อมูลให้ทุกประเทศรับทราบนั้น ก็มีการเสนอว่าควรเริ่มจากเรือที่มีความยาว 24 เมตรขึ้นไป ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าปลายปีนี้น่าจะรวบรวมข้อมูลทะเบียนเรือได้แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ดี มีประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน คือเรื่อง "ธงเรือ" เขาเล่าว่า เวลาเรือประมงประเทศหนึ่งไปทำประมงในอีกประเทศหนึ่ง ต้องมีการเปลี่ยนธงเป็นธงของประเทศที่เข้าไปทำประมง แต่ปัญหาเกิดขึ้น เพราะมีคำถามว่าได้เปลี่ยนธงหรือไม่

ยกตัวอย่าง เรือประมงไทย ก่อนไปเป็นธงไทย เมื่อไปถึงประเทศอินโดนีเซียต้องเปลี่ยนเป็นธงอินโดนีเซีย แต่ความจริงแล้วเราเปลี่ยนธงหรือไม่ หรือมีอยู่แล้วทั้งสองธง

หลักเกณฑ์นี้ถ้าทุกประเทศร่วมมือกันป้องกัน ก็ต้องให้เรือประมงถือแค่ธงเดียว สิ่งนี้อยากฝากไว้เป็นข้อมูลในการดำเนินการด้วย

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ "รัฐท่าเรือ" ทุกประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือมาตรการรัฐท่าเรือที่กำหนด ซึ่งในภูมิภาคเรานั้นมีเพียง 2 ประเทศ คือ เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย ที่ยอมรับปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือมาตรการที่กำหนดขึ้น แต่ประเทศไทยกับอีกหลายๆ ประเทศยังไม่ปฏิบัติตาม และยังไม่มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับเรื่องรัฐท่าเรือ ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจค้นบนเรือ หรือการสั่งห้ามเรือไม่ให้เข้าท่าเรือ เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าปัญหากิจการประมงนอกน่านน้ำนั้น ไม่ได้มีเพียงการหลอกมาบังคับใช้แรงงาน แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบและบุคลากรของภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่บนฝั่งจนกระทั่งออกทะเลที่เปิดช่องให้มีการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างภาคประมงเหล่านี้




จุฬาฯเผย 6 ข้อ ค้นพบประมงไทยในอินโดฯ

ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอผลการศึกษาแรงงานบังคับจากไทยในประเทศอินโดนีเซีย ปี ค.ศ.2012 โดยสัมภาษณ์คนเรือ 596 คนที่ทำงานประมงชายฝั่งและประมงนอกน่านน้ำของไทย มีข้อค้นพบสำคัญ คือ

1.มีแรงงานประมงเข้าข่ายถูกบังคับทำงานอยู่ร้อยละ 17 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมงไทย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นกับเรือประมงไทยทุกลำ ในจำนวนนี้มีร้อยละ 5.4 ที่ถูกหลอกหรือถูกบังคับลงเรือโดยนายหน้า โดยจะเกิดกับประมงนอกน่านน้ำมากกว่าประมงชายฝั่ง

2.ในกลุ่มแรงงานที่ถูกบังคับ ร้อยละ 17 นั้น ไม่มีเสรีภาพในการไปไหนมาไหน ถูกกักขังในเรือ ท่าเรือ หรือในบ้าน 3.เอกสารสำคัญของแรงงานถูกนายจ้างเก็บไว้

4.มีการยืนยันว่ามีการใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย 5.แรงงานอยู่ในสภาพของคนมีหนี้ หรือแรงงานขัดดอก การจ่ายเงินล่วงหน้าให้แรงงานโดยนายจ้างอาจหวังดีให้เงินไปก่อนเพื่อให้ครอบครัวแรงงานนำไปใช้นั้นกลายเป็นหนี้ที่แรงงานต้องทำงานใช้

6.ร้อยละ 12 ของแรงงานเหล่านี้ระบุว่า มีการหักเงินไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่จ่ายค่าจ้าง และมีการข่มขู่ว่าจะส่งตัวให้ตำรวจ

ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานถูกบังคับ ซึ่งเข้าข่ายเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ข้อค้นพบสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ มีการจับปลาเกินขอบเขต เช่น จับปลาตัวเล็กเกินไป อวนถี่เกินไป ไม่สนใจฤดูวางไข่ การจับปลาโดยผิดกฎหมายมีการขยายเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาเพราะค่าใช้จ่ายลูกเรือถูกกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้ มีตัวชี้วัดที่ระบุว่าคนที่เป็นแรงงานบังคับและเหยื่อค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเลจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมแบบอื่นด้วย เช่น การจับประมงผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และการทุจริตคอร์รัปชัน

ที่มา -