ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

ธนารักษ์เคลียร์ที่ดิน อู่เรือกรุงเทพ - อสป. บูมท่องเที่ยวริมแม่น้ำ

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 28, 13, 15:53:39 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

คลังเคลียร์ "อู่เรือกรุงเทพ-องค์การสะพานปลา" ขอพื้นที่คืนปั้นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา-วัฒนธรรม ริมเจ้าพระยา นำร่องสร้างรายได้ ของบฯปี"57 ตั้งกองทุนซื้อที่ดิน 5 พันล้าน สั่งทำมาสเตอร์แพลนที่ราชพัสดุ 12.5 ล้านไร่


นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สิน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดการบูรณาการการใช้ที่ดินของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีนโยบายให้กรมธนารักษ์ กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทรัพย์สินของภาครัฐทั้งหมด จึงได้ผลักดันโครงการนำร่อง (Pilot Project) การจัดการพัฒนาพื้นที่บริเวณใกล้วัดยานนาวา ที่มีที่ดินที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา วัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นของอู่เรือกรุงเทพ รัฐวิสาหกิจในสังกัดกองทัพเรือ รวมถึงที่ดินองค์การสะพานปลา (อสป.) ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันใช้เป็นแพปลาและตลาดกลางซื้อขายปลา

"ตรงวัดยานนาวา ซึ่งเป็นของอู่เรือกรุงเทพ ปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพราะไม่สามารถนำเรือเข้ามาซ่อมได้ ติดสะพานขวางอยู่ สมควรเอากลับมาใช้ประโยชน์ร่วมกับโซนที่เป็นริมแม่น้ำ ตั้งแต่แถบวัดยานนาวา ไล่ไปจนถึงองค์การสะพานปลา ทำเป็นโซนสำหรับการท่องเที่ยวเชิงศาสนา วัฒนธรรม เชื่อมกับที่ดินเอกชนคือเอเชียทีค จะทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะขึ้น ใช้เรือนำเที่ยว วนดูสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้"

นายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ขอคืนที่ดินทั้ง 2 แปลง โดยกรมธนารักษ์จะจัดหาที่ดินใหม่ให้ กรณีของอู่เรือกรุงเทพ อาจจะย้ายไปอยู่ที่ อ.สัตหีบ หรือบริเวณอื่น ๆ ใน จ.ชลบุรี นอกจากแลกที่ดินแล้ว ทางคลังก็จะต้องจัดหางบประมาณไปใช้ก่อสร้างอู่เรือแห่งใหม่ให้ด้วย เช่นเดียวกับองค์การสะพานปลา ที่อาจจะย้ายไปอยู่แถว จ.สมุทรปราการ ซึ่งจากการเจรจากับ 2 หน่วยงานในหลักการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับที่ดินที่จะนำมาแลก อาจใช้วิธีขอคืนที่ดินในความครอบครองของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือซื้อที่ดินเอกชนก็ได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์จากภาครัฐ ซึ่งได้เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 จำนวน 5,000 ล้านบาท นำมาใช้ในกรณีดังกล่าวแล้ว

"การซื้อที่ดิน หรือแลกเปลี่ยนที่ดินของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือแลกเปลี่ยนกัน อาจไม่ใช้ราคาตลาด เพราะขืนไปใช้ราคาตลาดอย่างที่อู่เรือกรุงเทพ ปัจจุบันราคาอาจเกือบถึง 2,000 ล้านบาท แบบนี้มันก็ไม่เวิร์ก ก็ต้องหารือกัน ต้องคุยกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า โอเคนะ ที่ดินตรงนี้คุณใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว ทำอู่เรือตามวัตถุประสงค์ไม่ได้ ควรจะย้ายออกไป ส่วนเมื่อย้ายออกไป มูลค่าที่ดินควรจะแลกกับงบประมาณ แลกกับการที่เราจะสร้างอู่ให้ใหม่ หาพื้นที่ให้ใหม่ เกิดประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย"

อีกโครงการนำร่องที่กำลังศึกษาอยู่ ได้แก่ การนำที่ดินของกรมราชทัณฑ์บริเวณเรือนจำคลองเปรม ย่านงามวงศ์วาน ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ และมีศักยภาพสูงมาก โดยนายกิตติรัตน์อยากเห็นการพัฒนาในจุดนี้ แต่ยังไม่ได้สรุป เพราะต้องหาที่ตั้งเรือนจำแห่งใหม่ ว่าจะทำอะไร จัดงบฯ รื้อย้ายและก่อสร้าง ศึกษาข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันอีกโครงการที่รองนายกฯ และ รมว.คลัง ต้องการผลักดันคือ โครงการเกาะรัตนโกสินทร์ ที่จะให้พัฒนาเป็นแหล่งวัฒนธรรมของประเทศ ย้อนยุคกลับไปสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต้องพิจารณาว่าส่วนราชการใด สามารถทำเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ อย่างเช่น อาคารของกระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริเวณถนนราชดำเนิน เป็นต้น ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานเกาะรัตนโกสินทร์รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา ระดับนโยบายมีการคุยกันแล้ว ปัจจุบันเป็นขั้นการศึกษา และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเริ่มมาศึกษาพร้อม ๆ กัน


นายจักรกฤศฏิ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องการเห็น ไม่ว่าจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม โครงการส่งเสริมด้านโลจิสติกส์อีก ไม่ว่าจะที่ดินแนวรถไฟฟ้า ที่ต้องจัดทำที่จอดรถ ที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนให้อยู่ใกล้การคมนาคมที่สะดวก ทั้งหมดนี้จะต้องบูรณาการให้เห็นภาพรวม จึงให้ทางกรมธนารักษ์จัดทำเป็นแผนแม่บท (Master Plan) ในการบริหารทรัพย์สินของรัฐออกมา

"ตอนนี้เอาเรื่องที่ดินเป็นหลัก เพราะว่าปัจจุบันเรายังไม่มีแผนในการพัฒนาที่ดิน 12.5 ล้านไร่เลยว่า ในภาพรวมเรามีที่ดินที่มีศักยภาพอย่างไร มีที่ดินที่ถูกครอบครองแล้ว มีที่ดินถูกบุกรุก หรือมีที่ดินที่จัดให้เช่าแล้วอนาคตทิศทางเหล่านี้มันจะไปยังไง"

ยอมรับว่าการดำเนินการขอคืนที่ดินไม่ง่าย เพราะว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ต่างก็อยากพัฒนาที่ดินของตัวเอง แต่รัฐบาลก็ไม่อยากเห็นว่าทุกรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กันหมด ซึ่งรัฐบาลก็อยากให้มีตัวกลาง คล้าย ๆ บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์หรือองค์กรที่สามารถพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือเป็นไปในลักษณะที่ให้มืออาชีพมาทำ


ที่มา -