ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

วีรกรรมราชนาวีไทยใน เรือหลวงประแส

เริ่มโดย mrtnews, พ.ย 12, 14, 23:50:02 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

หลังจากเรือรบหลวงประแสร์ลำที่ 1 ประสบเคราะห์กรรมจากสงคราม เกยตื้นที่ชายฝั่งประเทศเกาหลีเหนือ ในสงครามคาบสมุทรเกาหลีที่ประเทศไทยส่งกองกำลังไปช่วยรบในนามกองกำลังสหประชาติ เรือรบหลวงประแส ลำที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ในปี พ.ศ.2494 ซึ่งรัฐบาลไทยในยุคนั้นได้ติดต่อขอซื้อมาจากสหรัฐอเมริกา หลังจากเรือรบหลวงประแส (ลำที่ 2) เข้าประจำการในกองทัพเรือได้ เรือลำดังกล่าวได้รับหน้าที่ปฏิบัติการมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการรบในคราบสมุทรเกาหลีต่อจากเรือประแสลำที่หนึ่ง รวมถึงปฏิบัติการทางทะเลที่ญี่ปุ่น ปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน และรักษาอาณาเขต ดินแดนอธิปไตยของประเทศ ด้วยการแล่นลาดตระเวนไปทั่วอ่าวไทย จนกระทั้งในปี พ.ศ.2537 เรือรบหลวงประแสที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้ตัวเรือมีสภาพเก่าทรุดโทรมไม่คุ้มกับการซ่อม ทางกองทัพเรือจึงได้ทำการปลดประจำการ เรือรบหลวงประแส และใช้ในการฝึกภาคทางเรือของนักเรียนนายเรือแทน หลังจากนั้นไม่นาน เทศบาลตำบลปากน้ำประแสได้เสนอโครงการก่อสร้างอนุสรณ์เรือรบหลวงประแส ขึ้นเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ นับแต่นั้นมาเรือรบดังกล่าวจึงถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งตระหง่านอยู่ในบริเวณปากน้ำประแสจนถึงปัจจุบัน


เรือหลวงประแส เรือรบหลวงเก่าที่ปลดประจำการจากสงครามเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นอนุสรณ์สถานที่มีประวัติศาตร์สำคัญควรค่าแก่การรำลึกถึงราชนาวีไทย ปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชาวชุมชนปากน้ำประแส หากใครมาท่องเที่ยวที่ชุมชนปากน้ำประแส สามารถแวะมาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของราชนาวีไทย อนุสรณ์เรือหลวงประแสตั้งอยู่บริเวณหัวโขด ชายหาดประแส หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เนื่องจากเรือหลวงประแสประจำการรับใช้ประเทศชาติมานานจนหมดอายุการใช้งาน กองทัพเรือได้ปลดระวางประจำการเรือหลวงประแส เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2543 โดยทำการเคลื่อนย้ายตัวเรือทั้งลำ มาตั้งเป็นอนุสรณ์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จนปัจจุบันอนุสรณ์เรือหลวงประแส กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนปากน้ำประแส ต้องแวะมาชมความยิ่งใหญ่ของเรือหลวงประแสกันอย่างใกล้ชิด บริเวณรอบตัวเรือถูกปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์แปรสภาพให้สวยงามจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง

วันที่ 24 ธันวาคม 2546 เวลา 15.00 น. เรือหลวงประแสได้เคลื่อนย้ายจากอู่เรือราชนาวีมหิดลอดุลยเดช อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือในการลากจูงเรือมาถึงจังหวัดระยอง โดยอ้อมเกาะมันมาจอดพักที่ตำบลพังราด อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 25 ธันวาคม 2546 และได้รับความอนุเคราะห์จากชาวประมงในลุ่มน้ำประแส ร่วมกันนำเรือประมงทำการลากจูงเรือหลวงประแสต่อจากกองทัพเรือ มาถึงปากแม่น้ำประแสในเวลา 10.00 น. จอดพักเป็นเวลาหนึ่งคืน แล้วนำเรือหลวงประแสเข้าสู่ฐานจอดที่ได้จัดเตรียมไว้ นับเป็นการแล่นครั้งสุดท้ายของเรือรบหลวงที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การรักษาอธิปไตยของราชนาวีไทย


คุณลักษณะสำคัญ
ประเภท เรือฟริเกต ระวางขับน้ำ ปกติ 2,199 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,277 ตัน ขนาด ความยาวตลอดลำ 92.8 เมตร ความยาวที่แนวน้ำ 87.3 เมตร ความกว้างมากที่สุด 11.5 เมตร ความกว้างที่แนวน้ำ 11.3 เมตร กินน้ำลึก ปกติหัว 2.74 เมตร ท้าย 3.05 เมตร อาวุธ ปืน 76/50 มม. 3 กระบอก ปืนกล 40/60 มม. 2 กระบอก ปืนกล 20 มม. 9 กระบอก แท่นยิงอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดเฮจฮอก 1 แท่น แท่นยิงระเบิดลึก 8 แท่น รางปล่อยระเบิดลึก 2 ราง ท่อตอร์ปิโดแท่นเดี่ยว 2 แท่น (2 ท่อยิง) เครื่องจักร ไอน้ำชนิดข้อเสือข้อต่อ 2 เครื่อง กำลัง 5,500 แรงม้า ใบจักรคู่ ความเร็ว สูงสุด 20.3 นอต มัธยัสถ์ 15 นอต รัศมีทำการ ที่ความเร็วสูงสุด 3,440 ไมล์ ความเร็วมัธยัสถ์ 7,383 ไมล์ ทหารประจำเรือ 216 นาย ต่อที่ อู่ คอนโซลิเดทเต็ด สตีล เมืองวิลมิงตัน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา


สภาพทั่วไปในปัจจุบัน
เรือรบหลวงประแส จอดเทียบท่าที่ ทลท.กทส.ฐท.สส. สภาพตัวเรือ แผ่นเหล็กเปลือกเรือ และโครงสร้างต่าง ๆ เช่น กระดูกงู กง ฝากั้นฯ เป็นสนิมผุกร่อน ตัวเรือใต้แนวน้ำบางส่วน มีน้ำทะเลรั่วเข้ามา มีการเทปูนทับไว้เป็นการชั่วคราว

ประวัติ
เรือรบหลวงประแสเป็นเรือ ประเภท ฟริเกต ชื่อเดิม USS.GALLUP (PE-2) INTERNATIONAL CALLSING "HSXX" ชั้น RIVER CLASS สร้างที่บริษัท CONSOLIDATEC STELL CORPORATION; CALIF USA. วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2486 ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2486 สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2487 ราชนาวีไทยได้รับมอบโดยการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2494 ที่อู่โย โกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น และกลับมาประจำการในสังกัด กปด.กร. เมื่อ พ.ศ. 2498

เช้าวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2493 เรือหลวงประแส เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงสีชัง พร้อมด้วย เรือสินค้าเฮอร์ตาเมอร์สค์ ซึ่งทางราชการเช่ามาสำหรับลำเลียงทหารเดินทางไปเกาหลี จอดเทียบท่าเรือกรุงเทพฯ ตำบลคลองเตย บริเวณท่าเรือมีประชาชน ญาติพี่น้อง ครอบครัว มิตรสหาย และผู้บังคับบัญชาของผู้เดินทางไปคอยส่งเป็นจำนวนมาก เวลา 12.00 น. กระบวนเรือได้เคลื่อนออกจากท่าท่ามกลางเสียงดุริยางค์ที่บรรเลง หวูดเรือ และเสียงไชโยโห่ร้องของผู้ที่ไปส่ง บนท้องฟ้ามีเครื่องบินของกองทัพอากาศ โปรยปรายดอกไม้ตลอดระยะทางขณะที่กระบวนเรือผ่านไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ประชาชนสองฟากฝั่งล้วนเปล่งเสียงอวยชัยให้พรเรือรบทุกลำที่จอดเรียงรายอยู่กลางน้ำ และริมฝั่ง ต่างชักธงแสดงความหมาย Bon Voyage อวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ จนกระทั่ง กระบวนเรือแล่นผ่านพ้นสันดอนตรงไปยังสถานีทหารเรือสัตหีบถึงเวลาประมาณ 18.00 น. แวะรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม กระบวนเรือได้ออกจากสถานีทหารเรือสัตหีบในค่ำวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2493 บ่ายหน้าไปยังแหลมญวน


เมื่อกองเรือของราชนาวีไทยอ้อมพ้นแหลมญวนไปแล้ว คลื่นลมค่อนข้างแรงต้องแล่นหลบพายุและไต้ฝุ่น ทำให้การเดินทางไปเกาะโอกินาวาต้องใช้เวลาถึง 12 วัน ซึ่งล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้เดิม กระบวนเรือของราชนาวีไทยเดินทางถึงเกาะโอกินาวา วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ได้เข้าจอดในอ่าวบัคเนอร์ (Buckner Bay) เพื่อรับการส่งกำลังบำรุง ต่อจากนั้นออกเดินทางต่อไป ในเช้าวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ระหว่างเดินทางได้ฝึกหัดยิงปืนใหญ่ และปืนกลเมื่อโอกาสอำนวย ในเช้าวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 กระบวนเรือของไทย ได้เดินทางผ่านสนามทุ่นระเบิด เข้าไปในอ่าวปูซาน โดยปลอดภัยเวลา 11.00 น. เรือได้เข้าเทียบท่าหมายเลข 1 วงดุริยางค์ทหารเรือเกาหลีใต้บรรเลงเพลงชาติไทย พันเอก บริบูรณ์ จุลจาริต ผู้บังคับการกรมผสมที่ 21 นาวาโท หม่อมเจ้า อุทัย เฉลิมลาภ วุฒิชัย ผู้บังคับหมู่เรือ และผู้บังคับการ เรือหลวงประแส นาวาโทอวบ สุนทรสีมะ ผู้บังคับการเรือหลวงบางปะกง เรือเอก ประเสริฐ ชุนงาม ผู้บังคับการเรือหลวงสีชัง และกัปตันเรือสินค้า เฮอร์ตาเมอร์สค์ ลงจากเรือ ผู้ว่าราชการเมืองปูซาน นำกำลังหมู่เรือรบของไทยทั้งสามลำให้อยู่ในบังคับบัญชาของพลเรือตรี สมิธ (Rear Admiral E. Smith) ผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจที่ 95 จึงนับได้ว่าหมู่เรือรบของไทยได้เข้าร่วมสังกัดอยู่ในกองเรือสหประชาชาติอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา

เนื่องจากเรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกง ของกองทัพเรือไทย เป็นเรือรบประเภทคอร์เวต ที่ซื้อต่อจากราชนาวีอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดาอาวุธ และเครื่องมือเดินเรือล้วนเป็นแบบอังกฤษ ในชั้นต้น ผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจที่ 95 ดำริจะให้เรือทั้งสองลำทำงานร่วมกับเรือรบอังกฤษ แต่เนื่องจากเรือรบของไทยทั้ง 3 ลำ มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ซึ่งเกิดจากการเดินทางระหว่าง กรุงเทพฯ-ปูซาน โดยถูกพายุและคลื่นใหญ่ซัดเกือบตลอดเวลา จำเป็นต้องเข้าอู่ซ่อมแซม จึงให้คงประจำอยู่กับกองเรือเฉพาะกิจสหรัฐฯ ไปก่อนจนกว่าเรือรบไทยพร้อม แล้วจึงจะมอบงานให้ปฏิบัติต่อไป

ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ขณะที่ เรือหลวงประแส และ เรือหลวงบางปะกง กำลังเข้าซ่อมในอู่ของฐานทัพเรือซาเซโบ (Sasebo Shipyard) นายทหารฝ่ายเสนาธิการของกองเรือเฉพาะกิจ ที่ 95 จำนวน 2 คน ได้มาตรวจสอบสภาพตัวเรือ ทั้งภายนอกและภายในตลอดลำเพื่อดูว่ามีเครื่องอุปกรณ์และอาวุธเหมาะแก่การสู้รบอย่างไร แล้วลงความเห็นว่าเรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกง เหมาะที่จะใช้ในการปฏิบัติการ ในการปิดอ่าวหรือรักษาด่านบริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรเกาหลี บริเวณปากแม่น้ำยาลูหรือตั้งแต่เมืองชินัมโปขึ้นไป

เนื่องจากเครื่องวิทยุรับส่งของเรือรบไทยมีกำลังส่งน้อย จำต้องปฏิบัติการในบริเวณใกล้ๆ กับกองเรือเฉพาะกิจ สำหรับเรือหลวงสีชังนั้นมีขนาดเล็กไป ไม่เหมาที่จะใช้ปฏิบัติการร่วมในกองเรือสหประชาชาติ จึงคงให้เป็นเรือพี่เลี้ยง ของ มส.ในระยะแรกที่ มส. เข้าร่วมงานกับกองเรือสหประชาชาติ ต้องเผชิญอุปสรรคหลายประการ เช่นเรือชำรุดจากการเดินทางต้องรับการซ่อมตลอดเดือนพฤศจิกายน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือหลวงสีชัง ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลชนิดหมุนปานกลางหาไม่ได้ ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯไม่มีใช้ ต้องใช้วิธีผสม และทดลองจนใช้การได้ ด้านการสื่อสาร ด้านทัศนสัญญาณ และวิทยุต้องทำการฝึก ตามวิธีการของกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานและติดต่อสื่อสารกันได้ ปืนกลขนาด 20 มิลลิเมตร (แท่นเดี่ยว) ที่มีอยู่ลำละ 7 กระบอก น้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการป้องกันตัวในกรณีที่ถูกโจมตีทางอากาศ จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นชนิดแท่นคู่ และที่สำคัญที่สุด คือ ปืนใหญ่เรือ ขนาด 102 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นแบบราชนาวีอังกฤษ กลายเป็นปืนที่ล้าสมัยอังกฤษเลิกสร้างทั้งตัวปืนและกระสุนปืนนานแล้ว ทางกองเรือสหประชาชาติ ไม่มีกระสุนจ่ายให้ต้องขอเปลี่ยนเป็นปืนขนาด 76 มิลลิเมตร ของสหรัฐฯ แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนอาวุธปืนนี้ ทหารเรือไทยขอออกไปปฏิบัติการครั้งหนึ่งก่อน เพื่อใช้กระสุนปืนให้หมดไปอย่างคุ้มค่า การยิงเป้าปืนกลจรวดเฮดจ์ฮอก และทุ่นระเบิดน้ำลึก ตลอดจนการใช้เรดาร์ และเครื่องตรวจค้น เรือดำน้ำ ต้องมีการฝึกเพิ่มเติม ตามที่กองเรือเฉพาะกิจ ที่ 95 กำหนด


การสูญเสียเรือหลวงประแส
วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2494 เวลา 15.30 น. หลังจากเสร็จสิ้นการระดมยิงชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาหลีเหนือแล้ว เรือพิฆาต USS English ซึ่งเป็นเรือควบคุมกระบวนเรือได้แยกจากกระบวนเรือ เพื่อไปปฏิบัติภารกิจอื่น โดยนัดหมายให้เรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกง ไปพบในเช้าวันรุ่งขึ้นที่จุดนัดพบตามที่กำหนด (ละติจูด ที่ 38 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 128 องศาตะวันออก) เรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกง แล่นตามกันโดยมีระยะห่างประมาณ 4 ไมล์ ด้วยความเร็ว และเข็มตามที่เรือพิฆาต USS English กำหนด ระหว่างที่เรือทั้งสองลำเดินทางนั้นต้องประสบกับพายุหิมะอย่างหนักตลอดคืน กำลังแรงของพายุทำให้เรือหลวงประแสแล่นเซผิดทิศผิดทางไปมาก ประกอบกับเรดาร์ประจำเรือใช้การไม่ได้ ไม่สามารถหาตำบลที่ตั้งขณะที่เรือกำลังเคลื่อนที่ได้ จึงไม่ทราบว่าเรือแล่นเข้าใกล้ชายฝั่งมากจนเกินไป

เช้าวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2494 เวลาประมาณ 07.30 น. เรือหลวงประแส ซึ่งเป็นเรือนำกระบวน ได้แล่นเข้าไป เกยตื้นในเขตของข้าศึกที่บริเวณแหลมคิชามุน (Kisamun) เหนือเส้นขนานที่ 38 องศา ขึ้นไปประมาณ 16 กิโลเมตร ขณะที่ท้องเรือของเรือหลวงประแสครูดกับพื้นทราย เรือเอก ดนัย เรวัต ต้นเรือ ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ นายยามเรือเดินได้สั่งให้ถอยหลังเต็มตัว แต่เรือหยุดนิ่งสภาพเรือเกยตื้นทำมุมกับฝั่ง จากท้ายเรือไปประมาณ 60 องศา คลื่นตีกราบขวาเต็มที่ จนเรือเอียงทางซ้ายประมาณ 15-20 องศา

ผู้บังคับการเรือ จึงสั่งให้ทิ้งสมอหัวเรือขวา แต่สมอเกา อากาศภายนอกมืดมัวหิมะตกหนัก หมอกลงหนาทึบ อุณหภูมิลดต่ำลงถึง -17 องศาเซลเซียส เวลาประมาณ 08.30 น. จึงเห็นเรือหลวงบางปะกง เรือหลวงประแสได้ส่งสัญญาณ แจ้งให้ทราบว่าเรือเกยตื้น เรือหลวงบางปะกงพยายามเข้าไปให้ใกล้เรือหลวงประแสมากที่สุด โดยเข้าใกล้ในระยะห่างประมาณ 350 เมตร และเมื่อเวลา 13.00 น. ได้ส่งทหาร 11 คน ลงเรือบด เพื่อไปส่งเชือกนำให้เรือหลวงประแส แต่คลื่นลมที่แรงจัดทำให้ทหารในเรือบดพลัดตกน้ำไป 6 คน คือ พันจ่าเอกพร้อม ฤทธิวาจา จ่าโทสำเริง ยาไทย จ่าโทชั้น เมืองอ่ำ จ่าตรี ชั้น สกุลเต็ม จ่าตรีเพิ่ง อุไรเรือง และ พลทหารละมุล สิงห์โตทอง ทหาร 2 คน คือ จ่าโทสำเริง ยาไทย และ จ่าโทชั้น เมืองอ่ำ ลอยเข้า ไปใกล้เรือหลวงประแส ทางเรือหลวงประแสโยนพวงชูชีพไปให้ 2 พวง แต่ จ่าโทสำเริง ยาไทย คว้าไว้ได้ เพียงคนเดียว ส่วน จ่าโทชั้น เมืองอ่ำ ถูกคลื่นม้วนตัวจมน้ำหายไป สำหรับ ทหารอีก 4 คน ลอยอยู่ใกล้กับเรือบดเรือหลวงบางปะกง ได้ส่งเรือบดอีกลำหนึ่งไปช่วยลากกลับ

ในบ่ายวันนั้นเองเมื่อเรือลากจูง (Tug Boat) ของสหรัฐฯ ไปถึงก็เริ่มส่งเชือกนำ มีทุ่นลอยนำส่งแต่ไม่สำเร็จ จึงใช้เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) เข้าไปในระยะใกล้แล้วยิงปืนส่งเชือก เมื่อส่งได้แล้วทหารในเรือหลวงประแสได้สาวเชือกขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่เชือก 5 โดยใช้กว้านสมอช่วยในที่สุด จนถึงลวดขนาด 3 ที่ปลายลวดมีสเกล (Scale) ขนาดใหญ่ต่ออยู่ดึงขึ้นไป ถึงช่องท้ายเรือทางเรือหลวงประแสได้เอาโซ่เส้นหนึ่งและลวดอีกเส้นหนึ่งผูกกับสเกล แล้วโยงเข้าไปต๋งในเรือ จากนั้นจึงแจ้งให้เรือลากจูงเริ่มดึงฉุดอยู่นานประมาณ 5 นาทีเศษ ทั้งลวดและโซ่ขาดทั้ง 2 เส้น แต่เนื่องจากเป็นเวลาค่ำ ประมาณ 21.00 น. เศษแล้ว เรือลากจูง จึงแจ้งว่าจะพยายามใหม่อีกครั้ง ในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นระหว่างนี้ เรือหลวงบางปะกง และเรือของสหรัฐฯ ประมาณ 10 ลำ ได้ช่วยกันระดมยิงด้วยปืนเรือไปยังชายฝั่งตลอดเวลา เพื่อคุ้มกันไม่ให้ข้าศึกรบกวนหรือโจมตีเรือหลวงประแส


เรือหลวงประแส (ลำที่ 1) เกยตื้นในเขตของข้าศึกที่แหลมคิชามุน
วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2494 เวลา 07.30 น. เรือลากจูงได้พยายามส่งเชือกนำให้เรือหลวงประแสอีกครั้ง ทหารบนเรือหลวงประแสช่วยกันดึงเชือก แม้ว่าจะใช้ทั้งแรงคนและเครื่องกว้านสมอช่วย แต่ยังไม่สามารถดึงเชือกไปได้ต้องหยุดพักและรับประทานอาหารเช้า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ทหารเรือของราชนาวีไทยต่างเหน็ดเหนื่อยบอบช้ำมาก เนื่องจากต้องผจญกับพายุรุนแรงและต้องยืนแช่น้ำเย็นจัดตลอดเวลา พายุหิมะและคลื่นลมนั้นไม่ได้เบาบางลงเลย หลังจากนั้นฝ่ายราชนาวีของสหรัฐฯ แจ้งให้ผู้บังคับการเรือหลวงประแส ทราบว่าจะส่งเจ้าหน้าที่จากเรือลากจูงไปช่วยอำนวยการ เวลา 12.45 น. เฮลิคอปเตอร์ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ นำ เรือโท ฮาร์ดิง (Lt.Harold H. Harding) และ พนักงานวิทยุ 1 คน ไปส่งลงที่ เรือหลวงประแส ขณะที่ เรือโท ฮาร์ดิง หย่อนตัวลง บนสะพานเดินเรือ ใบพัดของเฮลิคอปเตอร์เกิดไปฟันเสาพรวนเรือขาด เฮลิคอปเตอร์เสียการทรงตัวเนื่องจากใบโรเตอร์หักตกลงบนสะพานเดินเรือ เกิดเพลิงลุกไหม้ลุกลามทันที กระสุนปืนกล ขนาด 20 มิลลิเมตร ในหีบบนสะพานเดินเรือซึ่งเตรียมพร้อมไว้สำหรับยิงข้าศึกที่พยายามจะขึ้นมาบนเรือ กระสุนปืนเมื่อถูกความร้อนจึงเกิดการระเบิดขึ้น ทำให้เรือหลวงประแสซึ่งตกอยู่ในสภาพที่ลำบากอยู่แล้ว ต้องได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีทหารเรือในเรือหลวงประแสสามารถดับไฟได้ภายในเวลาประมาณ 30 นาทีเศษ

นายทหารเรือและนักบินเฮลิคอปเตอร์สหรัฐฯ ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส การลากจูงเรือต้องหยุดชะงัก ทหารยิ่งอ่อนเพลียเพิ่มขึ้น จากการดับไฟ มีทหารจมน้ำเสียชีวิต 1 คน ขณะเกิดเพลิงไหม้เรือ คือ จ่าโท ผวน พรสยม ต่อมาฝ่ายสหรัฐฯ ได้ส่ง เรือโท เทย์เลอร์ (Lt.M.D. Taylor) พร้อมทั้งพยาบาล กะลาสี และนักบินไปที่เรือหลวงประแส กับให้เฮลิคอปเตอร์นำเครื่องวิทยุสนามไปส่งให้กับเรือด้วย เรือโท เทย์เลอร์ ได้ตรวจสภาพบนเรือ และขอให้เก็บสิ่งกีดขวางทางหะเบสเชือก พร้อมกับนำรอกเรือบดมาช่วยในการดึงที่หัวเรือเพิ่มขึ้นอีก เพราะกว้านสมอดึงไม่ไหว ผู้บังคับการเรือหลวงประแส จึงสั่งให้รื้อซากปรักหักพังบนดาดฟ้า โค่นเสากระโดงที่เหลือทิ้ง ตกค่ำอากาศเลวร้ายมากยิ่งขึ้น อุณหภูมิลดต่ำลงถึงติดลบถึง 18 องศาเซลเซียส ทหารเรือไทยต้องผจญกับความหนาว พายุหิมะและคลื่นใหญ่ ไม่สามารถดำเนินการลากจูงต่อได้ การทำงานในช่วงกลางคืนไม่สะดวกเพราะมองไม่เห็น กลางดึกคืนนั้นเชือกที่ต๋งไว้หลุดและขาดตกน้ำไป

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2494 พายุจัดขึ้นทุกทีจนมองแทบไม่เห็น เรือลากจูงพยายามส่งเชือกนำให้ แต่ไม่สำเร็จเครื่องจักรใช้งานไม่ได้มีน้ำแข็งเกาะเต็มไปหมด น้ำดื่มเริ่มหมด ทหารต้องนำหิมะไปต้มดื่มแทน ผู้บังคับการเรือได้ปรึกษากับ นาวาเอกดิลลาวู ผู้บังคับการเรือพิฆาต USS English เพื่อขนย้ายทหารออกจากเรือหลวงประแส และให้หน่วยกู้ภัยดำเนินการต่อไป แต่ นาวาเอกดิลลาวู ทักท้วงว่าโอกาสที่จะกู้เรือมีอยู่มาก ในตอนกลางคืน เรือหลวงประแสต้องจัดยามรบติดอาวุธเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเห็นหน่วยลาดตระเวนสอดแนมของเกาหลีเหนือปรากฏตัวอยู่บริเวณไหล่เขา ห่างจากเรือประมาณ 3,000 หลา ตอนดึกเมื่อน้ำขึ้นเรือหลวงประแสพยายามเดินเครื่องถอยหลังอีกแต่ไม่เป็นผลเพราะคลื่นแรงมาก ท้ายเรือปัดไปปัดมาขนานกับฝั่ง น้ำเค็มไหลทะลักเข้าไปปนกับน้ำมันทำให้ห้องหม้อไฟดับ ถังน้ำจืดรั่วน้ำเค็มเข้าไปปน เป็นอันว่าไม่มีน้ำดื่ม แสงสว่างและเครื่องทำความอุ่น

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2494 สภาพอากาศเลวลงกว่าเดิมเนื่องจากพายุเพิ่มกำลังรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไฟฟ้าบนเรือใช้ไม่ได้ เรือมีรอยรั่วหลายแห่ง เพราะใต้ท้องกระแทกกับพื้นหินพื้นทรายตลอดเวลา ทหารเรือแห่งราชนาวีไทยในเรือหลวงประแส ต่างอ่อนเพลียบอบช้ำมากและเริ่มป่วยหลายคน นาวาเอก ดิลลาวู แจ้งให้ทราบว่าจะพยายามกู้เรืออีก 48 ชั่วโมง จากนั้น จะส่งเรือยกพลขนาดใหญ่ (LST) ไปลำเลียงทหารออกจากเรือ เวลาประมาณ 12.30 น. เรือลากจูงพยายามส่งเชือกนำโดยใช้ลูกโป่ง แต่เมื่อทำการดึงปรากฏว่าเชือกนำขาด แม้จะส่งอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ ตกกลางคืนอากาศเย็นจัดเครื่องยนต์ดีเซลใช้การไม่ได้ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงแข็งตัวจากสภาพอากาศติดลบเย็นจัดจึงไม่มีไฟใช้ ทหารนอนไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาผิงไฟตลอดคืน

วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2494 อากาศดีขึ้นเล็กน้อย แต่คลื่นลมยังคงแรงจัด การส่งเชือกนำสำเร็จทหารมีกำลังใจขึ้น การส่งเชือกนำคราวนี้ กระทำกันอย่างระมัดระวัง เพราะกลัวขาดจนค่ำ เวลาประมาณ 20.00 น. จึงเลิก ทหารอิดโรย เห็นได้ชัดแม้ทหารสหรัฐฯ เองยังทนไม่ไหว อุณหภูมิในวันนั้นประมาณ -16 องศาเซลเซียส

วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2494 ตอนสาย มีทหารเกาหลีเหนือ 4 คน ตรงไปที่เรือหลวงประแส แต่ทหารที่ทำหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์ยิงปืนใส่ทันทีท่ีเห็น นายแพทย์ทหารสหรัฐฯ ประจำเรือลาดตระเวน USS Manchester ยศ นาวาโท เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ ไปตรวจสภาพเรือหลวงประแส และลงความเห็นว่าทหารจะอยู่ในเรือที่มีสภาพเช่นนั้นต่อไปอีกไม่ได้อย่างเด็ดขาด แล้วกลับไปรายงาน ต่อมา นาวาเอกดิลลาวู ผู้บังคับการเรือพิฆาต USS English จึงให้เริ่มลำเลียงทหารไปยังเรือลาดตระเวน USS Manchester ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น. โดยผู้บังคับการเรือได้ส่ง นาวาตรีกวี สิงหะ เดินทางไปที่เรือ USS Manchester ก่อน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมทหารไทย และเป็นล่ามติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่รับทหารไทย จนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. จึงหยุดพัก

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2494 เฮลิคอปเตอร์ได้ลำเลียงทหารหาญที่ตกค้างอยู่เสร็จสิ้นเมื่อ เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้บังคับการเรือหลวงประแส ได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการ กองกำลังสหประชาชาติ ที่กรุงโตเกียวให้สละเรือ และให้กองเรือเฉพาะกิจทำลายเรือหลวงประแส ผู้บังคับการเรือจึงได้อำนวยการขนย้ายทหาร ทำลายสิ่งของอาวุธยุทธภัณฑ์ที่อาจตกเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก โดยราดน้ำมันและวางดินระเบิดตามที่ต่างๆ รอบตัวเรือ หลังจากนั้นผู้บังคับการเรือหลวงประแสออกจากเรือเป็นคนสุดท้าย ต่อจากนั้น เรือพิฆาต USS English ได้ระดมยิงไปที่เรือหลวงประแสประมาณ 50 นัด จนกระทั่งเกิดการระเบิดจนทำให้เรือมีสภาพเป็นเศษเหล็กข้าศึกไม่สามารถนำไปใช้ได้ หมู่เรือที่ไปคุ้มกันและช่วยเหลือจึงเดินทางกลับฐานทัพเรือซาเซโบ รวมเวลา ที่ใช้ในการกู้เรือหลวงประแสทั้งสิ้น 7 วันเหตุผลที่กองบัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ ต้องยิงจมเรือหลวงประแสนั้น เนื่องจากเรือหลวงประแสเกยตื้นฝังตัวลงไปในโคลนลึกมาก เรือเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ประกอบกับข้าศึกได้ทำการระดมยิง ขัดขวางจากชายฝั่งอย่างรุนแรงตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องยิงทำลายโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ข้าศึกนำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย โดยเฉพาะเรดาร์ที่มีอยู่ในเรือไปใช้ต่อไป

วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2494 หมู่เรือเดินทาง ถึงฐานทัพเรือ ซาเซโบ เวลา 08.00 น. แล้วลำเลียงทหารป่วยเจ็บจากเรือลาดตระเวน Uss Manchester ไปโรงพยาบาล ส่วนนายทหารและพลประจำเรือที่เหลือ ให้พักในเรือหลวงบางปะกงและเรือหลวงสีชัง รวมจำนวนทหารที่ป่วยและบาดเจ็บ 27 นาย เสียชีวิต 2 นาย คือ จ่าโทชั้น เมืองอ่ำ และจ่าโทผวน พรสยม ซึ่งได้รับปูนบำเหน็จ เลื่อนยศเป็นพันจ่าตรี ทหารประจำเรือหลวงประแสได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเรือเคิร์สเตนเมอร์สค์ (Kirsten Maersk) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2494 ถึงประเทศไทยวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2494

หลังจากกองทัพเรือสูญเสีย เรือหลวงประแส เนื่องจากการเกยตื้นไปเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2494 ทำให้ มส. เหลือเรือรบ ที่เข้าปฏิบัติการยุทธร่วมกับกองเรือสหประชาชาติอยู่เพียงลำเดียวคือเรือหลวงบางปะกง รัฐบาลไทยจึงให้กระทรวงการต่างประเทศ ติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจาขอซื้อเรือฟริเกต 2 ลำ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกายินดีขายให้ โดยมีเงื่อนไขขอให้ใช้เรือดังกล่าวในการปฏิบัติการรบร่วมกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี และให้ทัพเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก (U.S.Pacific Fleet) จัดเรือฟริเกตในประจำการ 2 ลำ คือ เรือ USS Glendale (PF 36) กับเรือ USS Gallup (PF 47) ให้ไทย เรือสองลำนี้สหรัฐฯ ขายให้ไทยในราคา 861,946 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับเรือ USS Glendale กองทัพเรือให้ใช้ชื่อว่า เรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 2) 2 ส่วนเรือ USS Gallup ใช้ชื่อว่าเรือหลวงประแส (ลำที่ 2)

วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2494 กองทัพเรือได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการรับมอบเรือฟริเกต ทั้งสองลำ ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมี นาวาเอก วิเชียร พันธุ์โภคา เป็นประธานกรรมการและได้บรรจุนายทหารประจำเรือ ทั้ง 2 ลำนี้ด้วย โดยให้ นาวาเอก วิเชียร พันธุ์โภคา เป็นผู้บังคับหมู่เรือฟริเกตร่วมรบกับสหประชาชาติ (มฟ.) นาวาโทจรูญ โอสถรูป เป็นผู้บังคับการเรือหลวงท่าจีน (PF-1) และนาวาตรีอมร ศิริกายะ เป็นผู้บังคับการเรือหลวงประแส (PF-2)

วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2494 นายทหารและทหารประจำ เรือฟริเกต ทั้ง 2 ลำ ซึ่งนับเป็นกำลังพล รุ่นที่ 3 ออกเดินทางพร้อมกับกำลังทหารบกผลัดที่ 2 จากท่าเรือกรุงเทพฯ โดยเรือหลวงอ่างทองไปถ่ายขึ้นเรือสินค้าเฮอร์ตาเมอร์สก์ที่เกาะสีชังถึงเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2494 ทหารบก เดินทางต่อไป ยังฐานทัพเรือซาเซโบส่วนทหารเรือแยกเดินทางไปยังฐานทัพเรือโยโกสุกะทางตอนใต้ของกรุงโตเกียวระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคม พ.ศ. 2494 นายทหารและทหารที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ประจำเรือ ฟริเกตใหม่ ทั้ง 2 ลำ เข้ารับการฝึกหัดศึกษาและเตรียมการรับมอบเรือ

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2494 เวลา 15.00 น. ได้มีพิธีส่งและรับมอบเรือฟริเกต USS Glendale และ USS.Galllup ที่ท่าหมายเลข 12 ฐานทัพเรือโยโกสุกะ โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ พลเรือตรี แม็คแมนิส (Rear Adm.Kennore H. Mcmanes) ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นและเกาหลี (Commander, Fleet Activities Japan-Korea) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งมอบให้กับนายสง่า นิลกำแหง หัวหน้าคณะทูตไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยเป็นผู้รับมอบ


ตัวเรือ
ระวางขับน้ำปกติ 1,430 ตัน เต็มที่ 2,277 ตัน
ความยาวตลอดลำ 306.24 ฟุต หรือ 92.8 เมตร
ความยาวที่แนวน้ำ 288.09 ฟุต หรือ 87.3 เมตร
ความกว้างมากที่สุด 37.64 ฟุต หรือ11.4 เมตร
ความกว้างที่แนวน้ำ 37.29 ฟุต หรือ11.3 เมตร
กินน้ำลึกปกติหัว 9.04 ฟุต หรือ 2.74 เมตร
กินน้ำลึกปกติท้าย 10.06 ฟุต หรือ 3.05 เมตร
กินน้ำลึกเต็มที่หัว 10.56 ฟุต หรือ 3.20 เมตร
กินน้ำลึกเต็มที่หัว 14.52 ฟุต หรือ 4.40 เมตร
กินน้ำลึกที่แนวโดมโซนาร์หัว 16.50 ฟุต หรือ 5.00 เมตร
ความสูงเสา 86.00 ฟุต หรือ 26.06 เมตร
ความสูงปล่อง 34.00 ฟุต หรือ 10.30 เมตร
สมอหัวชนิด จำนวน 2 ตัว หนักตัวละ 2,000 ปอนด์
โซ่สมอแบบมีชื่อ ขนาด 6 นิ้ว ยาว 250 เมตร 10 ท่อน (SCALE) ท่อนละ 25 เมตร (ขวา)
โซ่สมอแบบมีชื่อ ขนาด 6 นิ้ว ยาว 200 เมตร 8 ท่อน (SCALE) ท่อนละ 25 เมตร (ซ้าย)
กว้านสมอไอน้ำแบบกว้านนอนชนิด 2 สูบ,ความเร็ว 30 ฟุต/นาที
รัศมีทำการเมื่อความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 2,704 ไมล์ หรือ 159.09 ซม. เมื่อ 17 น๊อต
ตัวเรือสร้างด้วย MILD STEEL
กงเรือมีทั้งหมด 131 กง
ใบจักรสูงกว่ากระดูกงูเรือ 5 ฟุต

เครื่องมือเดินเรือ
เข็มทิศเรือนเอกแม่เหล็ก KFO TYPE JAPAN เข็มทิศกลางลำเอกแม่เหล็ก THE A.LIETZ CO.,USA. เข็มทิศถือท้ายแม่เหล็ก THE A.LIETZ CO.,USA.เข็มทิศไยโรแบบ SPERRY MK 14 MOD.1 A,1แบบ MK 27,1แบบ C.PLATH,1 REPEATER GYRO MK 15 MOD.O,7 สะพานเดินเรือ 3 เรือนห้องถือท้าย 1 เรือนห้อง SONAR CONTROL1 เรือนห้อง CIC1 เรือนห้องหางเสือ1 เรือนเครื่องถือท้ายแบบ STEERING ที่ห้องถือท้าย 1 เครื่องแบบ STCAM JYDRAURUC ที่ห้องหางเสืออะไหล่ 1 เครื่องเครื่องหาที่เรือดาวเทียม MAXNOVUX 5102 พร้อม PRINTER 1 ชุด ที่ห้องแผนที่ MONITOR 1 เครื่องที่ห้อง

อาวุธประจำเรือ
ปืน 76/50 จำนวน 3 กระบอก ความเร็วในการยิง 15-30 นัด/นาที ระยะยิงไกลสุด 13,350 เมตร หรือ 7.4 ไมล์ หวังผล 6,300 เมตร
ปืน 40/60 จำนวน 2 กระบอก ความเร็วในการยิง 120-150 นัด/นาที ระยะยิงไกลสุด 9,600 เมตร หรือ 5.3 ไมล์ หวังผล 2,000 เมตร
ปืน 20 มม. จำนวน 9 กระบอก ความเร็วในการยิง 450 นัด/นาที ระยะยิงไกลสุด 4,400 เมตร หรือ 2.4 ไมล์ หวังผล 1,000 เมตร
เครื่องควบคุมการยิงของปืน 20 มม. มาศูนย์โยโรแบบ MK-14 MOD 6 , MK6 MOD.0 จำนวน 2 รางปล่อย
แท่นยิงระเบิดลึกแบบ MK.6 MOD - 1 จำนวน 8
แท่นท่อยิงโฮมมิ่งตอร์ปิโด SURFACE LIESSEL MK.32 MOD.0 จำนวน 2 ห่อ
เครื่องยิงอาวุธทางหัว (เฮจฮอก) แบบ MK 11 MOD
เครื่องทำเสียง NIOSE MAKER S MARK 6

เครื่องจักรและหม้อน้ำ
เครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อ ชนิด ไอ ตัว 3 ครั้ง 4 สูบ สร้างโดย JOSHUA HENDY IRON WORKS จำนวน 2 เครื่อง 2 เพลาใบจักร กำลังสูงสุด 5,500 แรงม้า เมื่อหมุน 180 รอบ/นาทีหม้อน้ำ BABCOCK & WILLCOCK จำนวน 2 หม้อ แบบ THREE DRUM EXPRESS ชนิดน้ำเดินในหลอดน้ำเลี้ยงระดับ ติดไฟใช้ 5.31 ตัน เต็มหม้อ 6.31 ตัน กำลังดันไอสูงสุด 220 ปอนด์/ตร.นิ้ว ใช้การ 200 ปอนด์/ตร.นิ้วที่ยกหรือเปิดลิ้นกันอันตรายอยู่ที่หลังหม้อพักไอ จุดสั่นเมื่อ 110 รอบ/นาที ระยะเลื่อนของลูกสูบ 30 นิ้วใบจักรขนาด 9 ฟุต , PITCH ใบจักร 13 ฟุต 1/6 นิ้ว

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ชนิดกังหันไอน้ำ ของ WISTING HOUSE 2 เครื่อง ให้กำลังไฟ AC. เครื่องละ 60 KW , 440 V. 3 PHASE, 60 CYCLES , 96 A. DC. เครื่องละ 25 KW , 125 V. ,220 A.ชนิดเครื่องยนต์ดีเซล 4 จังหวะ ของ DETROIT แบบ 8 V.71 2 เครื่อง ให้กำลังไฟเครื่องละ 165 KW. 440 V.AC.,3 PHASE, 60 CYCLES, 258 A. และมี HECTIFIER 115 V.DC. ขนาด 40 KW. จำนวน 2 เครื่อง

เครื่องจักรอื่น ๆ
เครื่องถือท้ายชนิด กำลังดันไฮโดรลิก ขับด้วยไอน้ำ แบบข้อเสือข้อต่อของ WEBSTER BRINKLY ใช้กำลังดัน 200 ปอนด์/ตารางนิ้ว หมุนหันสูงสุด 32 องศาเครื่องอัดลม อัดอากาศได้กำลังดัน 60 ปอนด์/ตารางนิ้วเครื่องกลั่นน้ำ แบบกำลังดันสูง 1 เครื่อง กำลังดันไอน้ำเข้าขดไส้ไก่ 60 ปอนด์/ตารางนิ้ว สร้างโดย HEST TRSNSFER PRODUCT กลั่นได้ ชม. ละ 0.7 ตันเครื่องทำความเย็นในห้องเย็น ขนาด 1 ตัน ความจุห้องเนื้อ 320 ลบ.ฟ ห้องผัก 124 ลบ.ฟ มอเตอร์ระบายอากาศ มีทั้งหมด 34 ตัวเครื่องสูบน้ำดับเพลิงประจำที่ใช้ไอน้ำ จำนวน 4 เครื่อง ใช้มอเตอร์ จำนวน 3 เครื่องเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเคลื่อนที่ 2 เครื่อง

น้ำมันเชื้อเพลิง-หล่อลื่น
น้ำมันเตา 10 ถังความจุทั้งหมด 715.894 แกลลอน
น้ำมันดีเซล 3 ถังความจุทั้งหมด 55.290 แกลลอน
น้ำมันแดง 2 ถังความจุทั้งหมด 15,934.00 แกลลอน
น้ำมันดำ 200.00 ลิตร
น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ดีเซล (SAE 40)1,000.00 ลิตร
น้ำมันหล่อลื่นเครื่องกังหัน 2,372.00 ลิตร

เอกสารประกอบข้อมูลจาก http://www.navy.mi.th

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

ที่มา -