ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เชฟรอนเดินหน้า จัดวาง ปะการังเทียมจากขาแท่น อีกบทพิสูจน์รื้อถอนปิโตรเลียม

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 18, 20, 16:48:02 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เชฟรอนฯ เดินหน้ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม ประเดิมโครงการนำร่อง ใช้ขาแท่นหลุมผลิตจัดทำเป็นปะการังเทียม เผยผลการศึกษาชี้ชัดอนุรักษ์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในทะเล ถือเป็นบทพิสูจน์แนวทางการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในทะเล


มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ของการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (คณะกรรมการชาติฯ)  มีมติเห็นชอบในการจัดทำ โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่นไป จัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนฯ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562

เดินหน้าจัดวางขาแท่น

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมาบริษัท เชฟรอนฯ ได้นำเรือยกขนาดใหญ่ที่มีสมรรถนะในการยกสิ่งของซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 3,000 ตัน หรือมากกว่า 4-8 เท่าของน้ำหนักขาแท่นปิโตรเลียมจริง ทำการลากจูงขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ 4 จากจำนวน 7 ขาแท่น น้ำหนักประมาณ 300-700 ตัน ขนาดฐานกว้างประมาณ 20-22.5 เมตร สูง 70-84 เมตร หรือสูงมากกว่าตึก 20 ชั้น จากแหล่งผลิตปิโตรเลียมปลาทอง ระยะทาง 150 กิโลเมตร เพื่อนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียมห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 7.5 ไมล์ทะเล โดยกองปะการังเทียมมีขนาดเพียง 0.05 ตร.กม. จัดวางบนพื้นที่ 2 คูณ 2 ตารางกิโลเมตร ตามมติคณะกรรมการชาติฯ

ขาแท่นที่นำมาจัดวาง เมื่อล้มลงในแนวนอนจะมีความสูงประมาณ 20-22.5  เมตร และเมื่อวางขาแท่นที่ระดับน้ำ 38.5-39.5 เมตร จะทำให้ส่วนบนสุดของยอดกองปะการังเทียมห่างจากผิวน้ำไม่น้อยกว่า 15 เมตร เพื่อความปลอด ภัยในการเดินเรือ


ทางเลือกรื้อถอนแท่น

สำหรับการรื้อถอนส่วนของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปจัดทำเป็นปะการังเทียมนั้น ถือเป็น 1 ในแนวทางของการบริหารจัดการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้กิจการปิโตรเลียม ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้บริษัท เชฟรอนฯ จะต้องดำเนินการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ที่รัฐไม่ได้รับโอนไปใช้ประโยชน์ต่อ จำนวน 49 แท่น (รวม 7 ขาแท่นที่นำมาทำเป็นปะการังเทียมเป็นโครงการนำร่อง) โดยโครงสร้างของแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม มี 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนบน หรือ Topside สามารถนำไปจัดการบนฝั่ง หรือนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ในกิจการปิโตรเลียม  และส่วนของขาแท่นที่จมอยู่ในทะเล จะมีทางเลือกในการรื้อถอน 2 แนวทาง คือ การรื้อถอนและขนย้ายขึ้นไปจัดการบนฝั่ง หรือ การรื้อถอนและขนย้ายมาทำเป็นปะการังเทียม ที่ต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ

ผลการศึกษาชี้วัดความสำเร็จ

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดทำปะการังเทียม เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในทะเล ปีละประมาณ 100 ล้านบาทอยู่แล้ว การที่นำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีความคงทน แข็งแรง ทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) เพื่อใช้งานในทะเลมาจัดวางเป็นปะการังเทียมเพิ่มเติม โดยการสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนฯ ถือเป็นเรื่องที่ดี ในการช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการจัดวางปะการังเทียม

ที่สำคัญมีผลพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า วัสดุขาแท่นปิโตรเลียม ที่นำมาวางเป็นปะการังเทียม สามารถเป็นที่เกาะติดของปะการังและสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ปลา สัตว์ทะเลหลากหลายขนิดอย่างได้ผล เพราะมีผลการศึกษาและติดตามประเมินผลของทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 ทำปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมจำลอง ที่อ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน ประสบความสำเร็จทั้งด้านระบบนิเวศและความเหมาะสมของวัสดุ รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวและการประมง

นอกจากนี้ หลังจากการจัดวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมทั้ง 7 ขาแท่นเสร็จแล้ว ทช. และจุฬาฯ ซึ่งได้รับงบประมาณจากทางเชฟรอน 22.8 ล้านบาท จะร่วมกันติดตามและประเมินผลโครงการฯ ดังกล่าวอีก 2 ปี ก่อนนำไปสู่การขยายผลในอนาคตต่อไป โดยกรมฯ จะมีการออกระเบียบที่จะคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวเอาไว้ ที่จะช่วยให้บริเวณดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นที่รวมของสิ่งมีชีวิตหลายหลายสายพันธุ์


องค์ความรู้ใหม่อนุรักษ์ทะเล

นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการแผนกรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เลิกใช้งานในกิจการปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การดำเนินงานในทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นโครงการศึกษานำร่องที่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก อาทิ ในอ่าวเม็กซิโก บรูไน มาเลเซีย ที่ช่วยเพิ่มแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเล และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและต่อชุมชน

อย่างไรก็ตาม การนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม เพื่อจัดวางเป็นปะการังเทียมนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และมีการกำกับดูแลจากภาครัฐในทุกขั้นตอน รวมถึงต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการให้ความรู้แก่ประชาชน ปลุกจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ในพื้นที่ พร้อมทั้งการเตรียมประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ดังนั้น โครงการนี้ จะมีส่วนช่วยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนงานและการจัดการปะการังเทียม ไม่เพียงเฉพาะจากโครงสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น แต่อาจรวมถึงการจัดการฐานทรัพยากรในภาพใหญ่ระดับประเทศด้วย



ที่มา Data & Images -


..