ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

การค้นหาเครื่องบินมาเลเซีย MH 370 จะใช้เวลาหลายเดือน

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 27, 14, 23:11:11 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียระบุ การค้นหาเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน เอ็มเอช 370 ที่หายไปอย่างมีปริศนา จะต้องใช้เวลานานหลายเดือน


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 57 อ้างคำกล่าวเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียที่บอกว่า การค้นหาเครื่องบินโบอิ้งเที่ยวบิน เอ็มเอช 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สที่สูญหายไปตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมาในมหาสมุทรอินเดียกำลังมีความคืบหน้าไปด้วยดี แต่น่าจะใช้เวลาหลายเดือนมาก เพราะพื้นที่ค้นหานั้นกว้างใหญ่ไพศาล

นายปีเตอร์ โฟเลย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายค้นหาของออสเตรเลียบอกว่า มีการมองในแง่ดีว่าจะได้พบซากเครื่องบิน เนื่องจากเรือค้นหา 2 ลำใช้อุปกรณ์โซนาร์ค้นหาเครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน เอ็มเอช 370 ที่หายไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 57 ระหว่างบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียไปยังกรุงปักกิ่งในจีน พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน

นอกจากนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้พวกเขาหวังการค้นหาเครื่องบินจะครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง

แต่นายโฟเลย์บอกว่า จะต้องใช้เวลานานหลายเดือน แม้มีการระดมกำลังครั้งใหญ่ค้นหาทั้งทางอากาศและในทะเลมาแล้ว แต่ก็ยังไม่พบซากเครื่องบินแม้แต่ชิ้นเดียว

ที่มา -




งมเข็ม MH-370 ในมหาสมุทร

ในขณะที่โลกทุกวันนี้ ใครทำอะไรที่ไหน เมื่อไร กับใคร จะลอบทำหรือทำอย่างโจ่งแจ้ง กล้องโทรทัศน์วงจรปิด กล้องส่องทางไกล หรือดาวเทียม ฯลฯ จะเห็นและถ่ายภาพไว้หมด


แต่เมื่อเครื่องบินเจ็ทของสายการบิน Malaysia Airlines เที่ยวบินที่ MH370 วูบหายไปจากโลกเป็นเวลานานร่วม 8 เดือนแล้ว ความพยายามค้นหาโดยใช้ทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงก็ยังไม่พบอะไรเลย แม้แต่ซากของเครื่องบินหรือศพของผู้โดยสารก็ไม่เห็น ซึ่งดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อและเหนือจริง

อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้ทุกคนตระหนักว่า นักวิชาการยังมีความไม่รู้ในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง รวมถึงยังไม่ระแวดระวังด้วยว่า ก่อนและหลังมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเช่นนี้เกิดขึ้น เราต้องทำ ควรทำ และน่าจะทำอะไรบ้าง

MH370 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน ออกเดินทางจาก Kuala Lumpur ไป Pekingในเวลาดึก เมื่อสัญญาณจากเครื่องได้หายไปจากจอเรดาร์ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 8 มีนาคม คนทั้งโลกเริ่มกระวนกระวาย บ้างคิดว่า เครื่องบินคงตกในอ่าวไทยหรือในมหาสมุทรอินเดียที่กว้างใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะทางทิศตะวันตกของออสเตรเลียตะวันตก เพราะได้ยินสัญญาณครั้งสุดท้ายจากที่นั่น

เมื่อการค้นหาในบริเวณดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นกล่องดำ เศษซากของเครื่องบิน หรือศพ บรรดานักเทคโนโลยีและนักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มเห็นข้อจำกัด และความบกพร่องขององค์ความรู้ต่างๆ ที่เรามีว่ายังไม่ดีเลย

ทั้งๆ ที่มีรายงานเข้ามาเป็นระยะๆว่า ได้ยินสัญญาณจากกล่องดำที่จมอยู่ใต้ทะเลลึก และเห็นคราบน้ำมันลอยในมหาสมุทร ณ ตำแหน่งที่ห่างจากเมือง Perth ในออสเตรเลียไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 1,700 กิโลเมตร แต่การใช้เครื่องบินทหาร เครื่องบินพลเรือน ดาวเทียม และเรือ 14 ลำสอดส่ายส่องดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องสงสัย ก็ไม่เห็นร่องรอยใดๆ ในพื้นที่กว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร

เมื่อการค้นหาด้วยการสำรวจจากบนฟ้าและบนน้ำไม่ได้ผล ทีมค้นหานานาชาติจึงต้องลงหาในน้ำลึก และก็พบว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับมหาสมุทรที่ระดับลึกมากๆ ในปริมาณที่น้อยมาก ทั้งๆ ที่เรามีข้อมูลเกี่ยวกับภูมิประเทศบนดวงจันทร์ บนดาวอังคาร และบนดาวศุกร์ที่ดี เช่น สามารถเห็นวัตถุที่ยาว 1 กิโลเมตร กว้างและหนา 1 เมตรบนดาวอังคารได้ชัดเจน โดยใช้ดาวเทียมที่ถูกส่งไปโคจรรอบดาวอังคาร แต่ความสามารถในเรื่องเดียวกันที่ท้องมหาสมุทรบนโลกโดยใช้เรือส่งคลื่นเสียงและดาวเทียมช่วย ก็จะเห็นเพียงเห็นวัตถุที่มีความยาวกว่า 15 กิโลเมตรและหนากว่า 250 เมตรเท่านั้น ถ้าวัตถุมีขนาดเล็กกว่านั้น กล้องจะมองไม่เห็น ดังนั้น เที่ยวบิน MH370 ที่ระดับลึก 6 กิโลเมตร จึงมีขนาด "เล็ก" เกินที่กล้องจะถ่ายภาพได้

ในส่วนของกล่องดำนั้น ในเบื้องต้นก็มีรายงานว่า ได้ส่งสัญญาณตลอดเวลาและมีคนรับสัญญาณนั้นได้ แต่เมื่อเป็นสัญญาณ "ปลอม" นักล่า MH370 ทุกคนก็เสมือนตกอยู่ในหลุมดำ เพราะไม่มีใครรู้แม้แต่น้อยนิดว่า มีอะไรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงสุดท้ายของการบิน ก่อนที่เครื่องบินจะคามิคาเซ่ลงทะเล

ตามปกติเวลาจะถ่ายภาพวัตถุบนบก และในอวกาศ เรามักใช้แสง และคลื่นวิทยุเป็นตัวช่วย แต่เมื่อวัตถุอยู่ในน้ำลึก คลื่นแสง และคลื่นวิทยุที่เคยทำงานได้ดีมากจะไม่สามารถทะลุน้ำลึกลงไปถึงวัตถุได้ เพราะคลื่นจะถูกน้ำทะเลดูดกลืนไปหมด นักวิทยาศาสตร์จึงต้องใช้คลื่นเสียง แล้วดักฟังเสียงสะท้อนโดยใช้เรือหลายลำ การส่งและรับคลื่นในหลายทิศทาง สามารถช่วยให้นักสำรวจเห็นสภาพของท้องทะเลลึกได้ว่า มีภูเขา หรือหุบเหว ณ ตำแหน่งใดบ้าง

การสำรวจท้องทะเลในอดีตที่ผ่านมา มักกระทำที่บริเวณชายฝั่งเพื่อค้นหาแหล่งน้ำมัน และแร่ นักสมุทรศาสตร์ไม่ได้ให้ความสนใจในพื้นน้ำส่วนที่เป็นมหาสมุทรอินเดียตอนใต้มาก เพราะพื้นน้ำส่วนนั้น มีส่วนที่ลึกที่สุดถึง 7,800 เมตร ในขณะที่ความลึกโดยเฉลี่ยของมหาสมุทรบนโลกมีค่าประมาณ 4,000 เมตร ดังนั้นเราจึงแทบไม่มีข้อมูลของมหาสมุทรในบริเวณที่ MH370 หลบอยู่เลย

นักฟิสิกส์รู้ว่า ความเร็วของเสียงในน้ำร้อนมีค่ามากกว่าความเร็วเสียงในน้ำเย็น แต่เราก็ไม่มีข้อมูลอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่ระดับลึกต่างๆ ตามปกติเรามักไม่สนใจบริเวณที่ลึกเกิน 1,000 เมตร เพราะเครื่องบินไม่ได้ตกในทะเลบ่อย ความไม่รู้นี้ทำให้ข้อมูลความเร็วคลื่นเสียงที่ส่งไปและที่ได้รับกลับมาบอกตำแหน่งของเครื่องบินและกล่องดำ ผิดพลาดและคลาดเคลื่อนมาก

แม้จะมีรายงานการเห็นเศษชิ้นของเครื่องบินลอยในน้ำ หลักฐานนี้ก็ไม่อาจใช้ระบุตำแหน่งที่เครื่องบินตกได้ เพราะกระแสน้ำและกระแสลมที่มีความเร็วแปรปรวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาด หรือทิศทางที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นเวลานานร่วม 8 เดือนนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ดังในการทดลองปล่อยทุ่น 2 ทุ่นที่เหมือนกันทุกประการจากตำแหน่งเดียวกัน ก็ได้มีการพบว่า ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์หลังปล่อย ทุ่นทั้งสองได้ถูกกระแสน้ำพัดพาให้ลอยไปอยู่ห่างกันถึง 500 กิโลเมตร และเมื่อมหาสมุทรอินเดียทางตอนใต้มีทั้งกระแสน้ำวนและพายุไต้ฝุ่นด้วย การเห็นซากใดๆ วันนี้จึงมิสามารถบอกได้ว่า เมื่อ 8 เดือนก่อนนี้ซากเศษนั้น เคยอยู่ ณ ที่ใด

กรณีการตกของ MH370 จึงแตกต่างจากกรณีการตกของเครื่องบิน AF447 ของบริษัท Air France เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.2009 มาก เพราะเมื่อ AF447 บินจาก Rio de Janeiro ไปปารีส และตกในมหาสมุทร Atlantic อีก 5 วันต่อมาก็มีการเห็นคราบน้ำมันและเศษชิ้นส่วนลอยอยู่ห่างจากฝั่งของ Brazil ประมาณ 650 กิโลเมตร ในวันรุ่งขึ้นก็พบซากศพและสัมภาระที่ผิวน้ำ แต่โลกก็ต้องคอยอีกนานถึง 2 ปีจึงสามารถเห็นและถ่ายภาพของซากเครื่องบินที่จมอยู่ที่ระดับลึก 4,000 เมตรได้ โดยใช้อุปกรณ์สำรวจน้ำลึกแบบอัตโนมัติ ชื่อ Autonomous Underwater Vehicle (AUV) ขององค์การ Woods Hole Oceanographic Institution ดังนั้นในกรณีของ MH370 ซึ่งจมอยู่ที่ระดับลึกกว่ามาก จึงอาจต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีจึงจะเห็น หรืออาจไม่เห็นตลอดไป

ในด้านที่เกี่ยวกับกล่องดำก็ต้องมีการปรับปรุง โดยอาจจะใช้กล่องแก้ว (glass box) ซึ่งเป็นระบบสื่อสารที่ป้อนข้อมูลให้ศูนย์บังคับการบินรู้ตำแหน่ง ทิศ ระยะสูง ความเร็วของเครื่องบินตลอดเวลา (real time) โดยใช้ดาวเทียมช่วย แต่การใช้อุปกรณ์นี้จะทำให้บริษัทการบินต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก ดังนั้นถ้าไม่มีการบังคับให้ใช้ ก็คงไม่มีบริษัทการบินใดยินยอม และยินดีใช้ glass box ติดตั้งในเครื่องบินทุกลำ และทุกเที่ยวบิน ทางออกสำหรับปัญหานี้คือบังคับให้มีการส่งข้อมูลจากกล่องดำไปยังศูนย์บังคับการบินโดยตรง ทันทีที่เครื่องบินทยานขึ้นท้องฟ้า โสหุ้ยในการหาตำแหน่งของเครื่องบินก็จะดีขึ้น เพราะจะทำให้รู้ตำแหน่งที่ตกภายในรัศมี 10 กิโลเมตร

ในการบินของเที่ยวบิน MH370 นั้น ได้มีการตรวจพบว่า อุปกรณ์ติดต่อต่างๆ กับภาคพื้นดินหยุดทำงานโดยไม่มีใครรู้เหตุผล และอุปกรณ์ที่รายงานสภาพทั่วไป เช่น ดินฟ้าอากาศ สถานภาพของเครื่องยนต์ ก็หยุดทำงานชั่วขณะหนึ่ง ขณะบินอยู่เหนืออ่าวไทย แต่อุปกรณ์ติดต่อก็ยังใช้งานได้ แม้เครื่องจะค่อนข้างเก่ามาก ดังนั้น จึงไม่สามารถบอกตำแหน่งของเครื่องบินได้แน่ชัด จะมีก็แต่ดาวเทียม Inmarsat ที่โคจรอยู่ ณ ตำแหน่งคงที่เหนือโลกเท่านั้นที่สามารถติดต่อกับ MH370 ได้ แต่ก็ติดต่อกันด้วยข้อมูลสั้นๆ เพียง 6 ครั้ง และข้อมูลด้านความถี่ของสัญญาณที่ติดต่อ ก็สามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้ว่า เครื่องบิน MH370 มีความเร็วเพียงใด และกำลังบินทิศใด โดยใช้ปรากฏการณ์ Doppler ซึ่งถ้ารู้ความเร็วกับเวลาในการติดต่ออย่างแน่ชัด เจ้าหน้าที่ก็สามารถบอกระยะทางที่เครื่องบินอยู่ห่างจากดาวเทียมได้ ถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกต้องนักล่า MH370 จะสามารถระบุตำแหน่งที่ MH370 ตกได้อย่างผิดพลาดไม่เกินระยะทาง 160 กิโลเมตร นี่นับเป็นการใช้ดาวเทียมค้นหาตำแหน่งตกของเครื่องบินเป็นครั้งแรกของโลก

ในเรื่องการทำแผนที่ 3 มิติของท้องทะเลนั้น อุปกรณ์ AUV ชื่อ Bluefin-21 ซึ่งประดิษฐ์โดย Massachusetts Institute of Technology ก็สามารถช่วยยานสำรวจใต้น้ำไม่ให้พุ่งชนภูเขาใต้ทะเล โดยให้เรือจำนวนมากส่งคลื่น sonar ไปสำรวจภูมิทัศน์ แล้วอาศัยดาวเทียมที่มีอุปกรณ์วัดระดับลึกของทะเลช่วยด้วย

การหายสาบสูญของ MH370 จึงเป็นการค้นหาที่ยากและซับซ้อนกว่าการค้นหาเครื่องบินตกเครื่องใดในประวัติศาสตร์การบินทั้งหมด และมีผลทำให้นักเทคโนโลยีการบินต้องติดตั้งระบบติดต่อใหม่ๆ รวมถึงนักสมุทรศาสตร์ต้องเขียนตำราใหม่ด้วย

ในเดือนตุลาคมปีนี้ การค้นหา MH370 จะเริ่มดำเนินการอีก เรือสองลำคือ Fugro Discovery และ GO Phoenix จะทำงานโดยจะส่งคลื่น sonar ส่องกราดที่ก้นทะเลลึกด้วยการใช้สายเคเบิลที่ยาวถึง 10 กิโลเมตร

บริเวณที่จะค้นหามีพื้นที่ประมาณ 110,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะมีทั้งเนินเขาสูง 300 เมตร และหุบเหวลึก 1,400 เมตร ถึงจะไม่พบ MH370 แต่ข้อมูลที่ได้จะมีประโยชน์ในการให้ความรู้ เรื่องวิวัฒนาการและสภาพทางธรณีวิทยาของท้องมหาสมุทร อันจะมีประโยชน์ในอนาคตถ้ามีเครื่องบินตกในทะเลแถบนั้นอีก ส่วนนักธรณีวิทยาก็อาจได้ความรู้เรื่องคลื่นสึนามิ ถ้าบริเวณที่สำรวจนั้นมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพราะการสำรวจอาจพบทิวเขาใต้ทะเลที่ยาว 15 กิโลเมตร กว้าง 6 กิโลเมตร และสูง 2,000 เมตรเหนือท้องทะเล รวมถึงเห็นภูเขาไฟลูกใหม่ๆ ด้วย

เพื่อให้ได้โอกาสของความสำเร็จสูงสุด คณะสำรวจชุดใหม่นี้จะมีผู้เชี่ยวชาญที่ได้เคยพบซากเครื่องบิน AF447 พบร่วมกันค้นหา "เข็ม" ในครั้งนี้ด้วย

งมเข็ม MH370 ในมหาสมุทร - เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

ที่มา -