ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ส่อง "โตเกียว ก๊าซ" ต้นแบบแอลเอ็นจีโลก ตอบโจทย์ความมั่นคงพลังงานไทย

เริ่มโดย mrtnews, ธ.ค 01, 14, 23:29:41 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย เพ็ญทิพย์ อักษรเนียม

ในโลกปัจจุบัน พลังงานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของคนที่ขาดไม่ได้เลยก็ว่าได้ เพราะพลังงานเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนกระทั่งเข้านอน


ซึ่งประเทศไทยยังคงถกเถียงและหาทางออกเรื่องสัดส่วนการใช้พลังงานว่าควรต้องให้น้ำหนักไปทางกลุ่มไหนมากเป็นพิเศษ ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานทดแทนจากพืช เพราะหากต้องพึ่งพาพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปก็จะเกิดความเสี่ยง เพราะนับวันก็ยิ่งร่อยหรอลง

แต่แม้ว่าภาครัฐจะพยายามที่กระจายการใช้พลังงานออกไป แต่ก็ยังถือได้ว่าก๊าซธรรมชาติยังเป็นพลังงานหลักที่มีความจำเป็นอยู่ เหตุผลหนึ่งเพราะราคาถูกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะมีมลพิษต่ำเมื่อมีการเผาไหม้ แถมยังไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน

จากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยและโลกกำลังจะย้ายจากการใช้ปิโตรเลียมหรือพวกน้ำมันไปสู่ก๊าซธรรมชาติกันมากขึ้น แม้ว่าแหล่งก๊าซทั้งในทะเลและบนบกจะร่อยหรอลงไปมากก็ตาม แต่ล่าสุดมีการค้นพบก๊าซในชั้นหินดินดาน หรือที่เรียกกันว่าเชลล์ก๊าซ (Shale Gas) ทำให้ปริมาณสำรองก๊าซของโลกได้ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 100 ปี และสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ก๊าซที่กระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ นั้น ถ้าหากต้องขนส่งผ่านระบบท่อในระยะไกลเกินกว่า 2,000 กิโลเมตร ก็จะทำได้ยากและไม่คุ้มทุน เพราะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง จึงมีเทคโนโลยีที่ทำให้ก๊าซกลายเป็นของเหลว หรือที่เรียกว่า Liquefied Natural Gas (LNG) หรือก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนประมาณ 75-90% ผ่านการแยกเอาสิ่งปลอมปนต่างๆ ออกก่อน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ปรอท และกำมะถันออกมา จากนั้นก็ทำการลดอุณหภูมิลงมาอยู่ที่ -160 องศาเซลเซียส เพื่อแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลว ทำให้ปริมาตรลดลง 600 เท่า ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งทางเรือ โดยญี่ปุ่นเป็นชาติแรกในโลกที่นำเข้า LNG ตั้งแต่ปี 1960

สาเหตุสำคัญในอดีตที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจนำเข้า LNG แม้ว่าในขณะนั้นราคา LNG จะแพงมากก็ตาม เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ผลจากการดำเนินการครั้งนั้นเริ่มส่งผลดีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อโลกเกิดภาวะวิกฤตราคาน้ำมันแพงในอดีตที่ผ่านมา "ญี่ปุ่น" ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย นั่นเป็นเพราะว่ามีการสต๊อก LNG ไว้จำนวนมากนั่นเอง

และปัจจุบันญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำเข้า LNG รายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยปริมาณสูงถึง 87 ล้านตันในปี 2556 (2013) ที่ผ่านมา คิดเป็น 36.6% ของ LNG ทั้งโลก รองลงมาเป็นเกาหลีและไต้หวัน

ด้วยประสบการณ์การนำเข้า LNG ญี่ปุ่นกว่า 50 ปี ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงาน บริษัท โตเกียว ก๊าซ (TOKYO Gas) ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้า LNG รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น และที่สำคัญยังเป็นบริษัทที่ปรึกษาในการก่อสร้างคลัง LNG ของ ปตท.อีกด้วย

โดยบริษัทมีสถานีรับ LNG หรือ LNG Terminal แห่งแรกของญี่ปุ่นที่ Negishi เมืองโยโกฮามา ก่อสร้างเมื่อปี 1966 คลัง LNG ของโตเกียว ก๊าซ มีทั้งสิ้น 3 แห่ง จากทั้งหมดในญี่ปุ่น 32 แห่ง โดยคลังใต้ดินของโตเกียว ก๊าซล่าสุดมีขนาด 2.5 แสนลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่โอกิชิมะ

ซึ่งถือเป็นคลังที่ใหญ่สุดในโลก โดยคลังใต้ดินมีข้อดีคือจะยืดหยุ่นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และที่สำคัญคือไม่กระทบหรือบดบังทัศนียภาพ

สถานี LNG แห่งนี้ยังเชื่อมกับระบบ City Gas โดย 80% จะถูกส่งไปยังเมืองเพื่อป้อนภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม และ 20% จะถูกส่งไปยังโรงไฟฟ้าโตเกียวอิเล็กทริก เพาเวอร์ โดยลูกค้าของบริษัทมีทั้งที่ขายโดยตรงและขายผ่านให้กับบริษัทอื่นๆ โดยลูกค้าในกลุ่มภาคครัวเรือนจะมีถึง 10 ล้านคน แต่ปริมาณที่ส่งมากสุดเป็นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งลูกค้าบางรายที่อยู่นอกเขตท่อก๊าซผ่าน บริษัทก็จะใช้วิธีการขนส่งทางรถเพื่อให้บริการลูกค้าแทน

ทั้งนี้ LNG ที่นำเข้ามานั้นทางโตเกียว ก๊าซ จะมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และรวมถึงอลาสก้าซึ่งเป็นเชลล์ก๊าซด้วย อย่างไรก็ตาม LNG แต่ละแหล่งมีค่าความร้อนไม่เท่ากันและต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 44 เมกะจูน (MJ) บริษัทจึงต้องเติมก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LPG ผสมเข้าไป เพื่อทำให้ค่าความร้อนอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด ประกอบกับการทำให้เกิดกลิ่น เมื่อเวลาเกิดการรั่วไหลก็จะสามารถรับรู้ได้

สำหรับประเทศไทยนั้นโชคดีที่ไม่ต้องนำเข้ามา 100% อย่างญี่ปุ่น เพราะไทยพบแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และบางส่วนนำเข้าจากพม่าซึ่งไม่ไกลเกินไปนัก จึงมีการขนส่งผ่านทางท่อก๊าซได้ แต่กระนั้น แหล่งก๊าซอ่าวไทยก็จะเริ่มลดลง การค้นพบแหล่งขนาดใหญ่ในไทยก็เหลือไม่มาก ทำให้ระยะยาวต้องหันไปนำเข้าเพื่อชดเชยแหล่งในประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าก๊าซทั้ง 2 แหล่งคือแหล่งในประเทศและแหล่งจากพม่า มีความค่าร้อนที่ต่างกัน โดยฝั่งพม่ามีค่าความร้อนต่ำ ขณะที่มาตรฐานของไทยอยู่ที่ 38 เมกะจูน จึงต้องใช้วิธีเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป

เพื่อความมั่นคงรัฐบาลที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติให้ ปตท.ก่อสร้างคลัง LNG เฟสแรกแล้วที่มาบตาพุด นับเป็นคลัง LNG แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งดำเนินการสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2554 และปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังเฟสที่ 2 ซึ่งโตเกียว ก๊าซ เป็นที่ปรึกษาการก่อสร้าง คาดจะแล้วเสร็จในปี 2560 มูลค่าการลงทุนรวม 2 เฟสอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท สามารถเก็บ LNG ได้ประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งพอจะอุ่นใจไปได้ว่าเรามีก๊าซเพียงพอต่อการใช้ แต่การที่จะนำคลังไปสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็เป็นความเสี่ยงเกินไป เพราะความต้องการใช้มีทั่วประเทศ ดังนั้นในขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อก่อสร้างเฟส 3 อีก 5 ล้านตัน ในพื้นที่ใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดได้ภายในปีหนี้ โดยคลังแห่งใหม่จะสร้างเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และจะมีส่วนสำคัญในการนำมาปรับค่าความร้อนของก๊าซจากพม่าที่ค่าความร้อนต่ำได้ด้วย ซึ่งการกระจายดังกล่าวก็จะสอดคล้องกับการที่ ปตท.จะก่อสร้างท่อก๊าซเส้นที่ 5 ที่จะเชื่อมด้านตะวันตกของประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของประเทศ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้ทำสัญญาซื้อ LNG ระยะยาว 20 ปี ไว้กับกาตาร์แล้ว เมื่อตอนที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้เดินทางไปกาตาร์ โดยล็อตแรกจะถูกบรรทุกมาทางเรือมาถึงไทยในเดือนมกราคม 2558 นี้ และ ปตท.จะนำแนวทางของโตเกียว ก๊าซ ที่มีการกระจายแหล่งรับซื้อ LNG โดยจะมองแหล่งเพิ่มไปยังสหรัฐอเมริกา แอฟริกา รัสเซีย รวมถึงการที่เราไปลงทุนที่โมซัมบิก ออสเตรเลีย ส่วนหนึ่งก็จะได้ LNG เข้ามาด้วย โดย ปตท.จะเน้นสัญญาระยะยาวประมาณ 70-80% ที่เหลือจะซื้อในตลาดจร


"ผมอยากให้มอง LNG ที่เป็นคลังสำรองของไทยมากกว่าอย่างอื่น เพราะสามารถเก็บสต๊อกก๊าซได้หากท่อเป็นอะไรไปหรือมีปัญหา เพราะที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่ากระทบต่อการผลิตไฟทันที จึงถือว่าเป็นทางหนีไฟของประเทศไทย" นายไพรินทร์กล่าว และว่า การนำเข้า LNG เป็นการนำเข้ามาเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องสร้างคลังเก็บเพื่อสะสมก๊าซไว้ ซึ่งการสร้างคลังใหม่ถือเป็นคลังสำรองทางเลือกเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

ส่วนในด้านราคานั้น LNG ในตลาดโลกจะผูกติดกับราคาน้ำมัน ซึ่งเดิมราคาน้ำมันในตลาดโลกค่อนข้างแพง แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันได้ปรับลดลงแล้ว จึงทำให้ราคา LNG สามารถแข่งขันได้ และจะถูกตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มว่าราคาจะปรับลดลงไปอีก และการที่ ปตท.ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวไว้กับหลายๆ ประเทศนั้น ก็เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการจัดหาพลังงานและแหล่งสำรองต่างๆ ในโลก ถือเป็นการเปิดประตูสู่แหล่งพลังงานที่อยู่ห่างไกลทั่วโลก และถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยในการเข้าสู่ธุรกิจระหว่างประเทศ เพราะในระยะยาว ปตท.จะได้จัดหา LNG จากโครงการที่ ปตท.และบริษัทลูกคือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เข้าไปร่วมลงทุน

เท่ากับว่าประเทศไทยยังพออุ่นใจเรื่องการจัดหาพลังงานในอนาคตไปได้อีกเปราะหนึ่ง

ที่มา -